Skip to main content
sharethis

หลังมีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นปฏิบัติการของฐานทัพพม่า ขณะเดียวกันเรียกร้องกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น ให้ประกันว่า จะไม่กำหนดเป้าหมายโจมตีทางทหารใกล้กับบริเวณที่มีพลเรือนอาศัยอยู่

16 มกราคม 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 15 มกราคม 2556 เรื่อง 'พม่า: ต้องคุ้มครองพลเรือนที่ได้รับอันตรายจากความขัดแย้ง และสอบสวนการโจมตีที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น' หลังมีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นปฏิบัติการของฐานทัพพม่า และระบุด้วยว่า กองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ก็ต้องประกันว่า จะไม่กำหนดเป้าหมายโจมตีทางทหารใกล้กับบริเวณที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ และต้องเคารพอย่างเต็มที่ต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยแถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้

0 0 0

แถลงการณ์
พม่า: ต้องคุ้มครองพลเรือนที่ได้รับอันตรายจากความขัดแย้งและสอบสวนการโจมตีที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น 

          รัฐบาลพม่าต้องดำเนินการเท่าที่ทำได้ทุกประการเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พลเรือนในรัฐคะฉิ่นบาดเจ็บล้มตาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว หลังมีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นปฏิบัติการของฐานทัพพม่าในภูมิภาคดังกล่าว

          กองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ก็ต้องประกันว่า จะไม่กำหนดเป้าหมายโจมตีทางทหารใกล้กับบริเวณที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ และต้องเคารพอย่างเต็มที่ต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

          ในวันที่ 14 มกราคม พลเรือนสามคนซึ่งประกอบด้วยวัยรุ่นหนึ่งคนเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่าเป็นปฏิบัติการของกองทัพพม่าซึ่งประจำอยู่ที่เมืองหล่ายจ่า (Laiza) รัฐคะฉิ่น และยังเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสี่คน เป็นเด็กสองคน และเป็นผู้หญิงสองคน

          หล่ายจ่าเป็นเมืองติดพรมแดนจีน และเคยเป็นศูนย์บัญชาการอย่างไม่เป็นทางการของกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น

          “ทั้งกองทัพพม่าและกองทัพอิสรภาพคะฉิ่นต้องประกันว่า พลเรือนในพื้นที่ขัดแย้งจะได้รับการคุ้มครอง การเสียชีวิตอย่างน่าเสียใจที่เมืองหล่ายจ่าทำให้เกิดข้อกังวลอย่างจริงจังว่าชีวิตของพลเรือนตกอยู่ใต้ความเสี่ยง หากมีการยิงใส่กันโดยไม่เลือกเป้าหมาย” อิสเบล อาราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

          “เราเรียกร้องทางการพม่าให้สอบสวนเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 14 มกราคมโดยทันที และให้พิจารณาว่ามีการละเมิดกฎหมายสงครามระหว่างประเทศหรือไม่”

          ความขัดแย้งรอบปัจจุบันระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพอิสรภาพคะฉิ่นเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 หลังมีการฉีกสัญญาหยุดยิงอายุ 17 ปีทิ้งไป และมีการสู้รบอย่างรุนแรงเริ่มจากเดือนพฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา

          กองทัพอิสรภาพคะฉิ่นเป็นทหารขององค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Organisation - KIO) พวกเขาเรียกร้องให้รัฐคะฉิ่นมีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น และเป็นกลุ่มติดอาวุธที่สำคัญกลุ่มเดียวในพม่าที่ยังไม่สามารถตกสัญญาหยุดยิงกับทางการพม่าได้

          ในเดือนธันวาคม 2555 ทางกองทัพพม่าเริ่มปฏิบัติการรอบใหม่ในรัฐคะฉิ่น มีการนำเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินทหารเข้าไปบินต่ำเหนือบริเวณค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) และตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปกครองของกองทัพอิสรภาพคะฉิ่นตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเป็นต้นมา ทำให้พลเรือนเกิดความหวาดกลัวอย่างมาก รวมทั้งคนที่อยู่ในค่ายและเด็ก

          พลเรือนชาวคะฉิ่นให้ข้อมูลว่า ทหารพม่าได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใกล้กับเมืองซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือของพื้นที่ปกครองของกองทัพอิสรภาพคะฉิ่นในกลางเดือนธันวาคม และโจมตีทางอากาศใกล้กับเมืองหล่ายจ่าเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555

          ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้มีคนต้องอพยพโยกย้ายกว่า 75,000 คน และต้องไปอาศัยอยู่ตามค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ มีรายงานข่าวว่าตลอดทั้งปี 2555 ทางการพม่าจำกัดการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ปกครองของกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น เป็นเหตุให้ประชาชนขาดแคลนอาหารและมีปัญหาด้านสุขอนามัย

          “สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ขัดขวางกลุ่มและบุคคลต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังยากลำบากเนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาพในตอนนี้มีความเสี่ยงจะกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค” อาราดอนกล่าว

          แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานที่เชื่อถือได้เมื่อปี 2555 ว่ากองทัพพม่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเรือนชาวคะฉิ่นหลายครั้ง ทั้งการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายอื่น ๆ การควบคุมตัวโดยพลการ การบังคับใช้แรงงาน และความรุนแรงทางเพศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net