Skip to main content
sharethis

21 มี.ค. 2563 สธ. ยืนยันผู้ป่วยใหม่ 89 คน สูงสุดในรอบ 1 เดือน รวมผู้ป่วยรวมสะสม 411 คน เป็นกลุ่มเดิมสนามมวย 32 คน สถานบันเทิง 2 คน ส่วนกลุ่มใหม่ 38 คนและรอผลตรวจอีก 20 คน ขอความร่วมมืออยู่ในบ้านเพื่อลดการติดเชื้อ - กทม.สั่งปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่ม 22 วัน เริ่ม 22 มี.ค. -12 เม.ย. ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารขายได้เฉพาะหิ้วกลับบ้าน

21 มี.ค. 2563 กระทรวงสาธาธารณสุข แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา COVID-19 โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ พบมีผู้ป่วยเพิ่ม 89 คนในลำดับที่ 323-441 คน รวมผู้ป่วยรวมสะสม 411 คน ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 1 เดือน หายดีกลับบ้านแล้วเพิ่ม 1 คน รวมเป็น 44 คน และยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 366 คน  เสียชีวิต 1 คน และ 4 คนที่อาการวิกฤต นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค 9,670 คน กลับบ้านแล้ว 5,937 คน 3,733 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเพิ่มในจำนวน 89 คนพบเป็นกลุ่มสนามมวย 32 คน สถานบันเทิง 2 คน กลุ่มใกล้ชิดคนป่วย 11 คน และกลุ่มที่กลับจากกิจกรรมทางศาสนา 6 คน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มใหม่ 38 คน แบ่งเป็นเดินทางกลับจากต่างประเทศ 12 คน ทำงานและอาศัยพื้นที่แออัด 6 คนและรอผลตรวจอีก 20 คน 

“สถานการณ์แพร่ระบาด ทำให้มีคนกังวล และไปตรวจหาเชื้อ จนแน่นโรงพยาบาล จนมีปัญหาน้ำยาตรวจเชื้อ COVID-19 ไม่เพียงพอ ดังนั้นขอร้องว่าคนที่ไม่มีอาการอย่ามาตรวจ แต่คนที่มีอาการ และสัมผัสใกล้ชิดคนป่วย ให้มาตรวจได้ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมือยร่างกาย”

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป ระบุกรณีนักร้อง "แพรวา" น.ส.ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบผลที่ขึ้นบันชีไว้ ยังไม่ใช่ตัวเลข 1 ใน 89 คนของรายงานผู้ป่วยวันนี้ ส่วนกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดและร่ว,กิจกรรมอาสาที่ทำหน้ากากผ้ากับนักร้อง กลุ่มเสี่ยงสูงสุดคือผู้ใกล้ชิดนักร้อง ขอให้กักตัว 14 วันอยู่แล้ว และกลุ่มที่มาภายหลังก็ขอให้สังเกตอาการจนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้น เพราะแม้จะได้รับเชื้อก็ไม่ได้ป่วยทันที 

นพ.นพ.โสภณ กรณีการระบาดในพื้นที่สนามมวย พบจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว การระบาดในกลุ่มคนที่ยังไม่ป่วย และคนป่วยพบเชื้อต้องแจ้งให้ทราบเพื่อให้คนต้องกักตัวเอง และแยกสิ่งของใช้ โดยวงรอบสำหรับคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น 14 วันจากที่ไปสนามมวย แล้วยังไม่ป่วยก็สิ้นสุดการเฝ้าระวัง แต่หากในช่วงเวลานี้เขาไปพบกับกลุ่มที่ป่วยก็ต้องเริ่มต้นจากวันที่เจอคนป่วยไปเรื่อยๆ

ส่วนกรณีที่รัฐบาลการประกาศให้อยู่บ้านควรเตรียมตัวอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ขณะนี้ขอให้ประชาชนต้องปรับตัวเอง ซึ่งตามท่าทีของภาครัฐบาล ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้วางมาตรการออกมาค่อยๆ ปรับระดับ และขอให้ทุกคนร่วมมือในการปรับตัวอยู่กับบ้าน โดยไม่ได้หมายความว่าออกนอกบ้านไม่ได้ แต่เลี้่ยงออกไป และใช้วิธ การสั่งอาหารดิลิเวอร์รี่ ส่วนเวลาออกนอกบ้านให้ใส่หน้ากากอนามัยแบบผ้า และถ้าอยู่ในห้องกรณีกลับจากต่างประเทศ ต้องแยกกลุ่มจากครอบครัว

นพ.ทวีศิลป์ การเตรียมพร้อมหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชน มอบให้ผู้ตรวจราชการเช็กข้อมูลมาตลอด แต่หากถ้าเข้าสู่ช่วงการรักษา ประเด็นคือหน้ากาก N-95 ที่ต้องเตรียมให้บุคลากรการแพทย์ และชุด PPE ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และข่าวดีทางสถานทูตจีนจะสนับสนุนทั้งชุด และเวชภัณฑ์ 

นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานดิ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้พบคนไทยเป้น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่กังวลน้อย ซึ่งไม่ป้องกันตัวเองเลย จะเห็นว่าในตลาด ป้ายรถคนครึ่งหนึ่งยังไม่ยอมสวมใส่หน้ากากผ้า 

ส่วนกลุ่มที่ 2 คนที่กังวลมากไป และไปตรวจทำให้เกิดความหนาแน่นในพื้นที่โรงพยาบาล เช่น กรณีกลุ่มที่กลัวและรังเกียจคนอื่น กังวลเรื่องการกักตุนอาหาร และหน้ากากอนามัย ทั้งที่ควรใช้หน้ากากอนามัย แต่ควรอยู่ในระดับที่ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และขอให้แบ่งกลุ่ม เช่นถ้ากังวลน้อยไปก็ต้องเปลี่ยนมาป้องกันเพื่อลดการแพร่เชื้อ

“การที่กังวลมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดความเครียดต่อสุขภาพจิต และสุขภาพกาย เพราะจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันตก”

รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2563

1. สถานการณ์ ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น.                 

1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 366 ราย กลับบ้านแล้ว 44 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 411 ราย

2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 20 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 9,670 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 335 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 9,335 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 5,937 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 3,733 ราย

3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 179 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 นครรัฐ 2 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 21 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 265,867 ราย เสียชีวิต 11,179 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,967 ราย เสียชีวิต 3,248 ราย

2.สธ.เผยพบผู้ติดเชื้อโคโรนา 2019 ใหม่เพิ่ม 89 ราย กลับบ้าน 1 ราย

กระทรวงสาธารณสุขเผยพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 89 ราย กลับบ้าน 1 ราย ขอประชาชนอย่าวิตกกังวล ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า โดยในวันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 1 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่ม 89 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้   

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 51 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 32 ราย ,กลุ่มสถานบันเทิง 2 ราย ,กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 11 ราย และกลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 6 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 38 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 12 ราย ใน จำนวนนี้มีหลายรายที่มีประวัติเดินทางกลับจากเที่ยวผับปอยเปต ที่ประเทศกัมพูชา ร่วมกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ ,กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 6 ราย และรอผลสอบสวนโรค / ประวัติเสี่ยงเพิ่มเติม 20 ราย

สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 7 ราย จาก สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี  โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาลบาลเอกชน ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยสรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 44 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 366 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 411 ราย

ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยรายใหม่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเข้าควบคุมสอบโรคทันทีภายใน 12 ชั่วโมงและรายงานจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ไปยังองค์การอนามัยโลกทุกวัน ในการรายงานผู้ป่วยต้องมีผลสอบสวนโรคประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ข้อมูลที่รายงานแต่ละวันเป็นการทบยอดข้อมูลสะสมบางวันอาจมีรายงานผู้ป่วยจำนวนมากหรือไม่ตรงกับข้อมูลในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อให้ทันเหตุการณ์กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ให้จังหวัดรายงานผู้ป่วยรายใหม่เบื้องต้นได้ทันทีหลังจากมีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบในช่วงนี้เป็น วัยหนุ่มสาว วัยทำงาน มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ลดกิจกรรมทางสังคม ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อาจทำให้นำโรคไปติดคนใกล้ชิดในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนๆ ที่สำคัญโรคนี้มีความรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข งดร่วมกิจกรรมทางสังคม เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก งด/ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่แออัด ทำงานอยู่ที่บ้าน หากประชาชนช่วยกันปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด จะทำให้ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้

สำหรับผู้ที่เคยไปในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วย อาทิ สนามมวย สถานบันเทิง สนามชนไก่ ชมมหรสพ ให้กักกันตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 14 วัน ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้อื่น สังเกตอาการ หากยังไม่มีอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ยังไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพราะหากยังไม่มีอาการโอกาสตรวจพบเชื้อมีน้อยมาก จะทำให้ขาดการระมัดระวังตัวเองนึกว่าไม่ติดเชื้อ

3. คำแนะนำสำหรับประชาชน

ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ตื่นตัว และรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia /และ “ไทยรู้ สู้โควิด” ทาง Twitter, Facebook, Line official, TikTok และChatBot 1422 ทาง ID : @COVID-19 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง อย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง “เช็คก่อนแชร์” ตรวจสอบข่าวลวงได้ที่ www.antifakenewscenter.com

กทม.สั่งปิดสถานที่เสี่ยง-ห้างฯ 22 วัน ยกเว้นโซนอาหาร

วันนี้ (21 มี.ค.2563) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 หารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กระจายขยายวงกว้าง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติสั่งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563

โดยสถานที่เสี่ยงปิดเพิ่มเติม ได้แก่
- สปา นวดเพื่อสุขภาพ
- สถานบริการควบคุมน้ำหนัก
- สปาอาบน้ำ ตัดขนสัตว์
- ลานสเก็ตหรือโรลเลอร์เบรด
- กิจการเสริมสวย และคลินิคเสริมความงาม
- สวนสนุก โบว์ลิ่ง ตู้เกม
- กิจการบริการคอมพิวเตอร์
- สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
- สระว่ายน้ำ
- กิจการสักผิว
- กิจการบริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน
- บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
- สนามพระ
- สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
- สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ
- ตลาดทุกประเภท ยกเว้นแผงของสด และแผงค้าที่จำหน่ายอาหารตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
- ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต
- สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง
- สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอบรมวิชาชีพทั่วกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชนให้อนุญาตพนักงานทำงานที่บ้าน ส่วนหน่วยงานของรัฐให้ใช้วิธีเหลื่อมเวลาหรือสลับวันการทำงาน ตามความเหมาะสม ส่วนระบบขนส่งมวลชนขอให้จัดเว้นระยะที่นั่งเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทางไปในที่มีคนหนาแน่น

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องกักตุนสินค้า ร้านอาหารยังเปิดตามปกติ เพียงแต่ขอให้ปรับรูปแบบเป็นแบบกล่องกลับบ้าน (take away) และซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ยังเปิดตามปกติ ร้านสะดวกซื้อให้หมั่นทำความสะอาด มีจุดบริการแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้า เพื่อความสะอาด ปลอดภัย


ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net