ความรุนแรงในครัวเรือนฝรั่งเศสเพิ่ม 30% หลังกักตัวช่วงโควิด-19 ระบาด

ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความรุนแรงในครัวเรือนสูงสุดในยุโรปอยู่แล้ว จากการที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศ 219,000 รายต่อปี แต่ในช่วงล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาด COVID-19 ก็ยิ่งทำให้มีเหตุความรุนแรงในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 30% ขณะที่ในจีนมีรายงานความรุนแรงต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงล็อกดาวน์เช่นกัน

บรรยากาศการประท้วงความรุนแรงต่อผู้หญิงในปารีส เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2019 (ที่มา:Twitter/Mathieu Bourdenet)

28 มี.ค. 2563 รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของฝรั่งเศส คริสตอฟฟ์ กาสตาแนร์ เปิดเผยว่านับตั้งแต่ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ให้คนอยู่กับบ้านมาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2563 ก็มีกรณีความรุนแรงในครัวเรือนเพิ่มขึ้นในฝรั่งเศสร้อยละ 30 ส่วนในปารีสมีเหตุเช่นนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 36

ในฝรั่งเศสมีคำสั่งล็อกดาวน์ไปจนถึงวันที่ 15 เม.ย. ที่จะถึงนี้เพื่อกักกันโรคระบาด COVID-19 ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก แต่ทว่าการถูกกักตัวให้อยู่ร่วมกับคู่หรือคนในครอบครังที่ข่มเหงรังแกก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับเหยื่อความรุนแรง

ฝรั่งเศสมีอัตราความรุนแรงในครัวเรือนสูงอยู่แล้ว โดยในทุกๆ ปีจะมีผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ประมาณ 219,000 กรณีถูกทำร้ายร่างกายในครัวเรือนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศในครัวเรือนจากคู่หรืออดีตคู่ของตัวเอง แต่จากสถิติของทางการก็ระบุว่ามีอยู่ร้อยละ 20 รายเท่านั้นที่รายงานในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีสถิติที่ผู้หญิงจำนวนมากถูกสังหารจากคู่หรืออดีตคู่ของตนเอง

คริสตอฟฟ์ กาสตาแนร์ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของฝรั่งเศส เปิดเผยสถิติความรุนแรงในครัวเรือนฝรั่งเศสเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงล็อกดาวน์รับการระบาด COVID-19 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia/Arthur Empereur)

กาสตาแนร์กล่าวว่ารัฐบาลควรจะเสนอมาตรการใหม่ที่อนุญาตให้คนที่เผชิญกับความรุนแรงสามารถขอความช่วยเหลือได้ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ โดยเสนอว่าน่าจะให้ร้ายขายยาเป็นพื้นที่เรียกขอความช่วยเหลือได้ แต่อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเดิมที่ระบุว่า "ผู้หญิงที่ไปแจ้งร้านขายยาโดยไม่มีสามีไปด้วย" เท่านั้นที่จะสามารถขอความช่วยเหลือได้ ให้กลายเป็นแม้แต่เมื่อผู้หญิงไปพร้อมกับคู่ของตนก็สามารถขอความช่วยเหลือได้ นอกจากนี้ยังมีระบบที่เหยื่อสามารถโทรศัพท์แจ้งเรื่องความรุนแรงในครัวเรือนด้วยเบอร์ 3919 ได้

ประเทศอย่างสเปนมีระบบกฏหมายที่จะใช้รายงานความรุนแรงในครัวเรือนได้อยู่แล้ว แต่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็แสดงความกังวลในเรื่องความรุนแรงในครัวเรือนเช่นเดียวกัน โดยที่สมาพันธ์ศูนย์ปรึกษาและขอความช่วยเหลือสำหรับผู้หญิงในเยอรมนี (BFF) กล่าวเตือนในเรื่องนี้ว่าสำหรับหลายๆ คนแล้ว บ้านไม่ใช่สถานที่ๆ ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าคนที่มีความเสี่ยงจะต้องอยู่ร่วมชายคากับผู้ใช้ความรุนแรงอย่างเดียว มาตรการวางระยะห่างทางสังคมที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นยิ่งทำให้ความเสี่ยงเกิดความรุนแรงในครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้

BFF ระบุว่าความเครียดจากมาตรการวางระยะห่างทางสังคมนั้นเกิดจากความรู้สึกถูกจำกัดพื้นที่ ความกลัวเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน และความยากลำบากทางการเงิน สิ่งเหล่านี้ยิ่งเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความขัดแย้งในครัวเรือนมากขึ้นได้

นอกจากยุโรปแล้วแม้แต่ในจีนที่มีการระบาดหนักมาก่อนหน้านี้และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังการระบาดก็มีจำนวนความรุนแรงในครัวเรือนเกิดขึ้นต่อผู้หญิงมากขึ้นเช่นกัน โดยที่องค์กรสตรีจากจีน "เว่ยผิง" รายงานว่าในช่วงล็อกดาวน์หลายสัปดาห์มีผู้รายงานความรุนแรงต่อผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น 3 เท่า

เรียบเรียงจาก

Domestic violence cases jump 30% during lockdown in France, Euro News, 28-03-2020

Fears of domestic violence rise as millions confined over virus, France 24, 28-03-2020

เกี่ยวกับภาพปก: แฟ้มภาพกิจกรรมจุดเทียนรำลึกเหตุรุนแรงในครัวเรือนที่ Goose Creek รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เมื่อ 21 ตุลาคม 2014 (ที่มา: U.S. Air Force photo/Senior Airman George Goslin)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท