Skip to main content
sharethis

มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาล เล่าถึงการทำงานในช่วงโควิด-19 ระบุ รัฐให้ประกันโควิด-19 กับบุคลากรแต่ไม่ครบทุกคน ตั้งคำถามกับความปลอดภัยของบุคลากรเมื่อหน้ากากอนามัย-ชุดPPE ไม่เพียงพอ และห้องผู้ป่วยเฉพาะเก่า ขอรัฐเร่งดำเนินการ


ภาพประกอบจาก Piron Guillaume และ PIRO4D

ตั้งแต่ต้นปีนี้ไทยเผชิญภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องพร้อมกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ภาวะดังกล่าวทวีความน่าวิตกขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะจำนวนคนหายป่วยก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 

ยอดล่าสุดสำหรับวันที่ 10 เม.ย. 2563 คือมีคนติดเชื้อใหม่ 50 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมเสียชีวิต 33 ราย รวมป่วยสะสม 2,473 ราย หายป่วยแล้ว 1,013 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,451 ราย

วันที่ 4 เม.ย. ชัยวัฒน์ ศรียอง เจ้าหน้าที่แผนกเอกซเรย์ ของโรงพยาบาลลำพูน ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอ็กซเรย์ปอดของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยต้องใส่ชุด PPE ซึ่งต้องใส่หลายชั้นและรัดกุมมาก หลังปฏิบัติหน้าที่เสร็จมีอาการวูบ จึงได้เคลื่อนย้ายมารักษาแต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ เป็นการเสียชีวิตจากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

วันที่ 5 เม.ย. มนิสรา ใจบุญ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาล​เชียงรายประชานุเคราะห์​ ​เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ 

วันที่ 6 เม.ย. ทองใส เศรษฐสูงเนิน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านเนินมะเกลือ ขณะปฏิบัติหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยที่ด่านโควิด-19 เกิดอาการหน้ามืดจึงได้นำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

ปราการหลักสำคัญในการรับมือกับเชื้อไวรัสนี้คือแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงพนักงานทุกคนในโรงพยาบาล แม่บ้าน รปภ. ไปจนถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แต่ในขณะที่บุคลากรเหล่านี้กำลังทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง พวกเขาเองได้รับการดูแลและสนับสนุนที่เพียงพอหรือยัง

ประชาไทคุยกับ มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาล หัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ถึงสภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงวิกฤติ

 


มัลลิกา ลุนจักร์ (ภาพจากเพจ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย)

 

รัฐให้ประกันโควิด-19 แต่ไม่ครบทุกคน

มัลลิกากล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้รับสิทธิประกันโควิดมาจากภาครัฐแต่ไม่ครอบคลุมทุกคน และยังมีระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลรวมมี 172 คน แต่ให้โควตามา 77 คน ทางโรงพยาบาลรวมถึงเจ้าหน้าที่จึงต้องช่วยกันออกเงินเองส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปถัวเฉลี่ยซื้อเงินประกันให้ครบทุกคน ซึ่งตอนนี้ทุกคนในโรงพยาบาลก็ได้ประกันโควิดครบทุกคนรวมถึงแม่บ้านและรปภ. 

 

อุปกรณ์ไม่พอ ห้องเก่า

มัลลิการะบุว่าปัญหาหลักขณะนี้คือการขาดแคลนอุปกรณ์ 

“หน้ากากอนามัย ภาครัฐพยายามบอกว่าพอ แต่ความจริงคือไม่พอ เราต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องขอบริจาค และบางส่วนก็ต้องหาซื้อกันเอง และหากเข้าห้องโควิดก็ต้องเป็นหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งหาซื้อลำบาก ตอนนี้ทางโรงพยาบาลจำกัดว่าหน้ากากอนามัยใช้ได้แค่คนละ 1 อัน ต่อ 1 วัน ให้กับทุกคนรวม หากในวันนั้นทำหายหรือชำรุดก็จะไม่ได้เปลี่ยนใหม่ ต้องรับผิดชอบตัวเอง” 

มัลลิกากล่าวเสริมว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาลจะได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัย เช่น การจัดการกับขยะ 

“นอกจากนี้อุปกรณ์อย่างปรอทวัดไข้ หรืออุปกรณ์ช่วยเหลือคนไข้ฉุกเฉิน รวมถึงห้อง negative pressure (ห้องแยกผู้ป่วยภายในห้องฉุกเฉิน) ซึ่งเรามีอยู่เพียงห้องเดียวและห้องเก่าแล้ว ก็อาจมีคำถามเรื่องความปลอดภัย แต่เราก็ต้องใช้ต่อไป หรือชุด PPE (ชุดป้องกันส่วนบุคคล) ก็ขาดแคลน เราต้องซื้อชุดกันฝนมาดัดแปลงกันเอง ซึ่งถ้าในอนาคตหากต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก บุคลกรทางการแพทย์ก็จะได้รับความเสี่ยงเพิ่มตามไป” มัลลิการะบุ

 

บุคลากรอาจไม่พอหากโรคแพร่ระบาดมากกว่านี้

ความกังวลอีกอย่างของมัลลิกาคือในอำเภอของเธอมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจำนวน 600 กว่าคน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลออกไปสอบสวนโรค พบคนที่มีอาการทั้งหมด 9 คน ซึ่งใน 9 คน ต้องใช้ชุดตรวจทั้งหมด 3 ชุดต่อคนไข้ 1 คน ถึงจะรู้ผล และเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจก็ต้องลุ้นว่าผลจะออกเป็น Positive หรือไม่ หากเป็น Positive คนที่ทำการตรวจโรคต้องกักตัว 14 วัน เพราะฉะนั้นจำนวนเจ้าหน้าที่จะลดลง 

“แต่ตอนนี้คนที่ตรวจแล้วเป็น Negative ทั้งหมด ทั้งนี้ก็ยังต้องเฝ้าระวังอาการของกลุ่มเสี่ยง 600 กว่าคนนี้ต่อไป ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก และในความเป็นจริงแม้ผ่านช่วงกักตัว 14 วันมาแล้วก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะเชื้อใช้เวลาฟักตัวได้ถึง 28 วัน” มัลลิกากล่าว 

 

ขอภาครัฐเร่งจัดหาหน้ากาก N95 ชุด PPE 

มัลลิกาคำนวณว่าทั้งโรงพยาบาลที่ตนทำงานตอนนี้สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เต็มที่ 15 คน แต่บุคลากรก็อาจจะไม่พอ 

ทั้งนี้มัลลิกาอยากให้ภาครัฐดำเนินการจัดหาหน้ากากและชุด PPE มาให้ และสำหรับห้องโควิด หรือ ห้อง negative pressure จนอยากให้มีการออกแบบห้องให้เป็นมาตรฐาน ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแล้วปลอดภัยในห้องนั้น 

เมื่อถามว่ามีการทำงานเกินเวลาหรือไม่ มัลลิกาตอบว่า ทำไม่ได้หลับได้นอน โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล หนักมาก อย่างตนเอง เป็นผู้บริหารด้วย เลยต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง ต้องดูเรื่องความปลอดภัยของทุกคน เรื่องการสวมหน้ากากอนามัยของทุกคน

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net