Skip to main content
sharethis

ตอน 3 และ 4 ซีรีย์ Still Lives ของ 'อ่าน' คุยกับ รสมาลิน ภรรยาอากง SMS และ ดา ตอร์ปิโด 

สำนักพิมพ์ 'อ่าน' ร่วมกับงสตูดิโออคิระห์และสตูดิโอญุโต เปิดซีรีย์ Still Lives ตอนที่ 3 และ 4 โดยตอนที่ 3 สัมภาษณ์ รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยา อำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง SMS"เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตนกับ อำพล การใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะคู่ชีวิต ความรู้สึกช่วงที่อากงอยู่ในเรือนจำ และอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้บอกกับอำพล รวมทั้งเล่าถึงการบำบัดตัวเองจากความเศร้าด้วยเพลงและกลิ่นหอม นอกจากนี้สกู๊ปพาไปยังวันธรรมนิมิตต์, หอพระพุทธสิหิงค์ จ.ชลบุรีที่ทั้งคู่มีความหลังร่วมกันกับสถานที่นี้

ประชาไทเคยเขียนสรุปเกี่ยวกับ อากง SMS ไว้เมื่อ ส.ค.2555 ว่า เขา ถูกดำเนินคดีในข้อหาส่ง SMS หมิ่นเบื้องสูง นับตั้งแต่การเริ่มพิจารณาไต่สวนคดี คดีนี้ก็เป็นจุดสนใจของนักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ และเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ และเมื่ออากงถูกพิพากษาจำคุก 20 ปี ประเด็นเรื่องความเหมาะสมของโทษและข้อกังขาต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็กลายเป็นข้อถกเถียงของสังคมไทยที่ขยายใหญ่กว่าเดิม และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรานี้เป็นวงกว้าง

การเริ่มต้นรณรงค์ครั้งใหญ่ให้ปลดปล่อยสังคมไทยออกจากพันธนาการแห่งความกลัวกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือโครงการ Thailand Fearlessness Free Akong ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ในขณะนั้น ได้สร้างกระแสการตื่นตัวอย่างมากในสังคมออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมการรณรงค์ครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก และมีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อมาคือ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112  เริ่มการรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐสภาขอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอาศัยร่างกฎหมายของนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์เป็นหลัก

อากง SMS เสียชีวิตในวันที่ 8 พ.ค.2555 ระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ มานาน 1 ปีเศษ จากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย ผู้ต้องขังที่อยู่ใกล้ชิดอากงระบุในจดหมายว่า ระหว่างเจ็บป่วยอากงไม่เคยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องเหมาะสม และการเสียชีวิตของอากง SMS ได้จุดกระแสความตื่นตัวต่อสิทธิของผู้ต้องขัง และเกิดกลุ่มกิจกรรมชื่อ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ที่จัดกิจกรรมการเสวนาหน้าศาลอาญา รัชดาต่อเนื่องทุกวันอาทิตย์ และปลายเดือน พ.ค.นั้น ครก.112 ได้นำรายชื่อประชาชนที่รวบรวมได้เกือบ 3 หมื่นรายชื่อยื่นต่อขอแก้ไขมาตรา 112 ต่อรัฐสภา

ดา ตอร์ปิโด : จะไม่ยอมเป็นไม้ขีดที่โยนไปยังต้นไม่ที่ยังเปียกอีก

ส่วนตอนที่ 4 เป็นการพูดคุยกับ ดา ตอร์ปิโด หรือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างเข้ารับการรักษาตัวเมื่อ 29 พ.ย.2562

ในบทสัมภาษณ์ ดา เล่าถึงความรู้สึกหลังทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งระยะที่ 4 ขณะนั้น เล่าถึงการทำงานในฐานะนักหนังสือพิมพ์ จุดเริ่มต้นที่ออกมาและเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และการต่อสู้คดี ม.112 ของเธอ

ดา ยังเล่าถึงการสรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่าเธอยังสู้แต่ แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน

"ประเทศนี้พูดด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงไม่ได้ เมื่อไม่ได้คุณจะขึ้นเวทีไฮด์ปาร์ค อีกไม่ได้แล้ว ไม่มีประโยชน์"

"พี่เอาไม้ขีดไฟโยนเข้าไปในป่าที่มันยังเปียกน้ำ สุดท้ายไฟก็ไม่ลุก พี่ก็เจ็บตัวฟรี เพราtพี่มองสถานการณ์ผิดพลาด" ดา กล่าว

ดา เพิ่งเสียชีวิตไปอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง(Palliative Care)จากโรคมะเร็งระยะสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอายุ 58 ปี เธอเป็นอดีตแกนนำกลุ่มสภาประชาชน แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) อดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  รวมทั้งอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสถานีโทรทัศน์เคเบิลไทยสกายทีวี

เกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 22 ก.ค.2551 ดารณี สมัยที่เป็น นักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งมักขึ้นปราศรัยต่อต้านการรัฐประหาร คมช. ถูกจับกุมที่บ้านและถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการปราศรัยที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นฯ 3 ครั้ง 

ข้อมูลจากไอลอว์ ระบุว่า ดารณี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นศาลโดยไม่ได้รับการประกันตัว ศาลนัดดารณีสอบคำให้การในวันที่ 1 ธ.ค. 2551 ก่อนที่ต่อมาจะนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 23 มิ.ย. 2552 เท่ากับว่าดารณีต้องถุกคุมขังเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีก่อนจะเริ่มมีการสืบพยาน

ธ.ค.2554 ศาลอาญาพิพากษาว่าดารณีมีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยการปราศรัยรวม 3 กรรม ลงโทษจำคุกความผิดกรรมละห้าปีรวม 15 ปี ดารณีอุทธรณ์คดี ใน มิ.ย. 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนจำคุกดารณีเป็นเวลา 15 ปี ดารณีตัดสินใจไม่สู้คดีในศาลฎีกาคดีจึงเป็นที่สิ้นสุด

จนเมื่อ ส.ค. 2559 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2559 ดารณีมีชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษและได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 27 ส.ค. 2559 รวมเวลาที่ถูกคุมขังทั้งสองคดี 2,958 วัน

ขณะที่ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์จากกรณีปราศรัยบนเวทีปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อปี 51 โดยเนื้อหาเป็นการนำเอาคำปราศรัยของ ดารณี มากล่าวซ้ำนั้น ศาลชั้นต้น ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า สนธิ มีเจตนาที่จะเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีต่อ ดารณี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขยายคำพูดของ ดารณี ส่วน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุก สนธิ เป็นเวลา 3 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี เนื่องจาก เห็นว่า สนธิ นำคำพูดของ ดารณี มาปราศรัยที่เวทีพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นการนำคำพูดมาหมิ่นประมาทซ้ำ ซึ่ง สนธิ ไม่มีความจำเป็นต้องเอาเนื้อหามาถ่ายทอดพูดซ้ำในที่สาธารณะ เพราะประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่า ดารณี หรือดา ตอร์ปิโด พูดอย่างไร ก็มาทราบจากการที่ สนธิ พูด ขณะที่ ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net