นักเศรษฐศาสตร์แนะเพิ่มวงเงิน Soft loans ให้ SMEs เน้นการจ้างงาน-ไม่ทำธุรกิจผิดศีลธรรม

อดีตกรรมการตรวจสอบ ธปท. แนะเพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loans) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จาก 500,000 ล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท โดยนำ 300,000 ล้านบาท ให้เป็น Soft Loans สำหรับ SMEs เน้นการจ้างงาน-ไม่ทำธุรกิจผิดศีลธรรม ควรเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองของประเทศ


อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

24 พ.ค. 2563 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกและของไทยจะลุกลามสู่วิกฤติภาคการเงินมีความเป็นไปได้สูงขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆพยายามอย่างเต็มที่ในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์แต่ก็ยังไม่สามารถประคับประคองความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดการเงินและระบบเศรษฐกิจได้มากนัก รวมทั้งหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา นำมาสู่การปิดกิจการจำนวนมากซึ่งเป็นลูกค้าธนาคาร ฐานทุนของระบบธนาคารในหลายประเทศที่เคยแข็งแรงเริ่มอ่อนแอลงอย่างชัดเจน ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษได้ออกพันธบัตรรัฐบาลอัตราผลตอบแทนติดลบ โดยที่ก่อนหน้านี้หลายชาติในยุโรป ญี่ปุ่นได้ทำสิ่งเดียวกัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงพร้อมกับภาวะเงินฝืดและเดินหน้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ 

โดยภูมิภาคที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ละตินอเมริกา โดยล่าสุด ประเทศอาร์เจนตินาอาจประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเจรจายืดการชำระหนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อความปั่นป่วนของตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้น เม็ดเงินจำนวนหนึ่งจะไหลมายังตลาดเอเชีย อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะอยู่ในระดับต่ำและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหลายประเทศจะติดลบไปอีกนาน และนักลงทุนและประชาชนจำนวนมากก็ยังยินดีเข้ามาซื้อลงทุนพันธบัตรรัฐบาลติดลบเพราะการลงทุนในตราสารอื่น ๆ มีความเสี่ยงสูงกว่ามาก (อาจขาดทุนแล้วติดลบมากกว่า) แม้นกระทั่งการฝากเงินไว้ในธนาคาร 

สำหรับประเทศที่ใช้พันธบัตรติดลบน่าจะทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนค่าลง เงินระยะสั้นเก็งกำไรน่าจะไหลมาลงทุนในตลาดพันธบัตรหรือตราสารหนี้ในไทยและอาเซียนมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทและเงินสกุลอาเซียนแข็งค่า คาดว่าการดิ่งลงของตลาดการเงินโลกรอบสองจะเกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาสสองต่อเนื่องต้นไตรมาสสาม อันเป็นผลจากการที่หลายประเทศดิ้นรนเพื่อฝ่าวิกฤตการณ์เศรษฐกิจด้วยการใช้พันธบัตรติดลบ พร้อมความเสี่ยงของการเกิดสงครามทางเศรษฐกิจรอบใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน นำมาสู่ความผันผวนอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดปริวรรตเงินตรา ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันและทองคำ การเตรียมบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ของจีนต่อฮ่องกงจะจุดปะทุกระแสประท้วงรอบใหม่อันนำมาสู่การดิ่งลงของตลาดการเงินในฮ่องกงและสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจจีน จึงมีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยดังต่อไปนี้ 

ข้อที่หนึ่ง กระแสเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจำนวนมากจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลและตราสารทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้มีการใช้มาตรการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราผ่านกลไก Open Market Operation ในการลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทหรือเลือกใช้มาตรการดอกเบี้ยนโยบาย 0% หรือ 0.25% หากปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าจะซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวและภาคส่งออกที่มีปัญหาหดตัวอยู่แล้ว 

ข้อที่สอง ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loans) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จาก 500,000 ล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท โดย 300,000 ล้านบาท เป็น Soft Loans สำหรับ SMEs เพิ่มเติมเพื่อการลงทุนที่ทำให้เกิดการจ้างงานเท่านั้นไม่ใช่เพื่อเสริมสภาพคล่องและสำหรับ SMES ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข อีก 200,000 ล้านบาทสำหรับบริษัทหรือกิจการที่ไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ครบกำหนดหรือยืดการชำระหนี้ได้โดยไม่ช่วยเหลือกิจการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุขหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดศีลธรรม และไม่เข้าเงื่อนไขของกองทุน BSF ให้สามารถขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องได้โดยเฉพาะพิจารณาสถานประกอบการที่ไม่มีการปลดพนักงานออกให้เข้าถึงสินเชื่อก่อน 

ข้อที่สาม กองทุน BSF (Corporate Bond Stabilization Funds หรือ กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้) ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้เป็นแหล่งสนับสนุนสภาพคล่องสำรอง กำหนดคุณสมบัติบริษัทที่มาขอความช่วยเหลือ รูปแบบการช่วยเหลือ รวมทั้งการกำหนดอัตราผลตอบแทนที่คำนึงถึงความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงของ “เงินสาธารณะ” ได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้จึงอยู่ที่ความสามารถในการกำกับดูแลของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบอร์ดแบงก์ชาติ การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายกองทุน BSF ต่อคณะกรรมการลงทุนและระบบการกลั่นกรองขั้นต้นจาก บลจ กรุงไทย และต้องยึดถือเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการผ่องถ่ายปัญหาหนี้จากเอกชนรายใหญ่มาเป็นต้นทุนของสาธารณชนอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม

ข้อสี่ ต้องปฏิรูประบบการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่ เนื่องจาก เงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินเยนจะผันผวนอย่างมากและด้อยค่าลงรวมทั้งความเชื่อมั่นต่อเงินสกุลเหล่านี้จะลดลง ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สะสมเอาไว้จะด้อยค่าลง ควรเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรนำเอาการศึกษาที่ทำไว้แล้วเรื่อง “การจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง” มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และควรศึกษาเพิ่มเติมถึงการใช้ Digital Currency ในทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้ง การจัดตั้งกองทุนและทำ Swap Agreement กับประเทศในเอเชียเพิ่มเติม 

ข้อที่ห้า ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกยังใช้กรอบคิดเดิมในการทำงานมุ่งดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน (Financial stability) เป็นหลัก ซึ่งไม่เพียงพอเพราะมีคนว่างงานจำนวนมาก และ รัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วมีปัญหาฐานะทางการคลัง ไม่สามารถลดภาษีหรือเพิ่มการใช้จ่ายได้มากกว่านี้ยกเว้นต้องออกพันธบัตร 50 ปีหรือ 100 ปี บทบาทของแบงก์ชาติในการดูแลเศรษฐกิจภาคประชาชนและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในสถานการณ์ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายก้าวหน้าชาวฝรั่งเศสอย่าง Thomas Piketty เขียนหนังสือ ทุนในศตวรรษ 21 (Capital in the Twenty-First Century) วิพากษ์การสร้างความมั่งคั่งจากผลตอบแทนจากทุน (การลงทุนในตลาดการเงินรวมทั้งการเก็งกำไรเกินขนาด) แทนที่จะสร้างความมั่งคั่งจากการผลิตในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีส่วนสำคัญทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในสหรัฐอเมริกา ยุโรปบางประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ภาวะดังกล่าวมีผลกระทบต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความไม่เท่าเทียมอันนำมาสู่ภาวะไร้เสถียรภาพและปัญหาความสงบเรียบร้อยของสังคม  

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าอุปสงค์มวลรวมทั่วโลกรวมทั้งไทยหดตัวอย่างฉับพลันรุนแรงเพราะคนจำนวนมากถูกห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางพร้อมๆกัน รวมทั้งจะมีคนจำนวนมากว่างงาน ยังไม่เห็นแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะหนึ่งปีข้างหน้า การเพิ่มปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยต่ำลงจะไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเลยหากประชาชนยังไม่มีความมั่นคงในงานและมั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ดอกเบี้ยต่ำต้องนำไปสู่การลงทุนจึงแก้ปัญหาได้ หากเอกชนยังไม่กล้าลงทุน รัฐต้องเดินหน้าลงทุนโครงการต่าง ๆ เองเพื่อให้เกิดการจ้างงานในระบบ ทำให้เกิดรายได้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็จะกระเตื้องขึ้นได้บ้าง  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท