สหรัฐฯ และพันธมิตรประณามกฎหมายความมั่นคงใหม่ที่จีนจ้องใช้กับฮ่องกง

ประเทศสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรอย่างอังกฤษ, แคนาดา และออสเตรเลีย ต่างก็ประณามการที่จีนวางแผนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงโดยระบุว่าเป็นการละเมิดโดยตรงต่อสัตยาบันที่จีนให้ไว้กับนานาชาติ เรื่อง "หนึ่งประเทศ สองระบบ"

30 พ.ค. 2563 แถลงการณ์ร่วมกันของประเทศสหรัฐฯ และประเทศสัมพันธมิตรที่ออกมาเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า การตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกงนั้นถือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งโดยตรงต่อพันธกรณีนานาชาติในเรื่องปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ ที่ระบุถึงหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" อันเป็นหลักการที่ห้ามจีนใช้ระบอบของตัวเองกับฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี (จนถึงปี 2590)

สี่ประเทศพันธมิตรมองว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้จะบ่อนทำลายหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ซึ่งปฏิญญาตัวนี้เป็นสิ่งที่จีนกับอังกฤษลงนามร่วมกันในปี 2530 ที่เป็นการถอนฮ่องกงออกจากสถานะอาณานิคมอังกฤษ

ถ้อยแถลงของประเทศสัมพันธมิตรระบุอีกว่า "ฮ่องกงได้เบ่งบานในฐานะปราการแห่งเสรีภาพ" และพวกเขาก็มีความกังวลอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่จีนตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง

รัฐสภาจีนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้หลังจากที่มีการประท้วงของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงมาเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเป็นการประท้วงที่มีชนวนเริ่มต้นมาจากการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนฉบับใหม่ซึ่งชาวฮ่องกงเกรงว่าจะทำให้จีนใช้เล่นงานผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนได้ง่ายขึ้น

กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้ได้รับคะแนนโหวตสนับสนุน 2,878 เสียงต่อ 1 เสียง มี 6 เสียงที่งดเว้นการออกเสียง กระบวนการโหวตจากสภาของจีนนี้ถูกมองว่าเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องกฎหมายในทุกกรณีอยู่แล้ว

กฎหมายฉบับใหม่นี้จะถูกบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญย่อยของฮ่องกงที่เรียกว่ากฎหมายขั้นพื้นฐาน โดยจะระบุให้ทางการฮ่องกงต้องบังคับใช้มาตรการที่มาจากการตัดสินใจของสภาประชาชนจีนซึ่งเป็นสภาของคนไม่กี่คนที่ดูแลจัดการเรื่องกฎหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทางการจีนอ้างว้ากฎหมายความมั่นคงใหม่นี้มุ่งที่จะจัดการปัญหาเรื่อง "การแบ่งแยก" "การโค่นล้ม" "การก่อการร้าย" และ "การแทรกแซงจากต่างชาติ"

ทางการจีนเปิดเผยเกี่ยวกับกฎหมายนี้ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วจนกกลายเป็นเหตุให้มีการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกง

สหรัฐฯ และสัมพันธมิตรระบุในแถลงการณ์อีกว่า พวกเขากังวลอย่างมากว่าการบังคับใช้ร่างกฎหมายใหม่นี้จะตอกย้ำให้เกิดความแตกแยกฝังรากลุกในฮ่องกงมากขึ้น กฎหมายความมั่นคงใหม่นี้ไม่ได้ร่างขึ้นมาจากความเข้าใจร่วมกันหรือความพยายามประนีประนอมต่อฮ่องกงเลย

ประเด็นล่าสุดนี้ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ระหองระแหงกันมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เรื่องการค้า เทคโนโลยี เสรีภาพทางศาสนา การจัดการปัญหาการระบาดโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชองจีน รวมถึงเรื่องสถานะของไต้หวันที่จีนพยายามอ้างกรรมสิทธิเป็นพื้นที่ของประเทศตัวเอง นักข่าวอัลจาซีรา แคทรินา ยู รายงานจากจีนตั้งข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในตอนนี้ถือว่า "อยู่ในจุดต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ"

ในฮ่องกงมีบริษัทของสหรัฐฯ ตั้งสำนักงานอยู่มากกว่า 1,300 แห่ง และทำให้เกิดการสร้างงานประมาณ 100,000 ตำแหน่ง โฆษกสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ แนนซี เปโลซี ระบุเรียกร้องให้รัฐบาลกับสภาคองเกรสมี "การโต้ตอบตามความเหมาะสม" โดยการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจไปจนถึงการจำกัดวีซา

รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี ไฮโค มาส แถลงสนับสนุนความเป็นอิสระของฮ่องกง โดยกล่าวย้ำว่า "ควรจะมีการเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการอภิปรายอย่างเป็นประชาธิปไตยในฮ่องกงต่อไปในอนาคต"

นายกรัฐมนตรีจีน หลี่เค่อเฉียง แถลงในวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพในเรื่องความร่วมมือระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และขอให้เน้นส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาโลกและส่งเสริมเรื่องการค้า วิทยาศาสตร์ และด้านอื่นๆ ร่วมกัน จีนยังอ้างอีกว่ากฎหมายใหม่นี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อต่อต้าน "การแทรกแซงจากต่างชาติ" ในเรื่องที่จีนอ้างเสมอมาว่าเป็นกิจการภายใน

เรียบเรียงจาก
US and allies condemn China over Hong Kong national security law, Aljazeera, 29-05-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท