การจากไปของ 'เรืองรอง รุ่งรัศมี' นักเขียนนักแปลวรรณกรรมจีน

ข่าวการจากไปของรุ่งโรจน์ กำจรจรุงวิทย์ หรือนามปากกา 'เรืองรอง รุ่งรัศมี' วัย 67 ปี - เขาเกิดปลายปี 2496 เริ่มชีวิตวัยเด็กที่สงขลา เรียนภาษาจีนกับบิดาผู้เป็นครูสอนภาษาจีนตามบ้าน ในวงการวรรณกรรมเขาแปล 'เดียวดายใต้เงาจันทร์ โก้วเล้งรำพัน' เป็นที่ประจักษ์ สำหรับพิธีสวดอภิธรรมจัดที่วัดหัวลำโพงและกำหนดฌาปนกิจ 2 มิ.ย. 63

รุ่งโรจน์ กำจรจรุงวิทย์ เจ้าของนามปากกา "เรืองรอง รุ่งรัศมี" (ที่มา: Facebook/Manus Klaeovigkit)

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่าช่วงเช้าวันที่ 31 พ.ค. 63 รุ่งโรจน์ กำจรจรุงวิทย์ หรือนักเขียน นักแปลคนสำคัญผู้ใช้นามปากกา "เรืองรอง รุ่งรัศมี" เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 67 ปี โดยมีพิธีสวดอภิธรรมคืนแรกที่วัดหัวลำโพง ศาลา 9 กรุงเทพมหานคร โดยสวดอภิธรรมถึงวันที่ 1 มิ.ย. และฌาปนกิจวันที่ 2 มิ.ย. เวลา 17.00 น.

โดยหลังทราบข่าวเสียชีวิต มีประชาชนในวงการต่างๆ รวมทั้งแวดวงนักเขียน เขียนรำลึกและไว้อาลัยที่เฟซบุ๊กของเขาเป็นจำนวนมาก

สำหรับเรืองรอง รุ่งรัศมี ในหน้าต้นๆ ของหนังสือ "เดียวดาย ใต้เงาจันทร์ โก้วเล้งรำพัน" เขาเขียนแนะนำประวัติว่า "เรืองรอง รุ่งรัศมี เป็นนามแฝง เกิดปลายปี พ.ศ. 2496 ณ หมู่บ้านเล็กๆ ของจังหวัดสงขลา เรียนภาษาจีนครั้งแรกขณะยังอยู่ในวัยเด็กกับบิดาซึ่งเป็นครูสอนภาษาจีนตามบ้าน หยุดเรียนภาษาจีนเมื่อเรียนชั้นมัธยม แล้วกลับมาเรียนใหม่ในปี พ.ศ. 2514 เริ่มมีผลงานแปลปรากฏต่อสาธารณะในปี พ.ศ. 2526" 

ทั้งนี้เขายังเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยุค 14 ตุลาคม 2516 ในเว็บไซต์รีวิววรรณกรรมเขาแนะนำตัวเองว่า "เริ่มสนใจงานอ่านเขียนตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้น เริ่มมีผลงานบางชิ้นตีพิมพ์ในนิตยสารด้วยนามปากกาอื่นก่อนปี 2516 และฝึกฝนตัวเองในงานเขียนเรื่อยมา ผลพวงของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้เดินออกจากการเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เดินทางเข้าป่า ใช้ชีวิตอยู่ในบางมุมของเมืองหลวง ทำงานรับจ้างและครุ่นคิด ถกเถียงจริงจังอยู่ในกลุ่มมิตรสหายกลุ่มเล็กๆ นามปากกาเรืองรอง รุ่งรัศมี เริ่มปรากฏครั้งแรกในนิตยสาร “หนุ่มสาว” ยุคหลัง 6 ตุลา 2519 และมีงานเขียน งานแปลสืบเนื่องต่อมา"

ปกหนังสือ "มังกรซ่อนลาย" ผลงาน "เรืองรอง รุ่งรัศมี" (ที่มา: Facebook/เรืองรอง รุ่งรัศมี)

ปกหนังสือ "เดียวดายใต้เงาจันทร์ โก้วเล้งรำพัน" พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2536 โดยสำนักพิมพ์ทางทอง

แนะนำผู้เขียน "เรืองรอง รุ่งรัศมี" ในหนังสือแปล "เดียวดายใต้เงาจันทร์ โก้วเล้งรำพัน" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 โดยสำนักพิมพ์ทางทอง

ขณะที่ในเว็บบล็อกของเขา แนะนำตัวว่า "เรืองรอง รุ่งรัศมี" เป็นนามปากกา และใช้ตราภาษาจีน “อวี๋เหรินซูไจ” และ “ชิวอวี๋เหริน” “ชิวคนโง่” หรือ “คนโง่แซ่ชิว” เป็นสัญลักษณ์แทนตัว เรืองรอง รุ่งรัศมี แปลหนังสือภาษาจีน เขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับจีนมากว่า 30 ปี มีรวมเล่มที่พิมพ์มาแล้วกว่า 20 เล่ม รวมทั้งเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลากหลาย ยังคงอ่าน ค้นคว้าและเขียนงานใส่แฟ้มไว้เรื่อยๆ

สำหรับผลงานแปลที่มีชื่อเสียงของ "เรืองรอง รุ่งรัศมี" คือ "เดียวดายใต้เงาจันทร์ โก้วเล้งรำพัน" พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532 และมีการจัดพิมพ์เรื่อยมาอย่างน้อย 11 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีงานเขียนของเขาคือเรื่อง "มังกรซ่อนลาย" พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2541 กับแพรวสำนักพิมพ์ เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับครอบครัวของเขาและสังคมชาวจีนโพ้นทะเลในไทย โดยเขายังเล่าเรื่องของพ่อที่เป็นครูสอนภาษาจีนตามบ้าน และแม่เล่าให้เขาฟังด้วยว่า "ในยุคที่ทางการกวาดจับคนสอนภาษาจีน พ่อก็เคยโดนจับเช่นกัน"

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รวบรวมผลงานแปลและงานเขียนของ "เรืองรอง รุ่งรัศมี" อาทิ

งานแปล 1.ความลับของทะเล รวมบทกวีเด็กไต้หวัน 2.เพราะฉันอายุสามสิบ รวมบทกวีจีนร่วมสมัย 3.มณีปัญญา ปรัชญานิพนธ์จีนโบราณ 4.ยิ้มชุบปัญญา รวมนิทานเปรียบเทียบร่วมสมัยของจีน 5.เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ อ่านกลยุทธ์ บางบทจาก “สื่อจี้” หนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกของจีน 6.ความฝันครั้งเก่า รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยของไต้หวัน 7.เดียวดายใต้เงาจันทร์ โก้วเล้งรำพัน ความเรียงชีวิตของโก้วเล้ง 8.ผิวขลุ่ยใต้ร่มไผ่ เกล็ดกลยุทธ์จากประวัติศาสตร์จีน 9.รอยยิ้มในปัญญา ปรัชญานิพนธ์หฤหรรษ์แห่งเมธีจีนโบราณ 10.วิถีแห่งประมุข (งานแปลร่วมกับโกมุที ปวัตนา)

งานเขียน 1.จากข้างหน้าต่างบ้านชานเมือง ความเรียงมุมชีวิตใกล้ตัว 2.กิ่งไผ่และดวงโคม ชีวิตเปลี่ยนบนสามแผ่นดิน ข้อเขียนด้านการมองจีน 3.ธุลีดาวของยุคสมัย เสี้ยวศตวรรษของเรื่องราวและผู้คนเดือนตุลา ความเรียงเสี้ยวศตวรรษ 14 ตุลาคม 4.ขลุ่ยผิวเพลงพระจันทร์ 5.มังกรซ่อนลาย 6.รวยรินกลิ่นชา 7.โอบกอดจันทรา

บทกวีเรื่องการใช้ชีวิต และทวงความยุติธรรมจากรัฐไทยสังหารประชาชน

เรืองรอง รุ่งรัศมี ใช้เฟสบุ๊กส่วนตัวของเขาบอกเล่าเรื่องราวในวงการวรรณกรรมภาษาจีน และประเด็นทางสังคมที่สำคัญ นอกจากนี้ระหว่างปี 2560 จนถึงเดือนเมษายน 2563 เขายังเผยแพร่บทกวีในเว็บไซต์ประชาไทเป็นระยะอีกด้วย (อ่านบทกวี)

อนึ่งเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 63 เรืองรอง รุ่งรัศมี เผยแพร่บทกวี "ต้นฝัน" ในเฟซบุ๊กของเขา โดยมีใจความดังนี้

“ต้นฝัน”

ร่างกายเสื่อมถอยชราภาพ
ผ่านบุญผ่านบาปผ่านสร้างสรรค์
ได้งาน ว่างเปล่า , สลับกัน
แต่ละวันทั้งเหนื่อยล้าและอ่อนแรง

อยากให้งานชิ้นนี้จบสมบูรณ์
รูปฝันรูปนู้นยังโหว่แหว่ง
ไม่คำนวณว่าจ่ายน้อยหรือจ่ายแพง
พลิกแพลงผ่านอุปสรรคหลั่งเหงื่อรด

ทำงานเพื่องานเพื่อจะตายไม่ว่างเปล่า
ใช้ชีวิตเขลาโง่อิ่มและอด
เมื่อวานนี้ วันนี้ อนาคต
ไม่มีบทนอกเหนือจิตสำนึก

โลกซับซ้อนอย่าซับซ้อนไปกับมัน
ในความจริงกล้าสร้างฝันอยู่กลางศึก
จะตื้นเขินโง่เขลา ขลาด ล้ำลึก
ค่อยๆฝึกค่อยๆเดินค่อยๆก้าวค่อยๆไป

ก้าวเท้าออกไปก้าวเล็กๆ
เคยเป็นเด็กก็ผ่านมาเป็นผู้ใหญ่
มีปลอดภัยก็ย่อมมีไม่ปลอดภัย
สิ่งใหญ่ๆเกิดจากก้าวเล็กๆ

หยุดแวะชมดอกไม้ไม่ผิดหรอก
คนนอกคอกมิได้แกร่งเป็นแท่งเหล็ก
เมื่อมิใช่นักบวชอย่ากลัวsex
ใครอ้างใครหลอกเด็กโลกมองรู้

งานจะดีจะเลวทำเอาไว้
ผู้คนก็ตายไปกันทุกผู้
ฝนตกแดดออกเหงื่อพรั่งพรู
โลกจารึกการมีอยู่เอาไว้แล้ว.

เรืองรอง รุ่งรัศมี 24/4/2020

ส่วนในวันที่ 22 พ.ค. 63 หลังจาก The Momentum เผยแพร่ข่าว "ประธานาธิบดีมุนแจอินแห่งเกาหลีใต้เรียกร้องให้มีการสืบสวนหาความจริง จากเหตุการณ์ที่ทหารใช้กำลังปราบปรามชาวเมืองกวางจูที่เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 1980" เรืองรอง รุ่งรัศมี ได้โพสต์กวีบทหนึ่งในเฟซบุ๊กของเขามีใจความดังนี้

อย่าลืมเหตุการ 6 ตุลาคม 2519
อย่าลืมเหตุการ 17 พฤษาคม 2535
อย่าลืมเหตุการ พฤษภาคม 2553
อย่าลืมการสังหารประชาชนโดยอาวุธของรัฐไทย

อย่ากวาดขยะเข้าใต้พรม
อย่ากลัวการมองความจริง
อย่าอ้างข้ออ้างใดๆเพื่อไม่ให้คนมองความจริง
อย่าอ้างเรื่องความรักชาติเพื่อไม่ให้มองเห็นประชาชนที่ถูกฆ่าด้วยมือรัฐ

สำนักพิมพ์มติชนไว้อาลัย "เรืองรอง รุ่งรัศมี"

เวลา 13.38 น. วันที่ 31 พ.ค. ในเฟซบุ๊ก "Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน" ได้เขียนไว้อาลัยว่า

กล้วยไม้เกิดในหุบเขาลึก มิได้หยุดกลิ่นหอมกำจาย ด้วยว่าไร้ผู้คน” --- เรืองรอง รุ่งรัศมี : คำส่องใจ

สำนักพิมพ์มติชนทราบข่าวอันน่าเสียใจถึงการจากไปของ เรืองรอง รุ่งรัศมี กวีและนักเขียนผู้มีผลงานครองใจผู้อ่านมากมาย จาก Facebook ส่วนตัวของ เกษมศักดิ์ วงศ์รัฐปัญญา หรือ สนานจิตต์ บางสพาน ที่ระบุว่า เรืองรอง รุ่งรัศมี ได้เสียชีวิตในช่วงเช้า และจะมีพิธีรดน้ำศพในวันนี้ที่วัดหัวลำโพง ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบตามมาในลำดับถัดไป

เรืองรอง รุ่งรัศมี เป็นกวี นักเขียน นักแปล ซึ่งได้ฝากผลงานบนบรรณพิภพเมืองไทยไว้มากมาย อาทิ รวยรินกลิ่นชา, เดียวดายใต้เงาจันทร์, ชีวิตไม่ทิ้งให้ว่างเปล่า, คำส่องใจ ฯลฯ โดยผลงานแปลที่สร้างปรากฏการณ์ทำให้นามปากกา เรืองรอง รุ่งรัศมี กลายเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่านอย่างกว้างขวางคือหนังสือ “เดียวดายใต้เงาจันทร์ โกวเล้งรำพัน” ความเรียงชีวิตของโกวเล้ง ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ฉับแกระเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2532 ที่ไม่เพียงเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง หากแต่คือมิติลึกล้ำของชีวิต และมิตรภาพอันงดงามจากหลายผู้คน อันเป็นความงามที่ประทับใจของเรืองรอง รุ่งรัศมี ที่ได้แปลหนังสือเล่มนี้ออกมา และกลายเป็นหนังสือคลาสสิกที่แฟนหนังสือของโกวเล้งต้องเคยได้อ่าน

“เดียวดายใต้เงาจันทร์ โกวเล้งรำพัน” ผลงานของพญามังกรแห่งยุทธจักรอักษรเล่มนี้ได้เปิดเผยแง่มุมชีวิตโดดเดี่ยว อ้างว้าง ที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวละครที่โลดแล่นของเขาอย่างลึกล้ำ โกวเล้งเป็นจอมยุทธ์ เช่นเดียวกับตัวละครในนิยายกำลังภายใน ทำให้เราได้เข้าใจ ลีลา อารมณ์ความคิดเบื้องลึกของมังกรโบราณ อัจฉริยะปีศาจเรืองนาม ผู้ใช้ปลายปากกาเนรมิตนิยายยุทธจักรน่าประทับใจจำนวนมากมาย

บัดนี้ เรืองรอง รุ่งรัศมี หมาป่าแห่งบรรณพิภพได้กลับคืนสู่อ้อมกอดแห่งวัฏจักรแล้ว
น้อมส่งการเดินทางแก่ผู้อาวุโส

เรืองรอง รุ่งรัศมี
2496-2563

ด้วยอาลัยยิ่ง
สำนักพิมพ์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท