Skip to main content
sharethis

บริษัทโฟล์กสวาเกน (VW) ประกาศว่าพวกเขาจะจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างชาวบราซิลที่เคยได้รับผลกระทบถูกละเมิดสิทธิ เช่น การทารุณกรรมจากอดีตเผด็จการบราซิล เนื่องจากบริษัทของพวกเขาในอดีตเคยมีส่วนสนับสนุนเผด็จการบราซิลมาก่อน โดยวงเงินชดเชยเกือบ 206 ล้านบาท

แฟ้มภาพอาคารโฟล์กสวาเกนที่ Wolfsburg, Lower Saxony ประเทศเยอรมนี ภาพถ่ายปี 2016 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Vanellus/Wikipedia)

28 ก.ย. 2563 ฮิลทรุด แวร์เนอร์ ผู้อำนวยการของบริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมนีโฟล์กสวาเกนแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับเรื่องการจะให้ค่าชดเชยแก่คนงานของตัวเองในบราซิลผู้ที่เคยถูกทารุณกรรมและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงสมัยรัฐบาลเผด็จการปี 2507-2528 ในวงเงิน 36 ล้านเรียลบราซิล (ราวเกือบ 206 ล้านบาท)

ถ้อยแถลงของแวร์เนอร์ระบุว่า พวกเขาเสียใจกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในอดีต สำหรับบริษัทโฟล์กสวาเกนแล้ว มันเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาจะต้องจัดการอย่างมีความรับผิดชอบต่ออดีตที่เลวร้ายในประวัติศาสตร์บราซิลและส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส

ก่อนหน้านี้กลุ่มคนทำงานในบริษัทโฟล์กสวาเกนช่วงเผด็จการทหารในบราซิลช่วงปี 2507-2528 ได้นำบริษัทของตัวเองขึ้นศาลได้สำเร็จในปี 2558 โดยกล่าวหาว่าโฟล์กสวาเกนให้ความร่วมมือกับเผด็จการทหารและสำนักงานความมั่นคงของบราซิลในยุคสมัยนั้น

โฟล์กสวาเกนได้ลงนามพร้อมกับอัยการของรัฐบาลว่าจะจ่ายค่าชดเชยต่อคนงานและครอบครัวของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากเผด็จการในครั้งนั้น รวมถึงทำโครงการรำลึกเหยื่อจากเผด็จการทหารหลายโครงการ

อย่างไรก็ตาม เซบาสเตียว เนโต ตัวแทนกลุ่มเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลบราซิลวิจารณ์ข้อตกลงของโฟล์กสวาเกนว่า เป็นการที่พวกเขาพูดคุยแต่กับฝ่ายตุลาการเพียงอย่างเดียว และไม่ได้พูดคุยกับคนงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ในรายงานที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านี้ 3 ปี จากกลุ่มนักประวัติศาสตร์ที่สืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ระบุว่า โฟล์กสวาเกนได้ร่วมมือกับเผด็จการในอดีตของบราซิล ฏ โดยให้จับกุมคนงานที่เคลื่อนไหวการเมืองในพื้นที่โรงงาน รวมถึงการสอดแนมคนงานในบริษัท

เรื่องนี้เคยมีการฟ้องร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือ "คลาสแอกชัน" (class action) จากตัวแทนกลุ่มคนงานประมาณ 60 คน แต่ก็เพิ่งจะมีการประกาศชดเชยจากบริษัทเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเนโตบอกว่าสายเกินไปกับบางคนที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด เช่น ลูซิโอ เบลเลบทานี ผู้ที่ถูกทารุณกรรมในพื้นที่โรงงานและเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วด้วยอายุ 74 ปี

เนโตกล่าวว่าบริษัทโฟล์กสวาเกน "คำนึงถึงภาพลักษณ์และการตลาดของตัวเอง" เขามองว่าเงินที่บริษัทจะให้นี้เป็น "เงินบริจาคในฐานะการกุศล" และไม่ใช่ "เงินค่าชดเชย" ทำบริษัทมีส่วนร่วมกับเผด็จการในอดีต จึงกลายเป็นการที่โฟล์กสวาเกนพยายามนำตัวเองออกจากเรื่องอื้อฉาวแบบที่ตัวเองดูมือสะอาด

คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแห่ชาติบราซิลที่สืบสวนเรื่องอาชญากรรมของเผด็จการทหาร เคยระบุถึงความเลวร้ายในช่วงเผด็จการหลายสิบปีก่อนว่ามีประชาชนอย่างน้อย 434 รายที่ถูกสังหารหรือหายสาบสูญในช่วงยุคสมัยนั้น รวมถึงมีการประเมินว่าน่าจะมีประชาชนราว 200,000 รายถูกทารุณกรรม

ประธานาธิบดีขวาจัดคนปัจจุบันของบราซิลคือ จาร์อี บอลโซนาโร เป็นคนที่แสดงออกชื่นชมเผด็จการอย่างเปิดเผย เขายังเคยพูดในเชิงสนับสนุนความโหดเหี้ยมว่ารัฐบาลทหารทำพลาดตรงที่ทารุณกรรมเหยื่อแทนที่จะสังหารพวกเขา

เรียบเรียงจาก

Volkswagen to pay victims of Brazil dictatorship, DW, 24-09-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net