Skip to main content
sharethis

กรกนก คำตา ผู้แทนภาคประชาชนไทยแถลงในพิธีเปิดงานอาเซียนภาคประชาชน ที่มีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ และมีตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วมฟังแบบออนไลน์ โดยพูดถึงกรณีการหายตัวไปของผู้ลี้ภัยไทยในลาวและเวียดนาม และเชิญชวนให้ประชาชนอาเซียนลุกขึ้นสู้กับเผด็จการเพื่อให้ภูมิภาคนี้เป็นของประชาชนจริงๆ 

กรกนก คำตา ขณะร่วมกล่าวเปิดงานอาเซียนภาคประชาชน 2563 ในแบบการประชุมออนไลน์ (ที่มา: Facebook/ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย | ครป.)

6 พ.ย. 2563 เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) กรกนก คำตา นักกิจกรรมจากกลุ่มผู้หญิงปลดแอก เป็นผู้แทนภาคประชาชนประเทศไทยในการร่วมกล่าวปาฐกถาเปิดเวทีอาเซียนภาคประชาชน 2563 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพในปีนี้ โดยเป็นการประชุมผ่านการสื่อสารออนไลน์เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 

สมาชิกทั้ง 10 ประเทศได้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ส่วนประเทศเวียดนามที่เป็นเจ้าภาพได้จัดงานแบบออฟไลน์ในประเทศโดยมีรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเวียดนามเป็นผู้แทนรัฐบาลเวียดนามและผู้แทนเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมพิธีเปิด มีผู้สมัครเข้าร่วมออนไลน์ทั้งหมด 609 คนจาก 11 ประเทศ (รวมติมอร์ เลสเต) ส่วนประเทศไทยมีการจัดพื้นที่ประชุมร่วมกันที่โรงแรมเจแอล บางกอก

กรกนกกล่าวว่า ประชาชนไทยตอนนี้กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในภาคส่วนเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ผนวกกับนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนต่างจังหวัดที่ทำงานในเมืองไม่มีเงินส่งให้คนที่บ้าน ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากเมื่องานภาคบริการ งานแม่บ้านและงานบริบาลต้องเลิกจ้างไป แรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยที่กลับจากต่างประเทศยังถูกตีตราและมีอุปสรรคในการเข้าถึงงาน โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไทยมีคนตกงานถึง 1.8 ล้านคน

กรกนกกล่าวต่อไปว่า ในไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ราว 3 พันกว่าคน เสียชีวิต 59 คน แต่มีคนที่ฆ่าตัวตายจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปีมีจำนวน 2,551 ราย คิดเป็น 3.89 ต่อ 1 แสนราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 22  นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมก็ได้รับผลกระทบในช่วงต้น แต่สุดท้ายประชาชนก็ลงถนนเพราะประชาชนอดทนกับรัฐบาลทหาร รัฐธรรมนูญที่ร่างจากรัฐบาลทหารและผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ไหว พวกเขามีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ ได้แก่การให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องลาออก ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงอยากขอให้เยาวชนในภูมิภาคอาเซียนสนับสนุนการเคลื่อนไหวในไทยด้วย

กรกนกยังแสดงความสนับสนุนการเรียกร้องของเยาวชนในอินโดนีเซียที่กำลังเรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ทั้งนี้ ก็ด้วยความหวังที่ว่าอยากจะให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่อาเซียนของเผด็จการที่จับกุม เข่นฆ่าประชาชน เช่น กรณีที่ผู้ลี้ภัยไทยก็หายตัวไปในเวียดนาม ลาว ถ้าเราลุกขึ้นต่อสู้ อาเซียนจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงในสักวันหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การมีส่วนร่วมจากเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศครั้งนี้ถือว่ามากกว่าช่วงที่การจัดงานอาเซียนภาคประชาชนยังสามารถจัดแบบออฟไลน์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการพูดคุยระหว่างภาคประชาชนกับตัวแทนรัฐบาลแต่ละประเทศมักมีปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจกัน รัฐบาลบางประเทศมีท่าทีไม่ยอมรับต่อข้อเสนอของเวทีภาคประชาชนอาเซียนเรื่อยมา ยกตัวอย่างเช่น กัมพูชา ส่วนบางประเทศก็ส่งภาคประชาสังคมที่รัฐจัดตั้งเข้าร่วม เช่นลาวและเวียดนาม

5 เรื่องต้องรู้ ‘ประชุมภาคประชาชนอาเซียน’

มีผู้ลี้ภัยชาวไทยหายสาบสูญไปแล้วอย่างน้อย 9 คนตั้งแต่ปี 2559 เริ่มต้นจากข่าวการหายตัวไปของอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ) เมื่อปี 2559 วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) ในปี 2560 ขณะที่ทั้งสองลี้ภัยอยู่ใน สปป. ลาว

12 ธ.ค. 2561 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยหลังการรัฐประหารปี 2557 ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) ผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งอยู่ใน สปป. ลาว หายตัวไป นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่รู้กันในหมู่ผู้ลี้ภัยว่า ช่วงเวลาดังกล่าวที่ทางการไทยประสานกับทางการลาว ผู้ลี้ภัยจะต้องหลบจากที่อยู่เดิมสักพักหนึ่งก่อน ทว่าสุรชัยเลือกที่จะไม่หลบไปไหน 

ราว 2 สัปดาห์ต่อมา มีข่าวพบศพถูกฆ่าผ่าท้องควักอวัยวะภายในออก และนำแท่งปูนยัดเข้าไปในร่างกาย ถูกมัดแขนและขา รัดคอ ถูกทุบจนใบหน้าเละ ถ่วงลงแม่น้ำโขง ภายหลังตรวจ DNA ตรงกับสหายภูชนะ และสหายกาสะลอง ขณะที่สุรชัยยังไม่มีใครพบว่ายังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว

8 พ.ค. 2562 ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ระบุว่า สยาม ธีรวุฒิ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์และ กฤษณะ ทัพไทย ผู้ลี้ภัยชาวไทยถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนามมาระยะหนึ่งและถูกส่งตัวกลับไทยแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีข่าวคราวชะตากรรมของทั้งสาม โดยครอบครัวของสยามยังคงรำลึกถึงสยามและค้นหาความจริงต่อการหายตัวไปอย่างต่อเนื่อง

4 มิ.ย. 2563 วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่อยู่ระหว่างลี้ภัยหายตัวไปจากด้านนอกอพาร์ทเมนท์ของเขาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จนถึงปัจจุบัน พี่สาวและครอบครัวยังคงไม่ทราบชะตากรรมของวันเฉลิม

ในระหว่างพิธีเปิด ตัวแทนภาคประชาชนของแต่ละประเทศยังได้ออกมาสรุปสถานการณ์ภายในประเทศทั้งสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย เช่น ความสำเร็จของการร่วมมือกันควบคุมโรคระบาดระหว่างรัฐบาลและภาคประชาชน บทบาทภาคประชาชนในปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ดิน ไปจนถึงการเรียกร้องให้อาเซียนทำงานเพื่อประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net