Skip to main content
sharethis

ไอลอว์สำรวจงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (บางส่วน) พบ 10 ปี งบส่วนราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า งบการเสด็จพระราชดำเนินและพระราชพาหนะเริ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสมัยรัชกาลที่ 10 งบถวายความปลอดภัย 4.7 พันล้านบาท กระจายในหลายหน่วยทหาร-ตำรวจ ขณะที่งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินตามพระราโชบายมีสัดส่วนไม่มาก

8 ม.ค. 2564 ไอลอว์เผยผลการสำรวจงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (บางส่วน) เห็นว่า งบประมาณส่วนใหญ่ คือ ส่วนที่จัดสรรให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง อันได้แก่ สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เมื่อแก้ไขกฎหมายก็เปลี่ยนเป็นส่วนราชการในพระองค์ (สีเหลือง) งบประมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีงบประมาณ

10 ปี งบส่วนราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า

ปี 2554 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งงบประมาณไว้ให้สำนักพระราชวังมากกว่า 2.6 พันล้านบาท (2,606,293,900 บาท) และให้สำนักราชเลขาธิการ 4.7 ร้อยล้านบาท (474,124,500 บาท) รวม 3 พันล้านบาท (3,080,418,400 บาท) แต่เมื่องบประมาณถูกจัดสรรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2564 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งงบประมาณไว้ให้กับส่วนราชการในพระองค์เกือบ 9 พันล้าน (8,980,889,600 บาท) เพิ่มขึ้นถึง 291% หรือเกือบสามเท่าตัว

งบการเสด็จพระราชดำเนินและพระราชพาหนะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสมัยรัชกาลที่ 10

งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นสัดส่วนที่รองลงมา คือ งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนินและพระราชพาหนะ (สีเทา) ที่ไม่ได้จัดสรรให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่บางส่วนปรากฏอยู่ใน “งบกลาง” อันเป็นรายจ่ายภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ที่จัดสรรไว้ให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้นอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับในกรณีปกติ

อีกส่วนหนึ่งตั้งงบประมาณไว้ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีทั้งค่าใช้จ่ายที่มีต่อเนื่องทุกปี คือ ค่าใช้จ่ายในการส่งกำลังบำรุงม้าทรงประจำพระองค์ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งทิศทางการเพิ่มขึ้นเริ่มในปีงบประมาณ 2560 จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2564 ตั้งวงเงินไว้สูงเฉียด 2,000 ล้านบาทบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนถึง 383 ล้านบาท

นอกจากค่าใช้จ่ายหลักแล้ว ยังปรากฏค่าใช้จ่ายบางรายการที่ตั้งงบประมาณไว้เฉพาะบางปีงบประมาณ โดยปรากฏในงบประมาณที่ตั้งไว้ให้กับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตัวอย่างเช่น

  • เฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ จำนวน 3 เครื่อง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น

ปีงบประมาณ 2561 ตั้งไว้ที่ประมาณ 663 ล้านบาท (662,746,000 บาท)

ปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ประมาณ 1.3 พันล้านบาท (1,275,400,000 บาท)

ปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ประมาณ 900 ล้านบาท (890,232,100 บาท)

ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ประมาณ 143 ล้านบาท (142,554,500 บาท)

รวมประมาณ 3 พันล้านบาท (2,970,932,600 บาท)

  • โรงเก็บเครื่องบินพระที่นั่ง 1 หน่วยบินเดโชชัย 3 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 หลัง

ปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ประมาณ 56.5 ล้านบาท (56,519,000 บาท)

ปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ประมาณ 148 ล้านบาท (148,349,600 บาท)

ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ประมาณ 77 ล้านบาท (76,931,400 บาท)

รวมเกือบ 282 ล้านบาท (281,800,000 บาท)

  • โรงเก็บเครื่องบินพระที่นั่ง 2 หน่วยบินเดโชชัย 3 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 หลัง

ปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ประมาณ 38 ล้านบาท (38,121,200 บาท)

ปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ประมาณ 108 ล้านบาท (107,847,900 บาท)

ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ ประมาณ 42 ล้านบาท (41,530,900 บาท)

รวมเกือบ 188 ล้านบาท (187,500,000 บาท)

  • โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ ฝูงบิน 201 กองบิน 2 พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 1 หลัง

ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ 95 ล้านบาท (95,000,000 บาท)

งบถวายความปลอดภัย 4.7 พันล้านบาท กระจายในหลายหน่วยทหาร-ตำรวจ

งบประมาณที่สูงเป็นอันดับสาม ตามกราฟ คือ งบประมาณเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติตามพระราชประสงค์ (สีม่วง) งบประมาณส่วนนี้จะไม่ได้ถูกจัดสรรไปยังหน่วยงานเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงอีกเช่นกัน หน่วยงานหลักที่ได้รับจัดสรรงบประมาณส่วนนี้แยกย่อยออกเป็นหลายหน่วย ที่สังกัดกระทรวงกลาโหม ได้แก่ กรมราชองครักษ์ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม อีกหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีด้วย การคิดคำนวนงบประมาณส่วนนี้จึงต้องคำนวนรวมจากหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างจากปีงบประมาณ 2564 จัดสรรงบประมาณส่วนนี้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

  • กองทัพบก 195.5 ล้านบาท
  • กองทัพเรือราว 28 ล้านบาท (28,242,900 บาท)
  • กองทัพอากาศ 37.81 ล้านบาท
  • กองบัญชาการกองทัพไทย 20 ล้านบาท
  • สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมราว 1.2 พันล้านบาท (1,216,966,000 บาท)
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติราว 1.6 พันล้านบาท (1,649,869,700 บาท)
  • สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเกือบ 1 พันล้านบาท (967,335,100 บาท)

รวมงบประมาณที่จัดสรรไว้ในสำหรับปี 2564 เท่าที่รวบรวมได้เกือบ 4.7 พันล้านบาท (4,665,628,000 บาท)

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินตามพระราโชบายมีสัดส่วนไม่มาก

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์บางส่วนที่คิดเป็นอัตราส่วนไม่มาก จึงแทบไม่ปรากฏชัดในกราฟภาพรวม คือ งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินตามพระราโชบาย โครงการจิตอาสาพระราชทาน โครงการจิตอาสา 904 (สีเขียว) ซึ่งมีการตั้งงบประมาณไว้ในบางปีงบประมาณ และได้ตั้งไว้แก่บางหน่วยงานเท่านั้น ดังนี้

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ในปีงบประมาณ 2562 มีการตั้งงบประมาณที่ยึดโยงกับ “พระราโชบาย” ได้แก่

  • ค่าใช้จ่ายโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรในระดับจังหวัด 78.5 ล้านบาท (78,500,000 บาท)
  • เงินอุดหนุนโครงการสร้างกระบวนทัศน์เพื่อพัฒนาลูกเสือจิตอาสาตามพระราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรเกือบ 19 ล้านบาท (18,936,000 บาท)
  • ค่าใช้จ่ายโครงการน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรเกือบ 50 ล้านบาท (49,880,600 บาท)
  • ค่าใช้จ่ายโครงการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานตามพระราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรสู่การปฏิบัติและปลุกจิตสำนึกความรักชาติ ศาสนาและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ 7.2 ล้านบาท (7,200,000 บาท)

ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบประมาณไว้ในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ค่าใช้จ่ายโครงการหลักสูตรจิตอาสา 904 จำนวน 19 ล้านบาท (19,348,500 บาท)

กองทัพเรือ

ปีงบประมาณ 2563 และ ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบไว้ในโครงการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริรุ่นที่ 1-3 ประมาณ 11 ล้านบาท (11,100,600 บาท)
  • ค่าใช้จ่ายจิตอาสาพระราชทาน เราทำความดีด้วยหัวใจประมาณ 1 ล้านบาท (1,084,800 บาท)
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริประมาณ 13 ล้านบาท  (13,063,500 บาท)

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบสำหรับโครงการสนับสนุนการดำเนินงานจิตอาสาพระราชทานประมาณ 2.6 ล้านบาท (2,596,500 บาท)

อ่านทั้งหมดได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5807

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net