Skip to main content
sharethis

“หมอชนะ” สะท้อนประเด็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลไทย พร้อมส่องปัญหานี้ในอังกฤษและสหรัฐฯ รวมทั้งข้อเสนอและมาตรการแก้ปัญหาของไทยที่ต้องเผชิญหนักขึ้นในช่วงโรคระบาดโควิด-19

แถลงการณ์ของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ว่าใครไม่โหลดจะมีโทษฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา เรียกเสียงฮือจากคนในสังคมจำนวนมาก จนเกิดคำถามตามมาหลายข้อ หนึ่งในคำถามที่คนทั่วไปทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์พูดถึงกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “แล้วถ้าไม่มีสมาร์ตโฟน จะทำอย่างไร”

แม้ว่าผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะออกมาชี้แจงในภายหลังเกี่ยวกับประเด็นการติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ ว่าหากไม่สะดวกติดตั้ง ก็สามารถใช้บันทึกเอกสารแสดงต่อเจ้าหน้าที่แทนได้ แต่ประเด็นอื่นๆ ที่สืบเนื่องจากเรื่องนี้ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) หรือโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและข้อมูลสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม

ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินงานเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ที่ชัดเจนสุด คือ ภาคการศึกษา เพราะโรงเรียนในหลายพื้นที่ถูกสั่งปิด จึงต้องเปลี่ยนมาทำการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์แทน การเรียนออนไลน์เป็นตัวอย่างสำคัญที่เน้นย้ำประเด็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

อังกฤษ

วันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน รายงานว่า ส.ส. พรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ เรียกร้องให้บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ ด้วยการจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และขยายโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซีโอเบน แมคโดนา ส.ส. พรรคแรงงาน เผยข้อมูลจากสำนักการสื่อสารแห่งชาติ ระบุว่า เด็กนักเรียนในสหราชอาณาจักรประมาณ 1,100,000-1,800,000 คนหรือประมาณ 9% ไม่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อป หรือแท็บเล็ต และเด็กอีกกว่า 880,000 คนไม่มีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ใช้ที่บ้าน ต้องเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้เรียนออนไลน์ อีกทั้งยังเกิดปัญหาการส่งมอบคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปล่าช้ากว่า ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมากขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาในช่วงโรคระบาด แม้ว่าเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษประกาศจะดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายใน พ.ศ.2568 แต่เสียงสะท้อนจากภาคประชาชนทำให้รัฐบาลอังกฤษออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการอนุญาตให้นักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์กลับไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด ทั้งยังสั่งผู้ให้บริการเครือข่ายเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตในโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ปัญหาเรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ยังคงเป็นปัญหาหลัก รวมถึงปัญหาการขาดทักษะความรู้ด้านไอทีของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้การเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ของเด็กประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งประเทศในกลุ่ม OECD ที่ประสบปัญหาเดียวกัน เช่น ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีคนอีกกว่า 1,500,000 คน หรือคิดเป็น 18% ที่ไม่มีทั้งอินเทอร์เน็ตบ้านและอินเทอร์เน็ตมือถือใช้ เป็นเหตุให้วันที่ 7 ม.ค. 2564 บิลล์ ดี บลาซีโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก อนุมัติงบ 157 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการขยายโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วนครนิวยอร์ก ซึ่ง 55.4% ของงบประมาณนี้โยกมาจากเงินของสำนักงานตำรวจแห่งรัฐนิวยอร์ก (NYPD) โดยเบื้องต้นจะแบ่งจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเดือนละ 15 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในนครนิวยอร์กกว่า 600,000 คน

แม้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะอัดฉีดงบช่วยเหลือค่าอินเทอร์เน็ต รวมถึงพยายามจัดหาอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ให้เด็กนักเรียนที่ขาดแคลนแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการเรียนออนไลน์ในสหรัฐอเมริกายังมีปัญหาหลายอย่าง สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในแต่ละรัฐจึงช่วยผลักดันให้เด็กทุกคนสามารถเรียนทางไกลจากที่บ้านได้ด้วยการผลิตรายการส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น ช่อง Fox ในเมืองฮูสตัน ชิคาโก ซานฟรานซิสโก และวอชิงตันดีซี ที่ผลิตรายการการศึกษาด้วยการเชิญครูหรือผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้ความรู้ โดยมียอดคนดูเฉลี่ยเกิน 20,000 คนทุกครั้งที่ออกอากาศ เมลินดา สปาวล์ดิง เชวาลิเยร์ อดีตผู้ประกาศข่าวช่องฟอกช์ผู้ริเริ่มโครงการนี้บอกว่า “การศึกษาผ่านโทรทัศน์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล แต่จากประสบการณ์ [การทำงานเป็นผู้ประกาศข่าว] ทำให้ฉันรู้ดีว่าฉันและผู้ชมเชื่อมต่อกันได้ในห้องครัวหรือห้องนั่งเล่น ฉันจึงรู้สึกว่านี่อาจช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้บ้าง” นอกจากนี้ ยังมีช่องพีบีเอส ซึ่งเป็นเครือข่ายออกอากาศสาธารณะที่ร่วมมือกับเขตการศึกษาของทุกรัฐผลิตรายการการศึกษา ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ด้วยเช่นกัน

ไทย

ไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่ชัดเจนขึ้นนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เพราะสถานศึกษาในไทยต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของครัวเรือนไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2561 ระบุว่าครัวเรือนไทยที่มีเด็กวัยเรียน มีทั้งหมด 8,280,000 ครัวเรือน แต่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน จำนวน 5,000,000 ครัวเรือน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้ไม่ถึง 20% ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงเกิน 50,000 บาท/เดือน มีสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มากกว่า 50 % อีกทั้งการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป หรือแท็บเล็ต ในจังหวัดอื่น ยกเว้นกรุงเทพมหานครและนนทบุรี มีสัดส่วนต่ำกว่า 40 % แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย และยิ่งเห็นชัดขึ้นในช่วงโรคระบาดโควิด-19

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่าก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 นักเรียนและนักศึกษาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตใช้ที่บ้าน ยังสามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้จากมหาวิทยาลัย อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือสถานที่ให้บริการอื่น ๆ แต่เมื่อสถานที่ดังกล่าวจำเป็นต้องปิดให้บริการตามคำสั่งของภาครัฐ ทำให้นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตซึ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนการสอนออนไลน์ นักเรียนนักศึกษาบางส่วนจึงต้องรวมตัวกันที่หอพักหรือบ้านเพื่อน เพื่อเรียนออนไลน์ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงติดโรค หากเกิดการระบาดซ้ำ

นอกจากไทยแล้ว ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถือเป็นปัญหาสำคัญในกลุ่มประเทศอาเซียน ข้อมูลจากเว็บไซต์ Business Today ระบุว่า สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย เป็นเพียง 3 ประเทศในอาเซียนที่มีอินเทอร์เน็ตครอบคลุม 80% ของพื้นที่ของประเทศ ส่วนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้มีอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 60% โดยพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตของไทยครอบคลุมเพียง 57% เท่านั้น

เว็บไซต์ Business Today เสนอแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลว่าจำเป็นต้องอาศัยนโยบายและการลงทุนภาครัฐในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัยและครอบคลุม เช่น ระบบไฟฟ้าและการสื่อสาร เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในอนาคต รวมถึงกำหนดมาตรฐานค่าบริการอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีสิ่งเหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ส่วนใหญ่ของประชากรในภูมิภาค นอกจากนี้ ภาครัฐต้องวางแผนการดำเนินงานต่าง ๆ รวมถึงแผนการศึกษาออนไลน์ในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการกำหนดมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของผู้เรียน ผู้สอน และข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงจัดทำระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินในระดับบุคคลและองค์กร

แม้ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในภาคการศึกษายังมีปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง รายงานการวิจัยหัวข้อ “การสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัล (Digital Divide) ด้านการเมืองในชุมชนภาคตะวันออก” โดย กุสลวัฒน์ คงประดิษฐ์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา ระบุว่า ประชาชนแต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในการเรียนออนไลน์ของเด็กเล็กหรือเด็กชั้นประถมวัย ที่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยสอนและให้ความรู้แก่บุตรหลาน หากผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้บุตรหลานได้ ดังนั้น จึงควรมีองค์กรหรือหน่วยงานที่สนับสนุนด้านความรู้ออนไลน์ จัดอบรมหลักสูตรการใช้งานอินเทอร์เน็ตในมิติต่าง ๆ ทั้งระดับโรงเรียน ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อกระจายองค์ความรู้แก่ประชาชนทุกระดับให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ไทยแก้ปัญหาอะไรไปแล้วบ้าง

วันที่ 23 มี.ค. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผ่านมติช่วยเหลือเยียวยาประชาชนด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม โดยเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 กิกะไบต์/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 และให้เพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อีก 100 Mbps ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องไม่คิดค่าบริการเพิ่มกับผู้ใช้บริการ แต่ กสทช. จะค่าใช้จ่ายจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังผุดแพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” หรือบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ราคาพิเศษ ความเร็ว 100/50 Mbps ราคา 390 บาท/เดือน แก่ประชาชนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยยกเว้นค่าติดตั้งและค่าแรกเข้า รวมถึงให้ใช้บริการฟรีเป็นระยะเวลา 3 เดือนจากระยะเวลาสัญญาติดตั้ง 12 เดือน

ไม่เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมเท่านั้นที่ออกมาตรการช่วยเหลือ แต่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกประกาศขอความร่วมมือจากหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลายสถาบันก็ตอบรับและมีมาตรการช่วยเหลือออกมาทันที อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แจกซิมอินเทอร์เน็ตให้นิสิตนักศึกษา หรือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่มีนโยบายคืนค่าหอพักให้นักศึกษา  หรือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ให้นักศึกษาผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าหอพัก เป็นต้น ส่วนนักเรียนในระดับประถมศึกษาและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดให้เรียนทางไกลผ่านช่องรายการโทรทัศน์จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ซึ่งรับชมได้จากโทรทัศน์ดิจิทัล ดาวเทียม เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน DLTV

‘เน็ตประชารัฐ’ โครงการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วเรือเมื่อ 7 ธ.ค. 2559 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น มีมติมอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล โดยเริ่มจากหมู่บ้านนำร่องจำนวน 24,700 หมู่บ้าน ภายใต้วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2559 จำนวน 13,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนประเทศตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ภายหลังพบว่าโครงการเน็ตประชารัฐใช้งานได้จริงเพียงบางจุด จึงมีการร้องเรียนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบผลการดำเนินงานดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 2 ก.ค. 2563 สตง. มีมติว่าการใช้งบประมาณลงทุนในโครงการเน็ตประชารัฐยังไม่รัดกุมเพียงพอ และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงกำหนด ส่งผลให้รัฐไม่ได้รับสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ สตง. จึงเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานโครงการนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งให้กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง หรือคู่มือสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ ติดตามการใช้งานโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามแผนบริหารจัดการให้เป็นปัจจุบันอย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

แม้รัฐบาลจะเริ่มนโยบายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชนมาแล้ว 5 ปี แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในสังคมไทยกลับไม่มีทีท่าว่าจะลดลง อีกทั้งยังถูกสังคมตั้งคำถามมากขึ้นเพราะไม่มีมาตรการรองรับที่แน่ชัดจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลุกลามตั้งแต่ต้นปี

เรียบเรียงจาก : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net