กสม. ยังไม่ได้เลื่อนสถานะระดับสากล เหตุ รธน. ให้ชี้แจงแทน รบ. เมื่อมีการละเมิดสิทธิ

กสม. ยังไม่ได้เลื่อนสถานะจาก B เป็น A อีกอย่างน้อย 18 เดือน หลังถูกลดระดับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากกระบวนการการสรรหาและการแต่งตั้ง กสม. ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม ตอบสนองต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนล่าช้า และไม่มีหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. โดยคณะอนุกรรมการประเมินสถานะกังวลเรื่องความเป็นอิสระ จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ กสม. ต้องชี้แจงแทนรัฐบาลกรณีที่มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รวดเร็วมากขึ้น

22 ม.ค. 2564 กสม. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ารับการประเมินเพื่อขอเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 และเข้ารับการสัมภาษณ์แบบทางไกล เพื่อประกอบการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance for National Human Rights Institutions: GANHRI) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563

ต่อมา เลขานุการคณะอนุกรรมการ SCA มีหนังสือถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งมติของ SCA ให้เลื่อนการพิจารณาการประเมินสถานะของ กสม. ไทยออกไปเป็นเวลา 18 เดือน ซึ่งจากการหารือทางไกลกับ Phillip Wardle ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของเครือข่ายความร่วมมือสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions: APF) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยืนยันกับตนว่า การเลื่อนการพิจารณานั้น ถือเป็นท่าทีที่เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมาของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก ที่ขอเข้าประเมินเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ในสถานการณ์เช่น กสม. เพราะ SCA ได้พิจารณาถึงการดำเนินงานในช่วงหลังของ กสม. รวมถึงการตอบข้อข้องใจหลายประการของ SCA เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กสม. ในระหว่างการสัมภาษณ์

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ APF แจ้งว่า การเลื่อนการพิจารณาออกไปก็เพื่อให้ กสม. มีโอกาสดำเนินการแก้ไขข้อห่วงกังวลบางประเด็นของ SCA เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันและประสิทธิผลตามหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ หลักการปารีส (Paris Principles) มากยิ่งขึ้น

Wardle แจ้งเพิ่มเติมด้วยว่า ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป คือ หน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 247 (4) ที่กำหนดให้ กสม. ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว

SCA มีความกังวลว่า บทบัญญัติดังกล่าวจะลดทอนความเป็นอิสระที่แท้จริงหรือที่สาธารณะรับรู้ (actual or perceived independence) ดังนั้น ในระยะเวลา 18 เดือน SCA หวังว่า กสม. จะได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังที่จะให้มีการยกเลิกบทบัญญัติข้อดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของ กสม. ในการไกล่เกลี่ย ซึ่ง SCA มีความเห็นว่า หาก กสม. สามารถแสวงหาข้อยุติที่เป็นมิตรและเป็นความลับผ่านกระบวนการแก้ไขทางเลือกอื่น ซึ่งรวมถึงอำนาจในการแสวงหาข้อยุติของข้อพิพาทโดยสมานฉันท์ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย จะช่วยให้ กสม. ได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงานของ กสม.

ประกายรัตน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสม. เคยแสดงความห่วงกังวลและมีหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัติตามมาตรา 247 (4) อาจไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส แต่ไม่ประสบผล

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์

อย่างไรก็ดี ทั้งก่อนการให้สัมภาษณ์กับ SCA และหลังจากทราบความเห็นของ SCA ก็ได้ติดต่อประสานงานไปยังฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในระดับต่างๆ เพื่อรับทราบร่วมกันถึงข้อห่วงกังวลของสากล และสนับสนุนให้ กสม. อันถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถคืนกลับสู่สถานะ A โดยการยกเลิกมาตรา 247 (4) อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในประเทศและสังคมโลกในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. 

“กสม. ชุดปัจจุบันซึ่งถือเป็นชุดรักษาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 และตนในฐานะผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดที่จะให้ กสม. กลับคืนสู่สถานะ A และโดยที่ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ชุดใหม่ จึงหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้รีบดำเนินการ และหลังจากที่ กสม. ชุดรักษาการพ้นหน้าที่ไปแล้ว ตนขอฝากไปยังฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ตลอดจนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะได้มาโดยไม่ล่าช้า ได้ช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่ทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนในความเป็นอิสระขององค์กรโดยเร็ว เพราะแม้ SCA จะเลื่อนการพิจารณาออกไปอีก 18 เดือน แต่องค์กรต้องส่งเอกสารสำหรับการพิจารณาให้กับ SCA ใหม่ ภายในเดือนตุลาคมปีนี้ กสม. ชุดนี้จึงขอฝากภารกิจสำคัญนี้ไว้ด้วย” ประกายรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม กสม. ถูกลดระดับจาก A เป็น B ตังแต่ปี 2559 เนื่องจาก SCA มีความกังวลใน 3 ประเด็น  ได้แก่

1. เรื่องกระบวนการการสรรหาและการแต่งตั้ง กสม. ซึ่ง SCA เห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องขาดหลักประกันการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในกระบวนการสรรหาและการได้มาซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลาย (pluralism) โดยคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสำคัญ (merit-based selection)

2. การไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างทันท่วงที ในกรณีการจัดทำรายงานการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 และในช่วงระหว่างปลายปี 2556 ถึงกลางปี 2557 ที่ล่าช้า

3. ขาดบทบัญญัติที่ชัดเจนในกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ในกรณีการทำหน้าที่โดยสุจริตและเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ (Functional immunity and independence) ซึ่งถือเป็นหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท