ผอ.สำนักพิมพ์ฯ ระบุการเมืองบีบคั้น NUS ยกเลิกตีพิมพ์หนังสือ ‘ปวิน’

หลัง 100 กว่านักวิชาการ ส่ง จม.เปิดผนึกทวงถาม ผอ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เผยเหตุยกเลิกตีพิมพ์หนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand ของปวินเพราะได้รับแรงกดดันทางการเมือง

ภาพจากทวิตเตอร์ @PavinKyoto ของปวิน ทวีตว่าตนเพิ่งได้สัมผัสหนังสือตัวเองเป็นครั้งแรก

28 ม.ค.2564 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เปิดเผยกับสำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 ว่าสำนักพิมพ์ตัดสินใจไม่ตีพิมพ์หนังสือ “Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand” ซึ่งเขียนโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ต้องหาคดี ม.112 เนื่องจากผู้ถือหุ้นทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยคัดค้าน

นักวิชาการมากกว่า 100 คนร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อทวงถามสาเหตุที่สำนักพิมพ์ NUS ยกเลิกการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยในมุมมองที่ละเอียดอ่อน โดย ปีเตอร์ ชอปเพิร์ต ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าเขาได้รับแรงกดดันทางการเมือง

“สำนักพิมพ์เข้าใจว่านักวิชาการหลายคนกังวลเรื่องที่เราตัดสินใจไม่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในวินาทีสุดท้าย แต่การตัดสินใจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวย สำนักพิมพ์มีผู้ถือหุ้นที่เป็นทั้งคนในและคนนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งเราต้องปรึกษาและไตร่ตรองความเห็นของทุกคนอย่างถี่ถ้วน ไม่ใช่เพียงแค่นักวิชาการ แต่ยังมีสำนักพิมพ์ที่เป็นหุ้นส่วน รวมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ และกลุ่มอื่นๆ” ชอปเพิร์ต กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวขอให้ระบุชื่อผู้ถือหุ้นที่เสนอให้ทบทวนการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ชอปเพิร์ตตอบว่า “เรามีผู้ถือหุ้นหลายคน และเราทำดีที่สุดแล้วในการนำความเห็นของทุกคนมาพิจารณาไตร่ตรอง”

“ในฐานะที่เป็นสำนักพิมพ์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดเพียงเล็กน้อย การนำความเห็นของผู้ถือหุ้นมาร่วมพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่าจะตีพิมพ์หนังสือเล่มไหน จึงอาจแตกต่างกับสำนักพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในภูมิภาคที่ไม่มีผู้ถือหุ้น” ชอปเพิร์ตอธิบาย

ปวิน บรรณาธิการและผู้เขียนหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand เผยว่าตนส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ NUS พิจารณาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 และปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่างของสำนักพิมพ์

“ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ได้รับการตรวจทานอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากนักวิชาการตามกระบวนการตีพิมพ์หนังสือหรือวารสารวิชาการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสำนักพิมพ์ อีกทั้งนักวิชาการผู้มีส่วนร่วมในหนังสือเล่มนี้ต่างทบทวน ตรวจแก้ และปรับปรุงเนื้อหาให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ปวินกล่าวในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งให้สำนักพิมพ์ NUS และ Tan Eng Chye ศาสตราจารย์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

ปวินทำสัญญาตีพิมพ์หนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand กับสำนักพิมพ์ NUS เมื่อเดือน ส.ค. 2562 ในฐานะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นการรับประกันว่าต้นฉบับฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นปี 2563 แต่เมื่อต้นฉบับดังกล่าวกำลังจะได้รับการตีพิมพ์ ปวินกลับได้รับอีเมลจากผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ NUS ในวันที่ 20 มี.ค. 2563 เพื่อแจ้งว่าสำนักพิมพ์ขอยกเลิกสัญญาการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้

“ชอปเพิร์ตไม่ได้ให้คำอธิบายใดๆ ว่าทำไมถึงยกเลิกการตีพิมพ์หนังสือกะทันหันจากที่ตกลงกันไว้ดิบดีในตอนแรก แต่แจ้งเพียงสั้นๆ ว่าการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากสำนักพิมพ์ปรึกษาหารือร่วมกับผู้ถือหุ้นทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย จึงอาจเป็นไปได้ว่าทางสำนักพิมพ์ได้รับแรงกดดันทางการเมือง แต่การที่สำนักพิมพ์ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจยกเลิกการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของเสรีภาพทางวิชาการ

การอ้างถึงผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นคนนอกบ่งชี้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ใช่คนในแวดวงวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของสำนักพิมพ์ ซึ่งถือเป็นการลบหลู่กระบวนการการตรวจทานงานเขียนเชิงวิชาการโดยนักวิชาการ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่างานวิชาการที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ NUS จะยังคงน่าเชื่อถืออยู่หรือไม่” ปวินกล่าวในจดหมายเปิดผนึก

ชอปเพิร์ตยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าสำนักพิมพ์ตัดสินใจยกเลิกการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในเดือน มี.ค. 2563 จริง และการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายก่อนการตีพิมพ์เพื่อจัดจำหน่าย

“การตัดสินใจเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่สำนักพิมพ์ทำไปเพราะขาดการยั้งคิด แต่เราปรึกษาหารืออย่างถี่ถ้วนแล้วกับผู้ถือหุ้นของเรา” เขากล่าวย้ำ

ชอปเพิร์ตกล่าวว่าสำนักพิมพ์ NUS เปิดโอกาสให้นักวิชาการและสำนักพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สนใจอ่านและตรวจทานต้นฉบับงานเขียนเชิงวิชาการที่เสนอเข้ามายังสำนักพิมพ์ โดยยินยอมให้อ่านและวิจารณ์งานเขียนได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ

“เราทำได้เพียงกล่าวขอโทษต่อปวิน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ที่ตัดสินใจยกเลิกสัญญาในวินาทีสุดท้าย สิ่งที่เราทำได้คือการหาสำนักพิมพ์ใหม่ที่ปลอดภัยสำหรับงานเขียนชิ้นนี้ เราทำทุกวิถีทางเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนและผู้มีส่วนร่วมในหนังสือเล่มนี้” ชอปเพิร์ตกล่าวทิ้งท้าย

Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand เป็นหนังสือที่ศึกษาและวิเคราะห์การเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย จากรัชกาลที่ 9 สู่รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยประมวลและวิเคราะห์เหตุการณ์ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 มาจนถึงการเลือกตั้งในปี 2562 หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา

ที่มา :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท