Skip to main content
sharethis

COVID-19 : 28 ม.ค.64

  • พบผู้ป่วยรายใหม่ 756 ราย โดยส่วนมาก 24 รายมาจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน
  • รมว.สธ. เผยติดปัญหาขนส่ง อาจไม่ได้ฉีดวัคซีน 14 ก.พ.นี้
  • รมว.แรงงาน เผยเตรียมหารือเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 คนละ 3,500-4,000 บ.
  • ส.ส.ก้าวไกลชี้ การสื่อสารที่สับสน ขาดเอกภาพ - ผู้ร้ายตัวจริงในยามวิกฤตโควิด-19 

28 ม.ค.2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ วันที่ 28 ม.ค. 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 756 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 16,221 ราย รักษาหายเพิ่ม 233 ราย หายป่วยแล้ว 11,287 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,858 ราย เสียชีวิตสะสม 76 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 756 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 22 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 724 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 10 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 101,433,090 ราย อาการรุนแรง 110,179 ราย รักษาหายแล้ว 73,320,448 ราย เสียชีวิต 2,184,120 ราย

รมว.สธ. เผยติดปัญหาขนส่ง อาจไม่ได้ฉีดวัคซีน 14 ก.พ.นี้

สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด -19 และ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการจัดการวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา จำนวน 50,000 โดส ที่มีการสั่งซื้อมาจากอิตาลี โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัคซีนจะมาถึงไทยเมื่อไหร่ แต่อาจไม่สามารถเริ่มดำเนินการฉีดได้ตามเป้า 14 ก.พ. แต่คาดว่าวัคซีนคงถึงไทยภายในเดือน ก.พ.แน่ เนื่องจากติดปัญหาการขนส่ง และทางอียูจำกัดการส่งออกวัคซีน ซึ่งเมื่อมาถึงต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน จึงจะสามารถเริ่มดำเนินการฉีดได้ ควบคู่กับการสำรวจความสมัครการรับวัคซีนผ่านไลน์บัญชีทางการ หมอพร้อม

อนุทิน กล่าวว่า วัคซีนลอตที่จะถึงนี้ เป็นการเจรจาสั่งซื้อแบบ Partnership ซึ่งมาลอตแรกก่อน 50,000 โดส จากนั้นทยอยมาอีก 100,000 โดส จนครบ 150,000 โดส พร้อมกันนี้ได้มีการปรับเพิ่มหลักเกณฑ์ผู้รับวัคซีนอีกหนึ่งกลุ่ม ได้แก่ คนอ้วนที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม หรือ คนที่มี BMI. 35 นอกจากเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ป่วยโรคประจำตัว ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีรักษา โรคเบาหวาน และผู้สูงอายุ 60 ปี รวมถึงบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม.

รมว.แรงงาน เผยเตรียมหารือเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 คนละ 3,500-4,000 บ.

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เบื้องต้น อาจจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับแรงงานในระบบทั้ง 11 ล้านคนได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นแรงงานต่างด้าวและมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือความเป็นไปได้ว่าจะจ่ายเงินให้คนละ 3,500 บาท หรือ 4,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คาดว่าจะต้องใช้เงินทั้งหมดประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยวันนี้ (28 ม.ค.) จะหารือกับเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าจะใช้งบประมาณส่วนใด คาดว่าจะเป็นเงินกู้ที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ ก่อนที่จะนำแนวทางที่ได้ สรุปเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป

ส.ส.ก้าวไกลชี้ การสื่อสารที่สับสน ขาดเอกภาพ - ผู้ร้ายตัวจริงในยามวิกฤตโควิด-19 

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. เขต 28 บางแค กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นกระแสข่าวปาร์ตี้วันเกิดบุคคลชื่อดังในวงการบันเทิงที่มีการปกปิดไทม์ไลน์กลายเป็นโต้เถียงกันในสังคม หลายคนพุ่งเป้าการกล่าวโทษไปที่ตัวบุคคลที่ร่วมวงปาร์ตี้กันในวันนั้นว่าอาจเป็นต้นเหตุแห่งการ “ระบาดระลอกใหม่” ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม แต่พวกเราต้องไม่ลืมผู้ร้ายตัวจริงที่อยู่อีกด้านหนึ่งซึ่งมีส่วนทำให้สถานการณ์ในครั้งนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย นั่นก็คือ การสื่อสารที่สับสน และการทำงานที่ขาดเอกภาพของรัฐบาล

โดย ณัฐพงศ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมดังนี้

เริ่มจากการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อที่ “ปกปิดไทม์ไลน์” โดยการลงข้อมูลไปในไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อว่า “ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล” จนกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมที่ประชาชนหลายคนต่างออกมาตั้งคำถามว่า สรุป พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ มีไว้ใช้ “ควบคุมม็อบ” อย่างเดียว ไม่ได้ใช้ไว้เพื่อ “ควบคุมโรค” ใช่หรือไม่? เพราะที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ชุมชุมหลายคนถูกจับกุมไปดำเนินคดีในโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ แต่พอเป็นผู้ป่วยตัวจริงที่ถูกตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อแล้วกฎหมายกลับทำอะไรไม่ได้ ตามที่ รมว.สธ.ออกมาให้ข่าวว่า ไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ต้องใช้วิธีขอความร่วมมือเท่านั้น?

สุดท้ายทำให้ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง (โฆษก กทม.) ต้องออกมาโพสต์ข้อความให้ข่าวในภายหลังผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจว่า สำนักอนามัย กทม. กำลังทำการสอบสวนเพิ่มเติม และพร้อมจะบังคับใช้กฎหมายต่อไปหากผู้ติดเชื้อไม่ให้ความร่วมมือ จนเป็นที่มาของการอัปเดทไทม์ไลน์ใหม่ของผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ดังกล่าวในภายหลัง

ในฝั่งของผู้ติดเชื้อเอง ก็ออกมาให้ข่าวตอบโต้กับการทำงานของหน่วยงานรัฐด้วยเช่นกัน โดยการระบุว่าพวกเขาได้แจ้งไทม์ไลน์กับหน่วยงานของรัฐไปหมดแล้ว แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงให้ข่าวออกไปว่าตนปกปิดไทม์ไลน์? 

นอกจากนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากอาศัยการสอบถามเพื่อการสอบสวนโรคแล้ว รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเป็นแหล่งข้อมูลเสริมประกอบการสอบสวนโรคด้วยตั้งแต่แรก แต่จากประเด็น “ไทยชนะ” vs “หมอชนะ” ที่ผ่านมา ที่ต่างคนต่างทำ สร้างความสับสนให้กับประชาชน ข้อมูลกระจัดกระจาย สุดท้ายก็ยังเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

ซึ่งนี่เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่สุดของการทำงานที่ขาดเอกภาพ ต่างคนต่างทำ สื่อสารผิดพลาด ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนครับ ผู้ร้ายตัวจริงที่ทำให้พวกเรายังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงความเป็นปกติสุขที่สุดได้ เพราะพวกเราขาดความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net