Skip to main content
sharethis

หมอกควันที่เป็นประเด็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นปัญหาที่อยู่กับภาคเหนือนับตั้งแต่เริ่มมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่เมื่อกว่า 25 ปีก่อน และเป็นไปแบบไม่แน่นอน สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายลงทุกปีเหมือนกับที่หลายฝ่ายออกมาย้ำ ... ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศ ยังสะท้อนประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลวงกับต่างจังหวัด มองผ่านเรื่องจำนวนสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ค่ามาตรฐานและเกณฑ์ที่นำมาใช้วัด อีกทั้งข้อมูลจากตัวเลขสถิติเท่าที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์วาทกรรมที่ว่าเชียงใหม่อากาศเลวร้ายที่สุดนั้นไม่จริง จังหวัดโซนชายแดนต่างหากที่ต้องทนทุกข์ระทมกับปัญหานี้อย่างหนัก

ปกหนังสือสิ้นแสงฉาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 18 (ที่มา: มติชนบุ๊ค)
ปกหนังสือสิ้นแสงฉาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 18 (ที่มา: มติชนบุ๊ค)
 
"เมื่อต้องสูดดมแต่ควันไฟซึ่งลอยอวลอยู่ในหุบเขาเป็นสัปดาห์ ๆ เจ้าฟ้าจาแสงก็อดนึกถึงอากาศสดบริสุทธิ์บนเทือกเขาร็อคกี้ในสหรัฐอเมริกาที่จากมาไม่ได้ เจ้าฟ้าทรงวางแผนจะสอนผู้คนที่ทำการเกษตรกรรมบนไหล่เขาให้รู้การเกษตรแผนใหม่เสียที ว่าไม่จำเป็นจะต้องเผาตอซังข้าวเพื่อทำปุยในนาแบบนี้อีกต่อไปแล้ว ขณะเดียวกันจ่าแสงก็ใคร่จะหนีร้อนขึ้นไปพักที่ตำหนักบนยอดเขาเสียสักพักเพื่อให้ได้ความเย็นสบายและนึกถึงความหนาวเย็นและอากาศอันสดบริสุทธิ์ของโคโลราโดบ้าง"
 
ย่อหน้าข้างต้นมาจากหนังสือ Twilight Over Burma เขียนโดยอิงเง่ ซาเจนท์ (สำนวนแปลของมนันยา) แม้จะถูกพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) แต่ได้ย้อนบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่กับเจ้าจ่าแสงในฐานะมหาเทวีแห่งสีป้อ หัวเมืองสำคัญของรัฐฉานทางตอนเหนือ ราวปี ค.ศ. 1950-1960 หรือร่วม 60 กว่าปีมาแล้ว หมอกควันจึงไม่ใช่ปัญหาใหม่ของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิประเทศที่ลักษณะเดียวกันนี้ เช่นรัฐฉานหรือล้านนา เพียงแต่มันเพิ่งจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในช่วงไม่ถึงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง พร้อมกันกับที่ PM10, PM2.5 เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองที่ไวต่อการรับสื่อ
 

หมอกควัน (1) PM2.5 ในภาคเหนือมาจากไหน?
หมอกควัน (2) PM2.5 ในภาคเหนือบอกอะไรเรา?
หมอกควัน (3): มายาคติ PM2.5 ภาคเหนือกับการแก้ไขปัญหาแบบ ‘ลองผิดลองถูก’

กำเนิดกรมควบคุมมลพิษ และการตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภาคเหนือ

สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในไทยเริ่มมีขึ้นอย่างช้าตั้งแต่หลังก่อตั้งกรมควบคุมมลพิษเมื่อปี 2535 อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานสถานการณ์มลพิษ หลังการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมขนานใหญ่ในปี 2545 จึงได้ถูกปรับเปลี่ยนเข้ามาอยู่ในสังกัดกระทรวงใหม่คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หากสืบย้อนดูการประกาศมาตรฐานคุณภาพอากาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พบว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2538 ในประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2538) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป โดยในข้อ 4 ได้กำหนดมาตรฐานค่าฝุ่นละอองขนาด PM10 ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ปรับปรุงอีกครั้งเมื่อปี 2547 โดยค่าเฉลี่ยรายปีจะต้องไม่เกิน 50 µg/m³ และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงตั้งไว้ไม่เกิน 120 µg/m³ และยังใช้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นมาตรการที่ต่ำเกินไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

แต่กว่าจะมีการจัดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในต่างจังหวัดได้ก็ล่วงเลยถึงราวปี 2539 ในส่วนของภาคเหนือตอนบนมีอยู่ที่เชียงใหม่และลำปาง จังหวัดละ 2 สถานีเท่ากัน ได้แก่

1. ศูนย์ราชการรวม อ.เมือง จ.เชียงใหม่

2. โรงเรียนยุพราช อ.เมือง จ.เชียงใหม่

3. ศาลหลักเมือง อ.เมือง จ.ลำปาง

4. สถานีอนามัยสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

เริ่มออกรายงานคุณภาพอากาศตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา และเพิ่มอีก 2 สถานีตรวจวัดในปี 2542

5. สถานีอนามัยท่าสี อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

6. สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคแม่เมาะ

ช่วง 10 ปีแรกจึงมีเฉพาะ 2 จังหวัดนี้เท่านั้นที่มีสถานีตรวจวัดอากาศตั้งอยู่ เห็นได้ชัดถึงมุมมองของกรมควบคุมมลพิษในระยะนี้มุ่งติดตามรายงานคุณภาพอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศจากเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเป็นหลัก ดูได้จำนวนสถานีที่ตั้งกระจุกตัวอยู่ใน อ.แม่เมาะ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของสถานีทั้งหมดที่มี เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนบริเวณนั้นขั้นรุนแรง เช่นข้อมูลในปี 2535 มีจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษเฉียบพลันร่วมพันคนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมยังได้ออกประกาศหลายฉบับในปี 2544 เพื่อควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะโดยเฉพาะเจาะจงอีกด้วย

อีกนัยคือ ปัญหามลพิษที่เชื่อว่ามาจากไฟป่าเป็นแหล่งกำเนิดหลัก ณ ทศวรรษ 2540 ยังคงไม่อยู่ในความสนใจของภาครัฐ และประชาสังคมเฉกเช่นทุกวันนี้แต่อย่างใด รายงานที่ออกมาในปี 2546 ได้ระบุว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แหล่งกำเนิดที่สำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ในเขตเมือง แหล่งกำเนิดมาจากยานพาหนะและการก่อสร้าง ในเขตชนบท คือ boiler ของโรงสีข้าว ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในทุกจังหวัด เมื่อเปรียบเทียบอัตราการก่อให้เกิดฝุ่นละอองแล้วพบว่า โรงสีข้าวซึ่งใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สาเหตุที่สำคัญรองลงมา ได้แก่ การเผาวัสดุ และเศษขยะต่างๆ ในที่เปิดโล่ง (open burning)

 

พลวัตค่า PM ทางภาคเหนือ

 
ตาราง 1 แสดงค่า PM10 สูงสุด และจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด เปรียบเทียบทุกสถานีระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับลำปางในช่วงทศวรรษแรก ระหว่างปี 2539-2550i
ตาราง 1 แสดงค่า PM10 สูงสุด และจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด เปรียบเทียบทุกสถานีระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับลำปางในช่วงทศวรรษแรก ระหว่างปี 2539-2550

 

หมายเหตุ: คำที่ปรากฏใช้อย่างเป็นทางการคือ จำนวนครั้ง* แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นขอแทนที่ด้วยจำนวน “วัน” แทน

 

จากการรวบรวมข้อมูลค่า PM10 ซึ่งถูกเก็บเป็นรายชั่วโมงและนำมาหาค่าเฉลี่ยความหนาแน่นในระยะเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อนำไปเทียบกับค่ามาตรฐาน ช่วงแรก ตั้งแต่ปี 2539-2550 รวม 12 ปี อิงสถิติของสถานีตรวจวัด 6 แห่งใน 2 จังหวัดดังกล่าวมาแล้ว

ในภาพรวม พบว่า ลำปางประสบปัญหามลพิษทางอากาศหนักกว่าเชียงใหม่ ไม่ว่าพิจารณาในแง่ค่าสูงสุดหรือจำนวนครั้งที่เกินมาตรฐานมากที่สุด (ดูส่วนที่เป็นตัวหนังสือสีแดงในตาราง) และหากลองนำเอาข้อมูลช่วงนี้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลช่วงต่อมา (ระหว่างปี 2551-2562) เห็นได้ว่าสถานการณ์ดีขึ้น กล่าวคือ ค่า PM10 เฉลี่ยสูงสุดของเชียงใหม่ในทศวรรษแรกคือ 267.6 มคก./ลบ.ม. มากกว่าทศวรรษหลังซึ่งอยู่ที่ 213.35 มคก./ลบ.ม. เช่นเดียวกับจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุดเท่ากับ 35.1 วัน แต่ห้วงหลังลดลงเหลือ 15.75 วัน (ดูตาราง 2.1 และ 2.2 ประกอบ)

เมื่อดูรายจังหวัด ถ้าเป็นกราฟก็เป็นกราฟที่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้มีแนวโน้มของปัญหาที่รุนแรงพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ หรือค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงไปแต่อย่างใด โดยมีบางปีที่กราฟโด่งขึ้นมาเห็นได้ชัด ข้อสังเกตคือ ในช่วงนี้ ภาครัฐยังไม่มีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อจัดการกับปัญหาหมอกควัน เช่น ชิงเผา ห้ามเผาเด็ดขาด ฉะนั้นจึงเชื่อว่ามาจากปัจจัยเฉพาะพื้นที่ เพราะสถานการณ์ความรุนแรงของเชียงใหม่กับลำปางก็ไม่สอดคล้องกันเสียทีเดียว ปีที่พบค่าสูงสุดของเชียงใหม่คือ ปี 2542 ในเดือนมีนาคม 472.9 มคก./ลบ.ม. แต่ลำปางคือ ปี 2543 ช่วงเดือนมีนาคมเหมือนกัน 512.4 มคก./ลบ.ม. ส่วนจำนวนวันที่เกินมาตรฐานมากที่สุด ลำปางเกิดขึ้นในปี 2541 รวม 75 วัน โดยมกราคมมีวันที่ค่าเกินมากที่สุด 22 วัน เชียงใหม่เป็นปี 2547 มีมากถึง 82 วัน โดยที่ 30 วันอยู่ในมีนาคมเพียงเดือนเดียว แสดงว่าค่าสูงสุดไม่ได้สัมพันธ์กับจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน บางปีที่ค่าพุ่งสูงมาก อย่างเช่นปี 2550 วันที่อากาศแย่ก็ไม่ได้กินระยะเวลานานมากตามไปด้วย

จากข้อมูลข้างต้นทำให้พอพูดได้ว่าอันที่จริงแล้ว เชียงใหม่ ตลอดจนพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประสบกับปัญหาหมอกควันมานมนาน เกิดขึ้นแทบทุกปีช่วงระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน และค่อนข้างรุนแรงกว่าปัจจุบัน (หากมองภาพกว้างระดับทศวรรษ) เพียงแต่ในอดีตอาจไม่เด่นชัดนัก เนื่องจากสถานีวัดมีน้อยทำให้ข้อมูลไม่เพียงพอ ประชาชนยากเข้าถึง ฯลฯ

เมื่อปัญหาหมอกควันเป็นที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากยิ่งขึ้นช่วงต้นทศวรรษ 2550 กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้น โดยในที่สุดก็ได้ขยายไปยังจังหวัดอื่นจนครบทั้ง 8 จังหวัดภาคตอนบนเมื่อปี 2553 บวกกับจังหวัดตากที่มีพื้นที่ปัญหาคาบเกี่ยวกันอีก 1 จังหวัดในปี 2560 รวมเป็น 9 จังหวัด ณ ปี 2563 มีทั้งสิ้น 16 สถานีใน 9 จังหวัด โดยได้จัดทำรายงานสถานการณ์แยกเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือออกมา ตั้งแต่ปี 2555 โดยลงรายละเอียดเป็นรายวันอีกด้วย

ตาราง 2 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในจังหวัดภาคเหนือตอนบน
แผนที่แสดงที่ตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในจังหวัดภาคเหนือตอนบน
 

แม้ว่าประเทศไทยเริ่มดำเนินการตรวจวัด PM2.5 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ในรูปของการศึกษาวิจัย และต่อมานำมาใช้จริงในสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ แต่ก็มีเพียงจำนวน 3 สถานีทั้งประเทศ และอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น ประเทศไทยเพิ่งมีการเพิ่ม PM2.5 เข้ามาในรายการสารมลพิษที่ต้องตรวจวัดและควบคุมเมื่อปี พ.ศ. 2553 ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป แน่นอนว่าก็ยังไม่ได้ถูกผลักดันให้นำเอามาใช้จริงจัง ควบคู่ไปกับค่า PM10 แต่อย่างใด

PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด ทั้งที่ PM2.5 ใช้สะท้อนปัญหาได้ชัดเจนกว่า รูปธรรมดังตัวเลขในปี 2556 ของสถานีโรงเรียนยุพราช ถ้าใช้ค่า PM10 เป็นตัววัดจะมีจำนวนวันที่ค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน 21 วัน แต่หากเปลี่ยนการวัดด้วยค่า PM2.5 จำนวนวันเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวเป็น 57 วัน (ดูตาราง 2.1 และ 2.2) แตกต่างกันมากถึง 36 วัน

นี่เองที่ทำให้ทางกรมควบคุมมลพิษลังเลที่จะนำเอาค่า PM2.5 มาใช้ เรื่องนี้จึงถูกดองเอาไว้ และด้วยมีความเปลี่ยนแปลงตัวอธิบดีบ่อยครั้ง ส่งผลให้ชะลอการประกาศใช้ออกไปอยู่เรื่อยๆ ในด้านหนึ่งย่อมสะท้อนวิธีคิดของรัฐที่พยายามลดทอนความร้ายแรงของปัญหาจากการรับรู้ของประชาชน ทั้งๆ ที่คนจำนวนไม่น้อยเริ่มมีอาการป่วยจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่หากรับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษนั่นคือ คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (สีเขียว)

สำหรับทางภาคเหนือมีการตรวจวัดค่า PM2.5 ที่เชียงใหม่ก่อนจังหวัดอื่น เริ่มปี 2554 โดยให้สถานีโรงเรียนยุพราชฯ เป็นสถานีนำร่อง ต่อมาในปี 2556 จึงเพิ่มที่สถานีสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคแม่เมาะอีกแห่งหนึ่ง และทยอยเพิ่มจำนวนเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งของจำนวนสถานีที่มีทั้งภาคอยู่ดี

ปี 2559 มีข่าวกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่อำเภอแม่สายชุมนุมกันเรียกร้องให้ย้ายสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศออกไปจากพื้นที่ เพราะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ในรายงานสรุปของกรมควบคุมพิษนับแต่ปีนั้นเรื่อยมาจึงได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อตำบลแทนชื่อหน่วยงานที่เครื่องวัดตั้งอยู่ ทั้งที่สถานียังคงอยู่ที่เดิม เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สายเปลี่ยนเป็น ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย, โรงเรียนยุพราชฯ เปลี่ยนเป็น ต.ศรีภูมิ อ.เมือง, สำนักงานเทศบาลเมืองน่านเปลี่ยนเป็น ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน

กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากการที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อนเมื่อช่วงปลายปี 2560 ได้ทำให้ PM2.5 กลายเป็นค่ามาตรฐานที่ต้องดำเนินการตรวจวัดในทุกสถานีทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือสามารถวัดค่า PM2.5 ได้ครบทุกสถานีเมื่อปี 2562

ตารางที่ 2.1 แสดงค่า PM10 สูงสุด และจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด เปรียบเทียบทุกสถานีระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดอื่นในช่วงทศวรรษต่อมา ระหว่างปี 2551-2562ii
ตารางที่ 2.1 แสดงค่า PM10 สูงสุด และจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด เปรียบเทียบทุกสถานีระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดอื่นในช่วงทศวรรษต่อมา ระหว่างปี 2551-2562
 
 
ตารางที่ 2.2 แสดงค่า PM2.5 สูงสุด และจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด เปรียบเทียบทุกสถานีระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดอื่นในช่วงทศวรรษต่อมา ระหว่างปี 2551-2562

 

ในทศวรรษหลัง เราเห็นชัดมากว่า ค่า PM10 สูงสุดที่ตรวจวัดได้จากสถานีในจังหวัดอื่นสูงกว่า และจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมากกว่าของเชียงใหม่อยู่ตลอดทุกปี กรณีเชียงใหม่ ปี 2558 เป็นปีที่มีค่าสูงที่สุด 296 มคก./ลบ.ม. (17 มีนาคม) ปี 2562 เป็นปีที่มีจำนวนวันมากที่สุด 27 วัน กรณีต่างจังหวัด ปี 2553 แม่ฮ่องสอนพบค่า PM10 สูงถึง 505.5 มคก./ลบ.ม. (มีนาคม) ถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดของภาคเหนือเท่าที่มีเคยถูกบันทึกมา ปี 2555 แม่สายเจอค่าเกินมาตรฐาน 54 วัน รวมทั้งถ้าดูจากค่าเฉลี่ยในรอบ 12 ปี ซึ่งค่าสูงสุดเชียงใหม่อยู่ที่ 213.35 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันอยู่ที่ 15.75 วัน ส่วนจังหวัดอื่นอยู่ที่ 329.9 มคก./ลบ.ม. และ 30.5 วันตามลำดับ

สถานการณ์ตลอดช่วงนี้ไม่มีความแน่นอน กรณีเชียงใหม่เป็นไปแบบขึ้นๆ ลงๆ สะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเหมือนลองผิดลองถูก ทว่าหลายจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า เช่นที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อ.แม่สอด และ อ.แม่สาย สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ปัญหามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี แน่นอน ค่าสูงสุดและจำนวนวันที่อากาศแย่ (ไม่ว่าจะยึด PM10 หรือ PM2.5) มักสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ในกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่

ปี 2554 ปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เป็นปีที่มีความน่าสนใจต้องเอ่ยถึง เนื่องจากปีนั้นถือเป็นปีเดียวเท่านั้นในรอบ 24 ปีที่ไม่พบค่า PM10 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานแม้แต่วันเดียวหรือเป็นศูนย์ในทุกสถานีที่เชียงใหม่ ลำพูน และน่าน ขณะที่จังหวัดอื่นก็พบน้อยวันมากๆ พะเยา (5 วัน) แพร่ (1 วัน) แม่ฮ่องสอน (4 วัน) เชียงราย (1 วัน) ลำปาง (2 วัน) สันนิษฐานว่าเพราะปรากฏการณ์ลานีญาครั้งที่ผ่านมาซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนกลางปี 2553 และดำเนินต่อมาจนถึงปี 2555

อย่างไรก็ดี หากลองดูค่า PM2.5 กลับพบความแตกต่าง เปรียบเทียบระหว่างเชียงใหม่กับจังหวัดอื่นแล้วแทบไม่ต่างกัน นั่นคือ จังหวัดอื่นเผชิญปัญหานี้รุนแรงกว่าเชียงใหม่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ค่าสูงสุดเฉลี่ยของเชียงใหม่ 157.3 มคก./ลบ.ม. จังหวัดอื่น 166.7 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันเกินมาตรฐานเฉลี่ยของเชียงใหม่ 52.8 วัน มากกว่าใช้ PM10 เป็นเกณฑ์อย่างเห็นได้ชัด PM2.5 จึงใช้สะท้อนปัญหาได้ดีกว่า ส่วนจังหวัดอื่น 56.57 วัน โดยค่า PM2.5 สูงสุดที่เคยวัดได้เจอที่แม่สาย 357 มคก./ลบ.ม. เพิ่งเกิดขึ้นปี 2562 ในเดือนมีนาคม ส่วนเชียงใหม่คือ 266 มคก./ลบ.ม. เมื่อ 17 มีนาคม 2558 และปีที่มีจำนวนวันที่ค่าเกินเกณฑ์มากที่สุดของเชียงใหม่คือ ปี 2559 รวม 86 วัน จังหวัดอื่นคือ แม่สาย เมื่อปี 2562 รวมแล้ว 78 วัน ช่วยให้พอเห็นเค้าลางว่า เอาเข้าจริง แหล่งกำเนิดหลักๆ ของ PM2.5 ก็อยู่ในเมืองใหญ่แบบเชียงใหม่นี่แหละ

 

การเมืองเรื่อง AQI

ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) คือดัชนีที่หน่วยงานของรัฐในแต่ละประเทศใช้แจ้งต่อสาธารณะว่าขณะนี้คุณภาพของอากาศเป็นอย่างไร ซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มประเทศในยุโรปตั้งค่ามาตรฐานที่สูงมากกว่ากลุ่มประเทศในแถบเอเชีย วัตถุประสงค์ของการกำหนดมาตรฐาน AQI มาจากหลักการเดียวกันคือ ต้องการแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบถึงความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศในขณะนั้นหรือในอนาคตอันใกล้

ไม่พบข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าดัชนีคุณภาพอากาศเริ่มใช้ในประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อใด AQI ของไทยที่ผ่านมาอาศัยการคำนวณเทียบมาตรฐานโดยใช้สารมลพิษทางอากาศ 5 ชนิดมาตลอด ได้แก่ 1. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2. ไนโตรเจนไดออกไซด์ 3. คาร์บอนมอนอกไซด์ 4. ก๊าซโอโซน และ 5. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน แบ่งออกเป็น 5 ระดับ (ซึ่งใช้สีเป็นสัญลักษณ์) โดยดูจากค่าเหล่านี้ หาก AQI เกิน 100 นั่นหมายถึงมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน (สีส้ม) ถ้าเกิน 200 แสดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) เป็นต้น


ดัชนีคุณภาพอากาศ 5 ระดับสีของไทย (ที่มา:
Air4Thai)

 

แม้ PM2.5 จะปรากฏอยู่ในประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 กำหนดค่าของ PM2.5 เฉลี่ยในระยะเวลา 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 µg/m³ และในระยะเวลา 1 ปีค่าเฉลี่ยเลขคณิตต้องไม่เกิน 25 µg/m³ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้วัดจริงจัง ข้อมูลที่เปิดเผยโดยกรมควบคุมมลพิษจะเริ่มต้นรายงานในปีถัดมา ส่วนใหญ่เป็นสถานีวัดในกรุงเทพฯ สถานีในต่างจังหวัดที่มีรายงานค่า PM2.5 พบแค่ที่โรงเรียนยุพราช (เชียงใหม่) กับสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง เพียง 2 แห่งทั่วประเทศเท่านั้น สรุปก็คือ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศตอนนั้นยังไม่มีเครื่องที่จะสามารถตรวจวัดฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ได้iii เหมือนหนึ่งประเทศมีสองระบบ เมืองหลวงใช้ PM2.5 แต่ต่างจังหวัดใช้ PM10 ที่สำคัญ PM2.5 ยังไม่ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศหรือ AQI ของไทยแต่อย่างใด

ภายหลังกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่นควันพิษอย่างหนัก ช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 ทำให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เร่งรัดรวมเอาค่า PM 2.5 เข้าไปในดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศเป็นครั้งแรก (รวมเป็นตัวแทนความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด) โดยออกประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ณ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 จากที่ก่อนนี้ไม่ได้รวมค่าของ PM 2.5 ลงไปในรายงานสภาพมลพิษทางอากาศเลย แม้ว่าจะมีการผลักดันโดยภาคประชาสังคมมาตลอดห้วงเวลาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ 2555 ที่มีการเดินขบวนบนถนนนิมมานเหมินท์ ผลของประกาศนี้ทำให้ทุกสถานีทั่วประเทศต้องเริ่มวัดค่า PM2.5 ควบคู่ไปกับค่า PM10 ที่เคยใช้เป็นหลักมาตลอด

คงจะจริงแบบที่หลายคนเคยบอก คนกรุงเทพเสียงดังกว่าคนต่างจังหวัด ดูได้จากหลายมาตรการที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนโดยทันทีเมื่อเผชิญสถานการณ์รุนแรง อาทิ การสั่งให้หยุดโรงเรียน หยุดการก่อสร้าง การแจกหน้ากาก N95 ฯลฯ ขณะที่มาตรการทำนองเดียวกันนี้ไม่เคยถูกนำมาใช้ในจังหวัดอื่นมาก่อน (อย่างน้อยก่อนหน้าปี 2562) โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ไม่ว่าสถานการณ์หมอกควันจะเลวร้ายลงเพียงใดก็ตาม

 

อำนาจในมือประชาชน

เมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการรายงานสถานการณ์ของทางราชการ และเกณฑ์มาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศที่กรมควบคุมมลพิษใช้อยู่ ด้วยหลายสาเหตุ เช่น แอปพลิเคชัน Air4Thai ไม่ใช่ข้อมูลแบบ Real-Time ในเวลานั้น หากแต่เป็นข้อมูลจากการคำนวณหาค่าเฉลี่ยย้อนหลังเมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา, สถานีตรวจวัดน้อยเกินไป ไม่สามารถใช้ดูค่าอากาศ ณ สถานที่นั้นที่เป็นจริงได้, AQI ที่ใช้อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล และไม่มีระดับขั้นที่รุนแรงมาก (สีม่วง) เป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้ ประชาชนจึงต้องพึ่งพาตนเอง

เช่น แอดมินเพจ Pm2.5 aqi thailand เริ่มทำเพจนี้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ปี 2559 เพราะเขาเองมีปัญหาสุขภาพจากภาวะภูมิแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ ด้วยความสงสัยก็เลยไปลองค้นๆ พบว่าเกิดจากฝุ่นควัน PM2.5 ถ้าเราอยู่ในภาวะที่ค่าเกิน 42 มคก./ลบ.ม. ก็จะจาม มีน้ำมูก และเป็นภูมิแพ้ บางคนหนักถึงขนาดเลือดออก หลังจากติดตามภาวะฝุ่นควันมาระยะหนึ่งก็ได้เก็บสถิติเป็นรูปภาพเอาไว้เช็คดูว่าช่วงไหนที่จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ที่รุนแรงขึ้นได้ โดยทำเผยแพร่ลงเพจ เพราะตอนนั้นกรมยังยึด PM10 อยู่ ซักพักก็มีนักวิชาการ แพทย์ นักวิจัยเข้ามาแลกเปลี่ยน และขอข้อมูลเพิ่มเติม เพจจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผู้ติดตามเพจกลุ่มใหญ่เป็นสายออกกำลังกายและเล่นกีฬากลางแจ้ง ข้อมูลที่เอามาลงช่วยในการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ได้มาก


โพสต์ล่าสุดบนแฟนเพจเฟซบุ๊ค Pm2.5 aqi thailand (ที่มา:
https://www.facebook.com/pm25aqithai)

 

“..ตั้งแต่ปี 2560 มา ก็เริ่มมีการตื่นตัวพยายามเลี่ยงช่วงเวลาจัดงานที่เสี่ยงต่อฝุ่นควันระดับ Unhealthy สีแดงกันมากขึ้น เช็คค่า AQI กันก่อนวิ่งก่อนซ้อมกันมากขึ้น..” แอดมินเล่าถึงพลังของตัวเลข PM2.5 ที่มีผลต่อการปรับชีวิตพฤติกรรมประจำวันเมื่อฝุ่นควันมา

เพจ Pm2.5 aqi thailand เป็นตัวอย่างของปัจเจกชนคนหนึ่งซึ่งทำให้เรื่องคุณภาพอากาศกลายเป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ท่ามกลางอีกหลายองค์กรที่ก็พยายามเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกัน เช่น เพจสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาในเชียงใหม่ (U.S. Consulate General Chiang Mai Thailand) ที่เผยแพร่สภาวะอากาศ Today PM2.5 AQI ลงบนเพจเป็นระยะ เริ่มครั้งแรกในปี 2559 ต่อมาปี 2560-2561 จึงเกิดระบบแจ้งเตือนคุณภาพอากาศภาคประชาชน หรือ People AQI ที่ใช้ Dust Boy อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ แบบเรียลไทม์ที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัด รายงานผลด้วย PM2.5 AQI ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.cmuccdc.org และช่วยให้ประเมินสภาวะอากาศในอนาคตอันใกล้ได้ด้วย ไม่ต้องง้อรัฐ

ประมาณปี 2562 คนเริ่มหันมาใช้แอฟบนมือถือเช็คค่า PM2.5 ด้วยตัวเองได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแอฟ AirVisual เป็นอย่างที่พศุตม์ ลาศุขะ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอไว้ในบทความภาษาอังกฤษชื่อ When Air Becomes Visual: The Cultural Politics of the Public Data of Air Environment in Thailandiv บอกว่า นี่คืออำนาจในมือปัจเจกที่มีพลังขึ้นมา กระตุ้นให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแคปเจอร์หน้าจอจากแอฟเหล่านี้เพื่อแชร์ค่าอากาศในช่วงที่แย่ๆ ก็ตอกลิ่มความเฉื่อยชาของภาครัฐที่มีต่อปัญหานี้แล้ว นำไปสู่ปฏิกิริยาโต้ตอบรัฐส่วนกลาง และเคลื่อนไหวให้ออกมาตรการเฉพาะหน้า ดังที่มีแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมากเกิดขึ้นใน www.change.org ตามมา เช่น เรียกร้องให้เปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่งดการเรียนการสอนชั่วคราว ตลอดจนมีจดหมายเปิดผนึกจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงถึงนายกรัฐมนตรี ฯลฯ พลังทางสังคมเหล่านี้ในแง่หนึ่งได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนท่าทีอย่างมีนัยสำคัญ.

 

เชิงอรรถ/อ้างอิง

i ประมวลจากรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยที่เผยแพร่ใน http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download.php

ii ประมวลจากรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยที่เผยแพร่ใน http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download.php

iii “20 ปี ฝุ่นพิษ “PM10 – PM2.5” สอบผ่านมาตรฐานไทย สอบตกมาตรฐานโลก – “กรมควบคุมมลพิษ” ควบคุมล่าช้า ทั้งที่ใช้มาตรฐาน PM2.5 ปี 2553,” ThaiPublica, (13 มกราคม 2532), จาก https://thaipublica.org/2019/01/air-pollution-pm10-pm2-5/

iv Pasoot Lasuka, “When Air Becomes Visual: The Cultural Politics of the Public Data of Air Environment in Thailand,” Kyoto Review of Southeast Asia, from https://kyotoreview.org/issue-27/the-cultural-politics-of-the-public-data-of-air-environment-in-thailand/

 

รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net