กมธ.พิจารณา รธน. แก้ไขเพิ่มเติม พิจารณาร่างแล้วเสร็จทั้งฉบับแล้ว

โฆษก กมธ.พิจารณา รธน. แก้ไขเพิ่มเติมฯ เผยขณะนี้ กมธ. ได้พิจารณาร่างฯ แล้วเสร็จทั้งฉบับแล้ว คาดที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาวาระสอง 24-25 ก.พ. 2564 ส่วนวาระ 3 วันที่ 16-17 มี.ค. 2564 พร้อมย้ำมั่นใจ ส.ว. จะลงมติเห็นชอบในทุกวาระ คาดว่าตั้งแต่กระบวนการเตรียมการจนถึงเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ดำเนินการตาม รธน.ที่แก้ไขใช้เวลา 240 วัน จัดทำประชามติ 90 วัน รวมจะใช้เวลาหมดประมาณ 18 เดือน

กมธ.พิจารณา รธน. แก้ไขเพิ่มเติม พิจารณาร่างแล้วเสร็จทั้งฉบับแล้ว

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 นายสมคิด เชื้อคง โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) รัฐสภา แถลงข่าวถึงความคืบหน้าผลการดำเนินการของ กมธ. ว่า เมื่อวานนี้ (4 ก.พ. 64) ที่ประชุม กมธ. ได้มีการลงมติในมาตราต่างๆ ที่ค้างดำเนินการจนเสร็จเรียบร้อย มีความสมบูรณ์ทั้งฉบับแล้ว ขณะที่การประชุม กมธ. ในวันนี้ (5 ก.พ. 64) ที่ประชุม กมธ. ได้มีการพิจารณาเอกสารที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ไปเขียนตามข้อเสนอของ กมธ. เมื่อวานนี้ คือการปรับแต่งปรับแต่งข้อความและประโยคต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันที่ประชุม กมธ. ได้เชิญ ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาผู้ขอแปรญัตติ รวมจำนวนทั้งสิ้น 109 คน ประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 8 คน และผู้แทนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้ขอแปรญัตติ จำนวน 101 คน มาชี้แจง สำหรับ ส.ส.ผู้ขอแปรญัตติ จำนวน 101 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 46 คน พรรคก้าวไกล ประมาณ 50 คน และพรรคพลังประชารัฐ ประมาณ 2-3 คน ซึ่งขณะ กมธ. อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมร่างต่าง ๆ ก่อนที่ในวันที่ 8 ก.พ. 2564 ในช่วงบ่าย จะมีการประชุม กมธ. อีกครั้งเพื่อตรวจข้อความในเอกสาร และญัตติต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยโดยเร็ว 

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการหารือกับประธาน กมธ. แล้วคาดการณ์ว่าจะดำเนินการจัดพิมพ์เล่มรายงานผลการพิจารณาของ กมธ. ได้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 ก.พ. 2564 จากนั้น จะได้จัดส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาในวาระที่สองได้ภายในวันที่ 24-25 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานที่วางไว้

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้พิจารณาในวาระที่ 2 เสร็จแล้ว และผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม ต่อมาต้องรอเวลาอีก 15 วัน ก่อนส่งให้รัฐสภาได้ดำเนินการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระที่ 3 วันที่ 16-17 มี.ค. 2564 ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยคาดว่าตั้งแต่กระบวนการเตรียมการ ส.ส.ร. เลือกตั้ง ส.ส.ร รวมถึงไปดำเนินการร่างตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เป็นเวลา 240 วัน ก่อนดำเนินการจัดทำประชามติภายในเวลา 90 วัน โดยรวมจะใช้เวลาดำเนินทั้งหมดประมาณ 18 เดือน หรือคิดเป็นเวลาประมาณเวลา 1 ปี 6 เดือน ทั้งนี้กรอบเวลาดังกล่าว เป็นการคาดการณ์ภายใต้เงื่อนไขที่การดำเนินการจะต้องไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรค 

นอกจากนี้ นายสมคิด กล่าวถึงการเหตุผลของเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ลงมติในวาระรับหลักการ จากเดิมที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของฝ่ายรัฐบาล กำหนดไว้ที่ 3 ใน 5 ได้เปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ลงมติในวาระรับหลักการ เป็น 2 ใน 3 ว่า เป็นไปตามมติเสียงข้างมากของที่ประชุม กมธ. ที่ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไข ส่งผลให้จากเดิมต้องใช้เสียง 450 เสียง เปลี่ยนเป็น 500 เสียง ในการให้ความเห็นชอบ ซึ่งตนมองว่า กรณีดังกล่าวไม่ต้องวิตกกังวลว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผ่านวาระที่ 2 และ 3 ยากขึ้นหรือไม่ เพราะเป็นภาระหน้าที่ของเสียงข้างมาก และเชื่อว่า จากการที่ ส.ว. หลายคนได้เห็นด้วยกับร่างที่กำหนดให้ ส.ส.ร. ทั้ง 200 คน ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว ส่วนอื่นก็ไม่ต้องวิตกกังวล พร้อมกันนี้ นายสมคิด กล่าวย้ำว่า ตนมั่นใจ ส.ว. จะลงมติเห็นชอบในทุกวาระ

เปิดพิมพ์เขียว 13 ขั้นตอน จาก ส.ส.ร. 200 คน สู่ 'รัฐธรรมนูญฉบับใหม่'

สื่อประชาชาติธุรกิจ นำเสนอรายงานพิเศษถึง 13 ขั้นตอน จาก ส.ส.ร. 200 คน สู่ 'รัฐธรรมนูญฉบับใหม่' โดยระบุว่าหลังจากรัฐสภาลงมติคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่ถูกมวลชนนอกสภาให้นิยามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน แต่รัฐสภาได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563

และใช้เวลาปลุกปล้ำแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) สภาหลังผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนเต็ม

ที่สุดแล้วก็คลอดร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ “ไฟนอล” ออกมาเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน เป็นผู้ยกร่าง ผ่านกระบวนการ 13 ขั้นตอน

1.หลังจากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ภายใน 30 วัน และให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 90 วัน นับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

2.ให้มี ส.ส.ร. จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็น ส.ส.ร.ให้ใช้เกณฑ์เดียวกับสมัคร ส.ส.

ให้ใช้ “เขตจังหวัด” เป็น “เขตเลือกตั้ง” แต่ละจังหวัดจะมีสัดส่วน ส.ส.ร.ที่แตกต่างกันตามจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ การกำหนด ส.ส.ร. ที่แต่ละจังหวัด “พึงมี” ให้ใช้จำนวนประชากรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

จังหวัดไหนที่ราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นได้ 1 คน

จังหวัดไหนที่ราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

ถ้าจำนวน ส.ส.ร.ยังไม่ครบ 200 คน จังหวัดไหนที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่ม ส.ส.ร.ด้วยวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษเหลือลำดับรองลงมา จนครบจำนวน 200 คน

3.ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ร. ได้ 1 คน (one man one vote) และจะลงคะแนนเลือกผู้ใด หรือ ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.ร.เลยก็ได้

4.เมื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ให้ กกต.ประกาศรับรองผลให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนน “สูงสุด” เรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ส.ร.ที่พึงมีในแต่ละจังหวัด และให้ กกต.จัดทำบัญชีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ส่งรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศรับรองผล แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศชื่อคนที่ได้เป็น ส.ส.ร.ลงในราชกิจจานุเบกษา

5.ส.ส.ร.ต้องทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับแต่มีการประชุม ส.ส.ร.นัดแรก ซึ่งต้องจัดไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่มี ส.ส.ร.จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ ส.ส.ร.ทั้งหมด แล้วให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร.ส่วนที่เหลือโดยเร็ว

6.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ ส.ส.ร.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ทุกจังหวัด ให้ ส.ส.ร. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐ จัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหา-ความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชน และเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ

7.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป

8.การแต่งตั้งกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ส.ร.แต่งตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร. สำหรับกรรมาธิการอื่นอาจแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งมิได้เป็นสมาชิก ส.ส.ร.ได้ โดยให้พิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการทำหน้าที่และมีจำนวนกรรมาธิการตามความจำเป็น

9.เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการลงมติ เมื่อรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานนำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาประชุมอภิปรายแสงความเห็น

10.ให้ กกต. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบทั่วไปผ่านช่องทางต่าง ๆ และให้นำเทคโนโลยี การสื่อสารมาสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเผยแพร่

11.เมื่อประชามติเสร็จสิ้น ให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากคะแนนการออกเสียงเห็นชอบ ให้ประธานรัฐสภา นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

12.หากไม่ผ่านประชามติ ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้แจ้งผลการออกเสียงประชามติให้ประธานรัฐสภาและประธาน ส.ส.ร.ทราบโดยเร็ว

13.ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ให้คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ส. และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดของสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ได้อีก

การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ทั้งนี้ บุคคลที่เป็น ส.ส.ร. จะเป็น ส.ส.ร.อีกไม่ได้ เมื่อรัฐสภามติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะมีการเสนอญัตติอีกไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือก

ทว่าก่อนจะได้ทำทั้ง 13 ขั้นตอน ขั้นตอนในรัฐสภายังต้องนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าไปลงมติในวาระที่ 2 ในวันที่ 24-25 ก.พ. 2564

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. … กล่าวว่า

“หลังจากวาระ 2 ผ่าน จะทิ้งไว้ 15 วัน คาดว่าจะเข้าสู่วาระที่ 3 ในวันที่ 16-17 มี.ค. หากวาระที่ 3 ผ่านแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการทั้งหมด 18 เดือน” 

เปิดสาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ.ฯ พบ 8 จุดสำคัญ ไฮไลต์ คือ เติมความประเด็นให้อำนาจรัฐสภาตรวจสอบการตรารัฐธรรมนูญมิชอบ

กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอรายงานพิเศษเปิดสาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ.ฯ พบ 8 จุดสำคัญ ระบุว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ​ เป็นประธานกมธ.ฯ ได้พิจารณาแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.

โดยเนื้อหามีการปรับแก้ทั้งสิ้น 8 ประเด็น ได้แก่ 1. ว่าด้วยเสียงลงคะแนนในวาระแรก และวาระสาม ในมาตรา 256 จากร่างที่เป็นหลักพิจารณากำหนดให้ใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียง ไปเป็น ใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียงของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา
       
2.ในหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.) มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากเนื้อหาเดิมกำหนดให้มี ส.ส.ร.​200 คนมาจากเลือกตั้ง 150 คนและคัดสรร 50 คน  
       
3.มาตราว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพิ่มเนื้อหา ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม จากเดิมที่ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกหลักเกณฑ์และวิธีการเลือก ส.ส.ร. เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.​ทำได้โดยรวดเร็ว ไม่ต้องรอการตราระเบียบหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องที่อาจทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ล่าช้ากว่า 90 วัน 

4.ว่าด้วยการประกาศรายชื่อส.ส.ร. กำหนดให้ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา หลังจาก กกต.​รับรองผลเลือกตั้งแล้ว  
       
5.เพิ่มบทบัญญัติว่า ด้วยการเลือกส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่าง เพราะตายหรือลาออก หรือขาดคุณสมบัติ โดยกำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. ทดแทน ภายใน 45 วัน เว้นแต่จะเหลือเวลาทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึง 90 วัน
       
6.กรณีกระบวนการการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีประเด็นว่าควรตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง หรือคณะทำงานอีกชุดเพื่อทำหน้าที่แทนส.ส.ร. หรือไม่ กมธ.​ได้เพิ่มบทบัญญัติให้ ส.ส.ร. มีอำนาจแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จากบุคคลที่เป็น ส.ส.ร. ส่วนกรรมาธิการอื่น อาจตั้งบุคคลที่ไม่เป็น ส.ส.ร.ได้ พร้อมกำหนดคุณสมบัติให้เลือกจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการในการทำหน้าที่และกำหนดให้กรรมาธิการเท่าที่จำเป็น

7. ประเด็นเมื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ได้แก้ไข และมีสาระสำคัญ​คือให้นำเสนอต่อรัฐสภา และกำหนดหน้าที่รัฐสภาเพียงแค่อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ภายใน 30 วัน โดยไม่ลงมติ จากนั้นภายใน 7 วันให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต.ออกเสียงประชามติ เดิมที่กำหนดให้รัฐสภาลงมติตัดสินหากมติไม่เห็นด้วย จึงต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชน 

และ 8. ประเด็นการตรวจสอบกระบวนการตรารัฐธรรมนูญ กมธ.​กำหนดรายละเอียดให้ สมาชิกรัฐสภา เข้าชื่อกัน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีประเด็นที่เพิ่มเติม คือ หากพบกระบวนการตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นดังกล่าวมีการอภิปรายถึงกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การเสียบบัตรแทนกัน เป็นต้น

ปชป.ย้ำแก้ รธน.ผลักดันวาระ 2-3 

7 ก.พ. 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวที่พรรคถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าขณะนี้มีความชัดเจนว่า การแก้ไข รธน. จะตัดเสียงในส่วนของ สว. ในวาระ 1 และ วาระ 3 คือให้ใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ไม่ได้กำหนดเสียงของ สว. มาเป็นเงื่อนใขสำคัญในการแก้ไข รธน. ก็จะทำให้การแก้ รธน. รายมาตรา มีโอกาสมากขึ้น แต่ก็ไม่ง่ายเกินไปในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ รธน. ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การกำหนดให้ใช้มติ 2 ใน 3 ถือว่ามีความเหมาะสม และในส่วน สสร. ก็จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้ง 200 คน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนทุกภาคส่วนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ การไม่ปิดกั้นสมาชิกพรรคการเมืองในการเข้ามาเป็น สสร. เพราะถือว่าการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และจะไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลังเป็น สสร. เมื่อไม่มีข้อห้ามในส่วนต่างๆ เหล่านี้ก็จะทำให้คนที่สนใจการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญถือว่าเราได้เดินมาไกลพอสมควรแล้ว ก็จะเดินหน้าผลักดันในวาระที่ 2 และ วาระที่ 3 ต่อไป เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ

ส่วนญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชายชื่อ พรรคพลงประชารัฐขอ ที่มติสมาชิกรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนายราเมศตอบนายราเมศกล่าวว่า พรรคมีแนวทางที่ชัดเจนมาตั้งแต่ ส.ส ของพรรคลงลายมือชื่อในญัตติขอแก้ไข รธน. แล้ว ว่าญัตติขอแก้ รธน. ชอบด้วยกฎหมาย พรรคได้มีมติไปแล้ว จึงไม่กังวล และอยากให้นายไพบูลย์พิจารณา หากคิดว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถยื่นหลังเสร็จสิ้น วาระ 3 ได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิเปิดช่องทางไว้อยู่แล้ว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้กล่าวถึงการเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปของรัฐบาลที่ได้ เสนอ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ และจะมีการบรรจุระเบียบวาระในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ว่าพรรคพร้อมสนับสนุน ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้การทำหน้าที่ของข้าราชการตำรวจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารงานบุคคล การยึดหลักความอาวุโส ซึ่งในประเด็นนี้อาจจะมีการแปรญัตติเพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดให้การแต่งตั้งโยกย้ายเกิดความเป็นธรรมต่อข้าราชการตำรวจมากยิ่งขึ้น ความมีอิสระมากยิ่งขึ้น การปรับโอนย้ายภารกิจบางส่วนที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสิทธิภาพและความรวดเร็ว การกำหนดค่าตอบแทน การกำหนดบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก แต่เมื่อรัฐบาลได้ตั้งต้นจากเสนอร่างฉบับดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้มีการตั้งต้นปฏิรูปองค์กรตำรวจให้เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป ในวาระที่สองในชั้นกรรมาธิการเชื่อว่าจะมีการแปรญัตติเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น และต้องยอมรับสิ่งหนึ่งว่า ในทุกอาชีพมีทั้งคนดีและไม่ดี วิชาชีพตำรวจก็เช่นกัน ที่คนดีๆที่ตั้งใจทำหน้าที่รับใช้ประชาชนก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรที่เราจะช่วยตำรวจที่ดีให้ได้มีโอกาสทำหน้าที่รับใช้ประชาชนด้วยความภาคภูมิ

'ไพบูลย์' เชื่อสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบส่งศาล รธน.ตีความอำนาจรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ

7 ก.พ. 2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณาญัตติขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 ก.พ. ว่าขั้นตอนการพิจารณาผู้เสนอญัตติ โดยตนจะนำเสนอญัตติต่อที่ประชุม จากนั้นก็จะมีการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา และมีการลงมติ ซึ่งเสียงเห็นชอบต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่เข้าร่วมประชุม หากที่ประชุมเห็นชอบก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้ สำหรับญัตติดังกล่าวไม่ได้มีการขอให้ชะลอการพิจารณาหรือขอให้ศาลออกมาตรการเพื่อหยุดการพิจารณาหรือคุ้มครองชั่วคราวให้หยุดการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าที่ประชุมน่าจะเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

เมื่อถามว่าขณะนี้มีการพูดถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อข้อศึกษาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ระวังถูกยื่นตีความล้มล้างการปกครองฯ มองว่าจะมีผลต่อการพิจารณาลงมติด้วยหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่าความเห็นดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับญัตติโดยตรง แต่เป็นเหตุผลหนึ่งที่สามารถนำมาประกอบญัตติได้ ซึ่งตนก็จะอภิปรายเสนอในประชุมด้วยว่ามีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ในบทสรุป หน้าที่ 24 ระบุตอนท้ายว่า

"อย่างไรก็ดี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 นี้ ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองดังกล่าวฉบับข้างต้น ซึ่งอาจมีการยกเป็นประเด็นเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากได้มีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว"

ด้าน น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภาและหนึ่งใน คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฯ ของรัฐสภา ซึ่งเป็นหนึ่งในสว.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติเพื่อเสนอคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยดังกล่าว เปิดเผยว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าวในวันที่ 9 ก.พ. นี้ อย่างไรก็ตามการจะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะลงมติอย่างไร เพราะขณะนี้ก็มี ส.ว.บางส่วนมีความคิดเห็นว่า การแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อมาร่างรธน.ฉบับใหม่ อาจจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราหลักการในญัตติที่ขอแก้ไขมาตรา 256 ที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นการทำเพื่อให้มีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ อันมีความหมายว่าให้แก้ทั้งฉบับแต่หมวดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 น่าจะมีเจตนาเพียงให้แก้เป็นรายมาตราไม่ได้มีเจตนาให้ยกร่างรธน.ฉบับใหม่ จึงยังมีมุมมองที่เห็นว่าไม่น่าทำได้ โดยหากสุดท้ายที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากโหวตส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม แต่หากเป็นมติของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะรับคำร้องไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีบรรทัดฐานคำวินิฉัยเดิมเมื่อปี 2555 อยู่ก่อนแล้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเดียวเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่อาจทำได้ เพราะประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนญ ประชาชนย่อมใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงย่อมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรธน.ฉบับใหม่ได้ หากประชาชนมีมติยอมรับ ซึ่งถึงตอนนี้ก็คิดว่า สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนก็มีคำตอบอยู่แล้วว่า วันอังคารนี้จะโหวตให้ส่งหรือไม่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนืองกันมาหลายเดือนแล้ว

"สำหรับผมแน่นอนว่า จะโหวตเพื่อให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะผมเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาทีร่วมลงชื่อด้วย แต่ก็มีสว.อีกหลายคนเหมือนกัน ที่เขาก็เห็นว่า การแก้ไข รธน.มาตรา 256 ตอนนี้น่าจะทำได้ไม่มีปัญหา เพราะเขามองว่ายังไง สุดท้ายแล้วพอสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา ก็ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติถามประชาชนอยู่แล้ว ทำให้จนถึงตอนนี้ เรื่องนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ แต่ผมก็อยากให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจนไปเลยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ทำได้หรือไม่ได้ เพราะหากส่งไป มันไม่ได้ทำให้เสียเวลาอะไรส่วนหากส่งไปแล้ว ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาก่อนโหวตวาระสองและวาระสามก็ไม่เป็นไร ก็เดินไปด้วยกันได้กับการพิจารณาของรัฐสภา"

ถามว่าจนถึงขณะนี้คิดว่า มีสมาชิกวุฒิสภาเอาด้วยกับการจะลงมติให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน นพ.เจตน์กล่าวว่า ก็มีเยอะ แต่ก็กะจำนวนไม่ได้เพราะการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียงเห็นชอบด้วยเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน แต่หากพรรคพลังประชารัฐเอาด้วยหมด มันก็เป็นไปได้ที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่สำหรับ ส.ว. ก็คิดว่าน่าจะมีคนเห็นด้วยให้สงคำร้องไปศาล รธน.มากกว่าไม่เห็นด้วยที่จะส่ง แต่ก็ประเมินยากอยู่ ส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย คงไม่โหวตให้ส่ง เช่นเดียวกับฝ่ายค้านทั้งหมด ก็คงไม่เอาด้วย ก็ยืนยันว่า การที่เห็นควรต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนเพราะกระบวนการดังกล่าวไม่ได้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ล่าช้าอะไร เพราะในเมื่อยังมีความคิดเห็นที่ยังแตกแยกกันอยู่ว่าการแก้ไข รธน.ตอนนี้ ทำได้หรือไม่ ก็ควรทำให้เกิดความชัดเจน

ที่มาเรียบเรียงจาก สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา | ประชาชาติธุรกิจ | กรุงเทพธุรกิจ | ผู้จัดการออนไลน์ | มติชนออนไลน์ | ไทยโพสต์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท