คุยกับ นักวิชาการจิตวิทยา ว่าด้วยความเครียด การตีตรา 'New Normal' บนโลกใบเดิม

คุยกับ 'บุรชัย อัศวทวีบุญ' อาจารย์จากภาควิชาจิตวิทยา ธรรมศาสตร์ ถึงหนทางป้องกันสุขภาพจิตใจของทุกคนในสังคมจากสถานการณ์ที่จะนำมาซึ่งความเสี่ยงในอนาคต ตั้งแต่ความเครียดอันเกิดจากการต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ปัญหาการตีตราผู้ป่วยโรคโควิด-19 วิธีการรับมือกับความผิดหวังและความเสียใจ จนถึงประเด็นการฆ่าตัวตาย 

ด้วยระยะเวลากว่าหนึ่งปีกับการที่ประชาคมโลกต้องอยู่ร่วมกับโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่ต่างๆ มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การมีวิถีชีวิตใหม่ (new normal) สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยอันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 และมาตรการของรัฐในการแก้ปัญหาการระบาดดังกล่าวทั้งการเลิกจ้างงาน การปิดตัวลงของกิจการต่างๆ การทำงานและเรียนจากบ้าน และเหตุการณ์ต่างๆ อีกมากมาย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางด้านจิตใจ อันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคม อาจส่งผลให้บุคคลตัดสินใจจบชีวิตของตนเอง ดังกรณีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ตัดสินใจอัตวินิบาตกรรมตนเองเนื่องจากความตึงเครียดด้านการเรียนจากบ้าน หรือกรณีแม่ค้าร้านข้าวแกงที่ทนพิษเศรษฐกิจในภาวะโรคระบาดไม่ไหวจึงได้ตัดสินใจจบชีวิตลง

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า โดยปกติอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยอยู่ที่สัดส่วน 6 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน คงที่เช่นนี้มา 5-6 ปี แต่ในปี 2563 ที่มีการเกิดภาวะโรคระบาดโควิด-19 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จได้ไต่ระดับขึ้นอยู่ที่สัดส่วน 7.3 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยมีปัจจัยสำคัญเรียงตามอัตราการเกิดได้ดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ซึ่งยังคงเป็นเหตุผลใหญ่ กลุ่มที่สอง ปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต และกลุ่มที่สาม ปัญหาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มปัญหาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวัง แม้กระนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่าไม่สามารถพูดได้ว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นเนื่องจากเมื่อเกิดเหตุการฆ่าตัวตายนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุแล้วแต่บุคคล ทั้งนี้ในสภาวะวิกฤตจำเป็นจะต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวัง เนื่องจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงเดิมอาจเปราะบางได้มากขึ้น

บุรชัย อัศวทวีบุญ อาจารย์จากภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บุรชัย อัศวทวีบุญ อาจารย์จากภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในโอกาสนี้จึงชวนร่วมพูดคุยเพื่อหาวิธีการรับมือในการจัดการกับวิถีชีวิตใหม่ท่ามกลางสภาวะโรคระบาดนี้กับ บุรชัย อัศวทวีบุญ อาจารย์จากภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงหนทางในการป้องกันสุขภาพจิตใจของทุกคนในสังคมจากสถานการณ์ที่จะนำมาซึ่งความเสี่ยงในอนาคต

ความเครียดจากวิถีชีวิตใหม่ โลกใบเดิมที่ต้องปรับตัว

กรณีความเครียดอันเกิดจากการต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับยุคโรคระบาดโควิด-19 บุรชัย กล่าวว่า โดยปกติแล้วเมื่อวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป เราก็ต้องมีการปรับตัว และทุกครั้งที่มีการปรับตัว ความเครียดก็จะเกิดขึ้น เพราะมันคือสภาพที่เราไม่คุ้นเคย แต่หากเราปรับตัวจนคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ ได้ ความเครียดก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงตามไป ทั้งนี้สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับทัศนคติหรือกรอบความคิด ว่าเรามีกระบวนการคิดต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งหากเราสามารถทำความเข้าใจสาเหตุของมันและยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลง ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้น เราก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่าบุคคลที่ไม่สามารถเข้าใจสาเหตุและไม่พยายามที่จะยอมรับหรือปรับตัว เช่น การมองว่าสถานการณ์ภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อตัวเรา ทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนี้ก็มีสาเหตุของมัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลถึงเราคนเดียว แต่กระทบถึงคนมากมายในโลกนี้ เมื่อเข้าใจว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงก็คือการระบาดของโรค ทำให้เกิดนโยบายต่างๆ มากมายที่กระทบต่อตัวเรา เราก็ต้องพิจารณาต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ต้องปรับอะไรบ้าง อะไรที่ควบคุมได้ อะไรที่ควบคุมไม่ได้ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัว ต้องวางแผน การที่โลกเปลี่ยนแปลง ยิ่งเราปฏิเสธมันมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสะสมความเครียดและปรับตัวยากขึ้นเท่านั้น เราจึงควรทำความเข้าใจและยอมรับว่ามันคือวิถีชีวิตในรูปแบบหนึ่ง เพื่อจะทำให้ตัวเราก้าวต่อไปได้

เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องมีสติให้มากเพื่อรับมือกับมัน เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ หลายคนอาจอึดอัดในตอนต้น หรือกังวลกับมันมากเกินไป ต้องเข้าใจว่าเพราะมีโรคเกิดขึ้น เราสามารถควบคุมการระบาดในส่วนของตัวเราเองได้ด้วยวิธีการต่างๆ เราจึงต้องใส่หน้ากาก ต้องล้างมือ ก็จะสามารถช่วยให้ความเครียดลดน้อยลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าความเครียดเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีความเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่ามันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน ตัวอย่างเช่น การต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปข้างนอก เมื่อเปรียบกับการทำงานหรือเรียนที่บ้าน ก็มีการปรับตัวที่ต่างกัน การถูกเลิกจ้าง หรือเลิกกิจการ ก็ต้องปรับตัวมากขึ้น วางแผนการใช้ชีวิตที่มากขึ้น หากเรายอมรับได้ ว่าตอนนี้โรคระบาดไม่ได้หายไป เราต้องเรียนรู้ ทำความคุ้นเคยกับมันมากขึ้น และปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่หรือ new normal

การเป็นโรค มิใช่การเป็นเชื้อโรค หยุดการตีตราในสังคม

ในกรณีปัญหาการตีตรา (stigmatization) ผู้ป่วยโรคโควิด-19 นั้น บุรชัย กล่าวว่า สังคมมองผู้ป่วยเหมือนเชื้อโรคและตั้งป้อมไว้ตั้งแต่แรก เช่น กรณีข่าวการพบผู้ติดเชื้อที่จังหวัดสมุทรสาครทำให้เกิดการตีตรารวมว่าทุกคนจากจังหวัดสมุทรสาครคือคนที่ติดโรค และสังคมจะปฏิเสธที่จะติดต่อหรือให้บริการกับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสมุทรสาคร

"ตามการแพร่กระจายของโรค เขาตรวจพบเชื้อ เขามีเชื้อโรคจริง แต่เขาไม่ใช่เชื้อโรค เมื่อเขาหายจากโรคเขาก็กลับมาเป็นคนหนึ่งคนเหมือนกับเรา การเป็นโรคไม่ได้ทำให้คุณค่าในความเป็นมนุษย์ของใครน้อยลง ไม่มีใครที่อยากเป็นโรค ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าไม่มีใครอยากเป็น หรือจงใจเป็น การที่เขาเป็นโรคจึงไม่ควรไปตีตราเขา หน้าที่ของเราคือการดูแลและป้องกันตนเอง คนที่ติดโรคบางคนมีเหตุผลให้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีพอ เช่น ต้องทำงานนอกสถานที่ เขาต้องเสี่ยงกับการเดินทาง อาจจะไม่สามารถ work from home หรือสั่งอาหาร delivery ได้ หรือเขาอาจจะติดจากผู้อื่นโดยที่ระมัดระวังตัวเองดีแล้วก็ได้ คำถามคือเขาผิดหรือ และการที่เราไม่รู้ เราจึงไม่ควรตัดสินใคร เพราะเราไม่รู้ว่ามีเหตุอะไร เงื่อนไขอะไรที่ทำให้เขาติด คนแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกัน"

Five Stages of Grief ขั้นตอนเดิมๆ ของการเริ่มต้นใหม่

ในวิธีการรับมือกับความผิดหวังและความเสียใจต่างๆ อันเกิดมาจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 เช่น การต้องเสียเวลาเลื่อนแผนการบางอย่างออกไป บุรชัยกล่าวถึง Five Stages of Grief ของจิตแพทย์ Elisabeth Kübler-Ross จากหนังสือ On Death and Dying ว่าการรับมือกับความสูญเสียมีอยู่ 5 ขั้น ขั้นที่หนึ่ง การปฏิเสธและปลีกตัว (Denial and Isolation) ขั้นที่สอง ความโกรธ (Anger) ขั้นที่สาม การต่อรอง (Bargaining) ขั้นที่สี่ ความซึมเศร้า (Depression) และสุดท้ายที่จะสามารถทำให้หลุดจากวงจรนี้ได้คือการเข้าขั้นที่ห้า การยอมรับความจริง (Acceptance)

Five Stages of Grief

"การสูญเสียและผิดหวังไม่ว่าจากเรื่องอะไรทำให้เกิดขั้นต่างๆ เหล่านี้ เราไม่รู้ว่าเราจะไปอยู่ขั้นไหนก่อน สิ่งที่จะทำให้เราหลุดออกจากปัญหาได้คือการยอมรับ หรือหากพูดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นคือเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับให้ได้และวางแผนอย่างเป็นระบบที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น หน้าที่ของเราคือการมองไปข้างหน้าว่าทำอย่างไรให้เราอยู่ได้ หากมีพฤติกรรมอะไรที่ทำให้ชีวิตของเรามีเงื่อนไขที่มากเกินไป เราอาจต้องหยุดเงื่อนไขพวกนั้นไว้ก่อน เราต้องวางแผนใหม่ให้เหมาะสมกับสิ่งที่เรามี วางแผนใหม่ให้ยืดหยุ่นขึ้นตามเงื่อนไขที่เรามีในปัจจุบัน"

บุรชัยแนะนำว่า หากพบว่าคนใกล้ตัวเกิดภาวะเครียด การให้เขาได้ระบายความคิด ความรู้สึกออกมาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่หลายคนกลัวการไปกระตุ้น หรือ trigger ผู้อื่น ก็ให้จำหลักการไว้ว่า ฟังแต่ไม่ตัดสิน เราอย่าไปตัดสินความคิดของคนอื่น

"ทุกคนมีทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ เป็นของตัวเอง มีความเชื่อ มีอคติเป็นของตัวเอง การรับฟังอย่างตั้งใจและใส่ใจ (deep listening) โดยที่ไม่ต้องบอกให้เขาทำหรือไม่ทำอะไร ไม่แนะนำ ไม่ตัดสินตามความเห็นของเรา จะช่วยให้คนพูดรับรู้ว่ามีคนรับฟังเขาอย่างใส่ใจทำให้ความรู้สึกข้างในมันเบาลง ได้ปลดปล่อย (release) หรือหากจะช่วยกันวางแผน ก็ทำได้โดยเราเป็นคนช่วยสำรวจ คอยสะท้อนให้เขาเห็นมุมมองของตนเอง เห็นเป้าหมายของตนเองภายใต้เงื่อนไขของตัวเขาเอง จำไว้ว่าอย่าเพิ่งไปตัดสินความเห็นของเขาด้วยความคิดเห็นของเรา อีกอย่างคือเรื่องของการเลือกใช้คำพูด (wording) ก็สำคัญมาก คนเราจะติดวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งต่างๆ ดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร"

การขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ เพราะทุกคนคือส่วนหนึ่งของสังคม

ในประเด็นการฆ่าตัวตาย บุรชัยกล่าวว่า หากมีความคิดที่จะทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตาย ไม่ว่าด้วยเหตุอันใด สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ เมื่อคิดจะทำร้ายตนเอง ความคิดจะถูกเหนี่ยวนำด้วยอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถคิดวางแผนที่จะออกจากสถานการณ์อึดอัดใจนั้นได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่าเริ่มควบคุมความคิดไม่ได้ ควบคุมตนเองไม่ได้ให้รีบติดต่อหาบุคคลที่เราไว้ใจ หรือบุคคลที่เราเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือเราได้ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต (1323) หรือสายด่วนสะมาริตันส์ (02-713-6793) หากหยุดความคิดไม่ได้ เชื่อว่าไตร่ตรองดีแล้วว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกเดียว เมื่อพบเจอกรณีแบบนี้ ให้บุคคลนั้นรีบติดต่อขอรับความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน เมื่อได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ทางออกที่เขาเชื่อว่ามีเพียงทางเดียว เขาอาจจะค้นพบทางออกที่มากกว่านั้น 

หากเจาะจงที่ปัญหาด้านการเงิน การเงินนั้นสามารถเป็นปัญหาที่อาจทำให้คนหาทางออกไม่ได้ บุรชัยเสนอให้วางแผนการเงินระยะสั้นเพื่อให้สามารถประคองสถานการณ์ให้ตนเองอยู่รอดหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น พนักงานรายวันหากได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ในวันนั้นก็จะไม่ได้เงิน การไม่ได้เงินเพียงไม่กี่วันก็สามารถทำให้ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เงื่อนไขของแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนมีเงินเก็บ บางคนมีหนี้ จำเป็นวางแผนที่รัดกุมให้เหมาะสมกับตนเอง อาจหาทางกู้ยืมในกรณีที่จำเป็นได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตต่อไป การมองว่าไม่มีทางออกตั้งแต่ต้นจะส่งผลให้เราเกิดความเครียด ความรู้สึกต่อจากนั้นจะไม่อยากคิดและวางแผนต่อ เนื่องจากความเชื่อลึกๆ ว่าไม่มีทางออกจะทำให้เราไม่พยายามคิดต่อ หรืออาจจะคิดที่จะทำร้ายตนเองในท้ายที่สุด

บุรชัยแนะนำ ในปัจจุบันมีช่องทางการเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญค่อนข้างมาก แต่ช่องทางที่แนะนำคือช่องทางที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และเหมาะกับเรื่องเร่งด่วน คือการติดต่อไปทางสายด่วน เพราะหากต่อคิวโรงพยาบาลรัฐอาจต้องใช้เวลานาน หากโทรไปที่สายด่วนแล้วยังไม่มีคนรับ หรือไม่ตรงใจ แนะนำให้โทรไปใหม่อีกครั้ง บางครั้งคู่สายอาจจะเต็ม บางครั้งคนรับหรือผู้ให้บริการอาจไม่เหมาะกับเรา สามารถติดต่อใหม่ได้เพื่อรับบริการกับคนอื่น ในบางครั้ง การที่เราตัดสินว่าผู้ที่รับฟังไม่ได้พูดตามใจเรา ก็อาจเป็นเหตุให้เรารู้สึกไม่ชอบใจ ไม่อยากรับบริการ หรือเคมีไม่เข้ากัน บางครั้งผู้ให้คำปรึกษาอาจทำตามวิธีที่ถูกต้องตามการช่วยเหลือ แต่ไม่ถูกใจเรา เราสามารถพิจารณาโทรไปใหม่ได้ สายด่วนสุขภาพจิตเป็นบริการที่เป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งในสังคม สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเรามากที่สุดได้ ย้ำ ไม่ควรโทรไปโดยที่ไม่มีเหตุผลเพราะจะทำให้คนที่ต้องการรับบริการจริงๆ เสียโอกาสได้ นอกจากนั้นสายด่วนสะมาริตันส์ก็เป็นช่องทางที่ใช้ติดต่อได้เช่นกัน เพราะผู้บริการผ่านการอบรมมาแล้ว สองช่องทางข้างต้นคือช่องทางที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ลำดับต่อมาคือคลินิกสุขภาพจิตในโรงพยาบาลของรัฐ โดยปกติคิวจะค่อนข้างนาน หากพอมีกำลังอาจแนะนำเป็นคลินิกนอกเวลาในโรงพยาบาลของรัฐ และหากมีกำลังมากกว่านั้นแนะนำเป็นโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งในปัจจุบันได้มีแอพพลิเคชันต่างๆ มากมาย เราต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้หรือไม่ หากไม่สะดวก สายด่วนสุขภาพจิตและสายด่วนสะมาริตันส์คือสองช่องทางที่แนะนำ

สำหรับ นันท์พนิตา สุขิตกุลพฤทธิพร ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงชิ้นนี้ บัณฑิตศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาจิตวิทยา จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท