Skip to main content
sharethis

สภาชนเผ่าพื้นเมืองเตรียมชุมนุมหน้าทำเนียบ 15 ก.พ. นี้ พร้อมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา นายศักดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากเครือข่ายกะเหรี่ยงและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทั่วประเทศ ประกาศยกระดับการชุมนุม #Saveบางกลอย ทวงความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่กะเหรี่ยงบางกลอย ในวันที่ 15 ก.พ. 2564 นี้ ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มชาวบ้านกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง ประกาศจัดตั้งโต๊ะล่ารายชื่อบุคคลผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … ที่ขณะนี้รวบรวมรายชื่อจากพี่น้องชนพื้นเมืองและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมได้มากกว่า 7000 รายชื่อแล้ว เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายคือ 15,000 รายชื่อ เพื่อเข้ายื่นรายชื่อผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ต่อสภาผู้แทนราษฏรซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้เข้าชื่อเสนอมากกว่า 10,000 รายชื่อขึ้นไป.

ศักดา กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกปี 2557 ก่อนจะพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปี 2563 จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดเป็นกฎหมายที่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และสอดรับกับการทำงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยในการทำงานร่วมกับภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดการยอมรับในอัตลักษณ์ตัวตนของกลุ่มชนพื้นเมืองทั่วประเทศ

โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีกำหนดในการยื่นเข้าสู่สภาในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2564 เพื่อไปเสนอพิจารณาควบคู่กับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... เสนอโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งหากมีมติเห็นชอบโดยสภาแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับอาจถูกปรับนำมารวมกันก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ก่อนหน้านี้ วันที่ 16 ธ.ค. 2563 คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ เเละผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้เเทนราษฎร นำโดย ส.ส.มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการ และ ส.ส.ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการได้รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง สภาพปัญหาเเละเเนวทางส่งเสริมเเละคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ต่อสภาผู้เเทนราษฎร

มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า นับแต่อดีต ประเทศไทยไม่มีนโยบายในการพัฒนาส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมาก่อน มีเพียงนโยบายพัฒนาชาวเขาที่เกิดจากแรงกดดันภายนอกเกี่ยวกับการผลิตพืชเสพติดซึ่งไม่ครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม

ขณะที่กฎหมายป่าไม้ที่มีอยู่ ไม่คำนึงถึงชุมชนบนที่สูง ชุมชนที่อาศัยในเขตป่าและชุมชนชาวเล ซึ่งดูแลรักษาและใช้ชีวิตอย่างพึ่งพาอาศัยกับทรัพยากร ทำให้ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีโอกาสร่วมในการวางแผนพัฒนาชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนตนเอง และต้องรองรับผลกระทบจากแผนพัฒนา แม้ว่ามติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 ได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาชุมชนบนฐานวัฒนธรรมประเพณีของตน แต่ผลการดำเนินการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน

สุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ กล่าวว่าข้อสังเกตุที่ข้อเสนอแนะจากการศึกษามี 5 ข้อ ได้แก่

1. รัฐบาลควรมีการเร่งรัดให้มีการตรา "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.....ขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เร่งด่วนและมีความจำเป็น

2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ควรมีการพิจารณาบูรณการร่างพระราชบัญญัติที่จะเกิดขึ้นใหม่ (ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....) เข้ากับมติคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ....

3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ควรปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และชะลอการดำเนินคดีกับประชนชน อันเป็นผลมาจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ป่าชุมชน พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง

4. กองทัพบกควรติดตามช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ต่อบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ทั้งกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท) และกลุ่มกองร้อยชาวเขาอาสาสมัคร

5. กระทรวงมหาดไทยต้องเร่งรัดกระบวนการทางสัญชาติไทยให้รวดเร็วและทั่วถึงในกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิการศึกษา สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิผู้สูงอายุ ตลอดจนการออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้กับกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้งนี้ หากผู้ใดสนใจเข้าชื่อเพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย สามารถมาร่วมลงชื่อได้ที่โต๊ะเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 15 ก.พ. นี้ ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล หรือสามารถลงชื่อได้ทางเว็บไซต์ https://bit.ly/3rMQl14 ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net