Skip to main content
sharethis

รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารแถลงว่ากองทัพพม่าไม่ได้ทำรัฐประหาร แต่ภาวะฉุกเฉินให้อำนาจกองทัพ ลั่นโรดแมป 5 ขั้นเตรียมจัดเลือกตั้ง ขณะเดียวกันประชาชนยังนำรถยนต์มาจอดกลางถนนตามสี่แยกและสะพาน รวมทั้งแห่ถอนเงินสดออกจากธนาคารกองทัพ จนต้องจำกัดวงเงินและจำนวนผู้ใช้บริการ 

17 ก.พ. 2564 การต่อต้านรัฐประหารในพม่ายังคงดำเนินมาต่อเนื่อง นอกจากการประท้วงใหญ่ที่ย่านเจดีย์สุเหล่ในนครย่างกุ้งแล้ว ยังมีรายงานการจอดรถทิ้งไว้กลางถนนเพื่อสกัดการเคลื่อนกำลังและสับเปลี่ยนกำลังพลของทหาร-ตำรวจพม่า

 
 
ชาวเมืองย่างกุ้งนำรถยนต์มาจอดกลางถนนและสะพาน เพื่อต่อต้านรัฐประหาร เมื่อ 17 ก.พ. 64 (ที่มา: Facebook/Khit Thit Media)
 

ทั้งนี้สื่อมวลชนพม่า "Khit Thit Media" เผยแพร่ภาพประชาชนนำรถยนต์ไปจอดกลางถนน และเปิดฝากระโปรงรถทำทีว่าจอดรถเสียหลายจุดในนครย่างกุ้ง รวมทั้งบริเวณสะพานมหาพันธุละ และที่เมืองมัณฑะเลย์ ทั้งนี้เป็นการตอบโต้หลังกองทัพพม่ากำลังทหารออกมาใช้ควบคุมฝูงชน และเริ่มมีการนำรถถัง รถหุ้มเกราะ ออกมาประจำจุดต่างๆ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่าที่ทางหลวงหมายเลข 3 ที่เมืองหมู่เจ้ ด่านชายแดนจีน-พม่า รัฐฉานตอนเหนือ มีผู้นำรถไปจอดเสียกลางถนนด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าบริเวณชายแดนจีน-พม่า

ขณะเดียวกัน ยังมีการนัดหยุดงานและปิดเส้นทางรถไฟที่สถานีรถไฟมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศที่อยู่ใจกลางประเทศ และการประท้วงต่อเนื่องหลายเมืองทั่วภูมิภาคของพม่า

นอกจากนี้สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า ประชาชนแห่ถอนเงินธนาคารเมียวดี ซึ่งเป็นธนาคารที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของ นับเป็นแห่การถอนเงินติดต่อกันเป็นวันที่สอง โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารรายหนึ่งให้ข้อมูลกับอิระวดีว่า ธนาคารอนุญาตให้ประชาชนถอนเงินได้ไม่เกิน 200 รายต่อวัน และจำกัดวงเงินอยู่ที่ 5 ล้านจ๊าด (ประมาณ 106,500 บาท) ต่อราย โดยผู้ที่ต้องการถอนเงินสดต้องมาเข้าแถวตั้งแต่เวลา 07.30 น.

หลายฝ่ายกังวลว่าหากความต้องการถอนเงินสดยังสูงชะลูดแบบนี้ต่อไป อาจทำให้ธนาคารล่มได้

ทั้งนี้สำนักงานสาขาของธนาคารเมียวดีส่วนมากยังคงปิดทำการในวันพุธ (17 ก.พ.) โดยอ้างเรื่องการระบาดของโรค COVID-19 ด้านลูกค้าธนาคารเมียวดี ที่เมืองมัณฑะเลย์บอกว่าลูกค้าธนาคารรอที่จะถอนเงินสดจากธนาคารโดยเร็วที่สุดทันทีที่ธนาคารกลับมาเปิด

โดยวันพุธนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศยังคงปิดทำการ ยกเว้นบริการผ่านเครื่อง ATM ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ธนาคารจำนวนมากเข้าร่วมแคมเปญต่อต้านรัฐประหารด้วยวิธีไร้ความรุนแรง ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ในพม่ายังไม่ประกาศว่าจะกลับมาเปิดทำการเมื่อไหร่ และไม่มีแถลงการณ์ใดจากสมาคมธนาคารหรือธนาคารกลางของพม่า

สำนักข่าวอิระวดีรายงานโดยอ้างข้อมูลจากสถาบันคะเนาก์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ที่ตั้งสำนักงานในมัณฑะเลย์ ได้ให้ข้อมูลว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายชุมนุมที่เมืองมัณฑะเลย์นับ 100 คน ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 10 ราย ทั้งนี้มีเหตุตำรวจปราบผู้ชุมนุมที่เมืองมัณฑะเลย์ ตรงถนนหมายเลข 26 ตัดกับถนนหมายเลข 82 ไม่ไกลจากย่านสถานีรถไฟมัณฑะเลย์เมื่อวันจันทร์ (15 ก.พ.) และการปราบผู้ชุมนุมที่อำเภอจันมยะตาซี เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. คืนวันอังคาร (16 ก.พ.) หลังมีเจ้าหน้าที่เคลื่อนกำลังโดยรถบรรทุก 6 คัน และใช้หนังสติ๊กยิงชาวบ้านที่กำลังตีหม้อเคาะกระทะ โดยมีภาพจากวิดีโอแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้หนังสติ๊กยิงเข้าไปในบ้านเรือนประชาชน

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่าคืนวันพุธ (17 ก.พ.) ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในพม่ายังแชร์ภาพวิดีโอตำรวจพม่าตั้งแถวพร้อมโล่ เดินเรียงหน้ากระดานไปตามทางรถไฟที่ถูกระบุว่าเป็นสถานีรถไฟเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อเคลียร์พื้นที่ ในคลิปมีเสียงคล้ายเสียงจากปืนและมีประกายไฟ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายละเอียดของชนิดกระสุนที่ใช้ว่าเป็นกระสุนยางหรือกระสุนจริง ทั้งนี้ในช่วงกลางวันมีรายงานการประท้วงและนัดหยุดงานของพนักงานรถไฟที่เมืองมัณฑะเลย์

ขณะเดียวกัน ซอมินทุน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสาร ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ระบุว่า กองทัพพม่า “ไม่ได้ทำรัฐประหาร” เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2008 

ทั้งนี้การรัฐประหารที่พม่า ถูกเรียกชื่อเล่นว่า “การรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญ” เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2008 เปิดโอกาสให้กองทัพสามารถทำรัฐประหารผ่านมาตรา 417 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และอาศัยอำนาจตามมาตรา 418 อนุญาตให้มีการถ่ายโอนอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไปให้ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย

ทั้งนี้กองทัพพม่าประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยตามรัฐธรรมนูญสามารถขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ระยะเวลาครั้งละ 6 เดือน

ขณะเดียวกันคณะรัฐประหารหรือสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ยังระบุว่าจะเดินหน้าโรดแมป 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ปฏิรูปคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (UEC) และดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มุ่งยกระดับและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในประเทศ 3. แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 อย่างเร่งด่วน 4. สานต่อเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพในประเทศอย่างถาวร และให้เป็นไปตามข้อกำหนดข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ หรือ Nationawide Ceasefire Agreement (NCA) 5. หลังสิ้นสุดการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง โดยให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และส่งผ่านอำนาจสู่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง โดยให้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 และหลักประชาธิปไตย

แปลและเรียบเรียงจาก

People Line Up at Myanmar Military-Run Bank to Withdraw Cash for Second Day, 17 February 2021 https://www.irrawaddy.com/news/burma/people-line-myanmar-military-run-bank-withdraw-cash-second-day.html

More than 100 People Injured During Myanmar Military's Crackdowns in Mandalay, 17 February 2021 https://www.irrawaddy.com/news/burma/100-people-injured-myanmar-militarys-crackdowns-mandalay.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net