สหภาพยุโรปร่างบัญชีดำผู้ทำรัฐประหารเมียนมา-เตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่

สหภาพยุโรปแถลงว่ากำลังร่างบัญชีดำของกลุ่มผู้นำรัฐประหารเมียนมา เพื่อตอบโต้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่ยกระดับขึ้น และกดดันผู้เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร โดยมาตรการคว่ำบาตรใหม่จะยกระดับขึ้นจากมาตรการเดิมที่ดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา

19 ก.พ. 2564 รัฐมนตรีการต่างประเทศของสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า สหภาพยุโรปเตรียมพร้อมที่จะนำมาตรการกดดันผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารมาใช้ เพื่อโต้ตอบการรัฐประหารของกองทัพพม่า โดยมีคำสั่งให้คณะทำงานด้านการต่างประเทศร่างบัญชีดำของผู้นำรัฐประหาร เพื่อนำมาหารือกันในที่ประชุมวันที่ 22 ก.พ. 2564

ฝ่ายการต่างประเทศของสหภาพยุโรประบุอีกว่า พวกเขาจะมีท่าทีทางการเมืองในวันที่ 22 ก.พ. นี้ และถ้าหากมีการคว่ำบาตรใหม่ก็จะนำมาบังคับใช้ในอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น

สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้ารายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของเมียนมา แต่ทางการอียูก็ระบุว่าพวกเขาจะพยายามหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรเชิงการค้า เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบด้านลบกับประชาชนชาวพม่าโดยเฉพาะคนที่ขาดแคลนทางเศรษฐกิจ

สหภาพยุโรประบุว่า พวกเขาจะเน้นใช้วิธีแบนวีซาและระงับธุรกรรมสินทรัพย์ของเผด็จการทหารผู้ก่อเหตุรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยมาตรการเหล่านี้จะเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากเดิมที่มีการดำเนินการโต้ตอบกรณีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาก่อนหน้านี้แล้ว มาตรการก่อนหน้านี้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ 14 ราย และมีการยกเลิกการส่งออกอาวุธให้กับเมียนมา

อย่างไรก็ตาม แม้สหภาพยุโรปจะออกแถลงการณ์ในทำนองต้องการเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างสันติ แต่พม่าก็อยู่ภายใต้อิทธิพลจากจีน

ร่างแถลงการณ์ของสหภาพยุโรประบุว่า พวกเขาพร้อมที่จะสนับสนุนการเจรจาหารือสำหรับทุกฝ่ายในเมียนมา ที่ต้องการยุติข้อพิพาทอย่างซื่อตรงพร้อมกับมีมุมมองที่ต้องการฟื้นคืน "อำนาจโดยชอบธรรมตามสถาบันประชาธิปไตย" ให้เร็วที่สุด

สหภาพยุโรประบุอีกว่า พวกเขา "ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวพม่า" และเรียกร้องให้มีการลดระดับวิกฤตการณ์ ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที คืนความชอบธรรมให้กับรัฐบาลพลเรือน เปิดสภาที่มาจากการเลือกตั้งจองประชาชน กองทัพต้องยกเลิกการกระทำของตนเอง รวมถึงให้มีการปล่อยตัวนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยรวมถึงอองซานซูจี ให้มีการปล่อยตัวประชาชนทั่วไปที่ถูกจับกุม-ลักพาตัวจากการประท้วงบนท้องถนน และให้มีการคืนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเข้าถึงสื่อในพม่า

แถลงการณ์อียูระบุว่า ประชาชน "มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมอย่างสันติ" และ "อียูขอประณามการปราบปรามของกองทัพและตำรวจต่อผู้ชุมนุมอย่าสันติ ขณะเดียวกันก็ขอเรียกร้องให้มีการยับยั้งช่างใจจากการใช้ความรุนแรงให้ได้มากที่สุดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ และจากทุกๆ ฝ่าย"

เรียบเรียงจาก EU to impose targeted sanctions on Myanmar junta, EU Observer, 19-02-2021
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท