Skip to main content
sharethis

23 ก.พ. 2564 ตัวแทนผู้บริโภคยื่นพันรายชื่อ เรียกร้อง 4 ห้างค้าปลีกเจ้าใหญ่ ตรวจสอบและเปิดเผยแหล่งที่มาของส้มที่จำหน่าย หลังเก็บตัวอย่างพบสารเคมีอันตรายตกค้างเกินมาตรฐาน

Change.org ประเทศไทย รายงานว่า เมื่อปี 2563 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) สุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง พบสารพิษในทุกตัวอย่าง โดยส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด เฉลี่ย 0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) จากที่กฎหมายกำหนด ในจำนวนนี้ มีสารดูดซึมชนิดที่ไม่สามารถล้างออกได้ 30 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) คาร์โบฟูราน (Carbofuran) อะเซตามิพริด (Acetamiprid) ฯลฯ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท เซลล์สมอง และฮอร์โมนเพศ 

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจคัดเกรดส้มผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาวเข้ามาจำหน่าย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็อาจจะชอบ แต่ที่ผู้บริโภคไม่รู้ คือเมื่อมองไปที่ต้นทางการผลิต เกษตรกรต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ จนทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้ที่แลกมาด้วยสุขภาพของคนกิน คนปลูก และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ กินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ยังร่วมมือกันภายใต้งานรณรงค์ 'ผู้บริโภคที่รัก หรือ Dear Consumers' เรียกร้องให้ซูเปอร์มาเก็ตอย่าง บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส และ ท็อปส์ มีป้ายแสดงรายละเอียดสินค้า ณ จุดขาย และติด QR Code ที่ผู้ซื้อสามารถสแกนตรวจสอบแหล่งที่มา และความปลอดภัยของส้มที่นำมาขาย ปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ในโลกออนไลน์ผ่านเว็ปไซต์ Dearconsumers.com และ Change.org/ToxicOranges แล้ว 1,265 รายชื่อ 

เนื้อความตอนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์ ระบุว่า "เรามั่นใจว่าซูเปอร์ฯ จะทำตามข้อเรียกร้องนี้ได้ ที่จริงบางเจ้าก็พยายามติด QR code อยู่แล้ว แต่ยังใช้ไม่ได้จริงซะทีเดียว แค่พัฒนาให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกส้มและผลิตอาหารอื่นๆ ด้วยวิธีที่ปลอดภัยขึ้น ...”

ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่งานรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย และเจ้าของแคมเปญรณรงค์ฯ บน Change.org กล่าวว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ว่าส้มที่พวกเราต้องการซื้อ มาจากสวนไหน จังหวัดไหน ล็อตไหน ปลูกช่วงเดือนไหน ใช้ยาหรือสารเคมีอะไรบ้างในปริมาณเท่าไหร่ และก่อนที่ห้างจะนำมาขายมีกระบวนการคัดเลือกสินค้าอย่างไร

ที่ผ่านมา ทีมงานรณรงค์ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ พยายามทำงานร่วมกับ บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส และ ท็อปส์ และได้เดินหน้าเข้าพบเนื่องในเทศกาลตรุษจีน มอบตระกร้าส้มและอั่งเปามงคลรวบรวม 1,265 รายชื่อ พร้อมความคิดเห็นของผู้บริโภค เพื่อส่งเสียงว่า ผู้บริโภคอยากเห็น QR Code ที่มีรายละเอียดแหล่งผลิตและที่มาที่ใช้งานได้จริง และอยากแน่ใจว่าส้มที่วางขายปลอดภัยต่อคนกิน

จากการเดินสายเข้าพบทั้ง 4 ห้าง พบว่า ส่วนใหญ่รับฟังและตอบรับข้อเรียกร้องจากผู้บริโภค โดยให้คำมั่นที่จะพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าส้มให้ดีขึ้น

อารยา เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของท็อปส์กล่าวว่า ที่ผ่านมาท็อปส์ทำงานกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าส้มหรือผลผลิตนั้นๆ ปลอดภัย ไร้สารตกค้างอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบบังคับให้เกษตรกรป้อนข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบ จึงทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบ สำหรับ QR Code ทางท็อปส์ขอเวลาศึกษาข้อมูลรวมถึงความเป็นไปได้ เพื่อเพิ่มข้อมูลสำคัญตามข้อเรียกร้องของผู้บริโภค 

ขณะที่พรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้าโลตัส กล่าวว่าบริษัทได้ทำ QR code สำหรับสินค้าเกษตรทุกตัวอยู่แล้ว และยืนยันว่าส้มแต่ละล็อตที่นำมาวางขายถูกสุ่มตรวจสารเคมี หากพบว่าเกินค่ามาตรฐานก็จะถูกคัดออก โดยโลตัสรับปากว่าจะเพิ่มข้อมูลที่มาของสินค้า แต่ก็ยอมรับว่ามีข้อมูลบางส่วนที่เป็นความลับทางการค้าของบริษัทที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนเลิกจำหน่ายส้มนอกฤดู เพื่อตัดปัญหาส้มปนเปื้อนสารเคมี

ด้านแม็คโครซึ่งร่วมมือกับกิจกรรมรณรงค์ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ อย่างต่อเนื่อง มีนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมและงดรับของขวัญ ทางบริษัทจึงขอรับข้อเรียกร้องผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับบิ๊กซี ที่แม้ก่อนหน้านี้จะมีท่าทีลังเล และไม่เคยตอบรับเข้าร่วมกิจกรรม แต่ก็ยอมพิจารณาข้อเรียกร้องที่ถูกส่งไปทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน

หลังจากนี้ ทีมงานรณรงค์จะติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานจากซูเปอร์ฯ ทั้ง 4 และจะรายงานความคืบหน้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ผู้บริโภคที่รัก’ ต่อไป

“เราอยากชวนให้ผู้บริโภคช่วยกันตรวจสอบว่าห้างทำตามสัญญาหรือไม่ เพียงแค่หยิบโทรศัพท์มือถือมาสแกน QR code ที่แสดงอยู่บนฉลากอาหารที่วางขายในซูเปอร์ฯ โดยอาจจะเริ่มจากส้มก็ได้ บางคนอาจจะคิดว่าเราเป็นแค่คนซื้อ จะไปบังคับคนขาย หรือภาคธุรกิจได้อย่างไร จริงๆ แล้วผู้บริโภคอย่างเรามีพลังมากกว่าที่หลายคนคิด ไม่มีเรา คนขายก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อผู้บริโภคร่วมกันส่งเสียง ภาคธุรกิจจึงเริ่มขยับ” ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net