Skip to main content
sharethis

สหภาพยุโรปเตรียมออกคำสั่งฉบับใหม่เพื่อยกระดับมาตรการคว่ำบาตรกองทัพพม่าที่ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ด้วยการคว่ำบาตรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า พร้อมเตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรายบุคคลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ก่อความรุนแรงแก่ประชาชนที่ออกมาประท้วง

แฟ้มภาพ

แฟ้มภาพ

9 มี.ค. 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าพบเอกสารภายในจำนวน 2 ฉบับและได้รับคำยืนยันจากนักการทูตว่าสหภาพยุโรป (EU) เตรียมขยายมาตรการคว่ำบาตรกองทัพพม่า โดยพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจซึ่งเป็นเครือข่ายของกองทัพ

นักการทูตผู้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่าวิธีการที่สหภาพยุโรปจะใช้ในขั้นตอนต่อไป คือ การคว่ำบาตรบริษัทต่างๆ ที่สร้างรายได้ให้แก่กองทัพพม่า หรือบริษัทใดก็ตามที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กองทัพพม่า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้รับการลงวันที่ในเอกสารตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าคณะมนตรีระดับสูงด้านการระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปจะลงนามรับรองคำสั่งฉบับนี้ในวันที่ 22 มี.ค. ที่จะถึงนี้

ใน พ.ศ.2561 สหภาพยุโรปมีคำสั่งยุติการส่งอาวุธไปยังพม่า และสั่งห้ามทหารระดับสูงกองพม่าจำนวน 7 นายเดินทางเข้ามายังสหภาพยุโรป เนื่องจากมีส่วนพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แต่มาตรการคว่ำบาตรที่กำลังจะประกาศใช้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นท่าทีที่สำคัญอย่างยิ่งของสหภาพยุโรปนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

เครือข่ายธุรกิจของกองทัพพม่าครอบคลุมหลายภาคส่วนของประเทศ ตั้งแต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม สายงานโรงแรมและการท่องเที่ยว ไปจนถึงบริษัทโทรคมนาคมและการธนาคาร หากคิดจากมูลค่าธุรกิจที่อยู่ในมือกองทัพพม่า อาจกล่าวได้ว่ากองทัพถือเป็นกลุ่มบุคคลร่ำรวยที่ต้องจ่ายภาษีก้อนโตให้แก่รัฐ นอกจากนี้ นับตั้งแต่พม่าเปิดประเทศ กองทัพพม่ายังดำเนินธุรกิจด้วยการหาคู่ค้าต่างชาติเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจเครือข่ายอีกด้วย

ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติในปี 2562 ระบุว่าควรใช้มาตรการคว่ำบาตรกับ 2 บริษัทและบริษัทในเครือที่สร้างรายได้และให้เงินสนับสนุนแก่กองทัพพม่า ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้าน โฆษกรัฐบาลทหารของพม่ายังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อการขยายมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพยุโรปประกาศระงับการให้เงินทุนแก่ประเทศพม่า แต่ยังไม่ประกาศระงับสิทธิพิเศษทางการค้า เพราะกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาคแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา เฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวว่ามาตรการคว่ำบาตรใหม่ของสหภาพยุโรปจะเน้นไปที่การลงโทษทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบโต้การทำรัฐประหารของกองทัพพม่า

“เราใช้วิธีการนี้ เพราะมีเจตนาพุ่งเป้าไปที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในกองทัพ ส่วนตัวเลือกอื่นๆ เช่น การเปิดเผยรายชื่อบริษัทและธุรกิจของกองทัพพม่า ก็กำลังรอคิวพิจารณา และจะทราบผลในไม่ช้านี้” มาสกล่าวในการประชุมสภาของเยอรมนี

มาตรการคว่ำบาตรรายบุคคล

สหภาพยุโรปประณามการทำรัฐประหารในพม่าเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลกตะวันตก อีกทั้งคณะมนตรีระดับสูงด้านการระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปยังเรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวอองซานซูจี หัวหน้าพรรค NLD ซึ่งชนะการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่าเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ในทางกลับกัน ข้อมูลจากองค์การสหประชาชนระบุว่าตำรวจและทหารพม่าร่วมกันเข่นฆ่าประชาชนที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหารไปมากกว่า 50 ราย

มาตรการคว่ำบาตรใหม่ของสหภาพยุโรปซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการ น่าจะดำเนินตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ว่าจะพุ่งเป้าไปที่การคว่ำบาตรธุรกิจและภาคส่วนอื่นๆ ที่กองทัพพม่าได้รับผลประโยชน์

นอกจากนี้ เอกสารของสหภาพยุโรปที่เปิดเผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สยังระบุอีกว่า สหภาพยุโรปจะระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินและไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของกองทัพ รวมถึงตำรวจตระเวนชายแดนของพม่าที่ถูกกล่าวหาว่าก่อความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาประท้วง เดินทางเข้ามายังประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยคณะกรรมการอยู่ในระหว่างพิจารณาบัญชีรายชื่อของเจ้าหน้าที่พม่าทั้งหมด

พรรค NLD ของอองซานซูจีชนะการเลือกตั้งใน พ.ศ.2558 แต่การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยของพม่าต้องชะงักลงนื่องจากกองทัพพม่าไม่พอใจผลการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งพรรค NLD ได้คะแนนเสียงและที่นั่งในสภาเกิน 80% กองทัพจึงอ้างว่าพรรค NLD และคณะกรรมการการเลือกโกงผลการเลือกตั้ง และก่อการรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันที่รัฐสภาพม่าจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง

 

ที่มา:

EU preparing sanctions on Myanmar military businesses, documents show

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net