นักศึกษา – นักกิจกรรม ชาวไทยและพม่าในจังหวัดเชียงใหม่รวมตัวต่อต้านการ “ประหารชีวิต” 7 นักศึกษาซึ่งเป็นนักโทษการเมืองในพม่า จากการต่อต้านรัฐประหาร ทั้งยื่นหนังสือกดดันต่อทูตสหรัฐฯ และทูตพม่า ผ่านทางสถานกงสุล และจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 100 คน
6 ธ.ค. 2565 นักศึกษา – นักกิจกรรม ชาวไทยและพม่าในจังหวัดเชียงใหม่รวมตัวต่อต้านการ “ประหารชีวิต” 7 นักศึกษาซึ่งเป็นนักโทษการเมืองในพม่า จากการต่อต้านรัฐประหาร
เริ่มจากช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. ตัวแทนนักศึกษาจากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมตัวที่หน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นหนังสือถึงเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ‘กรณีศาลพม่าพิพากษาประหาร 7 นักศึกษา’ ระบุ ในฐานะนักศึกษาและมนุษยชาติไม่อาจนิ่งนอนใจต่อการใช้อำนาจของรัฐทหารพม่าที่ใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือเข่นฆ่าประชาชนของตนอย่างไร้มนุษยธรรม
ก่อนการยื่นหนังสือนักศึกษาจากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการอ่านข้อเรียกร้องในหนังสือเป็นภาษาไทย อังกฤษ และพม่า
บรรยากาศการยื่นหนังสือหน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีข้อเรียกร้อง 6 ประการ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งต่อชุมชนนานาชาติ ดังนี้
1. ขอให้ร่วมกันกดดันและแทรกแซงคำตัดสินของศาลในรัฐทหารพม่า, เพื่อยับยั้งให้ยกเลิกการลงโทษประหาร 7 นักศึกษา และประชาชนเมียนมาที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตในคดีทางการเมืองอื่นๆ ด้วย
2. ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง
3. คืนกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสให้ประชาชนเมียนมา ไม่ใช่การตัดสินในเรือนจำหรือค่ายทหาร
4. ยุติการสนับสนุนกองทัพทหารพม่า ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร, การลงทุนทางเศรษฐกิจ ฯลฯ.
5. ชุมชนนานาชาติต้องเปิดช่องทางและสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ผ่านทางองค์กร
ภาคประชาชน ไม่ใช่รัฐทหารพม่า
6. โทษประหาร ควรถูกกำจัดให้หมดไปจากรัฐสมัยใหม่ เนื่องด้วยโทษประหารเป็นความป่าเถื่อนที่ทำลาย ‘สิทธิมนุษยชน’ ของเรา
บรรยากาศการยื่นหนังสือหน้าสถานกงสุลพม่า ประจำจังหวัดเชียงใหม่
หลังจากยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาเรียบร้อย เวลาประมาณ 14.00 น. นักศึกษาจากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ไปยืนหนังสือฉบับเดียวกันต่อกงสุลพม่า ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ทางเจ้าหน้าที่กงสุลได้ออกมาสอบถามนักศึกษาที่มาถึงวัตถุประสงค์ในการยื่นหนังสือ ก่อนจะกลับเข้าไปภายในกงสุลโดยให้นักศึกษาทั้งหมดที่มารออยู่ภายนอก ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากกงสุลพม่าใช้กล้องถ่ายรูปนักศึกษาและนักข่าวที่มารอ
ก่อนจะมีเจ้าหน้าตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกประมาณ 15 นาย มาบริเวณด้านหน้ากงสุลพม่า และทางเจ้าหน้าที่กงสุลได้ออกมาแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณนั้นว่า การจะมายื่นหนังสือได้ต้องทำการนัดล่วงหน้า การที่นักศึกษาไม่ได้นัดหมายมาก่อนและมีนักข่าวมารอทำข่าวเช่นนี้ ทางกงสุลรู้สึกไม่โอเค จึงขอไม่ออกมารับหนังสือดังกล่าว ก่อนจะกลับเข้าไปภายในกงสุล
ตัวแทนนักศึกษาจึงได้อ่านข้อความในหนังสือเป็นภาษาพม่าบริเวณหน้ากงสุล และนำหนังสือไปใส่ไว้ที่ตู้ไปรษณีย์ด้านหน้าประตูทางเข้ากงสุลพม่า
ต่อมาเวลา 16.30 น. ที่ลานสามกษัตริย์ ชาวพม่าและนักกิจกรรมในเชียงใหม่รวมตัวต่อต้านการ “ประหารชีวิต” นักโทษการเมืองในพม่า มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ศาลพม่าได้ตัดสินโทษประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยดะโก่ง จำนวน 7 คน ได้แก่ คั่นซินวิน, ธุระหม่องหม่อง, ซอลินหน่าย, ธีหะเต็ดซอ, เฮนเต็ด, เต็ดไป่อู และคั่นลินหม่องหม่อง
ชาวพม่าและนักกิจกรรมในเชียงใหม่ที่ไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินประหารชีวิตดังกล่าวจึงได้มารวมตัวกัน ภายในงานมีการแสดง Performance Art อ่านบทกวีโดยชาวพม่า และอ่านแถลงการณ์ ระบุว่า การตัดสินโทษประหารชีวิตในกระบวนการยุติธรรมไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ประเทศต่าง ๆ ยังมีกฎเกณฑ์ และข้อจำกัดมากมายเกี่ยวกับการต้องโทษประหาร ในขณะที่การตัดสินประหารชีวิตในพม่าได้เกิดขึ้นแล้วมากกว่า 140 คดี และในจำนวนนี้มีบุคคลสำคัญทางการเมืองและนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกแขวนคออย่างโหดเหี้ยมไปแล้ว 4 คน
ขณะนี้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยดะโก่ง 7 คน ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิต เนื่องจากพวกเขาทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย แสดงความเป็นหนึ่งเดียวในการต่อต้านเผด็จการในพม่า ทำให้ถูกตัดสินประหารชีวิต พวกเราจึงขอแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารในพม่า การมีอยู่ของรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และการที่เยาวชน นักศึกษา ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งถือเป็นการทำลายอนาคตของชาวเมียนมาร์ ดังนั้น พวกเราเยาวชนนักศึกษาไทย-พม่า ขอเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการกดขี่ชาวพม่าในนามของโทษประหารชีวิต หยุดดำเนินการใช้ความรุนแรง และปล่อยเพื่อนของเรา