หน่วยงานไต้หวันทักท้วงยูเอ็นเรื่องไม่แยกประเทศไต้หวันในแผนที่ 'ผู้หญิงในการเมือง' ปี 2564

ตัวแทนประเทศไต้หวันในรัฐนิวยอร์กทักท้วงกรณีแผนที่ "ผู้หญิงในการเมือง" ขององค์กรเพื่อผู้หญิงของสหประชาชาติหรือ "ยูเอ็นวูแมน" ไม่ระบุแยกไต้หวันออกเป็นประเทศต่างหากแต่เอารวมกับจีน ถึงแม้ว่าประเทศไต้หวันจะมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะมีผู้นำคนปัจจุบันเป็นผู้หญิงและมีอัตราส่วนของผู้หญิงเป็นผู้แทนทางการเมืองมากถึงร้อยละ 41.59 ก็ตาม

หน่วยงานไต้หวันทักท้วงยูเอ็นเรื่องไม่แยกประเทศไต้หวันในแผนที่ 'ผู้หญิงในการเมือง' ปี 2564
ที่มาภาพประกอบ: Alan Yeh (CC BY-NC-ND 2.0)

ในรายงาน "ผู้หญิงในการเมือง" ประจำปี 2564 ขององค์กรยูเอ็นวูแมนและองค์กรสหภาพรัฐสภา (IPU) ซึ่งเป็นรายงานที่นำเสนอเกี่ยวกับอัตราการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทางการเมืองในประเทศต่างๆ จากทั่วโลกนั้น ทำให้เกิดข้อทักท้วงขึ้น เมื่อมีการนำเสนอประเทศไต้หวันในแผนที่ถูกฉาบด้วยสีแดงเหมารวมไปกับประเทศจีน รวมถึงมีการนับจำนวนอัตราส่วนผู้หญิงที่เป็นตัวแทนทางการเมืองอยู่ร้อยละ 24.9

สำนักงานด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (TECO) ในนิวยอร์ก โพสต์ทักท้วงในเรื่องนี้ผ่านทางเฟสบุคว่ารายงานของ IPU และยูเอ็นวูแมนกีดกันประเทศไต้หวันอย่างเห็นได้ชัดและไม่รับรู้ความก้าวหน้าที่ได้มาอย่างยากลำบากในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไต้หวัน

TECO ระบุว่าประเทศไต้หวันมีผู้หญิงเป็นประมุขของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย และมี ส.ส. ถึงราวร้อยละ 42 เป็นผู้หญิง TECO ระบุอีกว่า "เพื่อประชาธิปไตย เพื่อทุกคน" ไม่ควรจะเป็นแค่สโลแกน ซึ่งคำขวัญนี้เป็นคำขวัญขององค์การ IPU

แผนที่ในรายงานดังกล่าวนี้จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมทางไกลซึ่งจัดโดยคณะกรรมการเพื่อสถานภาพของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (U.N. Commission of the Status of Women) ในวันที่ 15-26 มี.ค. ที่จะถึงนี้ แต่แผนที่ของยูเอ็นก็ยังคงเหมารวมเอาไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งกับจีนแบบที่เคยทำมาตลอด

โดยที่ถึงแม้ว่าไต้หวันจะไม่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ แต่อัตราส่วนการที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในภาคการเมืองนั้นสูงกว่าประเทศอื่นๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันชนะการเลือกตั้งในสมัยที่สองเมื่อ ม.ค. 2563 และอัตราส่วนของผู้หญิงในสถาก็ไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 41.59

ข้อมูลของยูเอ็นวูแมนที่นำเสนอออกมาเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ระบุว่า ประเทศที่มีอัตราส่วนผู้หญิงในระดับรัฐมนตรีเกินกว่าครึ่งหนึ่งได้แก่ นิคารากัว, ออสเตรีย, สวีเดน, เบลเยี่ยม, อัลแบเนีย, รวันดา, คอสตาริกา, แคนาดา ตามลำดับ

ขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบุว่าเมื่อวัดจากวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมาแล้ว ไม่มีผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรีเลยแม้แต่คนเดียว เช่นเดียวกับประเทศ ซาอุดิอาระเบีย, บรูไน, เกาหลีเหนือ และประเทศอื่นๆ ซึ่งนับว่าจำนวนประเทศที่ไม่มีผู้หญิงในตำแหน่งเหล่านี้เลยมีเพิ่มมากขึ้น จาก 9 ประเทศเป็น 12 ประเทศ ในปี 2564

เจมส์ ลี ผู้อำนวยการ TECO ในนิวยอร์กกล่าวว่าสำนักงานของเขายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ IPU กับยูเอ็นวูแมนเพื่อให้แยกไต้หวันออกจากจีนบนแผนที่แล้ว ลีบอกว่าทั่วโลกต่างรู้ดีในเรื่องที่ไต้หวันมีประธานาธิบดีผู้หญิงที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน แผนที่นำเสนอเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมืองจึงไม่อาจสมบูรณ์ไปได้ถ้าหากไม่มีไต้หวัน ในขณะที่ยูเอ็นมุ่งมั่นส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิสตรีทั่วโลกพวกเขาก็ควรจะยอมรับการมีอยู่ของไต้หวันด้วย

เรียบเรียงจาก
Taiwan protests its depiction by U.N. agency as part of China, Focus Taiwan, 11-03-2021
Press release: Women in politics: New data shows growth but also setbacks, 10-03-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท