อ่านแผ่นปลิวตลกรัฐธรรมนูญ 11 มีนา: ใบอนุญาตให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ 25ุ64 ปรากฏเอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญบนหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญแจ้งให้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่ประธานรัฐสภาโดยมติของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาเกี่ยวกับกรณีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

ข้อความความยาวไม่เกินสี่บรรทัดข้างต้นไม่ใช่การสรุปหรือย่อความจากที่ปรากฏในเอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นทั้งหมดของคำวินิจฉัยที่สาธารณชนได้รับรู้ในเรื่องที่อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญที่สุดในเชิงกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ได้มีคำอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่มีการออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยว่าเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจาณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 25ุ61 มาตรา 7ุ6 วรรคสาม ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับกรณีคำวินิจฉัยในคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้องว่าศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่ต้องแจ้งไปยังผู้ร้องเท่านั้น อย่างไรก็ตามผลของคำวินิจฉัยนั้นเกิดขึ้นแล้วนับแต่วันที่ลงมติ

ไม่ว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปกล่าวคือการแจ้งคำวินิจฉัยไปยังประธานรัฐสภานั้นจะเกิดขึ้นในอีกกี่วันที่จะตามมา แต่สิ่งที่สาธารณชนได้รับรู้คำวินิจฉัย ณ วันนั้น เป็นอีกครั้งในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยร่วมสมัยที่ศาลรัฐธรรมนูญผู้ชอบอ้างสโลแกนสวยหรูว่า “ยึดหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ใช้เพียงข้อความไม่กี่บรรทัดในแผ่นปลิวอธิบายสังคมไปพลางก่อนถึงผลของการใช้อำนาจหน้าที่ตัดสินเรื่องราวซึ่งกระทบอย่างยิ่งกับคนไทยทั้งประเทศ โดยลักษณะเช่นเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญออกแผ่นปลิวเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยที่มีผลกระทบล้มล้างเจตจำนงตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชนหลายสิบล้านคนครั้งนั้นก็ปรากฏสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรกด้วยคำอธิบายไปพลางก่อนความยาวราวสิบบรรทัด

แม้จะมีฐานของกฎหมายรองรับก็ตามที แต่โดยธรรมชาติขององค์กรตุลาการแล้ว คำวินิจฉัยย่อมต้องเสร็จสมบูรณ์และพร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะในทันที่มีการตัดสินคดี ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำคำวินิจฉัยขององค์กรตุลาการได้ อันเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญและพื้นฐานที่สุดขององค์กรตุลาการต่อประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การสื่อสารต่อสาธารณะอย่างมักง่ายไปพลางก่อนเช่นนี้นอกจากจะไม่ได้ทำให้ประเด็นปัญหาทั้งหลายทางกฎหมายรัฐธรรมนูญถูกคลี่คลายอย่างกระจ่างแจ้งแล้ว ยังทำให้สรุปต่อไปได้ว่าสโลแกนข้างต้นนั้นก็เป็นแต่เพียงคำโฆษณาชวนฝันที่ว่างเปล่าในความเป็นจริง

ประเด็นที่สำคัญก็คือ เรารู้หรือเราตีความอะไรได้บ้างจากข้อความไม่กี่ประโยคในแผ่นปลิววันที่ 11 มีนาคมนี้? สิ่งที่เห็นได้ก็คือ ถ้อยความดังกล่าวเป็นคำตอบของคำถามว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการเสนอผ่านช่องทางมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ขึ้นไปเท่านั้น โดยแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ก็ต้องจัดให้มีประชาติของประชาชนทั้ง “ก่อน” และ “หลัง” การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ความไม่ชัดเจนมีอยู่มากมายจากประโยคสั้นๆ นี้ โดยเฉพาะความหมายของ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นี้จะหมายความกว้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเชิงรูปแบบที่กินความไปถึงการเขียนใหม่ทั้งฉบับโดยคงหลักการบางประการของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไปด้วย หรือเฉพาะแต่กรณีเป็นความใหม่บริบูรณ์ทางเนื้อหาที่สามารถก้าวข้ามกรอบเดิม ๆ ได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น ส่วนการเอ่ยถึง “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน” ในที่นี้ก็น่าสงสัยว่าจะมีความหมายเช่นเดียวกับทฤษฎีสากลซึ่งถึงขนาดเป็นอำนาจอันปราศจากเงื่อนไขและข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญและระบอบกฎหมายภายในเดิม (แม้อาจจะมีข้อจำกัดในเชิงสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมได้ แต่ก็ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย) หรือจะเป็นเพียงถ้อยคำสวยหรูตัดแปะใช้ประโยชน์เพื่ออ้างอิงชั่วครั้งชั่วคราวและพร้อมจะยกเว้นหรือปรุงแต่งให้เป็นแบบไทย ๆ ไม่ต่างจากการอ้างหลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม หรือหลักการ(ที่ดูเหมือนว่าจะ)สากลอื่นๆ อย่างในอดีต

หากวิเคราะห์ลำพังจากสิ่งที่ปรากฏในแผ่นปลิวนี้และหากไม่มีเหตุผลอันเป็นสาระสำคัญใด ๆ เพิ่มเติมในคำวินิจฉัยฉบับเต็ม อาจจกล่าวได้ว่ารัฐสภายังคงสามารถลงมติยืนยันกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ดำเนินการมาแล้วในวาระที่สามได้ต่อไป และหากยืนยันก็ไม่ได้หมายความว่าแป็นการไม่เคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการที่รัฐสภาตีความความไม่ชัดเจนขอบเขตความหมายของ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” และตีความการกระทำตามอำนาจของตนที่ผ่านมาว่าไม่เข้าลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตามการยืนยันนี้ก็เป็นเพียงความเป็นไปได้ในเชิงกฎหมาย ซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยเชิงการเมืองจากฝ่ายที่ไม่ได้จริงใจกับการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่มาตั้งแต่ต้น หรือหากเกิดขึ้นก็อาจต้องเข้าสู่การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา 3ุ65 และต้องไปลุ้นดาบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

หรือหากถอยออกมาเลือกทางที่ว่าให้มีประชามติก่อนว่า “ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ก็จะเกิดประเด็นว่าการจัดทำประชามติดังกล่าวอาศัยฐานทางกฎหมายอย่างไร จะอ้างประชามติบนกลไกตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพื่อนำไปสู่การล้มตัวรัฐธรรมนูญเองได้เพียงใด หรือจำเป็นต้องสร้างกลไกพิเศษบนหลักคิดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยอนุโลมใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพื่อเป็นสะพานไปสู่การเกิดขึ้นของประชามติเช่นว่านี้ และหากเมื่อจะมีโอกาสได้ถามประชาชนแล้ว ควรใช้โอกาสนี้ในการถามมติประชาชนในเรื่องทางรัฐธรรมนูญอื่น ๆ ที่สำคัญไปพร้อมกันด้วยเพียงไร

ตัวอย่างเช่น ในการทำประชามติของประเทศชิลี ในปี ค.ศ. 2020 ที่นอกจากจะถามว่า “ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” แล้วยังถามอีกคำถามด้วยว่า “ต้องการให้องค์กรใดเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” โดยมีตัวเลือกระหว่างสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เลือกตั้งขึ้นมาใหม่ทั้งหมดหรือโดยสภาผสมระหว่างสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่กับที่เลือกมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างละครึ่งนึง

แม้ในแผ่นปลิวศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้บนเงื่อนไขของประชามติทั้งก่อนและหลังก็ตาม แต่โดยตรรกะและเหตุผลของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่ศาลเองก็อ้างนั้น ย่อมไม่มีเหตุผลใดจะอธิบายได้ถ้าเราจะปฏิเสธองค์กรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงทั้งหมดซึ่งมีความชอบธรรมที่มากกว่ารัฐสภาชุดปัจจุบันเพื่อทำหน้าที่นั้นแทนประชาชน ถ้ายังคงกระบวนการประชามติเป็นส่วนประกอบไว้เช่นเดิม

แผ่นปลิวศาลรัฐธรรมนูญนี้จึงไม่ได้ขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุดในลักษณะอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่โดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแค่อ้าง “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” มาเรียงลำดับกระบวนการใหม่เท่านั้น แม้หากพิจารณาในเชิงหลักการแล้วการพยามอธิบายว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนจะต้องใช้อย่างไรได้เท่านั้น จะดูเป็นการลำพองอาจเอื้อมไปจัดระเบียบสิ่งซึ่งเหนือกว่าตน แต่จากทางปฏิบัติและทัศนะของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอย่างน้อยในช่วงสิบกว่าปีหลัง ศาลรัฐธรรมนูญเองนั้นได้สถาปนาตัวเองเป็นองค์กรผู้พิทักษ์ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ไม่ผูกตนจำกัดอยู่กับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับใดฉบับหนึ่งไปแล้ว 

และคำสำคัญ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ไม่ปรากฏในแผ่นปลิวนี้ก็จะกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญต่อไปในทุกๆ ชั้นของความพยายามจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แม้ว่าจะเลือกเดินทางที่เหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นไว้ให้แล้วก็ตาม

ต้องดูต่อไปว่าหากประชาชนและนักการเมืองได้ยึดเอาความคิดที่ศาลรัฐธรรมนูญจุดพลุขึ้นมาเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมาอภิปรายต่อไปเพื่อนำไปสู่การลงประชามติของประชาชน แต่กลับถูกจำกัดด้วยระเบียบข้อบังคับการประชุมสภา ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยการใช้กฎหมายปิดปาก และถูกกดทับไม่ให้พูดถึงความเป็นไปได้ในการปฏิรูปทางรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน แผ่นปลิวที่ดูเหมือนจะอนุญาตให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้นี้ก็เป็นแค่แผ่นปลิวที่อ้างประชาชนอย่างไม่บริสุทธิ์ใจเพื่อเป้าหมายเฉพาะคดีเท่านั้น และอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่กล่าวอ้างก็ไม่ใช่อำนาจอย่างสากลที่ควรจะเป็น แต่จะเป็นก็แค่ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือควรเรียกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบไทยๆ นั่นเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท