Skip to main content
sharethis

ศาลนราธิวาสนัดสืบพยานคดีไต่สวนการตายชาวบ้านถูกทหารพรานยิงตาย 3 ศพที่เทือกเขาตะเว ทหารผู้ยิงอ้างว่ามียิงต่อสู้แต่พนักงานสอบสวนไม่พบอาวุธของคนตายในที่เกิดเหตุ

16 มี.ค.2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่า เมื่อวันที่ 9-11 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดสืบพยานในคดีไต่สวนการตายของชาวบ้าน 3 คน ได้แก่บูดีมัน มะลี, มะนาซี สะมะแอ และฮาฟีซี มะดาโอะ ที่ถูกทหารจากหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45) พื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ใช้อาวุธสงครามยิงเสียชีวิตที่ บริเวณเทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาสเมื่อ 16 ธ.ค.2562

พนักงานอัยการได้นำสืบพยานจำนวน 4 ปาก ได้แก่

(1) พยานเจ้าหน้าที่ทหารพรานหัวหน้าชุดลาดตระเวน 1 ปาก เป็นผู้ลงมือยิงผู้ตายทั้งสามด้วยกระสุนปืนของตน 14 นัด และมีอาสาสมัครทหารพรานผู้ใต้บังคับบัญชาอีกนายหนึ่งร่วมลงมือยิงผู้ตายทั้งสามด้วย เจ้าหน้าที่ทหารปากนี้ได้กล่าวอ้างว่าเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ขณะเจ้าหน้าที่ทหาร 7 นาย ลาดตระเวนที่บริเวณเขาตะเว ได้พบกลุ่มบุคคลประมาณ 4-5 คน ทหารจึงได้ซ่อนพรางกำบังตัวที่โขดหิน แล้วตะโกนไปยังกลุ่มบุคคลดังกล่าวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ แต่มีการยิงปืนมาทางเจ้าหน้าที่ทหาร 3-4 นัด เจ้าหน้าที่ทหารจึงยิงตอบโต้กลับไป เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแถบเชิงเขาตะเว

(2) สืบแพทย์ 2 ปาก ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ชันสูตรศพผู้ตายที่โรงพยาบาลอำเภอระแงะ โดยแพทย์ได้ระบุว่า พบบาดแผลจากกระสุนปืนบริเวณศีรษะและอวัยวะสำคัญตามร่างกายของผู้ตายแต่ละคน ทำให้ผู้ตายทั้งสามเสียชีวิต โดยวิถีกระสุนเป็นการยิงเข้าทางด้านหลังของผู้ตาย มีทั้งวิถีกระสุนที่ยิงจากบนลงล่าง และยิงจากล่างขึ้นบน

(3) สืบพยานพนักงานสอบสวน 2 ปาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ระแงะ ผู้ลงพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุว่า จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุโดยละเอียดแล้ว พบเพิงพัก ไม้แปรรูป และเครื่องมือเกี่ยวกับการตัดโค่นและแปรรูปไม้ อยู่บริเวณที่เกิดเหตุและใกล้ศพผู้ตาย พบปลอกกระสุนปืน 1 ปลอก ใกล้ศพผู้ตายรายหนึ่ง แต่ไม่พบอาวุธปืนของฝ่ายผู้ตาย ไม่พบปลอกกระสุนปืนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่าลงมือยิงผู้ตายแต่อย่างใด คดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ มีหลายคดี ได้แก่ คดีชันสูตรพลิกศพผู้ตายที่ทำการไต่สวนการตายที่ศาล คดีที่เจ้าหน้าที่ทหารถูกตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่น/ยิงผู้ตายทั้งสาม และคดีที่ผู้ตายทั้งสามถูกตั้งข้อหาว่าพยายา,ฆ่าเจ้าหน้าที่ทหาร

มูลนิธิฯ ตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้ยังมีข้อน่าสงสัยหลายประการ เช่น ช่วงเวลาเกิดเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าเหตุเกิดในวันที่ 16 ธ.ค.2562 ประมาณ 15.00 น. แต่ข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่าได้ยินเสียงปืนดังในช่วงเช้าของวันที่ 16 ธ.ค.2562 และหลังเกิดเหตุเป็นเวลานานประมาณ 24 ชั่วโมงกล่าวคือในวันที่ 17 ธ.ค. 2562 เวลาประมาน 11.00 น.จึงมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ โดยมีพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ชุด EOD เท่านั้นเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ดังนั้นในระหว่าง 24 ชั่วโมงดังกล่าวนั้นผู้ดูแลควบคุมพื้นที่เกิดเหตุก็คือเจ้าหน้าที่ทหารพรานชุดปฏิบัติการที่ยิงผู้ตายทั้งสามนั่นเอง และแพทย์ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และพนักงานอัยการ ไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อทำการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ

กรณีเช่นนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดให้เจ้าพนักงาน 4 ฝ่าย ได้แก่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง(นายอำเภอ/ปลัดอำเภอ) และแพทย์ ร่วมกันทำการชันสูตรพลิกศพ ณ ที่เกิดเหตุ และการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุโดยละเอียดแล้วไม่พบปลอกกระสุนปืนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารเลยทั้ง ๆ ที่เป็นอาวุธปืนสงครามประเภทยิงแล้วจะคัดปลอกกระสุนตกลง ณ จุดที่ยิงและเจ้าหน้าที่ทหารทำการยิงอยู่ ณ จุดเดียวที่บริเวณโขดหินซึ่งเป็นที่กำบัง เป็นต้น

มูลนิธิฯ ระบุอีกว่า ญาติของผู้ตายทั้งสามยืนยันว่าผู้ตายทั้งสามเป็นชาวบ้านธรรมดาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแถบเชิงเขา มีวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยป่าเป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงครอบครัว เช่น หาน้ำผึ้งป่า ตัดไม้มาทำประโยชน์ และหาของป่าต่าง ๆ เพื่อการยังชีพ ในวันเกิดเหตุผู้ตายทั้งสามไม่มีอาวุธปืนใด ๆ ทั้งสิ้น ญาติผู้ตายทั้งสามจึงประสงค์เรียกร้องและดำเนินคดีจนถึงที่สุดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ผู้ตายและครอบครัวต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net