Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนาเรื่องนักโทษการเมือง เสนอปัญหาของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุทางการเมืองในเวลานี้ที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และความคาดหวังต่อบทบาทของพรรคฝ่ายค้านทั้งในด้านการช่วยเหลือ การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงการแก้ไขกฎหมายหรือยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเช่น มาตรา 112

ภาพจากไลฟ์ของเพจพลังมด

28 มี.ค. 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 4 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานเสวนาวิชาการ "บทบาทฝ่ายค้านในสถานการณ์นักโทษการเมือง" ที่จัดโดย เครือข่ายประชาชนพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของปัญหาของจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ชี้ปัญหาของประมวลกฎหมายหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีที่เกิดขึ้นกับลูกชายของเธอ คือ การที่ใครก็ฟ้องได้ทั่วประเทศทำให้นำมาใช้การกลั่นแกล้งกันทางการเมืองโดยคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง อย่างกรณีของจตุภัทรก็ถูกดำเนินคดีเพราะแชร์ข่าวพระราชประวัติบีบีซีที่นอกจากลูกชายของเธอแล้วก็ยังมีคนทีแชร์อีกสองพันกว่าคนแต่ก็มีแค่ลูกชายเธอถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียวอีกทั้งโทษจำคุกที่สูงถึง 3-15 ปี แต่กลับไม่ได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่ถูกดำเนินคดีก็ครจะได้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่กฎหมายกำหนดไว้

พริ้มกล่าวว่าการต่อสู้คดีในศาลก็ใช้เวลาหลายปี แต่เมื่อไม่ได้รับสิทธิประกันตัวออกมาสู้คดีแล้วศาลยกฟ้องก็มักจะอ้างเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยเพราะโจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิด เมื่อศาลมีคำพิพากษาเช่นนี้ก็ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยกรณีที่ต้องติดคุกระหว่างการพิจารณาคดีได้

พริ้มเห็นว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยเฉพาะในคดีอาญาควรได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีได้ และที่ผ่านมาถ้าผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลก็ได้สิทธิต่างๆ ทั้งการประกันตัว และความล่าช้าในการดำเนินคดี แต่เมื่อเป็นฝ่ายที่คัดค้านรัฐบาลคดีก็เป็นไปอย่างรวดเร็วแต่ก็ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ เช่นการประกันตัว และกระบวนการยุติธรรมที่มีความเหลื่อมล้ำโดยเธอยกตัวอย่าง บอส วรยุทธ อยู่วิทยาที่มีการยื่นร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการจนคดีหมดอายุความ เป็นต้น

พริ้มทิ้งท้ายว่าภายใต้การปกครองของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชายิ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นทั้งการใช้วาทกรรมชังชาติกับรักชาติ และการใช้มาตรา 112 แต่กับคนเห็นต่างไม่ว่าจะเป็นเพียงการชูป้าย

“ถ้ายังเพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรือลำเอียง ที่ปรากฏเป็นข่าวจนเราไม่สามารถยอมรับกระบวนการยุติธรรมนี้ได้ ถ้าประชาชนคนไทยไม่เคารพและยอมรับกระบวนการยุติธรรมมันอยู่ยาก มันไม่ใช่อยู่ด้วยกันง่ายๆ เลย การที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมันต้องมีสิทธิความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมและต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม”

เบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่าการจับกุมเพื่อนของเธอไปขังระหว่างพิจารณาคดีนั้นเป็นเรื่องไม่ชอบธรรมเพราะสิทธิประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับและการขังระหว่างพิจารณาคดีก็ไม่รู้ว่าจะขังไปจนถึงเมื่อไหร่ และช่วงเวลาที่พวกเขาถูกคุมขังนี้ก็เป็นช่วงชีวิตที่หายไปทั้งที่พวกเขายังไม่ถูกตัดสินโทษด้วยซ้ำ

“แต่ละคนก็มีภาระหน้าที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง ช่วงเวลาที่หายไปเหล่านี้มันเรียกคืนกลับมาไม่ได้ ชีวติคนเรามันหมุนไปเรื่อยๆ หากว่าในอนาคตใครจะมารับผิดชอบตรงนี้กับสิ่งที่รัฐทำ สิ่งที่เพื่อนเราได้รับมันไม่ยุติธรรมมากๆ แล้วได้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งร่างกาย จิตใจ แล้วก็ชีวิต” นอกจากนั้นเบนจายังกล่าวถึงเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในเรือนจำที่ผู้คุมพยายามนำตัวเพื่อนของเธอไปตรวจโควิด-19 ตอนห้าทุ่ม ทำเธอเป็นห่วงเพื่อนๆ ของเธอที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำตอนนี้

เบนจาเล่าว่าจกาที่ได้ไปเยี่ยมพริษฐ์ ชิวารักษ์ในเรือนจำ แม้พริษฐ์จะยังมีกำลังใจและยังมีความหวังในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย แต่เมื่อพริษฐ์จะต้องออกจากห้องเยี่ยมกลับเข้าไปในเรือนนอนพริษฐ์ก็ลุกโดยที่ไม่มีแรงเดินหลังจากอดอาหารมาสิบกว่าวันแล้ว แต่พริษฐ์ก็ยังคงยืนยันสิ่งที่ทำว่าเป็นสิทธิในการเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แต่นอกจากพริษฐ์แล้ว ก่อนหน้าที่ปนัสยาจะถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเช่นเดียวกับคนอื่นก็เคยไปยื่นร้องเรียนตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่เธอได้รับก็คือหน่วยงานเหล่านั้นโยนเรื่องไปมา ซึ่งหน่วยงานราชการเหล่านี้ควรจะต้องฟังเสียงของประชาชนมากกว่าพวกเผด็จการหรือพวกศักดินา

เบนจามีข้อเรียกร้องต่อส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านด้วยว่าในฐานะที่รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนก็ต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชน

เบนจา ในฐานะนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวและยังโดนคดีด้วย อยากให้ฝ่ายค้านหรือเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ ช่วยติดตามเพื่อนที่ถูกฝากขังและทวงถามถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา และให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลและนโยบาย แล้วก็อยากให้แสดงจุดยืนต่อการสลายการชุมนุมที่ผ่านมาเพราะรัฐพยายามขยับเส้นของการสลายชุมนุมให้สูงขึ้นจากเดิมที่ใช้แค่รถฉีดน้ำ แต่ปีนี้ก็มีกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และยังมีการใช้กระบองไล่ฟาดผู้ชุมนุม ทั้งที่หน้าที่ของรัฐมีหน้าที่คุ้มครองและดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมไม่ใช่มาทำร้ายประชาชน

นอกจากนั้นอยากให้ตั้งคำถามต่อการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ ว่าได้ถูกใช้ควบคุมโรคจริงๆ หรือแค่นำมาใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายมาปิดกั้นการแสดงออกหรือไม่ และอยากให้ตรวจสอบว่าตำรวจได้ปฏิบัติตามกฎหมายจริงๆ หรือไม่ในการสลายการชุมนุม

เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงกรณีที่ตัวเองเคยไปประกันตัวให้กับนักศึกษา ตัวเธอเองก็เคยถูกตั้งคำถามว่าช่วยแต่กับเฉพาะนักศึกษา มธ.หรือเปล่า ซึ่งก็ชี้แจงว่าในการประกันตัวนายประกันต้องอธิบายได้ว่ามีความสัมพันธ์หรือมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับคนที่ขอประกันตัว เช่น เป็นอาจารย์กับลูกศิษย์กัน

กรณีที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมที่หน้าสถานทูตพม่าก็มีนักศึกษา มธ.ถูกจับไปด้วยก็เลยได้ติดตามไปถึงเห็นว่ามีการจับมัดมือด้วยเคเบิลไทร์ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้นกับคนที่ออมกาใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกเท่านั้นแล้วเมื่อถามว่าจะเอาตัวคนที่ถูกจับกุมไปไหนก็บอกไม่รู้จะอะไรกับพวกเขาต่อก็ไม่รู้มีแค่บอกว่ารอคำสั่งอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องแย่มากที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกจับไปจะเผชิญกับอะไรบ้าง เธอจึงตัดสินใจไปพร้อมกับนักศึกษาที่ถูกจับ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

เคทกล่าวถึงความคาดหวังต่อนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านในเวลานี้คือควรจะมีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการของรัฐบาล ท้วงติงการกระทำของรัฐบาลที่ไม่ชอบต่อมติมหาชน และควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่นำเสนอต่อรัฐสภา นอกจากนั้นก็ต้องยับยั้งรัฐบาลไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตและไม่ให้รัฐบาลเสียงข้างมากกลายเป็นรัฐบาลเผด็จการ และเธอยกตัวอย่างว่าในบางประเทศก็มีการตั้งรัฐบาลเงาไว้ติดตามการทำงานของรัฐบาลในกรณีทีรัฐบาลล่มลงไปแต่ก็ไม่เห็นบทบาทด้านนี้ของพรรคฝ่ายค้านในไทย

เคทกล่าวว่าหากพรรคฝ่ายค้านเข้มแข็งและใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติได้อย่างดีก็จะทำให้คนไม่ต้องออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา แต่สำหรับในไทยก็จะเห็นว่าพรรคฝ่ายค้านไม่มีเสถียรภาพเข้มแข็งมากพอก็จะทำให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุมประท้วงไปเรียกร้องตามหน่วยงานต่างๆ แต่นอกจากเสถียรภาพของพรรคฝ่ายค้านแล้วก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น กลไกตามรัฐธรรมนูญ

เคทกล่าวอีกว่านอกจากที่กล่าวไปแล้วพรรคการเมืองทุกพรรคก็มีหน้าที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองซึ่งเรื่องนี้พรรคฝ่ายค้านก็ทำได้ดีแต่ไม่ปรากฏบทบาทด้านนี้ในพรรคฝ่ายรัฐบาล และเธอคาดหวังจะได้เห็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้เห็นการทำงานของฝ่ายค้านอย่างเสมอหน้ากับรัฐบาล แต่สถานการณ์ในสภาของไทยกลับมีความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันนิติบัญญัติ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลานี้ที่มีข้อเรียกร้องสูงไปจนถึงการปฏิรูปพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ตอนที่ตัวเขาเองเคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ยังไม่ได้เสนอไปไกลขนาดนั้น แต่ตอนนั้นที่โดนดำเนินคดีตัวเขาเองก็โดนแค่ 9 คดี แล้วข้อกล่าวหาก็ต่างออกไปจากกรณีของพริษฐ์ ชิวารักษ์ มาก

นอกจากนั้น เมื่อถูกดำเนินคดีแล้วในตอนนั้นตัวเขาและคนที่ออกมาร่วมทำกิจกรรมเมื่อถูกนำตัวไปขังพวกเขาก็ยืนยันที่จะไม่ประกันตัวเพราะเห็นว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่จะสู้จากทั้งในและนอกเรือนจำ จนเจ้าหน้าที่มาต่อรองขอให้ช่วยประกันตัวออกไปเองได้หรือไม่ แต่มาถึงปัจจุบันแค่จะประกันตัวก็ยังทำไม่ได้แล้วก็จะใช้ข้ออ้างเรื่องว่าเป็นคดีร้ายแรง แต่ก็ไม่ได้มีกฎหมายข้อไหนห้ามประกันตัวแม้จะเป็นคดีที่โทษสูง

รังสิมันต์ได้กล่าวถึงบทบาทของพรรคก้าวไกลที่มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านว่ามีสามด้าน คืองานเฉพาะหน้าที่จะมีคณะทำงาน 8 ชุด ทำหน้าที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ตุลาคมปี 63 ซึ่งที่สังเกตการณ์การชุมนุมเก็บข้อมูลและไปให้ความช่วยเหลือในการประกันตัว

ส่วนบทบาทในสภา นอกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว บางประเด็นพรรคก้าวไกลก็ได้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการอยู่แล้ว เช่นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งก็ได้ร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านเพื่อร่วมกันวางฐานการเมืองใหม่เพื่อออกจากระบอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 60 และการเสนอแก้ไขมาตรา 112 เพื่อไม่ให้ใครก็ได้เอากฎหมายนี้ไปดำเนินคดีแต่จะต้องเป็นสำนักพระราชวังเท่านั้นที่จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีได้ และลดอัตราโทษลง รวมถึงการย้ายมาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคง นอกจากนั้นยกเลิกโทษจำคุกในคดีหมิ่นประมาทเหลือแต่โทษปรับ และการยกร่างกฎหมายมาตรา 116 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงกฎอัยการศึกด้วย

รังสิมันต์กล่าวถึงงานกรรมาธิการของพรรคว่าเดิมพรรคก้าวไกลเป็นประธาน 6ชุดทั้งด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง แต่หลังจากถูกยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเหลือแค่ 4 ชุด ซึ่งชุดกรรมาธิการกฎหมายที่เดิมเคยให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านต่างๆ ที่ปิยบุตร แสงกนกกุลเคยเป็นประธานตอนนี้ก็เปลี่ยนประธานเป็นสิระ เจนจาคะ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาที่พยายามใช้กลไกกรรมาธิการในการทำงาน และตัวเขาเองก็คาดหวังการทำงานจากสิระในฐานะที่เป็นประธานได้ทำงานสมกับตำแหน่งแต่ก็ได้แค่หวังและก็ผิดหวังเพราะไม่ได้เห็นกรรมาธิการได้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ว่าจะฝั่งไหนก็ตาม

รังสิมันต์เสนอว่าต้องแก้ไขใน 4 ประเด็น คือ หนึ่ง หากต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนจริงๆ ข้อที่สอง ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมใหม่ ทำลายระบบตั๋วตำรวจและการจ่ายสำนวนคดีของศาลต้องมีความโปร่งใสเพราะการส่งสำนวนคดีที่ยังส่งไปองค์คณะเดิมๆ จะมีธงพิพากษาอย่างไร และข้อสี่คือต้องแก้ไขกฎหมายอย่างมาตรา 112 116 เพื่อไม่ให้ใครนำมาใช้กลั่นแกล้งดำเนินคดีกับประชาชน

รังสิมันต์ โรม กล่าวต่อว่าเรื่องการสลายการชุมนุมโดยอ้างเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นฐานเพื่อสลายการชุมนุม จริงๆ แล้วการสลายการชุมนุมจะอ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เลยไม่สามารถทำไม่ได้ และเท่าที่ทราบหมู่บ้านทะลุฟ้ามีการแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว หากเป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ สมมติว่าการชุมนุมผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะต้องขอศาลแพ่งเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเลิกชุมนุมก่อน แต่ปัญหาก็คือว่าไม่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลย์ในการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังมีหลักสัดส่วนอยู่ดี และการชุมนุมก็ไม่มีการติดต่อของโรค จัดชุมนุมเป็นที่เป็นทางไม่มีการใช้ความรุนแรงการใช้อาวุธ ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใดที่จะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการสลายการชุมนุม เวลาตำรวจอ้างว่ากฎหมายให้อำนาจ แต่ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายจริงๆ ทำแบบนี้เจ้าหน้าที่มีความผิด เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการจะต้องมีการดำเนินการ

เบนจาได้มีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายค้านโดยเสนอต่อรังสิมันต์ว่าต้องยกเลิกมาตรา 112 เท่านั้น เพราะการมีอยู่ของมันคือการละเมิดเสรีภาพของเราอยู่แล้วและยับยั้งความเห็นต่างหากยังมีกฎหมายมาตรานี้แล้วจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้อย่างไร

รังสิมันต์ตอบในประเด็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา112 แต่ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกเพราะในความเป็นพรรคการเมืองก็มีความเห็นหลากหลาย ซึ่งก็มีความเห็นแยกเป็นสามแนวทาง ทั้งคนที่เสนอให้ยกเลิกซึ่งก็รวมตัวเขาเองด้วย แนวที่สองคือการแก้ไขก็เป็นกลุ่มที่ให้ความเห็นว่าถ้าเสนอแก้จะมีโอกาสทำได้จริงๆ เพราะการเสนอยกเลิกพรรคการเมืองอื่นจะไม่กล้าเข้ามาร่วม ส่วนแนวสามคือกลุ่มที่กังวลว่าถ้าแก้หรือยกเลิกจะทำให้พรรคถูกยุบหรือกลั่นแกล้งแต่กลุ่มนี้ก็มีเพียงส่วนน้อย ซึ่งเสียงส่วนมากในพรรคก็เห็นด้วยกับการแก้ไข

รังสิมันต์ก็ยอมรับว่า เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ดีที่สุดเพราะถ้าอธิบายทางหลักการก็มีข้อโต้แย้งเหมือนกัน แต่โครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ก็เป็นทางเลือกที่สูงที่สุดแล้ว และแค่จะแก้ก็ต้องเจออุปสรรคต่างๆ และก็ไม่ได้รับความร่วมมือขนาดนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net