Skip to main content
sharethis

ภาคี saveบางกลอย ประณามการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบในการสลายการชุมนุมโดยสงบของหมู่บ้านทะลุฟ้า - เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) แถลงข่าวแสดงจุดยืนการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธมาโดยตลอด และประณามการสลายการชุมนุมของตำรวจตอนตี 5 เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีศักดิ์ศรี

คฝ.บุกสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าตั้งแต่เช้ามืด คุมตัวผู้ชุมนุมที่ ตชด.ภาค 1
หมู่บ้านทะลุฟ้าชวนประชาชนรวมตัว 15.00 น. - สมัชชาคนจนประณามการใช้กำลังป่าเถื่อน
นักวิชาการปรัชญา-พุทธศาสนา ประณามการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าและจับพระสึก

 

แถลงการณ์จากภาคีsaveบางกลอย เรื่อง ประนามการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบในการสลายการชุมนุมโดยสงบ พวกเราในนามภาคึsaveบางกลอย...

โพสต์โดย ภาคีSaveบางกลอย เมื่อ วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม  2021

 

28 มี.ค. 2564 สืบเนื่องจากกรณีตำรวจควบคุมฝูงชนบุกเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้ามืดวันนี้ (28 มี.ค.) เพจภาคีsaveบางกลอย ได้เผยแพร่ แถลงการณ์จากภาคีsaveบางกลอย เรื่อง ประณามการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบในการสลายการชุมนุมโดยสงบ ระบุว่าพวกเราในนามภาคึsaveบางกลอย มีความกังวลต่อการใช้อำนาจรัฐในการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ไม่เป็นตามหลักสากล ไร้หลักการและวิธีการตามสันติวิธี ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 44 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนี้เป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญของทุกประเทศได้บัญญัติรับรองไว้มาช้านานแล้ว ดังเช่นประเทศไทยได้เริ่มรับรองเสรีภาพการชุมนุมไว้ในมาตรา 14 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 เป็นต้น

หมู่บ้านทะลุฟ้า ปักหลักบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้ข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ

1. ปล่อยเพื่อนเรา
2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
3. ยกเลิก 112

รวมทั้งเป็นพื้นที่ ในการนำเสนอ เรียกร้อง ถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนในด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยโดยยึดหลักในเรื่อง การต่อสู้แบบสันติวิธี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นหมู่บ้านทะลุฟ้า ได้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ประเด็นของพี่น้องบางกลอยด้วยดีเสมอมา ทั้งยังช่วยดูแลความปลอดภัย การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเราขอยืนยันว่าการชุมนุมที่ผ่านมาของพวกเรานั้นเป็นไปอย่างสงบ สันติวิธี และปราศจากอาวุธใดใด 

เช้านี้ (28 มี.ค.) ชุดควบคุมฝูงชน ได้เข้ามาสลายหมู่บ้าน ผู้ชุมนุมต่างนั่งลงด้วยความสงบ สันติวิธี คือแนวทางการต่อสู้ของพวกเขา จนถึงวินาทีสุดท้าย ทั้งหมด 60 กว่าคน ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปยัง ตชด. ภาค 1 หมู่บ้านทะลุฟ้า ถูกค้นโดยไม่แสดงหมาย ไม่มีตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าร่วมตรวจค้น

พวกเรามิอาจไว้วางใจ การกระทำของเจ้าหน้าที่ได้ เพราะพวกคุณ คือคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสมอมา เรามิอาจไว้วางใจว่าพวกคุณจะยัดเยียดสิ่งของผิดกฎหมายให้เราหรือเปล่า เหมือนที่พวกคุณยัดกฎหมายปิดปากเรา

เราในนามภาคี save บางกลอย ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนเราทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข โดยไม่แจ้งข้อหาเพื่อปิดปาก และให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการควบคุมตัวตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นหลักสากล

เครือข่ายนักวิชาการฯ และ คปอ. ประณามการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า

เครือข่ายนักวิชาการฯ และ คปอ. ประณามการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า

28 มี.ค. 2564 ที่ห้องประชุมมชั้น 4 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนงานเสวนาวิชาการ "บทบาทฝ่ายค้านในสถานการณ์นักโทษการเมือง" ที่จัดโดย เครือข่ายประชาชนพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ได้มีการแถลงข่าวต่อกรณีที่รัฐบาลสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) สมัชชาคนจน และเครือข่ายประชาชนพื่ออิสรภาพ (คปอ.) 

อนุสรณ์ อุณโณ คณะบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กล่าวว่าขอคัดค้านและประณามการสลายการชุมนุมในเช้าวันนี้ เนื่องจากหมู่บ้านทะลุฟ้าที่เป็นการชุมนุมโดยสงบสันติ ปราศจากอาวุธ และไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่เป็นการยั่วยุหรือทำความเดือดร้อนแก่สาธารณะแต่อย่างใด และแจ้งจัดชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว อีกทั้งการชุมนุมก็เป็นการใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญและเป็นไปตามหลักสากลที่รับรองสิทธิการชุมนุมไว้

อนุสรณ์เห็นว่าข้ออ้างเรื่องป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐใช้ในการสลายการชุมนุมฟังไม่ขึ้น ในหมู่บ้านทะลุฟ้ามีการวางมาตรการตรวจโรคและควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ นอกจากนั้นที่ผ่านมาก็ยังไม่มีปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อที่มาจากการร่วมชุมนุมที่หมู่บ้านทะลุฟ้าเลย ดังการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค เป็นการใช้กฎหมายที่ผิดหรือไม่ได้ใช้เพื่อป้องกันควบคุมการระบาดของโรคแต่อย่างใด แต่เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองมากกว่า เพราะข้อเรียกร้องของการชุมนุมตั้งแต่ “เดินทะลุฟ้า” และ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ก็เป็นการเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนและไม่มีการจับกุมเพิ่มอีก เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออก เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิก 112 ล้วนแทงใจดำทั้งสิ้น

อนุสรณ์กล่าวว่าหลังการสลายการชุมนุมรัฐก็ยังพยายามสร้างความชอบธรรมในการสลายชุมนุมอีกเช่นการบอกว่าพบยาเสพติดในที่ชุมนุม ซึ่งจริง ๆ การกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่มีบุคคลที่ 3 เข้าไปตรวจสอบได้ ทำให้การแถลงข่าวของตำรวจนั้นฟังขึ้นหรือไม่ นอกจากนั้นสิ่งที่ใช้เป็นอุปกรณ์รณรงค์และจัดนิทรรศการเพื่ออบรมในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นถุงยางหรือเซ็กส์ทอยแต่ก็ถูกนำมาแถลงข่าวว่าเป็นของกลาง

อนุสรณ์มีข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวคนที่ถูกควบคุมอยู่ตอนนี้ในทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข การยืนยันในสิทธิในการชุมนุมที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติกาสากล 

บารมี ชัยรัตน์ จากสมัชชาคนจน ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนที่จะมีการชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้าช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็ยังมีการชุมนุมของเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยังชุมนุมได้แต่ก็ไม่มีการสลายชุมนุมอะไร และจากที่ตนดูไลฟ์การสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าให้ผู้ชุมนุมเก็บของภายในสามนาทีซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ชุมนุมจะสามารถทำได้ทัน เพราะหลังจากจับแล้วก็เข้าไปถึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดก็ยังใช้เวลากว่าชั่วโมงก็ยังทำไม่เสร็จทั้งที่เป็นแค่การเก็บทิ้งเท่านั้น 

บารมีกล่าวว่าการสลายการชุมนุมครั้งนี้เป็นเพียงการใช้กฎหมายมากลั่นแกล้งทางการเมืองกันเท่านั้น และยังเป็นการปฏิบัติการที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พริ้ม บุญภัทรรักษา ในฐานะทนายความที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่เข้าจับกุมผู้ชุมนุมในตอนเช้าว่า เมื่อเช้าเข้าไปในหมู่บ้านทะลุฟ้าในฐานะทนายความ ซึ่งก็ได้แสดงตนและเข้าไปดูการตรวจค้นและให้คำปรึกษากับผู้ที่ถูกจับกุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป จนกระทั่งคนที่ถูกจับถูกนำตัวไปขึ้นรถ เธอได้พยายามยืนยันว่าผู้ที่ถูกจับกุมมีสิทธิที่จะได้พบทนายแต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพบ ส่วนสิ่งของที่อยู่ในหมู่บ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่นำไปทิ้ง

พริ้มกล่าวประนามว่าเจ้าหน้าที่ทำการสลายการชุมนุมครั้งนี้เพราะเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย

ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิก คนส.กล่าวว่าการเดินทะลุฟ้าไปจนถึงการตั้งหมู่บ้านที่ทำเนียบ มีข้อเรียกร้องคือการปล่อยเพื่อนเราและไม่จับกุมดำเนินคดีเพิ่ม เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ยกเลิก 112 ซึ่งเป็นการเรียกร้องโดยใช้สันติวิธีมาตลอดและไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมก็มีการชี้แจงชัดเจนว่าหากเกิดความรุนแรงใดๆ ผู้ชุมนุมก็จะนั่งลงนิ่ง ๆ 

ในฐานะคนที่อยู่ร่วมกิจกรรมมาตลอดและทุกคนก็ทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในกิจกรรม เขาเห็นว่าการกระทำของรัฐที่ทำต่อผู้ชุมนุมในครั้งนี้ไร้ศักดิ์ศรีโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ฝ่ายถ้าอยากให้ออกจากพื้นที่จะเจรจาก็สามารถทำได้ แต่กลับใช้กำลังมาสลายในเวลาเช้ามืด เป็นการกระทำที่ไม่มีศักดิ์ศรี เขาจึงขอประนามการกระทำของรัฐในครั้งนี้

เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าจากที่มีข่าวมีการยกเรื่องถุงยางและเซ็กส์ทอย ช่วงหลังก็มีการยกเรื่องศีลธรรมมามองฝ่ายตรงข้ามว่าไม่ดี การจับกุมนี้ก็ได้พยายามใช้ประเด็นอคติเข้ามาจับกุม พยายามบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องผิดศีลธรรมและต้องทำการสลายการชุมนุม ขอประณามการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ในฐานะที่ตนได้เข้าไปมีส่วนร่วมทุกคนก็เห็นว่ามีเป็นการชุมนุมอย่างสันติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net