Skip to main content
sharethis

ส.ส.ก้าวไกล ตั้งคำถามถึงความล่าช้าในการฉีดวัคซีนโควิด 19 แม้ว่าจะมีวัคซีนหลายล็อตเดินทางมาถึงแล้วในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

1 เม.ย.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล เขียนบทความโดยมีเนื้อหาที่ตั้งคำถามถึงความล่าช้าในการฉีดวัคซีนโควิด 19 แม้ว่าจะมีวัคซีนหลายล็อตเดินทางมาถึงแล้วในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

บทความดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 ปัจจุบัน รายงานในวันที่ 31 มี.ค. 64 จาก Bloomberg  ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น 166,358 โดส โดยอัตราการฉีดล่าสุด ฉีดได้วันละ 11,225 โดสต่อวัน ซึ่งจากวัคซีนที่รับมอบมาแล้วในตอนนี้ มี Sinovac 1,000,000 โดส (รับมอบวันที่ 24 ก.พ. 64 = 200,000 โดส วันที่ 20 มี.ค. 64 = 800,000 โดส) AstraZeneca 117,600 โดส (รับมอบวันที่ 8 มี.ค. 64) รวมแล้วตอนนี้ประเทศไทยรับมอบวัคซีนมาแล้วทั้งสิ้น 1,117,600 โดส ฉีดไปแล้ว 166,358 โดส เท่ากับว่าฉีดไป 14.89% เท่านั้น เหลือสต็อกอยู่ 951,242 โดส

หรือถ้าคิดจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-30 มี.ค. 64 มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 180,477 โดส เท่ากับว่าฉีดไปแล้ว 16.15% เหลือสต็อกอยู่ 937,123 โดส

หรือถ้าจะไม่นับวัคซีน Sinovac 800,000 โดส ที่เพิ่งรับมาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64 ก็เท่ากับว่าจากวัคซีนที่มีอยู่ 317,600 โดส ณ วันที่ 19 มี.ค. 64 ประเทศไทยฉีดไปได้เพียง 62,941 โดส เท่ากับว่าฉีดไปได้เพียง 19.82% ของสต็อกวัคซีนที่มีเท่านั้น หรือถ้าจะคิดเฉพาะวัคซีน Sinovac ที่มีอยู่ 200,000 โดส (เพราะกรณีลิ่มเลือดที่ต้องสงสัย อาจจะต้องชะลอการฉีดวัคซีน AstraZeneca ออกไปก่อน) ณ วันที่ 19 มี.ค. 64 ก็ฉีดวัคซีนไปได้เพียง 31.47% เท่านั้น

"ถ้าใช้ข้อมูลที่ Bloomberg ประเมินอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศไทยเอาไว้ที่ 11,225 โดสต่อวัน มาเป็นอ้างอิงในการประเมินสถานการณ์การฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ถือว่าการฉีดวัคซีนในประเทศไทยยังช้ากว่าที่ควรจะเป็น โดยหากประเทศไทยยังคงฉีดวัคซีนได้ในอัตรานี้ จะต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ถึงจะฉีดได้ครอบคลุมประชากร 75% ของประเทศ ซึ่งไม่ทันการณ์แน่ๆ เพราะค่าเสียหายทางเศรษฐกิจกระทรวงสาธารณสุขก็ทราบดีอยู่แล้วว่ามีมูลค่าสูงถึงเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท"

วิโรจน์ ระบุอีกว่า เข้าใจว่าการฉีดวัคซีนในระยะเริ่มต้นอาจจะมีความล่าช้าบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องยอมรับว่า หากประเมินอัตราการฉีดวัคซีน ณ ปัจจุบันด้วยคณิตศาสตร์ ก็ต้องยอมรับตามข้อเท็จจริงว่า การฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขยังล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับสต็อกวัคซีนที่มีอยู่ในมือจริง ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเอาไปทบทวน และปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายวัคซีนไปตามโรงพยาบาลต่างๆ การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมาเข้ารับการฉีดวัคซีน ระบบนัดหมายและระบบคิวในการจัดสรรคนให้มารับการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลต่างๆ ในแต่ละวัน การจัดเตรียมอุปกรณ์ในการฉีดวัคซีน การจัดเตรียมสถานที่ในการฉีดวัคซีน การจัดเตรียมบุคลากรในการฉีดวัคซีน การสังเกตการณ์ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน และการจัดทำวัคซีนพาสปอร์ต และการติดตามผลต่อเนื่อง เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามแผนในการจัดหาวัคซีนในปี พ.ศ. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงเอาไว้ว่า
จะมีการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca เพิ่มเติมในเดือน มิ.ย. = 6,000,000 โดส ก.ค.-พ.ย. เดือนละ 10,000,000 โดส เดือน ธ.ค. = 5,000,000 โดส และกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาชนว่า จะฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 10,000,000 โดส โดยจะฉีดในเดือน มิ.ย. 64 จำนวน 5,000,000 โดส และตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. 64 เดือนละ 10 ล้านโดส ดังนั้น ในการประมาณการ กระทรวงสาธารณสุข จะต้องเตรียมโรงพยาบาลไว้สำหรับการฉีดวัคซีน 1,000 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะฉีด 5 วันต่อสัปดาห์ คือ จันทร์-ศุกร์ โดยฉีดวันละ 500 โดส 1 เดือน ก็จะได้จำนวนโดสทั้งหมด 10,000,000 โดส ซึ่งฟังดูเหมือนง่าย แต่ถ้าคำนวณอย่างละเอียด ไม่ง่ายๆ เช่น ถ้าต้องฉีดวัคซีนให้กับคน 500 คนต่อวัน เท่ากับว่า ในแต่ละชั่วโมงจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 62.5 คน หรือนาทีละ 1 คน นั่นจึงต้องเตรียมระบบนัดหมาย การลงทะเบียน ขั้นตอนการตรวจคัดกรองเบื้องต้น อาจใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที รวมแล้วใช้เวลา 5-8 นาทีต่อคน ดังนั้น โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้ 5-8 คน เฉพาะส่วนนี้ แต่ยังมีขั้นตอนโหลดยา และการฉีด ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สังเกตอาการหรืออื่นๆ สรุปโดยรวมจะต้องมีการจัดสรรเจ้าหน้าที่สำหรับภารกิจการฉีดวัคซีนไว้อย่างน้อยโรงพยาบาลละ 15-18 คน ดังนั้นจึงต้องสอบถามยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่า ได้เตรียมกำลังคนในส่วนนี้ โดยที่มั่นใจว่าจะไม่กระทบกับการให้บริการประจำวันของโรงพยาบาลไว้แล้วหรือยัง หากต้องการการฉีดวัคซีนให้คน 500 คนต่อวัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย 10 ล้านโดสต่อเดือน 

"สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขควรทำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนก็คือ การเปิดเผยแผนการ และการตระเตรียมต่างๆ ที่มีตัวเลขยืนยัน สามารถคำนวณเพื่อยืนยันความเป็นไปได้ได้ ไม่ใช่แค่ตอบโต้ด้วยวาทกรรมสั้นๆ โดยที่ไม่ชี้แจงอธิบายในรายละเอียดใดๆ "

วิโรจน์ ยังได้ย้ำว่า ที่สำคัญที่สุดที่ต้องจับตาดูคือ ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ว่าจะสามารถฉีดได้ถึง 5 ล้านโดส และ 10 ล้านโดส ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำมั่นเอาไว้กับประชาชนหรือไม่ ซึ่งภาคประชาชน จะต้องช่วยกันติดตามการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะทุกๆ คน ต่างก็ทราบดีกว่าวัคซีนวันนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์แค่การป้องกันโรค แต่วัคซีนนั้นถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่สำคัญมาก การฉีดวัคซีนล่าช้า 1 เดือน ประชาชนเสียหายบอบช้ำ เป็นมูลค่าสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม การฉีดวัคซีนจะล่าช้าไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net