Skip to main content
sharethis

ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ทั่วถึง เกาะติดตลาดแรงงานมีผู้ว่างงาน 8.9 หมื่นราย

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.ทยอยปรับดีขึ้น หลังจากการระบาดโควิด-19 คลี่คลาย เนื่องจากการบริโภคเอกชนทยอยฟื้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวแต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดย ธปท.จะติดตามตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง จากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือน ก.พ.มีผู้ขอรับสิทธิว่างงาน 89,380 ราย จากเดือน ม.ค. 71,592 ราย

“สัญญาณขยายตัวไม่ทั่วถึงมาจากตลาดแรงงาน เนื่องจากผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และต้องติดตามใกล้ชิด และการฟื้นตัวภาคธุรกิจที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งหลังจากได้คุยกับภาคธุรกิจ ภาคการค้าและบริการที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ว่าปรับดีขึ้นและจากมาตรการภาครัฐปรับดีขึ้น แต่ต้องติดตามดูต่อไป เห็นจากในเดือน มี.ค.กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา แต่อาจติดตามเรื่องการระบาดของคลัสเตอร์ต่างๆ ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่”

นอกจากนี้ในเดือน ก.พ. การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุกที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำยังขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า โดยการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อน ซึ่งภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกฟื้นตัว ถ้าเทียบกันกับจีดีพีไตรมาสแรกอาจไม่ได้ดีเท่าปีก่อนที่ยังไม่ได้ปิดเมือง ส่วนความเสี่ยงตลาดแรงงานที่ต้องติดตาม รายได้ต้องกลับมา และการเปิดประเทศเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาการฟื้นตัวไม่เท่าเทียม และช่วยเหลือตลาดแรงงานในช่วงที่บางกลุ่มยังไม่กลับมา

“มาตรการรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ ม33เรารักกัน ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐมีบทบาทเยอะ กระตุ้นบริโภคโดยตรง เห็นจากยอดขายผู้ประกอบการดี ทำให้ไตรมาส 1-2 มีต่อเนื่อง ส่วนครึ่งปีหลังไตรมาส 3-4 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ส่งผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ถ้าไม่มี เปิดไม่ได้ ภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยส่วนนี้ คาดว่าไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยอะ”

อย่างไรก็ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในทุกหมวดหลัก โดยเป็นผลจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมต่อผู้ประกันตนทั้งหมดที่ยังเพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นกว่าเดือนก่อน

ที่มา: เดลีนิวส์, 31/3/2564

พก. ร่วม 6 หน่วยงาน MOU พัฒนาคนพิการด้านการศึกษาและการมีงานทำ

นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “พัฒนาคนพิการด้านการศึกษาและการมีงานทำ” โดยมี นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวระรินทิพย์ เพ็ชรเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จ.เชียงใหม่ ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี

นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่ตามยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยบริการสวัสดิการสังคมเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพคนพิการในการประกอบอาชีพและการมีส่วนร่วมทางสังคม ในเขตความรับผิดชอบ 13 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนพิการและครอบครัวมีอาชีพรายได้ และปรับตัวในสังคมอย่างเป็นสุขและเท่าเทียม แต่ปัจจุบันหลักสูตรของศูนย์ฯ มีความล้าสมัยไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งไม่ตรงกับความต้องการของผู้รับการฝึกอาชีพและสถานประกอบการ จึงจำเป็นต้องปรับบริการให้เหมาะสม ทั้งด้านการจัดระบบข้อมูล การบริการ การพัฒนาองค์ความรู้บุคลากร รวมถึงการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองสมรรถนะของคนพิการเป็นรายบุคคลเพื่อให้มีความรู้สามารถเพิ่มมากขึ้น (Up Skill) และยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป โดยสามารถใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงเข้าทำงานในสถานประกอบการ รวมถึงเพิ่มโอกาสให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเอง อยู่ร่วมกับครอบครัว เป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างมีคุณค่า

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “พัฒนาคนพิการด้านการศึกษาและการมีงานทำ” ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพของคนพิการในจังหวัด ตามหลักสูตรมาตรฐานการศึกษาและอาชีพ รวมถึงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป รวมถึงส่งเสริมระบบการพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานด้านการศึกษา อาชีพ และสังคม เพื่อให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเอง อยู่ร่วมกับครอบครัว เป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างมีคุณค่า โดยความร่วมมือของหน่วยงานด้านการศึกษา อาชีพ และสังคม 6 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จ.เชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคสันกำแพง จ.เชียงใหม่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ และโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ ได้กำหนดเปิด 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาช่างยนต์ โดยในปีการศึกษา 2564 นำร่องเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ณ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ ต่อไป

ที่มา: บ้านเมือง, 31/3/2564

รมว.คมนาคม สั่งจัดระเบียบรถมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ หลังพบขับขี่เร็ว-อุปกรณ์ติดตั้งขนอาหารขนาดใหญ่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปดำเนินการจัดระเบียบ รถขนส่งอาหารเดลิเวอรี่ ที่วิ่งให้บริการส่งอาหารโดยการใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะบนท้องถนน เนื่องจากปัจจุบันพบว่ารถจักรยานยนต์ ที่ผู้ให้บริการขนส่งอาหารนั้นมีการขับขี่ใช้ความเร็ว รวมทั้งมีการติดตั้งกล่องพัสดุหลังรถที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ไปเฉี่ยวชนกับรถผู้ใช้ถนนคันอื่นๆได้ ดังนั้นจึงให้กรมการขนส่งทางบกไปกำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ ของการใช้รถรวมถึงระเบียบข้อบังคับว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร เพื่อนำมาปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก มีหน้าที่ในการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ ของรถทุกประเภท

“ในวันนี้เห็นว่า ถึงเวลาจำเป็นต้องวางกรอบ กฎระเบียบตามกฏหมายเพื่อควบคุม เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการนำรถมาใช้บริการไม่ปล่อยให้กลายเป็นปัญหาลุกลามในอนาคต” นายศักดิ์สยามกล่าว

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่าในส่วนของกรมการขนส่งทางบกจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันศุกร์ที่ 2 เมษายนนี้ ที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อนำปัญหาดังกล่าวมาพิจารณาในทุกมิติโดยเฉพาะในเรื่องของข้อกฎหมายทั้งในส่วนของ พ.ร.บ.จราจรฯ และกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้ทราบอำนาจตามกฏหมาย ที่จะเข้าไปจัดระเบียบของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะพิจารณาลงรายละเอียดว่า การควบคุมจำเป็นต้องมีการออกกฎหมาย ในลักษณะประกาศกฎกระทรวงฯ ได้ในประเด็นใดบ้าง รวมถึงลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสม การติดตั้งอุปกรณ์ของรถเหล่านี้ ที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน

หลังจากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากการประชุมเวิร์กชอปแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะเร่งดำเนินการไปสู่แนวทางปฏิบัติให้เร็วที่สุด

อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาการใช้จักรยานยนต์รับจ้างในประเทศ จะมีลักษณะการรับจ้างบรรทุกคน หรือผู้โดยสารเป็นหลัก แต่ในช่วงสถานการณ์ระบาดโควิดที่ผ่านมา ทำให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อการส่งอาหารจานด่วน หรือส่งสินค้าต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 31/3/2564

ครม. เห็นชอบตั้งกองทุน กบช. เป็นกองทุนภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) คาดว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี เพิ่มขึ้นปีละ1 ล้านคน แต่ประชาชน วางแผนการออม สะสมเงินเอาไว้ใช้หลังเกษียณ เพื่อให้ประชาชนเมื่อเข้าถึงวัยสูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ และเป็นการสร้างวินัยการออมของประชาชนวัยทำงาน

ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. ด้วยการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ โดยรายได้ของ กบช. ไม่ต้องนำส่งคลัง

กำหนดให้ลูกจ้างอายุตั้งแต่ 15- 60 ปี ซึ่งไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องมาเป็นสมาชิกของ กบช. กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย แบ่งเป็น ปีที่ 1-3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ปีที่ 7-9 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง ปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-10 ของค่าจ้าง โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง

สำหรับการรับเงินคืนจาก กบช. เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน หากกรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จสามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในการกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน จนเกิดความซ้ำซ้อนทั้งการดำเนินงาน งบประมาณ และบุคลากร สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการจัดตั้ง กบช. จะทำให้รายได้รายเดือนของลูกจ้างลดลงและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้าง แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกจ้างทำให้มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ ทำให้นายจ้างมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ลูกจ้าง และการออมภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในอนาคต

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/3/2564

ตลาดแรงงานพบช่วง COVID-19 มีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร

น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต พบว่า ล่าสุดในเดือน ก.พ.2564 จำนวนความต้องการแรงงานในไทยทั้งบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดถึง 24.65% สะท้อนให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากช่วงเดือน เม.ย.2563 และเดือน ธ.ค.2563 จากการระบาดระลอกที่ 2 และคาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวก 5% ในกลางปี 2564 เมื่อเทียบกับกลางปี 2563 และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤต COVID–19 ในต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่

ในส่วนของความต้องการเมื่อแบ่งตามสายงาน จากจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 16.0% 2) สายงานไอที คิดเป็น 14.7% 3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 9.8%

ในส่วนของการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มสายงาน พบว่า กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 29.7% 2) สายงานขนส่ง คิดเป็น 24.7% 3) สายงานการผลิต คิดเป็น 20.8% นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสายงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 อาทิ นักพัฒนาเอไอ ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญ Business Transformation รวมถึง Growth Officer

ด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 12.9% 2) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 8.1% 3) กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 6.6% และในส่วนของธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น 42.9% 2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 41.9% 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 37.7%

“อัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 และมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยการแข่งขันมีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนทำงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท”

ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานของกลุ่มประเทศในอาเซียน พบว่า ประเทศที่มีจำนวนประกาศงานออนไลน์ลดลงมากที่สุดจากช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ COVID-19 ได้แก่ 1) อินโดนีเซีย ลดลง 55.7% 2) ฟิลิปปินส์ ลดลง 46.6% 3) มาเลเซีย ลดลง 39.0% 4) ไทย ลดลง 35.6% ในขณะเดียวกัน จากจำนวนประกาศงานออนไลน์ล่าสุดในเดือน ก.พ.2564 พบว่า ประเทศที่เริ่มกลับมามีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 14.8% 2) อินโดนีเซีย ติดลบดีขึ้นเหลือ -16.4% 3) ไทย ติดลบดีขึ้นเหลือ -20.5% 4) ฟิลิปปินส์ ติดลบดีขึ้นเหลือ -37.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563

3 ประเทศคนไทยอยากไปทำงาน

จ๊อบส์ ดีบี ได้ร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) ในการจัดทำแบบสำรวจระดับ (Global Talent Survey) ฉบับที่ 1 จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 200,000 คน ใน 190 ประเทศ ภายใต้หัวข้อ “Where – ประเทศที่คนอยากทำงาน และการทำงานแบบเวอร์ชวล” เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีของแรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ COVID-19

ทั้งนี้ จากผลสำรวจ พบว่า เกิดสองปรากฏการณ์สำคัญในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ซึ่งปรากกฏการณ์แรกคือ คนทำงานหันมาให้ความสนใจการทำงานแบบเวอร์ชวล โดยกว่า 57% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ และ 50% ของคนไทยยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ ซึ่ง 3 อันดับประเทศที่คนไทยอยากไปทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 2) ญี่ปุ่น 3) สิงคโปร์ และ 5 อันดับแรงงานต่างชาติที่สนใจอยากมาทำงานให้กับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ 1) สิงคโปร์ 2) มาเลเซีย 3) จีน 4) อินโดนีเซีย 5) รัสเซีย ซึ่งในปี 2020 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 จากประเทศทั่วโลกที่คนทำงานต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงาน ขยับขึ้นมาจากอันดับ 43 และ 39 ในปี 2014 และ 2018 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่สองจากผลสำรวจพบคนทำงานในประเทศไทยหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 มีพฤติกรรมหันมาทำงานแบบเวอร์ชวลมากขึ้นในทุกสายงาน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งสองปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มคนทำงานแบบเวอร์ชวล (Virtual Talent Pool) ที่จะมาเป็นกุญแจสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับภาครัฐ นายจ้าง รวมถึงคนทำงานในยุคหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการหางานในต่างประเทศโดยไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน หรือโอกาสในการหาคนทำงานที่ตรงตามความต้องการจากต่างประเทศ

ที่มา: Thai PBS, 30/3/2564

รมว.แรงงาน เผยปี 2564 ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% แรงงานนอกระบบ วงเงิน 3.7 ล้าน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สภาพคล่องในการใช้จ่ายรวมทั้งการดำเนินการของผู้รับงานไปทำที่บ้าน กระทรวงแรงงานจึงพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินของกองทุน เพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน อยู่ในอัตราร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1-12 ภายใต้กรอบวงเงิน 7,000,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานนอกระบบผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ

สำหรับผลการดำเนินงานกองทุน เพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 29 มี.ค. 2564) ปล่อยกู้แล้วทั้งสิ้น 20 กลุ่ม เป็นเงิน 3,210,000 บาท โดยยังมีวงเงินคงเหลือสำหรับผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ต้องการกู้ยืมเงินกองทุนฯ อีก 3,790,000 บาท ซึ่งผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ต้องการเงินทุน และเข้าเกณฑ์เงื่อนไขของกรมการจัดหางาน สามารถยื่นคำขอกู้เงินได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า สำหรับการกู้ยืมเงินกองทุนฯ เริ่มให้ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นมา จนถึง 31 ส.ค. 2564 โดยต้องทำสัญญากู้ยืมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2564 คุณสมบัติผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้าน หรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน ซึ่งมีทั้งประเภทบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยประเภทบุคคลต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท

ส่วนประเภทกลุ่มบุคคลจะต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท รายบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี และรายกลุ่มบุคคลไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี โดยตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน มีผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน จำนวน 1,034 ราย/กลุ่ม สมาชิกจำนวน 5,993 คน และมีผู้กู้เงินจากกองทุนฯแล้ว จำนวน 509 ราย/กลุ่ม (29 ราย/480 กลุ่ม) เป็นเงิน 52,016,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัด ในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: เดลีนิวส์, 30/3/2564

สวนดุสิตโพลห่วงแรงงานข้ามชาติอพยพเข้าไทยทำ COVID-19 พุ่ง ขอเข้มชายแดน

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 1,167 คน เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อกรณี แรงงานข้ามชาติ ระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม 2564 เมื่อถามประชาชนคิดอย่างไรกับ “สถานการณ์แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” พบว่า ร้อยละ 67.67 ระบุ อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ มากขึ้น รองลงมาร้อยละ 62.01 ระบุ เกิดการแย่งอาชีพของคนงานในประเทศ ร้อยละ 59.09 ระบุ แรงงานข้ามชาติต้องการแสวงหาการดำเนินชีวิตที่ดีกว่า

เมื่อถามประชาชนคิดว่า “แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” เป็นเพราะสาเหตุใด พบว่า ร้อยละ 69.01 ระบุ ได้ค่าแรงมากกว่า รองลงมาร้อยละ 67.12 ระบุ ทำมาหากินได้ง่ายกว่า ร้อยละ 63.78 ระบุ ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ฝืดเคือง

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าจากกรณี “แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” ประชาชนคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องใดบ้าง พบว่า ร้อยละ 81.41 ระบุ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น โควิด-19 รองลงมาร้อยละ 74.38 ระบุ ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.81 ระบุ เจ้าหน้าที่กระทำผิดกฎหมาย เปิดให้มีการลักลอบเข้าเมือง

พร้อมกันนี้ เมื่อถามว่ารัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรต่อกรณี “แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” พบว่า ร้อยละ 75.16 ระบุ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ไม่ทุจริต รองลงมาร้อยละ 72.13 ระบุ ควรมีมาตรการป้องกัน/เตรียมรับมือในระยะยาวร้อยละ 65.01 ระบุ เฝ้าระวังตามแนวชายแดนอย่างเคร่งครัด

ท้ายที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกรณี “สถานการณ์แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” ประชาชนคิดว่ามีผลดีและผลเสีย พบว่า ร้อยละ 64.44 ระบุ มีผลเสียมากกว่า รองลงมาร้อยละ 29.56 ระบุ มีผลดีและผลเสียพอๆกัน ขณะ ร้อยละ 6.00 ระบุ มีผลดีมากกว่า

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 28/3/2564

ค้าปลีกจ่อจ้างแรงงานเพิ่มกว่า 10,000 คน

ผู้ค้ายักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีก เผยแผนธุรกิจทุ่มงบประมาณกว่า 13,900 ล้านบาทขยายตลาดค้าปลีกพุ่งเป้าไป 3 เมืองศักยภาพ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดชลบุรี และจันทบุรี คาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานได้กว่า 10,000 คน กระตุ้นการใช้จ่ายของคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว รวมถึงประชากรแฝงที่มีกำลังซื้อ คาดการณ์ปริมาณคนเดินห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่งจะเพิ่มขึ้น กลับมาอยู่ที่ 75% และน่าจะเพิ่มเป็น 95 %ได้ภายในปีนี้ สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า ปีที่แล้ว ราว 32,000 ล้านบาท โดยพบว่าแม้ปริมาณคนเดินห้างสรรพสินค้าจะลดลงแต่กำลังซื้อกลับสูงขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ จะทำให้เกิดการเดินทางและเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกตามเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น

ที่มา: ช่อง 7, 27/3/2564

เรียกร้องผู้ว่าฯ กทม.จ่ายเงินลูกจ้างนับพัน หลังค้างจ่ายนานกว่า 3 เดือน

26 มี.ค. 2564 นายเอกชัย ผ่องจิตร์ เลขานุการกลุ่ม กทม.พรรคกล้า เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม.จ่ายค่าตอบแทนลูกจ้างโครงการของ กทม. เนื่องจากไม่ได้ค่าตอบแทนการทำงานเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2564-ปัจจุบัน ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิดระบาด และยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ เนื่องลูกจ้างกลุ่มนี้มีการแต่งตั้งภายใต้คำสั่ง การแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่ช่วยปฏิบัติราชการเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมกีฬา ศูนย์เยาวชน ดนตรี ห้องสมุดประชาชน สภาเยาวชนเขตต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการพัฒนาเด็ก เยาวชน และประชาชนตามโครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยปฏิบัติราชการ อื่น ๆ ตามคำสั่ง โดยยึดระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยอัตราค่าตอบแทนค่ารางวัล ค่าเบี้ยเลี้ยงฯลฯ พ.ศ.2539 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 อัตราค่าจ้างคิดเป็น 360 บาทต่อวัน ระยะเวลาการจ้างงานสัญญาปีต่อปี ทำงานทุกวันคือ 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่เว้นวันหยุด พร้อมถูกหักเงินเข้าประกันสังคมด้วย

โดยจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนมาตลอด จนกระทั้งมีการร่างระเบียบขึ้นใหม่เพื่อปรับอัตราค่าจ้างขึ้นเป็น 480 บาท แต่สำนักงานเขตหลายแห่งไม่สามารถทำเรื่องเบิกค่าตอบแทนดังกล่าวได้ เพราะระเบียบไม่ได้ระบุค่าตอบแทนให้ทางสำนักงานเขตเป็นผู้จ่าย แต่ระบุให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นผู้จัดการเท่านั้น ให้ทำเรื่องเบิกจ่ายทำได้แต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ต่อมา สำนักวัฒนธรรมฯ ได้ยกเลิกระเบียบเดิม โดยไม่ทราบสาเหตุ จึงทำให้สำนักงานเขตหลายแห่ง ไม่สามารถอ้างถึงระเบียบการจ่ายใดๆ ได้เลย ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับอัตราค่าตอบแทนตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่เช่นเดิม ได้เงินเยียวยาตามโครงการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด19 เพียงเท่านั้น

"ฝากถึงผู้ว่าฯ กทม.ขอให้แก้ไขปัญหาให้กับลูกจ้างโครงการฯ ที่ได้รับความเดือดร้อนหลายพันคนได้รับเงินเดือนตามอัตราที่จ้างไม่ว่าจะเป็นระเบียบเดิมหรือระเบียบใหม่โดยเร็วที่สุด หรือจะเป็นการเบิกเงินสำรองจ่าย หรือเงินอื่นๆ ที่พึงกระทำได้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ทีมงานในระดับผู้ปฏิบัติงาน ได้มีพลังในการทำหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายเพื่อชาวกรุงเทพฯด้วย" นายเอกชัย กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 26/3/2564

รมว.แรงงาน สั่งบอร์ดอุทธรณ์หาแนวทางรักษาสถานะภาพผู้ประกันตน ม.39 กรณีสิ้นสภาพ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขา หลายแห่งทั่วประเทศ ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการอุทธรณ์ให้พิจารณากรณีที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแล้ว และต่อมาบางรายประสบปัญหาสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนเนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ระบุว่า ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จะถือว่าได้สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนแรกที่ขาดส่ง หรือกรณีที่ผู้ประกันตนให้หักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคาร แต่ยอดเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอ ทำให้สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และ สปส.แต่ละแห่ง ไม่สามารถวินิจฉัยเองได้ จึงได้ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาหาข้อยุติ

นายสุชาติ กล่าวว่า ตนได้มีนโยบายชัดเจนที่จะช่วยเหลือผู้ประกันตนในกรณีดังกล่าว เพื่อมิให้ต้องสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน จึงได้กำชับให้ คณะกรรมการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมี นายอาทิตย์ อิสโม เป็นประธาน เร่งพิจารณาถึงเรื่องนี้ เพื่อเสนอแนะไปยัง สปส.ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระเบียบของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการ กรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางระบบงานประกันสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแรงงาน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จะให้ความเห็นต่อ สปส.

“สำหรับขั้นตอนการยื่นคำร้อง เพื่อขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาโดยแสดงเหตุแห่งความจำเป็นนั้น ซึ่งจะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปก็ได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วัน นับแต่เหตุจำเป็นนั้นสิ้นสุดลง เพื่อไม่ให้ผู้ประกันตนต้องพ้นสภาพจากสถานะความเป็นผู้ประกันตน โดยนายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใด ที่ไม่พอใจในคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว จากนั้นคณะกรรมการอุทธรณ์จะพิจารณาวินิจฉัย แล้วแจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบ แต่หากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในระยะเวลาดังกล่าวให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด” นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายอาทิตย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้น คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ให้อนุกรรมการวิชาการไปพิจารณาศึกษารายละเอียดถึงแนวทาง เพื่อไม่ให้ผู้ประกันตนต้องสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนกรณีขาดส่งเงินสมทบ ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการอุทธรณ์ในครั้งนี้ จะเป็นที่มาและข้อเสนอแนะยัง สปส.ในการกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนต่อไป

ที่มา: มติชน, 26/3/2564

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net