Skip to main content
sharethis

'กทม.-ยูดีดีซี-ภาคีสถาปนิก-ชุมชน' เปิดแนวคิดฟื้นฟู 'สะพานเขียว' ให้เขียวยิ่งกว่าเชื่อมต่อโครงข่ายทางสัญจร เชื่อมต่อระบบนิเวศ เชื่อมต่อสังคมเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 คุณศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ร้อยตำรวจเอกพงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร สำรวจพื้นที่ทางเดินลอยฟ้า “สะพานเขียว” เชื่อมสวนลุมพินี เขตปทุมวัน กับ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย ระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร ก่อนเดินหน้าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สะพานเขียวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียว เสริมสร้างความปลอดภัย สร้างการเชื่อมต่อระดับย่าน-ระดับเมือง เป็นพื้นที่สุขภาวะของคนเมือง และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) นำภาคีเครือข่ายสถาปนิกนักออกแบบโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว ร่วมนำเสนอภาพอนาคตและแนวคิดการฟื้นฟูจากกระบวนการร่วมหารือกับชุมชนโปโลและชุมชนร่วมฤดีตั้งแต่ปี 2562

คุณศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมสะพานเขียวเป็นโครงสร้างทางสัญจรด้วยการเดินเท้าและจักรยาน แต่อยู่ในสภาพทรุดโทรมเนื่องจากมีอายุการใช้งานกว่า 20 ปี ส่งผลให้เกิดปัญหาประชาชนไม่กล้าใช้งานในช่วงกลางคืน เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ผลการศึกษาของภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงระบุว่า สะพานเขียวเป็นจุดเสี่ยงเกิดอาชญากรรม ต่อมาเมื่อปี 2562 พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดฟื้นฟูสะพานเขียวตามนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง โดยได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) นำภาคีเครือข่ายสถาปนิก ประกอบด้วย อะตอมดีไซน์, สตูดิโอใต้หล้า, แลนด์สเคป คอลลาบอเรชั่น และ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแสงสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมดำเนินการออกแบบ ภายใต้กระบวนการร่วมหารือกับชาวชุมชนร่วมฤดีและชุมชนโปโลอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

คุณไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (สนย.) กล่าวว่า โครงสร้างสะพานเขียวเป็นทางเดินและทางจักรยานยกระดับ ขนาดความกว้างสุด 7.59 เมตร เล็กสุด 3 เมตร ต่อมาได้ขยายระยะทางจากเดิม 300 เมตรเป็น 1.6 กิโลเมตร พร้อมแผนการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรง เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่างและกล้องซีซีทีวีเพื่อความปลอดภัย เสริมความเขียวด้วยพรรณพืชนานาชนิด นอกจากนี้ ยังมีจุดพักผ่อนชมทัศนียภาพและแลนด์มาร์ก 3 จุด บริเวณแยกถนนสารสิน ทางข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางข้ามถนนรัชดาภิเษก ด้านล่างของสะพานปรับพื้นที่รกร้างไม่เป็นระเบียบ ด้วยการทำความสะอาด ปรับพื้นที่โล่งเป็นลานกิจกรรม และค้าขายอย่างเป็นระเบียบ พร้อมปรับสภาพน้ำในคลองให้ใสสะอาด ไม่ส่งกลิ่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญด้านเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) กล่าวว่า UddC-CEUS ได้จัดกระบวนการร่วมหารือกับชาวชุมชนโปโลและชุมชนร่วมฤดีตั้งแต่ปี 2562 เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะความต้องการ และจับมือกับภาคีวิชาชีพสถาปนิกทุกสาขารับผิดชอบรายละเอียดการออกแบบฟื้นฟู ภายใต้โจทย์สำคัญ อาทิ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดเท่าที่สะพานจะรับน้ำหนักได้ คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ตามหลักการอารยสถาปัตย์ ออกแบบพื้นที่ให้สวยงามทั้งบนสะพานและใต้สะพาน สร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมือง ปรับปรุงพื้นที่ริมคลองไผ่สิงห์โตเป็นพื้นที่เรียนรู้ระบบนิเวศของเมือง ออกแบบแสงสว่างให้เพียงพอ สวยงาม สร้างความรู้สึกปลอดภัย ออกแบบระบบระบายน้ำให้มีการถ่ายเทและเชื่อมต่อกับระบบใหญ่ และออกแบบกฏกติกาการใช้งานพื้นที่และออกแบบระบบการบริหารจัดการพื้นที่ เป็นต้น 

“โครงการฟื้นฟูสะพานเขียวยังตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs Goal)  เนื่องจากเป็นพื้นที่สุขภาวะใหม่ของเมือง ส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในช่วงอายุ เส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่ย่านธุรกิจของเมือง เกิดพลวัตทางสังคมและเศรษฐกิจระดับเมือง เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ธุรกิจชุมชน ส่งเสริมการเดินเท้า รูปแบบการสัญจรของคนทุกกลุ่ม เพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับเชื่อมต่อและพักผ่อนหย่อนใจ ที่มีความปลอดภัยทั้งในระดับย่านและในระดับเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวเมืองอันจะเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดนิเวศสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และสร้างความร่วมมือผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม อันเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าว

ทั้งนี้ โครงการฟื้นฟูสะพานเขียวผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชนภาคีเครือข่ายสถาปนิก 5 กลุ่ม รับผิดชอบงานฟื้นฟู 5 องค์ประกอบ ดังนี้

1) The New City Landmark นำเสนอโดย  คุณไพทยา บัญชากิติคุณ กรรมการผู้จัดการ ATOM Design

จุดหมายตาแห่งใหม่ของเมืองที่ใจกลางกรุงเทพฯ สะท้อนแนวคิดหลักของโครงการ “THE NEW ICONIC URBAN SPACE” แลนด์มาร์กจะจัดวางใน 3 จุดสำคัญตลอดระยะ 1.3 กิโลเมตรของสะพานเขียว ประกอบด้วย สะพานลอยข้ามแยกวิทยุ-สารสิน, ทางลอยฟ้าเหนือทางพิเศษมหานคร, สะพานลอยถ.รัชดาทางเข้าสวนเบญจกิติ ทั้ง 3 จุดออกแบบให้สวยงาม โดดเด่น กลมกลืนกับพื้นที่บนสะพานเขียว มีโครงเหนือหัวที่สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นบางช่วง และเน้นวัสดุที่โปร่งเพื่อให้ความรู้สึกน่าสบายในการใช้งาน

2) The Sky Green Bridge นำเสนอโดย คุณธัชพล สุนทราจารย์ กรรมการผู้จัดการ Landscape Collaboration

เพิ่มความเขียวให้สะพานเขียวได้เขียวสมชื่อ ด้วยการเพิ่มเติมพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศกรุงเทพฯ เน้นพืชที่บำรุงรักษาง่าย พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของสะพานให้รับน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมทางลาดให้เหมาะสมกับกิจกรรมการเดิน-วิ่ง-ปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ยังมีแผนติดตั้งอัฒจันทร์สำหรับชมทัศนียภาพและศาสนสถานสำคัญ 2 ข้างทาง คือ โบสถ์พระมหาไถ่ของชาวคริสต์ และมัสยิดอินโดนิเซียของชาวมุสลิม

3) The Learning Wetland นำเสนอโดย คุณรัชวุฒิ วงศ์ฮึกหาญ กรรมการ Studio TAILA

ออกแบบสะพานเขียวโซนคลองไผ่สิงห์โตใกล้สวนเบญจกิติและโรงงานยาสูบ เป็นสวนลอยน้ำแห่งการเรียนรู้ ที่อุดมไปด้วยพืชที่มีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมจัดวางทางเดินลอยน้ำที่ยืดหยุ่นไปตามระดับน้ำขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ของเมืองเรื่องการบำบัดน้ำเสีย

4) The New Common Space นำเสนอโดย คุณชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์ / พิชนา ดีสารพัดสถาปนิกผังเมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

พื้นที่ส่วนกลางแห่งใหม่ของชุมชน ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ใต้สะพานเขียวเหนือคลองไผ่สิงห์โต ที่เดิมมีลักษณะมืดทึบและเข้าถึงการใช้งานได้ยาก สู่พื้นที่ทำกิจกรรมอเนกประสงค์ของชุมชนที่เปิดโล่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี และมีแสงสว่างใช้งานตลอดทั้งวันทั้งคืน พร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำใต้สะพานให้สะอาด

5) The Bridge of Light นำเสนอโดย ผศ.ดร. จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแสงสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 

ไม่เพียงเป็นการจัดวางศิลปะแสงไฟในพื้นที่สาธารณะ ที่ดึงดูดให้ชุมชนและคนทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ในยามค่ำคืนเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเสริมความปลอดภัยและความรู้สึกปลอดภัยต่อการใช้งานสะพานเขียวอีกด้วย แสงสว่างในยามค่ำคืนจำเป็นต้องเพียงพอต่อกล้องซีซีทีวีเมื่อจับใบหน้าผู้ใช้งาน ขณะเดียวกันก็ออกแบบแสงให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยรอบ และไม่กระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า

โครงการฟื้นฟูสะพานเขียว ริเริ่มโดย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS), บริษัท สตูดิโอ ใต้หล้า จำกัด, บริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด, บริษัท แลนด์สเคปคอลลาบอเรชัน จำกัด, ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแสงสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, บริษัท วิศวกรรมและสถาปนิก คิวบิค จำกัด และ บริษัท ไทย-ธรรม ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net