Skip to main content
sharethis

สื่อเรดิโอฟรีเอเชียสัมภาษณ์ทหารพม่าที่แปรพักตร์จากฝั่งเผด็จการไปอยู่ฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐประหาร  วิเคราะห์ปัจจัยอะไรที่ทำให้ทหารอีกจำนวนมากที่อยากจะแปรพักตร์จากกองทัพเผด็จการพม่าออกมาแต่ไม่ทำหรือไม่สามารถทำได้ ชี้ถึงความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในกองทัพพม่าจนทำให้เขาทนไม่ได้และต้องออกมา

พ.ต.เฮนทออู (Hein Thaw Oo) อดีตนายทหารพม่าสังกัดกองพลทหารราบเบาที่ 99
พ.ต.เฮนทออู (Hein Thaw Oo) อดีตนายทหารพม่าสังกัดกองพลทหารราบเบาที่ 99

พ.ต.เฮนทออู (Hein Thaw Oo) เป็นทหารพม่าในสังกัดกองพลทหารราบเบาที่ 99 ก่อนที่เขาจะหลบหนีออกมาจากฐานบัญชาการในเมกติลา มัณฑะเลย์ แล้วไปเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารในทางตะวันอกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ทำให้เฮนทออูเป็นผู้แปรพักตร์จากกองทัพพม่าที่เคยมียศสูงสุดจากข้อมูลที่มีในตอนนี้

ในยามที่กองทัพพม่าปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 ราย หลังจากที่ประชาชนประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 1 ก.พ. กองพลทหารราบเบาที่ 99 ที่เฮนทออูสังกัดอยู่นั้นก็เคยมีส่วนในการก่อเหตุโหดร้ายทารุณต่อมนุษย์ด้วยกันเอง กองพลหน่วยนี้เคยร่วมกับกองพลทหารราบเบาที่ 33 ใช้ความรุนแรงอย่างหนักในการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญามาก่อนในปี 2560 ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายพันคนเสียชีวิตและมี 745,000 คนต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ

เฮนทออูเปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนที่อยากจะเข้าร่วมกับฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านเผด็จการแต่พวกเขาแปรพักตร์ไม่ได้เพราะถูกมีข้อเสนอจูงใจทางการเงินและโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่พวกเขายังคงจงรักภักดีต่อกองทัพ ขณะเดียวกันครอบครัวของทหารเหล่านี้ก็ตกเป็นตัวประกันอยู่ภายใต้เงื้อมมือการควบคุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ

สื่อเรดิโอฟรีเอเชียได้ทำการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเฮนทออูในเรื่องที่ว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะแปรพักตร์จากกองทัพและกลุ่มผู้ชุมนุมกับรัฐบาลเงาที่จัดตั้งโดยอดีตพรรครัฐบาลที่ถูกก่อรัฐประหารควรจะทำอย่างไรเพื่อขจัดเผด็จการทหารออกไปได้

คำถาม : ทำไมคุณถึงตัดสินใจออกจากฐานทัพที่ตัวเองประจำการโดยไม่ขออนุญาต

เฮนทออู : มีเจ้าหน้าที่รายใหม่ๆ ที่เพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นพวกที่ฉ้อฉลเอาเรื่องเลย พวกเขากดขี่คนที่เป็นผู้น้อยไม่ว่าผู้น้อยเหล่านั้นจะซื่อตรงในหน้าที่มากแค่ไหน ถ้าคุณเป็นคนซื่อตรงคุณจะไม่มีทางได้รับการเลื่อนขั้นเป็นแน่แท้ พอถึงเวลาที่คุณได้ยศพันตรีในกองทัพคุณก็จะอยู่มานานพอที่จะได้เห็นเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี

คนพวกนี้จะใช้ยุทธวิธีทุกอย่างในการทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ลาออก เมื่อคุณได้ขึ้นเป็นคนยศสูงๆ พวกเขาก็จะเริ่มระแวงว่าพวกคุณจะทรยศพวกเขา เจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้จึงมักจะเสนอโอกาสต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ๆ ได้เลื่อนขั้น ในขณะที่่ทหารระดับล่างๆ แทบไม่มีจะกิน

"มีประเทศที่ไหนบ้างที่ทหารชั้นผู้น้อยต้องจำใจกินกาบกล้วย?" เฮนทออูพูดถึงสภาพขัดสนของทหารชั้นล่างในพม่า

เฮนทออูยังพูดถึงการเลือกปฏิบัติในวงการทหารอีกว่า พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงเอาผิดกับทหารชั้นผู้น้อยที่รับสินบนเล็กๆ น้อยๆ 200,000-300,000 จ๊าด (ราว 4,400-6,700 บาท) ในขณะที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับกรณีเจ้าหน้าที่มียศตำแหน่งรับสินบน 300 ล้านจ๊าด (ราว 6.7 ล้านบาท) หรือบางทีก็ถึงขั้น 1,000 ล้านจ๊าด (ราว 22 ล้านบาท)

ถึงแม้ว่ากองทัพจะการันตีว่าเจ้าหน้าที่ทหารสามารถลาออกได้เมื่อรับราชการครบ 10 ปีแล้ว แต่ในความเป็นจริงพวกเขาไม่อนุญาตให้ใครก็ตามที่อยากจะลาออก ออกจากราชการได้ พวกเขาจะหาข้ออ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารต้องเป็นเจ้าของบ้านถึงจะสามารถลาออกได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติเพราะคนที่เป็นทหารในแนวหน้าจะมีเงินเดือนไม่มากพอที่จะซื้อบ้านได้ นั่นทำให้เจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดดิ้นรนด้วยการรับสินบนในขณะที่ยังคงต่ออายุราชการไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวเฮนทออูเองบอกว่าเขาไม่สามารถจะคงอยู่ในระบบทหารแบบนี้ได้อีกต่อไปถึงได้ออกมา

คำถาม : คุณคิดอย่างไรกับการรัฐประหาร

เฮนทออู : พวกเขา (กองทัพ) มักจะวางแผนก่อรัฐประหารอยู่เสมอ มันไม่ใช่เรื่องใหม่ พวกผู้นำกองทัพกลัวว่าพวกเขาจะสูญเสียอำนาจไป

คำถาม : คุณทราบหรือไม่เรื่องที่มีแผนการรัฐประหารล่าสุด

เฮนทออู : ใช่ ผมรู้

คำถาม : คุณรู้เรื่องแผนการก่อรัฐประหารตั้งแต่เมื่อไหร่

เฮนทออู : ผมเห็นเค้าลางของมันมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ก่อนที่พวกเขาจะเปลี่ยนผ่านอำนาจให้กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ผมได้ยินข้อมูลที่เปิดเผยออกมามากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

คำถาม : ข้อมูลแบบไหนหรือ

เฮนทออู : ก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (วันที่ 8 พ.ย. 2563) กลุ่มผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการพิเศษของกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นกลุ่มระดับ พล.ท. เดินสายไปตามหน่วยบัญชาการต่างๆ ทั่วประเทศ พวกเขาคอยสั่งสอนทหารเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความสามัคคีภายในหมู่ทหาร เป็นหัวข้อที่พูดอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ พวกเขาคอยซักถามเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีหน่วยทหารใดๆ ที่แตกแถวไม่ว่าจะมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกมากเท่าใดก็ตาม เมื่อผมลองนึกย้อนไปถึงคำปราศรัยบางอันช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งแล้ว ผมก็รู้ว่าการรัฐประหารกำลังคืบคลานเข้ามา

คำถาม : อะไรที่เป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เรียกว่า "Spring Revolution" ประสบความสำเร็จ

เฮนทออู : ควรจะมีความสามัคคีกันเกิดขึ้นระหวางกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ มีเรื่องความสมัครสมานเหล่านี้อยู่แล้วในจิตใจของประชาชนอยู่แล้วแต่มันไม่สามารถนำมาปรับใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นบนภาคพื้นดินได้ เพราะมีกลุ่มคนที่คอยเป็นสายลับและผู้สอดแนมอยู่ในหมู่ประชาชน ความสมัครสมานสามัคคีนี้ควรจะต้องทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง

มีคำกล่าวที่กองทัพต่างๆ ในโลกมักจะพูดอยู่ทั่วไปคือทหารจะต้องรู้จักศัตรูและรู้จักตัวเอง ถ้าหากพวกเขาต่อสู้โดยไม่รู้สองอย่างนี้พวกเขาจะแพ้ ถ้าหากขบวนการอารยะขัดขืนยังคงดำเนินต่อไปก็จะมีความต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกลดลง แต่ถ้าหากมันผิดพลาดก็จะมีความต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกมากขึ้น

ถ้าหากคุณจะทำอะไรสักอย่างคุณจะต้องมีแผนการ คอยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะได้หรือเสีย ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะมีคนเสียชีวิตต่อไปเรื่อยๆ คุณจะต้องเลือกตั้งผู้นำที่ดีและคอยทำตามคำชี้แนะของผู้นำ ในสงครามนั้นใครก็ตามที่รอดชีวิตจากการสู้รบจะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์

คำถาม : คุณประเมินกำลังของกองทัพพม่าไว้ยังไง

เฮนทออู : ในหมู่ทหารชั้นผู้น้อยบางคนกำลังต่อสู้อยู่ในแนวหน้าในขณะที่คนอื่นๆ ไม่ได้รบที่แนวหน้า มีทหารหลายคนที่ไม่มีความคุ้นเคยกับการสู้รบ พวกเขาอาจจะยิงปืนเป็น แต่พวกเขาจะยิงไม่โดนเป้าหมาย อย่างมากที่สุดก็คงมีทหารประมาณ 200,000 นายในกองทัพที่สามารถใช้อาวุธปืนได้อย่างชำนาญ แต่ถึงสุดท้ายแล้ว ปัจจัยที่จะเป็นตัวตัดสินจริงๆ ในการเอาชนะการสู้รบไม่ใช่ปืน แต่มันเป็นปืนใหญ่และปฏิบัติการที่อยู่เบื้องหลังอาวุธนี้

คำถาม : ถ้าหากแผนการจัดตั้งกองทัพสหพันธรัฐ (กองทัพแนวร่วมกลุ่มต่อต้านกองทัพเผด็จการพม่า) เดินหน้าต่อไป โอกาสที่ทหารพม่าจะแปรพักตร์และเข้าร่วมกองกำลังใหม่หรือไม่

เฮนทออู : ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้หวังจะแปรพักตร์จะได้รับความปลอดภัยสำหรับตัวเองและครอบครัวมากน้อยเพียงใด มีทหารส่วนใหญ่ที่อยากจะเป็นพวกเดียวกับองค์กรที่มีความยุติธรรม แต่พวกเขาก็ถูกสกัดกั้นโดยสิ่งจูงใจ พวกเขาถูกปิดกั้นไม่ให้ทำมันจากความกลัว พวกเขายังถูกปลูกฝังความเชื่อที่ฝังรากลึก แล้วพวกเขาก็เป็นห่วงครอบครัวด้วย พวกเขากลัวว่าครอบครัวจะถูกลงโทษถ้าหากจากสิ่งที่พวกเขากระทำ มีบางคนที่ได้รับทรัพย์สมบัติ ความมั่งคั่ง และตำแหน่งเพื่อจูงใจให้พวกเขาอยู่ต่อไป

ถ้าหากแผนการจะจัดตั้งกองทัพสหพันธรัฐฯ และองค์กรได้สำเร็จนั้นจะต้องทำการลบความกลัว-องพวกเขาให้ได้ พวกเขาก็จะเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ถ้าหากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสามารถจัดตั้งอาณาเขตอิสระและมีฐานในเมืองได้พวกเราก็จะได้เห็นความแตกแยกภายในกองทัพเอง

คำถาม : มีเจ้าหน้าที่หรือทหารอื่นๆ ในกองทัพที่กำลังพิจารณาอยากออกมาโดยไม่ขออนุญาตไหม

เฮนทออู : ใข่ มีอยู่ พวกเขาอาจจะกำลังคิดอยู่ก็ได้ว่าจะใช้ช่องทางไหนดี

คำถาม : คุณจะทำงานร่วมกับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ*ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นไหม (*รัฐบาลเงาที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักการเมืองในรัฐบาลเดิมที่ถูกก่อรัฐประหาร เช่น อองซานซูจี เป็นความพยายามประกาศความชอบธรรมเหนือรัฐบาลเผด็จการทหาร)

เฮนทออู : มันขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ถ้าพวกเขาต้องการผม ผมก็เต็มใจจะช่วยเหลือพวกเขา

 

เรียบเรียงจาก
Interview: ‘Military Leaders Are Afraid of Letting Their Power Go’, Radio Free Asia, 20-04-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net