Skip to main content
sharethis

สหภาพยุโรปประกาศจะอนุญาตให้ชาวอเมริกันที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ครบทุกโดสแล้วให้เดินทางเข้ายุโรปได้ภายในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ (ราวเกือบปลายเดือน มิ.ย.-เกือบปลายเดือน ก.ย.) แต่ต้องเป็นวัคซีนในกลุ่มที่สำนักงานการแพทย์ยุโรปกำหนดให้เท่านั้น ทั้งนี้อียูยังจะสั่งฟ้องร้องแอซตราเซเนกาที่ส่งวัคซีนให้กับประเทศต่างๆ ได้ไม่ตรงตามที่ให้สัญญาไว้

ชาวอเมริกันที่ได้รับวัคซีน COVID-19 ครบถ้วนแล้วจะสามารถเดินทางเข้าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ภายในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือคือในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า จากประกาศล่าสุดของสหภาพยุโรป

ประกาศของอียูที่ออกมาเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2564 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายเดิมของอียูที่ออกมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ที่มีการสั่งห้ามคนเดินทางเข้ายุโรปแต่ก็มีการเปิดให้เดินทางข้ามไปมาระหว่างประเทศยุโรปได้ในช่วงฤดูร้อนของปีที่แล้ว ขณะที่สหรัฐฯ ถูกกันออกจากรายชื่ออนุญาตให้เดินทางเจ้าเพราะการระบาดหนักที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงมากเกินไป

อูร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าพวกเขาอนุญาตชาวอเมริกันให้เดินทางเข้ายุโรปได้เพราะพวกเขาใช้วัคซีนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการแพทย์ยุโรป (E.M.A.) วัคซีนที่พวกเขารับรองในที่นี้ได้แก่ ไฟเซอร์ (Pfizer) ไบโอเอ็นเทค (BioNTech)  โมเดิร์นนา (Moderna) และของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)

"สมาชิกของสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศจะยอมรับ(การเข้าประเทศ)อย่างไม่มีเงื่อนไขสำหรับบุคคลทุกคนที่ได้รับวัคซีนชนิดที่ได้รับการรับรองจาก E.M.A." ฟอน เดอ เลเยน กล่าว

ก่อนหน้านี้อียูและสหรัฐฯ ยังหารือกันเรื่องที่ว่าจะใช้หลักฐานรับรองการฉีดวัคซีนแบบไหนในการเดินทางข้ามประเทศ ซึ่งทางอียูเสนอให้มีระบบ "หนังสือเดินทางวัคซีน" ซึ่งจะทำให้ประชากรในกลุ่มสมาชิกประเทศอียูเดินทางไปมาระหว่างประเทศสมาชิกได้สะดวกขึ้นนับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนประเทศซีกโลกเหนือที่จะถึงนี้

ในประกาศเกี่ยวกับเรื่องสหรัฐฯ นั้น อียูยังไม่ได้ระบุตารางเวลาที่ชัดเจนว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ตั้งแต่วันไหนถึงวันไหนบ้าง

ในช่วงนี้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ SARS-COV2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ในสหรัฐฯ ค่อนข้างคงตัว มีเพิ่มมากขึ้นแค่ในบางรัฐ ขณะที่จำนวนตัวเลขผู้รับวัคซีนอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 3 ล้านคนต่อวัน จากตัวเลขของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมาระบุว่า มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วมีจำนวนร้อยละ 36 ของประเทศ

ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศผู้นำในด้านการให้วัคซีนแต่ในตอนนี้สหรัฐฯ ก็อาจจะยังต้องพยายามเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับชุมชนหรือ herd immunity ให้ได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะความเร็วในการกลับมาเปิดให้คนใช้ชีวิตข้างนอกได้และขึ้นอยู่กับว่าไวรัสมีการผ่าเหล่าไปมากขนาดไหน อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะเป็นอุปสรรคทำให้สหรัฐฯ มีการรับวัคซีนช้าลงคือเรื่องความลังเลในการรับวัคซีน

เมื่อไม่นานนี้สหภาพยุโรปยังได้ดำเนินมาตรการทางกฎหมายต่อบริษัทยาแอสตราเซเนกาในเรื่องที่ฝ่าฝืนข้อตกลงจากการที่พวกเขาจัดส่งวัคซีน COVID-19 ได้ไม่มากเท่าที่สัญญาไว้ จากเดิมที่ทางบริษัทให้สัญญาว่าจะดำเนินการส่งวัคซีนให้อียู 180 ล้านโดสในไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งจะจัดส่งรวมทั้งหมด 300 ล้านโดสในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค. 2563 - มิ.ย. 2564 แต่ต่อมาในวันที่ 12 มี.ค. แอสตราเซเนกาก็ประกาศว่าจะส่งให้ได้ 1 ใน 3 ของที่สัญญาไว้เท่านั้น

ฝ่ายแอสตราเซเนกาแถลงเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลและจะให้การแก้ต่างตัวเองเรื่องนี้ในชั้นศาล


เรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net