Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคม กังวลผู้ลี้ภัยอาจถูกผลักดันกลับ หลัง จนท.สั่งห้ามผู้ลี้ภัยถ่ายรูป หรือให้ข้อมูลนักข่าว ชาวบ้านท่าตาฝั่ง จ.แม่ฮ่องสอน กังวลเครื่องบินรบพม่าประชิดชายแดนไทย หวั่นโดนลูกหลง ด้านรัฐบาลเงาของพม่า NUG ปฏิเสธเจรจากับกองทัพพม่า จนกว่าจะปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด

การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2564 (ที่มา Khit Thit Media)
 

29 เม.ย.64 มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (Friends without Borders) เปิดเผยสถานการณ์การสู้รบในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ุ64 มีการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพเมียนมาประมาณ 7 ครั้ง โดยมีการทิ้งระเบิดบริเวณใกล้และทางเหนือของพื้นที่ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในอิตูทา (IDPs) จังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง 2 ครั้ง และ 5 ครั้งบริเวณดากวิน ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  

การโจมตีส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยอพยพหนีภัยสงคราม และการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบพม่าข้ามมาฝั่งไทย มีหลายกลุ่มที่เข้ามาเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2564 และช่วงกลางคืนอพยพข้ามมาฝั่งไทย ราว 200-300 คน โดยเจ้าหน้าที่ไทยก็รับเข้ามา พร้อมกับให้ความช่วยเหลือ โดยชาวบ้านกล่าวขอบคุณทหารพรานไทยที่อนุญาตให้เข้ามาหลยภัย อีกทั้งยังยินยอมให้อยู่บริเวณที่มีน้ำใช้ตามที่ชาวบ้านร้องขอ 

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ระบุเพิ่มว่า ทางผู้ลี้ภัยยังมีอาหารพอสำหรับรับประทาน แต่คาดว่าจะมีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้ผู้ลี้ภัยน่าจะกระจาย ๆ อยู่ตามแนวชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า ทางการไทยจะปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยอย่างไร 

เวลาประมาณ 12.30 น. มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก แฟนเพจ “Friends without Borders” แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยอาจถูกผลักกลับ เนื่องจากขณะนี้เจ้าหน้าที่ไทยสั่งห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยถ่ายรูป หรือส่งภาพให้กับสำนักข่าวใดๆ สิ่งที่ผู้ลี้ภัยหวาดกลัวมากที่สุด คือการที่ทหารไทยจะผลักดันพวกเขากลับภายใน 48 ชั่วโมง หรือทันทีที่เครื่องบินเงียบเสียงไปไม่กี่ชั่วโมงเหมือนครั้งก่อน เพื่อที่จะไม่ต้องโยกย้ายพวกเขาไปยังพื้นที่ที่เตรียมไว้ หรือยินยอมให้มหาดไทยกับหน่วยงานมนุษยธรรมเข้าถึงตามที่มีการแถลงข่าวไว้

ดังนั้น เพื่อนไร้พรมแดน เรียกร้องรัฐไทยไม่ปฏิเสธการลี้ภัย และไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับแม้เสียงระเบิดและปืนกลจะสงบไปชั่วคราว  การส่งกลับจะต้องเป็นการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และไม่อาจตัดสินได้จากการที่เครื่องบินรบหยุดบินไปเพียงครึ่งวันหรือหนึ่งวัน  

ข้อเรียกร้องต่อมา ให้หน่วยงานความมั่นคงเปิดทางให้ความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมไทยได้เข้าถึงผู้ลี้ภัยที่กำลังทุกข์ยากอยู่ในขณะนี้ และยินยอมถ่ายโอนความรับผิดชอบให้กับมหาดไทยและองค์กรมนุษยธรรมที่มีประสบการณ์

การปกปิดไม่ให้เห็นภาพผู้ลี้ภัยไม่ได้ทำให้พวกเขาหายไป ผู้ลี้ภัยอยู่ที่นี่ ในขณะนี้ ขอให้ทั้งหลายช่วยกันส่งเสียงเพื่อให้รัฐไทยทำในสิ่งที่ถูกต้องสักครั้ง

ขณะที่สำนักข่าว The Reporters รายงานสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า จาก ต.บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 29 เม.ย. ระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นำโดย ทหาร หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 ร่วมกับ อส. และ อบต.แม่สามแลบ ตั้งจุดตรวจบริเวณหน้า อบต.แม่สามแลบ ห้ามบุคคลภาพนอก และสื่อมวลชน เข้าไปในพื้นที่ บ้านแม่สามแลบ อ.สบเม จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.64 ด้านศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน ที่ให้ปิดจุดผ่อนปรนการค้านบ้านแม่สามแลบ และห้ามล่องเรือในแม่น้ำสาละวิน

ชาวบ้านกังวลเรื่องความปลอดภัย หลังเครื่องบินรบพม่าบินประชิดชายแดน 

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 ตามที่มีคลิปวิดีโอถ่ายโดยชาวบ้านหมู่บ้านแม่ตาฝั่ง พบเห็นมีเครื่องบินรบจากกองทัพพม่าบินประชิดชายแดนไทยเข้ามาจนชาวบ้านสามารถถ่ายวิดีโอเห็นเครื่องบินไว้ได้ 

ชาวบ้านบางรายกล่าวว่ารู้สึกเหมือนมีเครื่องบินบินผ่านเหนือหัวไปเลย จึงทำให้ชาวบ้านท่าตาฝั่งมีความหวาดกลัว และหนีเข้าไปอยู่ในป่า เนื่องจากหวั่นเกรงอันตราย 

ดังนั้น ประชาชนจึงมีข้อทวงถามรัฐไทย ทำไมปล่อยให้เครื่องบินรบของประเทศอื่น บินใกล้ชายแดนไทยขนาดนี้ 

ภาพเงาเครื่องบินรบจากฝั่งพม่า ถ่ายโดยชาวบ้านท่าตาฝั่ง เมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 (ที่มา สำนักข่าวชายขอบ)
 

รัฐบาลเงา NUG จะเจรจากองทัพพม่าต่อเมื่อมีการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด

สำนักข่าว เรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia - RFA) รายงานวันที่ 28 เม.ย.64 ระบุว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือรัฐบาลคู่ขนานของพม่า แถลงเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 ปฏิเสธการเจรจากับกองทัพพม่า ซึ่งทำรัฐประหารยึดกุมอำนาจบริหารประเทศจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อ 1 ก.พ.64 จนกว่าจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด มากกว่า 3,000 ราย 

จ่อโมทุน ผู้แทนถาวรสหประชาชาติ จากพม่า ภาพเมื่อวันที่ 27 ก.พ.64
 

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย บรรลุฉันทามติ 5 ข้อต่อการคลี่คลายวิกฤตเมียนมา โดยการจัดเวทีเจรจาระหว่างฝ่ายพรรคการเมืองพลเรือน และกองทัพพม่า และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง และใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด 

หลังการประชุมฯ สมาชิกรัฐมนตรีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 เม.ย.64 ระบุว่า พวกเขาจะไม่เข้าร่วมการเจรจาจนกว่าจะมีการปล่อยตัวผู้นำทางการเมือง จากพรรคสันนิตบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อย่างประธานาธิบดี วินมยิ้ด และที่ปรึกษา อองซานซูจี นอกจากนี้ สมาชิกรัฐบาล NUG ยังเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนและชาติอื่น ๆ ยอมรับรัฐบาล NUG เป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมของเมียนมา 

“เพื่อให้การเจรจามีความหมาย มันชัดเจนว่า หนทางเดียวที่เป็นไปได้คือผู้นำของเราได้รับการปล่อยตัว” จ่อโมทุน ผู้แทนถาวรองค์กรสหประชาชาติจากเมียนมา ให้สัมภาษณ์ RFA  

“พวกเราเชื่อว่า ถ้าใดก็ตามมีการปล่อยตัวผู้นำทางการเมือง การเจรจาจะมีความยุติธรรมและความหมาย” จ่อโมทุน กล่าวเพิ่ม 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งกองทัพพม่าทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน มีการจับกุมผู้นำพรรครัฐบาล ขณะที่บางรายต้องหลบหนีการจับกุม ซึ่งนักการเมืองพลเรือนที่เหลือของ NLD มาร่วมกันก่อตั้ง NUG 

ผู้นำทางการเมืองและนักวิเคราะห์การเมืองเมียนมา วิเคราะห์ว่า ท่าทีของอาเซียนไม่ยุติธรรมกับฝั่งสนับสนุนประชาธิปไตย และถือเป็นการช่วยเหลือกองทัพพม่าให้อยู่ในอำนาจได้นานขึ้น 

สมาชิก NUG ยังระบุว่า การปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากกว่า 3,400 คน ที่ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพพม่าต่างหาก คือเงื่อนไขการแก้ไขวิกฤตเมียนมาที่ถูกที่ควร

อนึ่ง รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายชุมนุมของกองกำลังความมั่นคงเมียนมาตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา จนถึง 28 เม.ย. 2564 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 756 ราย มีประชาชนถูกกองทัพพม่าควบคุมตัวในข้อหาทางการเมือง 4,501 ราย มีประชาชนถูกควบคุมตัว/ตัดสินจำคุก 3,449 ราย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net