Skip to main content
sharethis

'เพื่อนไร้พรมแดน' ร้องรัฐยกเลิกการสกัดกั้นนักข่าว-ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ผู้ลี้ภัยได้ กต.แถลงตัวเลขผู้ลี้ภัยสงครามข้ามมาฝั่งไทยเกิน 2,000 คนแล้ว ขณะที่มีคลิปวิดีโอเผยให้เห็นเครื่องบินไม่ทราบฝ่ายบินอยู่ใกล้บริเวณบ้านท่าตาฝั่ง 

ภาพผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 (ที่มา Karen Information Center-KIC)
 

30 เม.ย.64 มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ เพจ ‘Friends Without Borders Foundation’ วันนี้ (30 เม.ย.) เรียกร้องให้รัฐไทยไม่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และเส้นทางความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม นอกจากจะมีคำสั่งไม่ให้เผยแพร่รูปภาพหรือวิดีโอออกไปแล้ว เช้าวันนี้ (30 เม.ย.) ยังไม่มีหน่วยงาน สื่อมวลชน หรือกลุ่มประชาชนอื่นใด สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยมากกว่า 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้พักหลบภัยอยู่ที่โกลปา ตอนเหนือของแม่สะเกิบ ตรงข้ามค่ายผู้พลัดถิ่นภายในอิตูทา โดยผู้นำชาวบ้านขอร้องทหารพรานให้อนุญาตให้พวกเขาพักอยู่ได้ราว 10 วันเป็นอย่างน้อย หรือหากสถานการณ์สงบก่อนหน้า พวกเขาก็จะกลับกันโดยทันที แต่เจ้าหน้าที่ไทยก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ 

“รัฐไทยควรได้รับบทเรียนจากการดำเนินการรับกับวิกฤตผู้ลี้ภัยเมื่อปลายมีนาคม-ต้นเมษายนว่า การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดกับรัฐไทย นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของรัฐที่จะดำเนินตามแผนเผชิญเหตุตามหลักสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรม ฝนที่ตกมาอย่างหนักหน่วงเมื่อคืน ก่อให้เกิดน้ำห้วยเอ่อล้น พัดพาข้าวของและอาหารที่มีอยู่น้อยนิดของผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งไปด้วย ผ้าเต็นท์พลาสติกลายทางสีฟ้าที่มีอยู่ ไม่เพียงพอที่จะกั้นพวกเขา ซึ่งมีทั้งเด็ก หญิงมีครรภ์ คนชราและผู้ป่วย จากการเปียกปอนได้”

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ระบุด้วยว่า ประชาชนไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การรับผู้ลี้ภัยจะต้องมีความโปร่งใส ผู้ลี้ภัยจะต้องสามารถเข้าถึงได้ และได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่มีน้ำใจจากสังคมไทยส่งไปให้อย่างล้นหลาม เราขอยืนยันข้อเรียกร้อง 5 ข้อ 1.รัฐจะต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย  2.ความรับผิดชอบในการจัดการดูแลคุ้มครอง จะต้องถ่ายโอนให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น และองค์กรมนุษยธรรม 3.รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น หากควรอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย 4.รัฐจะต้องอนุญาตให้ UNHCR เข้าถึงผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่หลบหนีการปราบปรามของกองทัพพม่าเข้ามาอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์และอาจปะปนเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย โดยสามารถใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 และ 5.การตัดสินใจส่งกลับผู้ลี้ภัยจะต้องมีความโปร่งใส ไม่ใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นบทบาทร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย 

กต.เผยตัวเลขผู้หนีภัยข้ามมาฝั่งไทยมากกว่า 2 พันคน

ในวันเดียวกัน ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวประจำสัปดาห์กรณีสถานการณ์ชายแดนไทยพม่าว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU-KNLA เข้าโจมตีฐานที่มั่นของพม่า ใกล้ชายแดนที่ จ.แม่ฮ่องสอน การปะทะและการการโจมตีทางอากาศของทหารพม่า เพื่อตอบโต้ ทำให้ราษฎรไทยได้รับผลกระทบ 2 พื้นที่ คือ บ้านแม่สามแลบ และบ้านท่าตาฝั่ง ต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย 

ภาพผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 (ที่มา Karen Information Center-KIC)
 

ธานี กล่าวเพิ่มว่า สำหรับผู้หนีภัยจากความไม่สงบในพม่าที่หลบหนีข้ามมายังฝั่งไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว และดำเนินการ มีพื้นที่แรกรับในการกำกับดูแลของทหาร โดยจะมีการคัดกรองโควิด-19 ขณะนี้มีผู้หนีภัยอยู่ในพื้นที่แรกรับใน อ.แม่สะเรียง จำนวน 2,267 คน หากการสู้รบรุนแรงและยืดเยื้อ มีแผนเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่พักรอ ห่างจากชายแดน 1 กิโลเมตร โดยมีหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนดูแลต่อไป ขณะนี้ยังไม่เปิดรับบริจาค

ศูนย์สั่งการชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน แถลงอากาศยานพม่าไม่ได้รุกล้ำฝั่งไทย

ขณะที่ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงข่าวประจำวันที่ 30 เม.ย.64 ว่า สถานการณ์การสู้รบฝั่งพม่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 ได้ยินเสียงอากาศยานไม่ทราบแบบ บริเวณเหนือฐานทหารพม่า ฐานดากวิน ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จากนั้นโจมตีทางอากาศโดยรอบฐาน ไม่ทราบความสูญเสีย เวลา 23.00 น บริเวณฐานดากวิน ได้ยินเสียงเครื่องยิงลูกระเบิด และเสียงปืนเล็กจากทั้งสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น น่าจะเป็นการยิงตอบโต้กัน ไม่ทราบการสูญเสีย

ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า ระบุว่า วันที่ 30 เมษายน เวลา 2.20 น ทหารพม่าได้ใช้เครื่องบินรบไม่ทราบแบบ ปฏิบัตการโจมตีทางอากาศ รอบฐานดากวิน 1 ลำ ทิ้งระเบิด 2 ลูก ทางทิศตะวันตก ห่างจากฐานประมาณ 500 เมตร จากนั้น มีการใช้อาวุธตอบโต้กันอย่างหนาแน่น 

นอกจากนี้ ศูนย์สั่งการฯ แถลงเพิ่มว่า ในห้วงที่ผ่านมา อากาศยานของพม่าไม่ได้บินรุกล้ำน่านฟ้าเข้ามาในฝั่งไทย และการโจมตีทางอากาศของพม่าต่อเป้าหมายกองกำลังชนกลุ่มน้อยเชื้อสายกะเหรี่ยงในฝั่งพม่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อฝั่งไทย และยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิด หรือรุกล้ำอธิปไตยของไทย ในสถานการณ์ปัจจุบันกองกำลังนเรศวร โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ 

ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า จ.แม่ฮ่องสอน ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน เวลา15.00 น.เป็นต้นมา มีราษฎรชาวพม่าเดินทางข้ามมายังฝั่งประเทศไทยโดยทางเรือ ซึ่งทางหทารได้จัดให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยอีนวล ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง ณ ปัจจุบันมีราษฎรชาวพม่าที่เดินทางข้ามมาฝั่งไทยจากเหตุความไม่สงบในพม่า พักในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 2,267คน ดังนี้ พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ห้วยอีนวล 267 คน ห้วยโกเฮ 72 คน ตรงข้ามห้วยอุมปะ 1,767คน ตรงข้ามห้วยออเลาะ 159 คน

แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงชายแดน กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยการสู้รบจากการโจมตีทางเครื่องบินของกองทัพพม่าทยอยเดินทางข้ามฝั่งเพื่อพักพิงบริเวณชายแดนไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ตัวเลขผู้ที่หนีภัยจากฝั่งพม่าสูงกว่า 2,267 คนตามทางการแถลงไว้

ชาวบ้านไทยจับภาพเครื่องบินไม่ทราบแบบ และฝ่าย บินใกล้ฝั่งชายแดนไทย 

ผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับแจ้งจากแหล่งข่าว เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 เวลา 14.40 น. เป็นคลิปวิดีโอความยาว 20 วินาที เผยให้เห็นสภาพภูมิประเทศป่า-เขา พร้อมเสียงคล้ายการยิงปืน จนกระทั่งวินาทีที่ 10 ผู้สื่อข่าวพบเงาเครื่องบินไม่ทราบสังกัดและรูปแบบบริเวณซ้าย-บน บินเฉียดใกล้ชายแดนไทย บ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

คลิปวิดีโอจับภาพเครื่องบินไม่ทราบฝ่าย เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 เวลา 14.40 น.
 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากที่ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า แถลงว่า ในห้วงที่ผ่านมา อากาศยานของพม่าไม่ได้บินรุกล้ำน่านฟ้าเข้ามาในฝั่งไทย และการโจมตีทางอากาศของพม่าต่อเป้าหมายกองกำลังชนกลุ่มน้อยเชื้อสายกะเหรี่ยงในฝั่งพม่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อฝั่งไทย และยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิด หรือรุกล้ำอธิปไตยของไทย 

ทั้งนี้ นี่ไม่ไช่ครั้งแรกที่มีวิดีโอสามารถบันทึกภาพเครื่องบินไม่ทราบฝ่ายบินโฉบมาใกล้ชายแดนไทยได้ โดยครั้งแรกที่มีคลิปวิดีโอจับภาพได้คือเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net