Skip to main content
sharethis

สถานการณ์โควิดระบาดคลองเตย ศบค.สั่งฉีดวัคซีน ด่วนพรุ่งนี้ 2 จุด ตั้งเป้า 2-3 พันต่อวัน 'หมอมิ้ง' แนะ 5 ภารกิจจัดการ 'ชูวิทย์' เตือนรัฐอย่าปิดบังตัวเลข

 

 

3 พ.ค.2564 จากกรณีการรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะ 'คลัสเตอร์คลองเตย' ซึ่งอาจกลายมาเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากเป็นชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นและแออัด ในขณะที่น่าจะมีผู้ป่วยอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมากนั้น

ศบค.สั่งฉีดวัคซีน ด่วนพรุ่งนี้ 2 จุด ตั้งเป้า 2-3 พันต่อวัน

ล่าสุดวันนี้ (3 พ.ค.64) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ภายหลังการประชุมศบค. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน หารือนัดพิเศษ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการให้บริการวัคซีน โดยเฉพาะกรณีคลัสเตอร์ชุมชนคลองเตย

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า นายกฯ ได้กำชับให้เร่งกระจายวัคซีน ซึ่งจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ชุมชนคลองเตยในวันที่ 4 พ.ค.ใน 2 จุด คือ ที่โลตัสพระราม 4 และโรงเรียนคลองเตยวิทยา ตั้งแต่เวลา 13.00 น.  คาดว่าจะฉีดได้ประมาณ 1,000 คน ขณะที่วันต่อไปจะสามารถฉีดได้วันละ 2-3 พัน ขณะเดียวกัน เร่งเดินหน้าตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้ได้วันละ 1,000 คน จนถึงวันที่ 19 พ.ค.คาดว่าจะได้ถึง 20,000 คนจากคนในชุมชน 8.5 หมื่น-9 หมื่นคน ส่วนคลัสเตอร์คลองเตยไม่สามารถซีนได้เหมือนที่ จ.สมุทรสาคร เพราะมีประชาชนจำนวนแตกต่างกับที่ จ.สมุทรสาคร และเป็นพื้นที่จำกัด จำนวนประชาชนน้อย พร้อมขอความร่วมมือประชาชนทำความเข้าใจในการป้องกันตัวเอง พยายามเลี่ยงออกนอกบ้าน

'หมอมิ้ง' แนะ 5 ภารกิจจัดการ

เพจ CARE คิด เคลื่อน ไทย และพรรคเพื่อไทย รายงาน ข้อเสนอ "หยุดคลัสเตอร์คลองเตย" ของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ 'หมอมิ้ง' นึ่งในผู้ประสานงาน กลุ่ม CARE และอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ระบุว่า

เร่งผนึกกำลังจัดการคลัสเตอร์คลองเตย

ข่าวการลุกลามขยายตัวผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตยตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัญญาณเตือนที่น่าเป็นห่วงยิ่ง เพราะชุมชนคลองเตยมีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น และผู้อยู่อาศัยหาเลี้ยงชีพด้านบริการที่ต้องออกมาพบปะผู้คน และ Work from Home ไม่ได้ ส่วนใหญ่มีโอกาสทำงานที่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองเช่นบริการ delivery ไม่น้อย และมีข่าวว่าเริ่มมีผู้ติดเชื้อไปรับบริการฉุกเฉินที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มากผิดปกติ การจัดการควบคุมโรคต้อง ‘ดำเนินการอย่างเข้มข้นเป็นฝ่ายรุก’

ศบค. ต้องร่วมกับ ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ต้องมาบัญชาการอย่างใกล้ชิด ระดมความร่วมมือระหว่าง กทม. กับกระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลของ กทม., เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขของกทม. และโรงพยาบาลของรัฐอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลโรงงานยาสูบของกระทรวงการคลัง ตลอดจนกำลังอาสาสมัครของมูลนิธิ หรือ NGO ที่ทำงานอยู่ในชุมชนคลองเตยอยู่แล้วนับสิบองค์กร และภาคเอกชนที่พร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เป็นต้น

ภารกิจสำคัญ ได้แก่

1. เร่งตรวจคัดกรองและรายงานผลให้เร็วที่สุด ให้ครอบคลุมประชากรนับแสนคนด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม คือ ใช้ทั้ง PCR test ร่วมกับ self-rapid antigen test ที่อ่านผลเร็ว ทำได้ด้วยตัวเอง และราคาถูก เป็นการคัดกรองรอบแรก

2. แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ในกรณีนี้ หากการกักตัวในที่อยู่อาศัยทำไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องอาศัยอยู่รวมกันหลายคนในที่จำกัด ต้องแยกผู้ป่วยออกมา ประสานแยกแยะผู้ป่วยตามความรุนแรงของอาการกับบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม แทนที่การบังคับว่าตรวจพบที่ไหนต้องรับผู้ป่วยที่นั่น

3. ในกรณีนี้ ‘การเยียวยาชดเชยรายได้เป็นรายบุคคล’ ที่ถูกแยกมากักโรคย่อมกระทำได้แม่นยำ จึงควรทำควบคู่กันด้วย

4. เตรียมที่พักชั่วคราวเพื่อกักกันโรคให้เพียงพอเป็นเรื่องเร่งด่วน ควบคู่กับการบริหารเรื่องสถานบริการ บุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ เหมาะสมกับสถานการณ์

5. ข้อมูลเป็นจริง ข้อมูลที่ถูกต้อง เกี่ยวกับประชากร ที่อยู่อาศัย ผู้ติดเชื้อ สถานะที่ได้รับการดูแล การตรวจคัดกรอง การรักษา เป็นเรื่องจำเป็นในการทำงานของแต่ละภาคส่วน เพื่อความร่วมมือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งเท่าที่ทราบ อาสาสมัครเอกชนในชุมชนได้มีการรวมตัวกันเริ่มดำเนินการมาขั้นหนึ่งแล้ว หากหน่วยงานของ กทม. และรัฐเรียกระดมเข้ามาย่อมเป็นผลดี อีกทั้งสามารถใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร (digital technology) อื่นๆ มาปรับปรุง ย่อมเกิดผลดี

จะเห็นว่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ศักยภาพเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่เป็นศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพียงต้องการการบริหารจัดการที่ดี ประกอบกับ การนำที่ดี เราก็จะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

ขอให้ใช้การบริหารการควบคุมการระบาดโควิดในชุมชนคลองเตยให้สำเร็จ เป็นก้าวสำคัญของการประสาน ระดมสรรพกำลังในสังคมไทยฟัยฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน

'ชูวิทย์' เตือนรัฐอย่าปิดบังตัวเลข

ด้าน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.พรรครักประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ว่า “คลัสเตอร์คลองเตย”

ข่าวจากวงในที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อคืนมีผู้มาตรวจพบเชื้อโควิดหลายคนที่มีอาการหนัก เชื้อลงปอดแล้ว อันหมายถึงติดมาหลายวันแล้ว ที่สำคัญมาจากชุมชนแออัดคลองเตย อย่างที่ทราบชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนที่มีสภาพความเป็นอยู่อาศัยแค่ผนังไม้สังกะสีกั้น มีทุกเพศทุกวัยหาเช้ากินค่ำ อาจไม่ได้มีการระมัดระวังสูงอย่างคนมีสตางค์ หากตรวจพบเชื้อโควิดจำนวนหลายคนแล้ว ถึงขนาดมาตรวจ 8 คน ติด 5 คน ทุกคนล้วนมาจากชุมชนคลองเตยทั้งสิ้น มีโอกาสสูงที่จะเป็น “คลัสเตอร์คลองเตย”

จึงขอเป็นสื่อกลางถึงผู้ที่มีอำนาจต้องรีบดำเนินการ จะตรวจเชิงรุกชุมชนคลองเตย หากพบมากจะจัดโรงพยาบาลสนาม บริหารจัดการอย่างไรก็แล้วแต่ท่านผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง แต่ขออย่าได้ปิดบังตัวเลขให้ดูต่ำๆ ไม่ยอมรับความจริง ครั้งนี้ป้องกันไว้ดีกว่ามาตามแก้ไม่ทัน แพร่ไปทั่วแบบ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ที่เริ่มจากคนรวย แล้วซวยไปทั้งประเทศ

เที่ยวนี้เกิดที่คลองเตยชุมชนแออัดแล้วแพร่เป็น “คลัสเตอร์คลองเตย” เขตคลองเตยมีทั้งย่านคนรวยอย่างสุขุมวิท และคนจนในย่านชุมชนแออัด สภาพเหมือนแดนนรกสวรรค์อยู่ในภพเดียวกัน หากเกิดโควิดแพร่ระบาดในเขตนี้ จะดูไม่จืดเลยครับท่าน

เตือนกันแล้วนะครับ พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net