Skip to main content
sharethis

พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 3,382 คน สะสม 129,500 คน อาการหนัก 1,210 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 412 คน เสียชีวิตเพิ่ม 17 คน รวมเสียชีวิต 776 คน - ยืนยันพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 คน จากผู้ติดเชื้อ 12 คน ใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

COVID-19: 23 พ.ค. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 3,382 คน ยืนยันพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่นราธิวาส

23 พ.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ ประจำวัน ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,382 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,917 ราย จากระบบเฝ้าระวัง 1,325 ราย คัดกรองเชิงรุก 1,592 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 460 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย เสียชีวิต 17 ราย

พบผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 129,500 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 2,131 ราย สะสม 57,109 ราย กำลังรักษาอยู่ 44,189 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 18,615 ราย และโรงพยาบาลสนาม 25,574 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,210 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 12 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย รวมเสียชีวิต 776 คน 

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 167,041,380 ราย อาการรุนแรง 97,670 ราย รักษาหายแล้ว 147,951,041 ราย เสียชีวิต 3,468,7663 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,882,333 ราย 2. อินเดีย จำนวน 26,528,846 ราย 3. บราซิล จำนวน 16,047,439 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,593,962 ราย 5. ตุรกี จำนวน 5,178,648 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 88 จำนวน 129,500 ราย

ศบค.ยืนยันพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351.2 จำนวน 3 คน จากผู้ติดเชื้อ 12 คน ใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

นพ.ทวีศิลป์ ระบุถึงกรณีผู้ติดเชิ้อ COVID-19 ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยระบุว่า กรณี กรณี อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้  B.1.351.2 จำนวน 3 คน จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 12 คน ซึ่งเคสแรกพบในชาย อายุ 32 ปี โดยตรวจพบในวันที่ 4 พ.ค.จากนั้นมีการติดตามและพบวงที่เกิดขึ้น 3-5 วง กระจายรวมทั้ง 83 คน และจากการสุ่มตรวจ 10 คน พบสายพันธุ์  B.1.351.2 จำนวน 3 คน

สธ.นราธิวาส ยืนยันมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 ราย

23 พ.ค. 2564 จากกรณีกลุ่ม COVID-19 Network Investigations หรือ CONI เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการระบาดในประเทศของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) หรือที่มักเรียกกันในสื่อว่าเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ก่อนหน้านี้กลุ่ม CONI ได้รับการได้รับการประสานจากทางกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมสืบสวนคลัสเตอร์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทย จากผู้ลักลอบเข้าเมือง ซึ่งจากการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมพบว่าเป็นเชื้อสายตระกูล B.1351 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด สวท.สุไหงโก-ลก ของสถานีวิทยุสังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ชี้แจงกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยระบุว่าได้มีการตรวจพบผู้ป่วยรายแรกที่เป็นคลัสเตอร์ของอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 เป็นเพศชายอายุ 32 ปีอาศัยอยู่หมู่ 9 ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

จากการสอบสวนโรคพบว่ามารดา ภรรยา และบุตร ลักลอบจากประเทศมาเลเซียเข้ามาพักอาศัยร่วมด้วยตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.-4 พ.ค. 2564

จากนั้นผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 ได้เข้ารักษาตัวที่คลีนิคและสถานพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งได้เก็บสิ่งส่งตรวจไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 และได้รับรายงานผลว่าตรวจพบเชื้อโควิค-19 ในวันที่ 4 พ.ค. 2564

จึงได้ทำการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 698 ราย พบเชื้อจำนวน 79 ราย และค้นหาเชิงรุกในชุมชน จำนวน 160 ราย พบเชื้อ 2 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในครอบครัวและเครือญาติ โดยบุคคลกลุ่มดังกล่าวมีการปกปิดประวัติในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง มีการจัดกิจกรรม ได้แก่ การละหมาดในมัสยิดร่วมกัน การสูบบารากู่

ข้อมูลล่าสุด วันที่ 22 พ.ค. 2564 เวลา 15.00 น. พบผู้ป่วยในคลัสเตอร์นี้จำนวน 81 ราย เป็นผู้ป่วยตำบลเกาะสะท้อน จำนวน 74 ราย ตำบลไพรวัน จำนวน 2 ราย ตำบลศาลาใหม่ จำนวน 5 ราย

ทั้งนี้ตามมาตรการด้านสาธารณสุขได้นำผู้ป่วยจำนวน 81 ราย แยกเป็น ผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ จำนวน 45 ราย มีอาการเล็กน้อยจำนวน 29 ราย อาการปานกลาง จำนวน 7 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนจำนวน 33 ราย โรงพยาบาลสนาม 2 แห่งจำนวน 41 รายและโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 7 ราย โดยไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และยืนยันว่าไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต

ทั้งนี้ปัจจุบันรักษาหายแล้ว จำนวน 16 ราย กำลังรักษา จำนวน 65 ราย ส่วนมาตรการเฝ้าระหว่างสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีการนำสิ่งส่งตรวจจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 10 ราย พบเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จำนวน 3 ราย โรงพยาบาลตากใบได้ทำการตรวจภูมิคุ้มกันพบว่ามี lg G ขึ้นทั้ง 3 ราย ขณะนี้ผู้ป่วยจำหน่ายกลับบ้านแล้วทั้ง 3 ราย (หายป่วยแล้ว)

สำหรับมาตรการทางสังคมเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดำเนินการเชิงรุกติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าสถานกักกัน Local Quarantine อีกทั้งได้มีคำสั่งจังหวัดนราธิวาส ปิดทั้งตำบล คำสั่งที่ 2568/2564 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 มีผลจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 และปิดต่อเนื่อง

รวมทั้งตั้งจุดตรวจเป็นรายหมู่บ้านในหมู่ 4 หมู่ 7 หมู่ 8 และ 4 และหมู่ 9 ตำบลเกาะสะท้อน ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อีกทั้งได้ดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ป่วยรายแรกที่ปกปิดข้อมูลด้วย

กรมควบคุมโรค แจงพบสายพันธุ์แอฟริกาครั้งแรก

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์พบเชื้อสายพันธุ์ B.1.351.2 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยกรมควบคุมโรคได้รับแจ้งจาการส่งตัวอย่างสุ่มตรวจที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำให้ได้รับแจ้งว่า มีการพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่คลัสเตอร์ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยเริ่มจากชายไทยอาย 32 ปี ไม่มีโรคประจำจัว แต่มีประวัติเสี่ยงจากภรรยาชาวมาเลเซีย เดินทางมาพร้อมมารดาของผํป่วยและบุตร ผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อมาอยี่ยมและพักในประเทศไทย ช่วงวันที่12 เม.ย.-4พ.ค 2564 และได้เแนทางกลับประเทศมาเลเซียไปแล้ว โดยคลัสเตอร์ตากใบมีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน 83 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อสายพันธูแอฟริกาจำนวน 3 ราย โดยผู้ป่วยมีอาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดท้อง ขณะนี้ทั้ง3รายที่ติดเชื้อ ได้หายจากโรคแล้ว และภรรยาชาวมาเลเซียและลูกเดินทางกลับไปมาเลเซียแล้ว ทั้งนี้เมื่อพบการระบาด ได้ปิดพื้นที่ ดำเนินมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ตั้งด่านตรวจที่หมู่บ้าน 4,7,8,9 ควบคุมการเข้าออก โดยคลัสเตอร์นี้ได้ตรวจเชิงรัก ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง698ราย ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ 160 ราย ขณะนี้สธ.และพื้นที่ได้ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ไม่มีการติดเชื้อเพิ่มแล้ว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ต้องระมัดระวังการเดินทางข้ามไปมาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมาเลเซีย มีการติดเชื้อรุนแรงหลายสายพันธุ์ จึงขอเน้นย้ำและขอให้ประชาชนช่วยสอดส่องกรณีลักลอบเข้ามาไทยอย่างผิดกฏหมาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่พบ มีลักษณะใกล้เคียงกับที่พบในประเทศมาเลเซีย รวมกับ ประวัติผู้ป่วยที่พบคนแรก สัมผัสกับญาติที่ลักลอบเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย โดยสายพันธุ์แอฟริกาใต้นี้ เราให้ความสนใจ เพราะข้อมูลขณะนี้บ่งชี้ว่า การตอบสนองของวัคซีนอาจไม่ดีต่อสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนทุกชนิดยังมีความสามารถลดอาการรุนแรงและลดอัตราตายของโรคได้วัคซีนจึงยังมีประโยชน์ ความสามารถในการกระจายของโรคใกล้เคียงกับสายพันธุ์อังกฤษและอินเดียที่พบในบ้านเรา ส่วนความรุนแรงของโรคไม่ได้มากกว่าปติเพราะในคลัสเตอร์นี้ 83คนส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและไม่มีผู้เสียชีวิต มาตการสาธารณสุขและวัคซีนยังต้องเดินหน้าอย่างเข้มข้น พึงระวังผู้ที่มาจากต่างประเทศและคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง

คลัสเตอร์โรงงานเพชรบุรี ติดเชื้อเพิ่ม 437 คน เร่งตรวจเชิงรุก

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2564 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี, นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข,รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี , นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี, หัวหน้าส่วนราชการ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรี ร่วมประชุม ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่าหลังจากมีการประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงระบาด 2 ตำบล คือ ต.สระพังและ ต.บางเค็ม นั้น แรงงานทุกคนที่อาศัยในบ้านพักหรือหอพัก ห้ามออกนอกเคหสถานโดยเด็ดขาดซึ่งทางอำเภอได้มีการตั้งด่านสกัดเพิ่ม 14 จุดเพื่อป้องกันแรงงานหลบหนีออกนอกพื้นที่ รวมถึงด่านคัดกรองป้องกันโรคด้วยและขอบคุณประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแล แจ้งเบาะแสโดยการบันทึกคลิปวีดีโอที่จะมีการแอบนำแรงงานต่างด้าวออกจากพื้นที่จนทำให้สามารถสกัดกั้นนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ต่อไป

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงเร่งการค้นหาผู้ติดเชื้อ นอกจากตรวจคนในโรงงานแล้วก็จะตรวจค้นหาในชุมชนรอบข้างด้วยหากพบบุคคลใดที่มีการติดเชื้อก็จะรีบนำเข้ามาเข้ารับการรักษา และทำการสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพื่อการควบคุมโรค ปิดล้อมการแพร่ระบาดไม่ให้ผู้ที่อยู่ในโรงงานออกมาสัมผัสกับคนข้างนอก เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อของคนในชุมชนรอบข้างลดการติดเชื้อให้เหลือน้อยที่สุดก็จะสามารถควบคุมโรคได้ ภาพรวมของเพชรบุรีทั้งหมดก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งคณะแพทย์พยาบาลเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่

นอกจากนั้นนายเพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการแยกกลุ่มแรงงานผู้ติดเชื้อ โดยแรงานข้ามชาติทั้งหมดอยู่ที่โรงพยาบาลสนามในโรงงาน ส่วนผู้ใช้แรงงานชาวไทยจะอยู่ที่โรงพยาบาล ส่วนกรณีผู้ที่ไม่มีอาการ แต่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง จะพาไปแยกพักในสถานกักกันตัวต่อไป สำหรับคลัสเตอร์โรงงานแคลคอมพ์เขาย้อย ติดเชื้อรายใหม่ 437 คน สะสม 2,111 คน แยกเป็นแรงงานไทย 781 คน แรงงานต่างด้าว 1,330 คน

ใช้สมุทรสาครโมเดล ตั้ง รพ.สนามในโรงงาน จ.เพชรบุรี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ใช้สมุทรสาครโมเดล ตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน ดูแลลูกจ้างที่ติดโควิด-19 ในสถานประกอบการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งวันนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ลงพื้นที่สถานประกอบการ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี สนับสนุนล่าม 4 คน สื่อสารกับลูกจ้างต่างด้าวที่ติดโควิด-19 เพื่อรับฟังปัญหา สร้างขวัญและกำลังใจให้ลูกจ้างที่ต้องกักตัวรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมมอบเตียงกระดาษ 2,100 เตียง น้ำดื่ม 500 แพ็ก และรถสนับสนุนในการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5 คัน สำหรับใช้ดูแลลูกจ้างที่โรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ

สำหรับจังหวัดเพชรบุรีขณะนี้สถานประกอบการขนาดใหญ่ อำเภอเขาย้อย เก็บตัวอย่างส่งตรวจ (Swab) จำนวน 5,153 คน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 421 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,111 คน เป็นคนไทย 781 คน เมียนมา 1,297 คน กัมพูชา 19 คน อินเดีย 7 คน ลาว 4 คน และจีน 3 คน

เปิดทดสอบระบบ 'ศูนย์ฉีดวัคซีน COVID-19 ภาคสนาม' แห่งแรก ม.เกษตร บางเขน คาดให้บริการประชาชนได้ มิ.ย.นี้

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 ภาคสนาม นำร่องแก่บุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน อายุ 55 – 60 ปี จำนวน 1,000 คน โดยทีมแพทย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เขตจตุจักร โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงโฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยเขตบางเขน ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ และผู้อำนวยการเขตจตุจักร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูลและตรวจเยี่ยมตามจุดต่าง ๆ ซึ่งการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 ภาคสนามในวันนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำหรับระบบฉีดวัคซีน COVID-19 ภาคสนาม ที่นำมาทดลองใช้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (มก.บางเขน) เป็นแห่งแรกนั้น เกิดขึ้นโดยความร่วมมือและการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบฉีดวัคซีน ให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว รองรับผู้รับบริการได้เป็นจำนวนมาก โดยสามารถดำเนินการได้ในภาคสนาม นอกโรงพยาบาลที่มีขนาดของพื้นที่และอุปกรณ์สารสนเทศที่จำกัด และใช้เจ้าหน้าที่จำนวนน้อย โดยในวันนี้ตั้งแต่เวลา 9.00 -15.00 น. จะเป็นการเปิดทดสอบระบบการฉีดวัคซีน COVID-19 ภาคสนามแก่บุคลากร มก.บางเขน อายุ 55-60 ปี ก่อน จำนวน 1,000 คน และจะทยอยฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากร มก.บางเขน ที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปี จนครบทุกคน ภายในวันพุธที่ 26 พ.ค. 2564 วันละประมาณ 1,000-1,500 คน รวมจำนวน 6,000 คน จากนั้น ทาง มก. จะใช้ระบบนี้ในการฉีดวัคซีนให้กับนิสิต ตลอดจนประชาชน กทม.ในพื้นที่ใกล้เคียงโดยเร็วต่อไป ตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร คาดว่าจะให้บริการประชาชนได้ในเดือน มิ.ย.นี้

'เพื่อไทย' จี้ ศบค. เปิดข้อมูลโควิดสายพันธุ์อินเดียให้ชัด

23 พ.ค. 2564 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคพท. กล่าวว่าในที่สุดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียได้เข้าสู่ไทย จนนำไปสู่การติดเชื้อที่แคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่ การระบาดในครั้งนี้เพราะรัฐปล่อยให้ชาวอินเดียและปากีสถานเดินทางเข้ามาในไทยและมีผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาหรือไม่ แม้หลายฝ่ายท้วงติงมาโดยตลอด แต่รัฐบาลกลับยืนยันเสียงแข็งมาตลอดว่าสามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดได้ ซ้ำยังปล่อยให้เวลาล่วงเลยมากกว่าสัปดาห์จึงค่อยระงับการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยชั่วคราว (COE) กับชาวอินเดีย ซึ่งไม่ทันการณ์แล้ว ทั้งนี้ การระบาดของสายพันธุ์อินเดียยังสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับสังคมถึงความรุนแรงในการแพร่กระจายเชื้อ แม้นพ.ยง ภู่วรวรรณ จะยังไม่ยืนยันว่าสายพันธุ์อินเดียรุนแรงกว่า แต่ขณะที่นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนามากกว่า 10 ปี ระบุว่า สายพันธุ์อินเดียแพร่เชื้อเร็วกว่า ข้อมูลดังกล่าวสร้างอาจความสับสนให้กับประชาชน จึงอยากให้รัฐบาล และ ศบค.เร่งชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงประชาชนจะได้ระมัดระวังและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งออกมายืนยันว่าโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาเข้ามาในไทยแล้วหรือไม่ และวัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพเพียงพอป้องกันโรคอย่างไร เพราะจากการระบาดที่ยังไม่มีทีท่าจะทุเลาเบาบางลงทำให้ประชาชนมีความกังวลและกระเสือกกระสนรอคิวเพื่อฉีดวัคซีนทั้งวันแต่ก็ต้องผิดหวังกลับบ้าน สวนทางกับดารานักแสดงที่ได้รับวัคซีนแล้ว

“ศบค.ต้องทบทวนบทบาทตัวเองใหม่ ทั้งเรื่องการให้ข้อมูลที่ต้องเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรค และต้องบริหารจัดการวัคซีนที่เพื่อประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ควรกระทำการใดๆที่เป็นการตอกย้ำภาพสังคมชนชั้นให้เด่นชัดขึ้น ทั้งที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตแบบนี้” น.ส.อรุณี กล่าว


ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย [1] [2] [3] | ประชาชาติธุรกิจ | มติชนออนไลน์ | ผู้จัดการออนไลน์




 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net