Skip to main content
sharethis

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลดำเนินมาต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปี และดูเหมือนว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่าง 2 รัฐยังไม่มีความคืบหน้า ซ้ำร้าย จากเหตุปะทะ 11 วันเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมานี้ ยังทำให้กระบวนเจรจาสันติภาพอาจต้องชะงักลงไปอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ ประชาไทจึงชวน ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาเล่าย้อนที่มาที่ไปของปมปัญหา ใครอยู่มาก่อน สถานะของเยรูซาเล็ม สภาพสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไปจนถึงแนวทางการแก้ปัญหาแบบใหม่ เพราะการแบ่งดินแดนเป็น 2 รัฐตามกระแสหลัก อาจไม่ใช่ทางออกของสันติภาพ

ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
 

จุดเริ่มต้นของปัญหาและสถานะของ ‘เยรูซาเล็ม’

อาทิตย์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของปัญหาข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เริ่มต้นขึ้นหลัง ค.ศ.1947 ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบ ‘แผนแบ่งปาเลสไตน์ของสหประชาชาติ’ หรือ Partition Plan for Palestine ซึ่งในหนึ่งในมติของแผนนี้ คือ การระบุสถานะของนครเยรูซาเล็มให้เป็นพื้นที่สากลจนกว่าจะรัฐยิวและรัฐอาหรับ (ปาเลสไตน์) จะบรรลุข้อตกลงสุดท้ายด้วยการเจรจา

"มติข้อเดียวกันในปี 1947 ระบุว่า เนื่องจากว่าเยรูซาเล็มมีนัยสำคัญทางความเชื่อความศรัทธาของศาสนายูดาห์ อิสลาม และคริสต์ จึงให้กำหนดเป็นพื้นที่สากลและเป็นพื้นที่ระหว่างประเทศซึ่งอยู่ในความดูแลของสหประชาชาติ จนกว่าจะมีข้อยุติที่ได้มาจากการเจรจากันระหว่างฝ่ายอาหรับและฝ่ายยิว นั่นแปลว่า เยรูซาเล็มจะเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์หรืออิสราเอลก็ได้ มตินี้ไม่ได้ปิดกั้น เพียงแต่บอกว่าข้อยุติต้องมาจากการเจรจาเท่านั้น” อาทิตย์กล่าว

“เมื่อปี 1948 เกิดสงครามเพราะบรรดาชาติอาหรับ ไม่ใช่แค่อาหรับปาเลสไตน์ที่อยู่ในพื้นที่ แต่ยังรวมถึงชาวอาหรับในซีเรีย จอร์แดน เลบานอน อียิปต์ ไม่ได้ยอมรับมติของสหประชาชาติ เพราะมันขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีคนอาหรับอาศัยอยู่แต่เดิมในพื้นที่นั้น แล้วชาวยิวที่อยู่มาแต่เดิมในพื้นที่ก็ไม่ใช่คนเสียงข้างมากที่อยากจะจัดตั้งรัฐอิสราเอลขนาดนั้น การจัดตั้งรัฐเป็นไอเดียที่มาจากนักชาตินิยมสุดโต่งเพียงกลุ่มเดียว และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มยิวอพยพมากกว่า ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างเห็นด้วยกับบรรดาชาติอาหรับมากหน่อย เพราะเข้าใจว่าทำไมเขาจึงไม่ยอม และก่อให้เกิดสงครามขึ้น”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“สงครามทำให้ชาวอาหรับ รวมถึงชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นปัญหา ทั้งในอิสราเอล เวสต์แบงก์ หรือกาซา ซึ่งกำลังจะถูกแบ่งแยก ต้องกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยสงคราม นับ 700,000 ชีวิต ในวันที่เขาลี้ภัยออกมา บางคนยังกำกุญแจบ้านของตัวเองอยู่เลย คิดว่าไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน แล้วเดี๋ยวก็ได้กลับบ้าน แต่ปรากฏว่าไปแล้วไปเลย กลับไม่ได้ โดยเฉพาะอาหรับปาเลสไตน์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนที่เป็นรัฐอิลราเอลในปัจจุบัน ตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นปู่ รุ่นทวด”

“ความเลวร้ายของสงคราม เพิ่มมากขึ้นในช่วงสงคราม 6 วันเมื่อ ค.ศ.1967 ซึ่งสงครามนี้นำไปสู่ความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของบรรดาชาติอาหรับ จนต้องยุติบทบาทในการรบกับอิสราเอล แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้อิสราเอลยึดครอง รุกคืบไปในพื้นที่ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งตามมติเดิมของสหประชาชาติระบุว่าพื้นที่นี้เป็น 1 ใน 44% ของดินแดนทั้งหมดที่จะต้องเป็นที่ตั้งของรัฐอาหรับ แต่อิสราเอลถือว่าพื้นที่ที่ตนยึดครองมาได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของตน ผมจึงเรียกว่าเหตุการณ์นี้เป็น[ต้นตอ]ปัญหาที่เราเจออยู่ในปัจจุบัน รวมถึงระลอกล่าสุดในเขตชีค จาร์ราห์ เป็นผลมาจากการที่อิสราเอลถือกติกาว่าตนเองเป็นผู้ชนะสงครามตั้งแต่ปี 1967 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันมันทำให้องค์กรระหว่างประเทศใดๆ ก็ตามที่เป็นกลาง ทั้งสหประชาชาติ องค์การแอมเนสตี้ หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICC) เวลาพูดถึงพฤติการณ์ของอิสราเอล เขาจะมีคำขยายความพ่วงท้ายเสมอว่าเป็น Occupying power หรือรัฐที่เป็นผู้ยึดครอง และเรียกพื้นที่พิพาทว่าเป็น Occupied territory คือดินแดนที่ถูกยึดครอง ผมเรียกว่าเป็นระเบียบทางการเมืองหลังสงครามปี 1967” อาทิตย์ กล่าว พร้อมบอกว่าระเบียบทางการเมืองแบบใหม่ที่อิสราเอลยึดถือนี้จึงเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพ

“ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระดับโลกอย่างสหประชาชาติ เยรูซาเล็ม ไม่ใช่พื้นที่ที่จะถูกยึดครองได้โดยรัฐใดรัฐหนึ่ง สถานะของเยรูซาเล็มจะชัดเจนได้ก็ต่อเมื่อผ่านการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งเท่านั้น” อาทิตย์กล่าว

นโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ต่ออิสราเอล

อาทิตย์ กล่าวว่า ใน พ.ศ.2538 สภาของคองเกรสของสหรัฐฯ ได้ออกรัฐบัญญัติว่าด้วยการตั้งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในเมืองเยรูซาเล็ม (Jerusalem Embassy Act of 1995) ซึ่งเป็นการรับรองเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งพ่วงมาด้วยกฎหมายการย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ไปยังเยรูซาเล็ม แต่ประธานาธิบดีในขณะนั้น คือ บิล คลินตัน ไม่ลงนามรับรองกฎหมายดังกล่าว แต่มีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ออกไปอีก 6 เดือน โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงว่าอาจจะกระทบการเจรจาสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อๆ มาก็มีคำสั่งเลื่อนพิจารณากฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน จนถึงสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีมติรับรองกฎหมายฉบับนี้ในช่วงปลาย พ.ศ.2560 และประกาศให้ย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ไปยังนครเยรูซาเล็มในวันที่ 14 พ.ค. 2561 ซึ่งตรงกับวันชาติอิสราเอล และเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองภายในอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมถึงนานาชาติอีกด้วย

“นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการรับรองเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเริ่มมาตั้งแต่สมัยโรนัลด์ เรแกน แต่ที่ชัดเจนคือในสมัยของจอร์จ บุช คนพ่อ ซึ่งจริงๆ [ประธานาธิบดี]ทุกคนเลยในสมัยหลังเรแกน ทั้งบิล คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช, บารัก โอบามา ทุกคนเวลาหาเสียงก็จะพูดว่าเยรูซาเล็มคือเมืองหลวงของอิสราเอลด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่พอมาอยู่ในอำนาจแล้ว บทบาทของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือผู้ผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพ เขาจึงผลักดันเรื่องนั้น[การรับรองว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง]ไม่ได้” อาทิตย์กล่าว

ในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เขาประกาศรับรองเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองหลวงของรัฐอิสราเอล และทำการย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอะวีฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสราเอลที่นานาชาติให้การยอมรับ มาตั้งที่เยรูซาเล็ม ใน พ.ศ.2560 แต่ที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติในปีเดียวกัน มีมติยืนยันว่าให้คงสถานะของนครเยรูซาเล็มตามแผนแบ่งปาเลสไตน์ฯ ในปี 1947 ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เห็นชอบกับมตินี้ ส่วนประเทศที่โหวตไม่เห็นชอบ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล นาอูรู หมู่เกาะมาร์แชลล์ ฮอนดูรัส และกัวเตมาลา ซึ่งหมายความว่ามติของที่ประชุมสหประชาชาติไม่รับการย้ายสถานเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯ และเท่ากับว่าไม่ได้รับรองให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

ยิว หรือ ปาเลสไตน์ ใครอยู่มาก่อน?

อาทิตย์ กล่าวว่า การตั้งคำถามว่า ‘ใครคือผู้ที่อยู่อาศัยมาก่อน’ อาจจะไม่ใช่คำถามที่มีคำตอบแน่ชัด และเป็นการถกเถียงอันไร้ที่สิ้นสุด เพราะในความเป็นจริง ดินแดนคาบสมุทรอาหรับรวมถึงบริเวณที่ตั้งของรัฐอิสราเอลและปาเลสไตน์นั้นมีชนเผ่าเร่ร่อนอาศัยอยู่มาตั้งสมัยโบราณ ซึ่งชาวยิวและชาวอาหรับก็เป็นหนึ่งในชนเผ่าเหล่านั้น

“สมัยโบราณนานโพ้นมาแล้ว พื้นที่ตรงนี้ [คาบสมุทรอาหรับ] แม้จะไม่ได้เหมาะกับการเพาะปลูกแต่ก็มีชนเผ่าเร่ร่อนอาศัยอยู่แล้ว เช่น กลุ่มซะอูดก็มาตั้งราชวงศ์ซะอูด ปกครองซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นซาอุดีอาระเบียหรือหลายๆ ชาติรอบๆ อ่าวอาหรับ เกิดขึ้นจากฐานเดียวกัน คือ เคยเป็นชนเผ่าเร่ร่อนมาก่อน บริเวณปาเลสไตน์ก็เช่นเดียวกัน เป็นชนเผ่า เป็นสายตระกูล ส่วนชาวยิวเองก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยอยู่ มีชาวยิวที่นับถือศาสนายูดาห์อาศัยอยู่ตรงนี้พื้นที่นี้มาตั้งแต่สมัยโบราณเหมือนกัน อย่างตระกูลหนึ่งที่เป็นกลุ่มยิวชาตินิยม และเป็นผู้ร่วมผลักดันโครงการตั้งรกรากในเวสต์แบงก์ก็อยู่มาตั้งแต่อาณาจักรโรมันที่เข้ามารบและยึดครอง จึงอาจกล่าวได้ว่าชาวยิวก็เป็นเจ้าของพื้นที่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น พูดกันตามตรง ทั้งชาวยิวและชาวอาหรับต่างอยู่ในพื้นที่นี้ร่วมกันมาก่อน ตั้งแต่สมัยโบราณ ก่อนจะมีรัฐชาติและสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลินเสียอีก” อาทิตย์ กล่าว

ผมอยากเน้นย้ำว่าไม่ควรแบ่งเป็นก้อนว่าอิสราเอลคือกลุ่มยิวชั่วร้าย หรือปาเลสไตน์คือคนชั่วทั้งหมด

“เรามักติดอยู่ในกรอบทางศาสนาของชาวยิวที่อ้างคัมภีร์เก่าว่าพระเจ้ารับปากมอบดินแดนตรงนี้ตามพันธะสัญญาให้เขา เราจึงมองว่าการอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินของชาวยิวนั้นไม่มีความยุติธรรม แต่ในเรื่องทางโลก ทั้งคนยิวและอาหรับอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ใช่ยิวชาตินิยมสุดโต่งแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน เวลาเราพูดถึงยิว ยิวก็มีหลายกลุ่ม และไม่ใช่ทุกกลุ่มที่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐอิสราเอลและรุกคืบไปยึดดินแดนในเวสต์แบงก์หรือดินแดนต่างๆ เช่นเดียวกันกับชาวอาหรับที่อยู่มานานแล้ว เพียงแต่ว่าชื่อที่เราเรียกกันว่า ปาเลสไตน์ ถูกตั้งขึ้นในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน เพื่อเรียกดินแดนและผู้คนแถบนั้น ดังนั้นก่อนหน้าจักรวรรดิออตโตมันก็อาจจะเป็นแค่ชาวอาหรับเฉยๆ” อาทิตย์ กล่าว

ย้อนรอยบาดแผล อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทำไมถึงทะเลาะกัน | HEARWORM EP3

ข้อพิพาทที่ดิน กฎหมาย และศาลที่เอื้อให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว

“อย่างที่บอกไปว่าชนอาหรับที่อยู่บริเวณแถบนั้น อยู่ในลักษณะชนเผ่า สายตระกูล เครือญาติ การสร้างบ้านสร้างเมือง ตั้งชุมชนที่เป็นหลักแหล่งขึ้นมาก็อยู่บนฐานคิดของตระกูลและเครือญาติของชนชั้นนำ อย่างกรณีที่เยรูซาเล็มก็จะเป็นของตระกูลฮูเซนี (Husseini) ซึ่งเป็นชนชั้นนำมุสลิมมาตั้งรกราก และพาญาติพี่น้องผองเพื่อนมาตั้งถิ่นฐาน ตระกูลฮูเซนีเดิมมาจากดามัสกัส (เมืองหลวงของประเทศซีเรียในปัจจุบัน) ถ้าเราดูแผนที่ไล่ตั้งแต่เมืองดามัสกัสมาจนถึงเยรูซาเล็มจะพบว่าตลอดเส้นทางคือที่ที่ตระกูลฮูเซนีใช้ชีวิตอยู่ เป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก อยู่อย่างกระจัดกระจายในลักษณะชนเผ่า ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานชัดเจนขนาดนั้น” อาทิตย์ กล่าว พร้อมเล่าเพิ่มเติมว่าตระกูลฮูเซนีไปลงหลักปักฐานในเยรูซาเล็ม ประมาณ ค.ศ.1850 เป็นต้นมา แต่การตั้งถิ่นฐานของตระกูลฮูเซนีและชาวอาหรับในยุคนั้นไม่ได้มาพร้อมกับแนวคิดเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ ต่างจากคนยิวที่มาในลักษณะของการซื้อที่ดิน ซึ่งอาทิตย์เปรียบเทียบการซื้อที่ดินของชาวยิวว่าคล้ายกับการกว้านซื้อที่ดินของนายทุนจากเกษตรกรเพื่อเอาไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม

สำนึกในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ์ต่างๆ ของคนอาหรับในสมัยนั้นน้อยกว่าเกษตรบ้านเราที่ถูกหลอกให้ขายที่หรือสวมสิทธิ์ในยุคปัจจุบันเสียอีก

“สำนึกในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ์ต่างๆ ของคนอาหรับในสมัยนั้นน้อยกว่าเกษตรบ้านเราที่ถูกหลอกให้ขายที่หรือสวมสิทธิ์ในยุคปัจจุบันเสียอีก ดังนั้นชาวยิวจึงเข้ามากว้านซื้อที่ดินรอบๆ สุสานของนักบวชคนสำคัญของศาสนายูดาห์ และสร้างเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้นมา โดยชาวยิวที่เป็นผู้ถือทุนหลักในการกว้านซื้อที่ดิน มีพื้นเพมาจากชาวยิวที่อยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย ก็คือสเปนและโปรตุเกส ซึ่งอพยพกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12-13 แล้ว ทำให้ชาวยิวเหล่านี้เข้าใจแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์และการถือครองทรัพย์สิน ดังนั้นพอชาวยิวมีปัจจัยการผลิตสำคัญ 3 อย่างครบถ้วน คือ ที่ดิน ทุน และแรงงาน ก็ทำให้ชาวอาหรับปาเลสไตน์ถือครองปัจจัยการผลิตเดียว คือ แรงงาน ส่วนทุนและที่ดินก็ค่อยๆ ถูกรวบไปอยู่ในมือของชาวยิว นี่คือสถานการณ์ก่อนหน้าที่จะเกิดมติสหประชาชาติในปี 1947 และก่อนจะเกิดสงครามในปี 1948 แม้มติดังกล่าวจะบอกว่าดินแดนนั้นเป็นของชาวปาเลสไตน์ แต่ในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว พื้นที่รอบๆ เยรูซาเล็มถูกกว้านซื้อไปโดยชาวยิวแล้วพอสมควร"

"เมื่อเกิดสงครามในปี 1948 คนอาหรับปาเลสไตน์ที่อยู่ในพื้นที่ของอิสราเอลซึ่งถูกแบ่งโดยมติของสหประชาชาติจึงถูกขับไล่ให้ลี้ภัยออกมากว่า 700,000 ชีวิต มาอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ซึ่งตอนนั้นเป็นของประเทศจอร์แดน มาอยู่รอบๆ เยรูซาเล็ม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เยรูซาเล็มตะวันออก โดยก่อนหน้าที่จะมีเยรูซาเล็มตะวันออก เราเรียกกันเป็นการทั่วไปว่าเป็นย่านของคนอาหรับ (Arab neighborhood) ซึ่งเรียกมาตั้งแต่สมัยที่ตระกูลฮูเซนีมาตั้งถิ่นฐานอยู่นั่นเอง ส่วนชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเยรูซาเล็มและเขตเวสต์แบงก์ไม่ได้ถูกขับไล่ แต่ได้รับการแจ้งเตือนจากทางการให้อพยพกลับมาอยู่ในเขตพื้นที่ของรัฐอิสราเอล จึงหนีออกมาจากพื้นที่เดิมที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์เอาไว้ ซึ่งต่อมาชุมชนเหล่านั้นก็ถูกทิ้งร้าง”

“ต่อมาในทศวรรษที่ 1950 ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จอร์แดนร่วมกับสหประชาชาติจึงให้ชาวปาเลสไตน์ไปอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่ชาวยิวทิ้งร้างเอาไว้ในเขตเวสต์แบงก์ เพื่อเป็นการลี้ภัยสงคราม พอหลังสงครามหกวันในปี 1967 อิสราเอลถือว่าตัวเองชนะสงคราม มีอำนาจที่เหนือกว่า จึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นสิทธิที่อยู่ในกฎหมายพื้นฐาน (Basic Laws) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ‘ชาวยิวอิสราเอลที่เคยถือครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินใดๆ ในเขตเวสต์แบงก์ก่อนเกิดสงคราม 1948 ยังคงมีสิทธิสมบูรณ์ในการทวงทรัพย์สินในพื้นที่นั้นคืน’ ดังนั้น เมื่อชาวยิวไปฟ้องศาลเพื่อขอสิทธิครอบครองอะพาร์ตเมนต์เหล่านั้นในเขตเวสต์แบงก์ก็จะชนะคดีอยู่เรื่อยๆ เพราะพิสูจน์ได้ว่ามีเอกสารสิทธิ์ ในขณะเดียวกัน ชาวปาเลสไตน์ที่ลี้ภัยออกมาจากอิสราเอลกว่า 700,000 ชีวิตกลับไม่ได้รับอนุญาตให้เรียกร้องสิทธิ์ในระบบกฎหมายเดียวกัน พวกเขาจึงกลับบ้านไม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่ากฎหมายข้อนี้ของอิสราเอลเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนยุทธศาสตร์ที่นักวิชาการหลายคนศึกษาไว้ว่าเป็นกลืนเชื้อชาติ หรือกลืนพื้นที่ให้เป็นของชาวยิว เนื่องจากในอนาคต แนวโน้มประชากรส่วนใหญ่ของอิสราเอล คือ ชาวอาหรับปาเลสไตน์” อาทิตย์ อธิบาย

กระแส #ย้ายประเทศกันเถอะ ของชาวยิวรุ่นใหม่

อาทิตย์ กล่าวว่า โครงสร้างประชากรเชื้อสายยิวในอิสราเอลมีแนวโน้มลดลง เพราะอัตราการเกิดของประชากรต่ำ และคนยิวไม่นิยมแต่งงานมีลูก ในทางกลับกัน จำนวนประชากรเชื้อสายอาหรับปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในอนาคต แน่นอนว่ารัฐบาลของอิสราเอลโดยเฉพาะฝ่ายขวา มีความกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

“วัยรุ่นชาวยิวอิสราเอลจำนวนไม่น้อยที่พอจะมีต้นทุน มีโอกาสทางการศึกษา ก็อพยพย้ายประเทศไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือที่อื่นๆ เพราะหนีจากเรื่องพวกนี้แหละ เขาเบื่อ เขาเกิดมาก็เจอเรื่องพวกนี้แล้ว พอมีโอกาส เขาก็ไป ทำให้หลายพื้นที่ของอิสราเอลมีประชากรชาวปาเลสไตน์มากกว่าคนเชื้อสายยิว โดยเฉพาะตอนเหนือของประเทศที่อยู่ติดกับตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ และตอนเหนือฝั่งขวามีพื้นที่ติดกับซีเรียซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน พื้นที่บริเวณนั้นมีคนปาเลสไตน์ที่ถือสัญชาติอิสราเอลอย่างถูกกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ชาวยิวหายไปไหนกันหมดไม่รู้ คืออพยพมาอยู่เมืองใหญ่ๆ อย่างเทลอะวีฟบ้าง หรือย้ายไปอยู่บ้างประเทศบ้าง”

ภาพแผนที่รัฐยิวและรัฐอาหรับตามแผนแบ่งปาเลสไตน์ 1947 ของ UN (ซ้าย) และหลังสงครามปี 1948 (ขวา)
ซึ่งในปัจจุบัน รัฐยิว (อิสราเอล) ยึดครองพื้นที่เขตเวสต์แบงก์และทรานส์จอร์แดนหลังชนะสงคราม (ภาพจาก PASSIA)
 

“รัฐบาลของเบนจามิน เนทันยาฮู ค่อนข้างกังวัลเรื่องนี้มาก เพราะถ้ายังอยู่ในระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง มีแนวโน้มว่าใน 10-15 ปีข้างหน้า เสียงของชาตินิยมยิวหรือกลุ่มไซออนิสต์จะลดลงไปเยอะมาก เพราะคนยิวที่เกิดในช่วง 1948-1967 ก็เจอกับสงคราม อย่างน้อยๆ ก็ 70 ปี นับเป็น 1 ช่วงอายุคนแล้ว คนก็เริ่มเบื่อ ยิ่งมาเป็นคนรุ่นหลังๆ ที่เกิดในปี 1993 หลังสนธิสัญญาออสโล ก็ยิ่งรู้สึกเบื่อหน่ายกับสงคราม จริงๆ แล้วคนเหล่านี้สนับสนุนแนวทาง 2 รัฐ คือ แยกกันไปเลย แล้วบอกรัฐบาลของตัวเองว่าไม่ต้องไปรุกรานเวสต์แบงก์ ไม่ต้องไปรุกรานใครทั้งนั้น ซึ่งผมและนักวิชาการหลายๆ คนเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า Oslo Generation หรือคนรุ่นออสโล ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีความชาตินิยมจ๋าขนาดนั้น ดังนั้น เมื่อพูดถึงประเด็นเชื้อชาติ ผมอยากเน้นย้ำว่าไม่ควรแบ่งเป็นก้อนว่าอิสราเอลคือกลุ่มยิวชั่วร้าย หรือปาเลสไตน์คือคนชั่วทั้งหมด” อาทิตย์ กล่าว

แม้ว่ารัฐบาลพรรคลิคุดของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิสราเอล รวมถึงพรรคฝ่ายขวาอื่นๆ ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมจะกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงานในอนาคต แต่ อาทิตย์ มองว่าการที่ชนชั้นนำอิสราเอลเลือกดำเนินเศรษฐกิจด้วยนโยบายปิดกั้นแรงงานหรือผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ แต่เลือกที่จะเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในภาคการผลิต อาจเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองชาวยิวยังคงยึดติดกับแนวคิดชาตินิยมและการเลือกปฏิวัติต่อชาวปาเลสไตน์

“ปัจจุบัน อิสราเอลเต็มไปด้วยแรงงานต่างชาติ รวมถึงไทย จีน และลาตินอเมริกา ซึ่งพูดในเชิงการเมือง คือ เชื่อง ไม่ได้มีประเด็นหรือความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ ที่ต้องออกมาเรียกร้อง อีกทั้งรายได้ยังจูงใจ ผู้ย้ายถิ่นฐานด้วยแรงจูงใจทางเศรษฐกิจล้วนๆ จึงเพิ่มขึ้นมากในอิสราเอล” อาทิตย์ กล่าว

ข้อตกลงหยุดยิงที่มาก่อนการเลือกตั้งปาเลสไตน์เพียง 1 วัน

“ข้อเรียกร้องในข้อตกลงหยุดยิงที่เพิ่งเกิดขึ้น ล้วนเป็นสถานะปกติที่ยิวไม่ได้เสียอะไร คือกลับสู่สถานะปัจจุบัน หรือ Status Quo เช่น ไม่ห้ามคนชุมนุมในมัสยิดอัล-อักซอ หรือชะลอการตัดสินของศาลสูงสุดในกรณีการขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ชีค จาร์ราห์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุปะทะ ศาลแขวงเยรูซาเล็มก็ได้สั่งชะลอการตัดสินอยู่แล้วเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่คณะผู้ปกครองท้องถิ่นรวมถึงกองกำลังความมั่นคง คือ ทหารและตำรวจ กลับเลือกที่จะยึดเส้นตายวันย้ายออกตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งที่จริงๆ แล้วคดียังอยู่ในชั้นศาลสูงสุด” อาทิตย์ กล่าว พร้อมบอกว่าข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้ สะท้อนทฤษฎีที่ตนเชื่อซึ่งยืนยันได้จากหลักฐานและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ คือ รัฐบาลอิสราเอลเชื่อในอำนาจที่มากกว่าอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ (Concrete Superior Power) ซึ่งสิ่งนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐบาลอิสราเอลให้ยอมหยุดยิงในที่สุด

“อิสราเอลเป็นชาติที่เชื่อในหลักอำนาจที่เหนือกว่า เป็นรูปธรรม และจับต้องได้ สำหรับเหตุการณ์นี้ อย่างแรก คือ จำนวนคนที่ออกมากดดันรัฐบาลอิสราเอล ไม่ใช่แค่จากฝั่งกาซาหรือเวสต์แบงก์ แต่รวมถึงแรงกดดันในสังคมอิสราเอล ที่กระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายใน ไหนจะแรงกดดันดันจากทั่วโลก ที่ถึงขั้นว่าสำนักข่าวอัลจาซีรา ซึ่งเป็นสำนักข่าวของโลกมุสลิมใช้คำว่า World Rally กับเหตุการณ์นี้ เพราะเกิดการรณรงค์ในหลายพื้นที่ทั่วโลกเพื่อกดดันรัฐบาลอิสราเอล"

"อย่างที่สอง คือการตอบโต้ของกลุ่มฮามาส ซึ่งถือครองขีปนาวุธที่มีศักยภาพและมีจำนวนมากกว่าการประเมินของอิสราเอล ต้องยอมรับว่ารอบนี้อิสราเอลประเมินไว้ต่ำกว่านั้น เพราะฮามาสถล่มกลับมาเยอะมาก และบางลูกมันเล็ดลอดไอรอนโดมของอิสราเอลเข้ามาได้ด้วย สะท้อนให้เห็นปริมาณและคุณภาพในการใช้อำนาจทางการทหารของกลุ่มฮามาส และทำให้อิสราเอลต้องทบทวนนโยบายใหม่ ผมไม่ได้เชียร์การใช้กำลังทหารนะ แต่นี่คือตัวอย่างล่าสุดช่วยยืนยันทฤษฎีที่ผมเชื่อ เพราะอิสราเอลยอมที่จะพิจารณานโยบายโดยดูว่าอะไรคืออำนาจที่เหนือกว่าและจับต้องได้อยู่เสมอ ดังนั้น ถ้าต้องการให้เกิดสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์ก็ต้องใช้วิธีการที่เน้นจำนวนและเป็นรูปธรรมเพื่อกดดันอิสราเอลให้เข้าสู่กระบวนการเจรจา รวมถึงอิสราเอลต้องถอยและยุติการตั้งรกรากในดินแดนที่ถูกยึดครอง (เวสต์แบงก์และเยรูซาเล็ม) แล้วมานั่งเจรจากันใหม่ ซึ่งแรงกดดันตรงนั้นบางครั้งก็มาในรูปแบบกำลังทหาร แต่ผมไม่ได้บอกว่ามันชอบธรรมนะ” อาทิตย์ กล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่าหลักการตอบโต้ที่รุนแรงซึ่งรัฐบาลอิสราเอลใช้ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งย้ำให้เห็นชัดว่ารัฐบาลอิสราเอลยึดมั่นในหลักอำนาจที่มากกว่าอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ (Concrete Superior Power)

ตอบโต้อย่างไรจึงจะถือว่าได้สัดส่วน

อาทิตย์ บอกว่า การที่สหประชาชาติให้การรับรองรัฐอิสราเอลในมติเมื่อปี 1947 ถือว่าเป็นการรับรองว่าปาเลสไตน์และอิสราเอลเป็น 2 รัฐที่แยกออกจากกัน ดังนั้น การพิจารณาสัดส่วนของการโต้ตอบทางการทหารต้องใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

“หากเขายิงมา 3 คุณต้องตอบกลับไปอย่างสมน้ำสมเนื้อ ถ้ายิงเกินกว่านั้นถือว่าผิดหลัก ถือว่าขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ถ้าตอบกลับอย่างเท่าๆ กันก็ยังถือว่าเป็นสิทธิ์ของรัฐที่จะป้องกันตัวเอง ไม่ถือว่าการกระทำนั้นผิดหรือขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงถ้าอีกฝ่ายหยุดยิง ห้ามมีตามน้ำ ห้ามมียิงซ้ำ ซึ่งควรผลักดันให้สหประชาชาติพูดถึงเรื่องนี้ด้วยว่าใครผิดใครถูก แต่เมื่อพูดถึงความได้สัดส่วน เรามักไม่พูดถึงมิติทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งเราพบว่าขีปนาวุธของฮามาสมีราคาถูกมาก หนึ่งลูกราคาประมาณ 500-800 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ไอรอนโดมของอิสราเอลมีต้นทุนเฉลี่ยที่ 50,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อการยิงหนึ่งครั้ง เพราะฉะนั้นถ้ายิงต่อเนื่องกัน 11 วัน ค่าใช้จ่ายก็หลายล้านนะ แถมไม่ได้ป้องกันได้ 100% ด้วย ค่าใช้จ่ายตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สังคมยิวในอิสราเอลใช้กดดันรัฐบาล เพราะเขาเห็นแล้วว่ารัฐบาลของตัวเองเป็นฝ่ายรุกเข้าไปก่อน และนำมาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิต” อาทิตย์ กล่าว

แนวโน้มการเจรจาสันติภาพระหว่าง 2 รัฐ

อาทิตย์ มองว่า การเจรจาสันติภาพจนบรรลุข้อตกลงสุดท้ายระหว่าง 2 รัฐนั้นเป็นไปได้ยากมาก และคงต้องใช้เวลานาน เพราะมีปัญหาอย่างส่วนที่ยังตกลงกันไม่ได้ เช่น เรื่องการแบ่งพื้นที่ของทั้ง 2 รัฐ ซึ่งอิสราเอลได้ไป 56% ขณะที่ปาเลสไตน์ได้ไปพียง 44% มิหนำซ้ำ พื้นที่ของรัฐปาเลสไตน์ยังถูกคั่นกลางด้วยรัฐอิสราเอล ทำให้สภาพภูมิศาสตร์ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตหรือการเดินทางของผู้คน

“มันเป็นไปได้เหรอที่รัฐปาเลสไตน์ซึ่งแยกออกเป็น 2 ฝั่งจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ ก็คงเหมือนกับปากีสถานตะวันออกและตะวันตก ที่สุดท้ายก็ต้องแยกออกไปเป็นบังกลาเทศ วิธีการแก้ปัญหาที่ผ่านมามักยึดแต่เรื่องของดินแดนเป็นที่ตั้ง แต่ลืมคิดในมุมของผู้คนว่าเขาจะอยู่กันอย่างไร เอาแค่ผู้ลี้ภัย 7 แสนคนที่ตอนนี้กลายเป็น 7 ล้านคนแล้ว เขาจะกลับบ้านได้ไหม แค่นี้ยังเป็นโจทย์ที่ยากเลย เพราะถ้าพวกเขามีสิทธิ์กลับบ้าน โครงสร้างประชากรในการเมืองแบบการเลือกตั้งของอิสราเอลจะพลิกกลับภายในชั่วข้ามคืนเลย ไม่ต้องรอ 5-10 ปีเลย ซึ่งแนวโน้มแบบนี้ รัฐบาลอิสราเอลไม่ยอมแน่ๆ อีกทั้งสถานะของชาวยิวที่ถูกรัฐบาลตัวเองส่งเสริมให้ไปตั้งรกรากในฝั่งเวสต์แบงก์ เขาจะยอมกลับมาในพื้นที่ของอิสราเอลไหม ถามตรงๆ ว่าใช่ความผิดของเขาหรือเปล่าที่ไปอยู่ในพื้นที่นั้น รวมถึงสถานะของชาวปาเลสไตน์ที่ถือสัญชาติอิสราเอลจะเป็นอย่างไรต่อ เราพูดแต่ว่าจะแบ่งดินแดนอย่างไร แต่หัวใจหลักกว่านั้นคือผู้คน ระเบียบทางการเมืองแบบไหนที่ผู้คนจะยอมรับ ไม่ว่ารัฐจะชื่อว่าอิสราเอล หรือปาเลสไตน์ หรืออะไรก็ตามแต่” อาทิตย์ กล่าว พร้อมเสนอทางออกในมุมมองของตนเองซึ่งแตกต่างจากมุมมองที่ทั่วโลกให้น้ำหนักมากกว่า คือ ไม่ต้องแยกรัฐ แต่เน้นการกระจายอำนาจปกครองตนเองให้ท้องถิ่น

"ผมมองว่าการเป็นรัฐเดียวน่าจะแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า คือเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการกระจายไปยังท้องถิ่นสูง เช่น เยรูซาเล็มก็เป็นเขตปกครองพิเศษ กาซาก็เป็นเขตปกครองตนเอง แต่ละท้องถิ่นจะมีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเองเพราะว่าสภาพพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างหลากหลายกันมาก"

“ผมมองว่ามันแยกรัฐไม่ได้ เพราะต่อให้แยกรัฐว่าเป็นรัฐยิวอย่างเต็มตัว แล้วสิทธิของคนปาเลสไตน์ที่อยู่ในรัฐยิวมาตั้งแต่แรกมันเทียบเท่ากับคนยิวหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่เท่าอยู่แล้ว รวมถึงชาวยิวที่อยู่อาศัยในดินแดนของชาวอาหรับอย่างเยรูซาเล็มตะวันออกหรือเขตเวสต์แบงก์ พวกเขาจะได้รับสิทธิเทียบเท่าคนอาหรับไหม หากการตั้งรัฐปาเลสไตน์เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ผมเสนอว่าแนวทางแก้ไข้ปัญหาอาจจะต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นใหม่ คิดใหม่ในมุมมองที่ว่า ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ประชากรของผู้คนที่อาศัยอยู่ปะปนกันและหลากหลายแบบนี้ ควรตั้งต้นก่อนว่ารัฐควรเป็นรูปแบบไหน แน่นอนว่ามีกลุ่มคนหลากหลายก็ต้องอาศัยหลักประชาธิปไตย แล้วค่อยๆ ไต่ไปทีละขั้น แล้วจะเป็นกี่รัฐดีล่ะ ซึ่งผมมองว่าการเป็นรัฐเดียวน่าจะแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า คือเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการกระจายไปยังท้องถิ่นสูง เช่น เยรูซาเล็มก็เป็นเขตปกครองพิเศษ กาซาก็เป็นเขตปกครองตนเอง แต่ละท้องถิ่นจะมีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเองเพราะว่าสภาพพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างหลากหลายกันมาก” อาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net