Skip to main content
sharethis

หลังรัฐให้เหตุผลไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ว่าอาจเสียเงินค่าจองไปแล้วก็อาจไม่ได้รับวัคซีนหากการพัฒนาล้มเหลว แต่เมื่อย้อนดูมติ ครม. เมื่อ พ.ย.63 อนุมัติจองล่วงหน้า AstraZeneca 2.3 พันล้านบาท ก็มีเงื่อนไขในสัญญาที่ว่า "มีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่นๆ"

6 ก.พ.2564 จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็น "แทงม้าตัวเดียว" จาก บ.แอสตร้าเซนเนก้า ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกโรงวิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนดังกล่าว จนตามารัฐบาลฟ้องร้อง ธนาธร จากการวิจารณ์ในครั้งนั้นด้วย ม.112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น

จนวานนี้ (5 ก.พ.64) WorkpointTODAY รายงานว่า โครงการโคแวกซ์ (COVAX) เผยแพร่รายงานคาดการณ์แจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศที่เข้าร่วมโครงการทั่วโลกภายในเดือนมิถุนายนนี้ พบ 9 ชาติสมาชิกอาเซียนติดโผได้รับวัคซีนโควิด-19 แต่ยังไม่ปรากฎประเทศไทยอยู่ในแผนได้รับวัคซีนของโคแวกซ์ ยิ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้นถึงนโยบายการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล จนวันนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมาชี้แจงเงื่อนไขหนึ่งว่า การทำข้อตกลงจองวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงผ่านโคแวกซ์หรือการทำข้อตกลงโดยตรงกับผู้ผลิต จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลและบริบทหลายๆ ด้านประกอบกัน เนื่องจากการตัดสินใจในการทำข้อตกลงจองวัคซีนในขณะนั้น เป็นความจริงที่ว่าวัคซีนโควิด-19 ของทุกบริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งสิ้น ยังไม่ทราบว่าวัคซีนชนิดใดจะประสบความสำเร็จ และยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่มากเพียงพอ เสียเงินค่าจองไปแล้วก็อาจไม่ได้รับวัคซีนหากการพัฒนาล้มเหลว (ที่มา : อัมรินทร์ทีวี)

มติ ครม. โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca)

มติ ครม. ในโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) เมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 ที่มาเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปดูมติคณะรัฐมนตรี ใน โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) ที่มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท นั้น ก็ระบุเงื่อนไขนี้เช่นกัน ว่า โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับ ประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่นๆ ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท และให้กรมควบคุมโรคจัดทำสัญญาในการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้านั้น เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนได้สำเร็จ (Purchase Agree For Supply of AZD1222 in Thailand; PA)) ในวงเงิน 3,670,292,517 บาท โดยให้ดำเนินการจัดทำสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เป็นสัญญาในโครงการที่เกี่ยวข้องแบบสัญญาเป็นชุด ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุในร่างสัญญา โดยให้จัดทำในคราวเดียวกัน โดยสัญญาจัดซื้อวัคซีนมีผลผูกพันเมื่อได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ให้กรมควบคุมโรคจัดทำคำของบประมาณสำหรับการจัดซื้อวัคซีนตามสัญญาดังกล่าวต่อไป

หนังสือของกระทรวงสาธารณะสุข ขอมติครม.อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca)

หนังสือของกระทรวงสาธารณะสุข ขอมติครม.อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) ที่มา เว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2563/P_402434_9.pdf

และต่อมาเมื่อวันที่ 19 ม.ค.64 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยปรับกรอบงบประมาณโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) จากวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท เป็นวงเงิน 6,216.25 ล้านบาท โดยเพิ่มงบประมาณในส่วนการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จาก 2,379.4306 ล้านบาท เป็น 2,545.9606 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในการดำเนินงานดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า 7 ก.พ.64 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตอบข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่าน PM PODCAST ซึ่งมีประเด็นหนึ่งตอบคำถามที่ว่า หากบริษัท แอสตรา เซเนกา ไม่สามารถส่งวัคซีนได้ตามข้อตกลง รัฐบาลมีแผนการดำเนินการเช่นไรต่อไปนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า การจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นสามารถดำเนินการได้และกำลังดำเนินการอยู่บนข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด อีกทั้งสายการผลิตที่ AstraZeneca สามารถจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งการผลิต เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย

หมายเหตุ : ประชาไทเพิ่มเติมข้อมูลเมื่อเวลา 0.45 น. วันที่ 7 ก.พ.64 และเพิ่มเติมการตอบคำถามของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเวลา 23.43 น. วันที่ 7 ก.พ.64

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net