Skip to main content
sharethis

11 มิ.ย. 2564 'ไผ่-ครูใหญ่' รับทราบข้อหามาตรา 112 และ 116 จากการปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ หน้าโรงเรียน-สภ.ภูเขียว ส่วน 'ไมค์' เลื่อนเพราะยังไม่ได้รับหมายเรียกและต้องกักตัวหลังติดโควิด-19 จากเรือนจำ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 'ไผ่' จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ 'ครูใหญ่' อรรถพล บัวพัฒน์ เดินทางไป สภ.ภูเขียว เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ตามหมายเรียกผู้ต้องหา จากการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ของกลุ่มราษฎร บริเวณโรงเรียนภูเขียวและหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ทั้งสองให้การปฏิเสธและจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน 

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาจตุภัทร์และอรรถพลโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 08.00 น. จตุภัทร์, อรรถพล, ภาณุพงศ์ จาดนอก และกลุ่มคณะราษฎร กับพวกรวมประมาณ 20-30 คน มารวมกลุ่มชุมนุม ปราศรัย อยู่ที่บริเวณข้างรั้วโรงเรียนภูเขียว โดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันโควิด และไม่ได้แจ้งจัดกิจกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ 

ขณะปราศรัยบริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียว ผู้ต้องหากับพวกแจ้งให้ผู้ร่วมชุมนุมทราบถึงจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจตุภัทร์ ปราศรัยด้วยว่า ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ไทยรวยที่สุด แต่ประชาชนจนที่สุด ในยามวิกฤตกษัตริย์ไม่เคยมาเยียวยาหรือดูแลประชาชน ซึ่งนักภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่า มีความหมายที่ผู้ฟังได้ฟังแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความเคลือบแคลงสงสัย และรู้สึกไม่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้

จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มของผู้ต้องหาเคลื่อนขบวนเดินทางเข้ามาชุมนุมกันที่บริเวณหน้า สภ.ภูเขียว มีการนําป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และข้อความว่า “SAVE เมียนมาร์” มาติดที่บริเวณป้ายหน้าสถานีตํารวจ ทั้งยังติดป้ายข้อความว่า “เจ้าของประเทศที่แท้จริงคือ ปชช.” “หยุดคุกคามประชาชน” อยู่บริเวณรั้วด้านหน้าทางเข้า สภ.ภูเขียว

ต่อมาเวลา 16.45 น. ไผ่ จตุภัทร์ขึ้นปราศรัยอีกครั้ง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า หลังจากประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือน ส.ค. 2559 ผ่านพ้นไปแล้ว รัชกาลที่ 10 ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่ไม่ผ่านประชามติ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คำพูดดังกล่าวสื่อให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจแก้กฎหมายโดยอำเภอใจ ซึ่งก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ทั้งยังทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความเคลือบแคลง และไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

ส่วนอรรถพลปราศรัยใจความว่า ต้องจำกัดงบประมาณของกษัตริย์ ต้องไม่เอานโยบายรัฐบาลไปผูดขาดสัมปทานโรงงานปูนแถวสระบุรี ระเบิดภูเขาหายไปเป็นลูก ซึ่งสื่อความหมายให้คนที่ได้ฟังเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์เป็นผู้บงการรัฐบาล เป็นการใส่ร้ายป้ายสีสถาบันกษัตริย์ โดยในการจัดกิจกรรมและการปราศรัยได้ทำการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กในเพจกลุ่มของผู้ต้องหาตลอดการชุมนุม ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

จากนั้น พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจตุภัทร์และอรรถพลรวม 5 ข้อหา ดังนี้

1. ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

2. ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2)

3. ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ภายในเขตพื้นที่ควบคุมพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวังแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 2)

4. ติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคารในลักษณะที่สกปรกรุงรังหรือไม่เป็นระเบียบ และมีสภาพที่ประชาชนอาจเห็นได้จากที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40 

5. ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

จตุภัทร์และอรรภพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก 

นอกจากจตุภัทร์และอรรภพลแล้ว คณะกรรมการสอบสวนคดีนี้ยังออกหมายเรียก 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก มารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ 116 ด้วยอีกราย แต่เนื่องจากภาณุพงศ์ยังไม่ได้รับหมายเรียก ประกอบกับอยู่ในระหว่างการกักตัวตามคำแนะนำของแพทย์ หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หากครบกำหนดกักตัวแล้วจะได้เข้าพบพนักงานสอบสวนต่อไป

สำหรับการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่มราษฎรจัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่สมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ถึงที่บ้านในช่วงปลายเดือนม.ค. 2564

หลังการชุมนุม นอกจาก สภ.ภูเขียว จะไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องแล้ว ยังดำเนินคดีชุมนุมรวม 26 ราย ในจำนวนนี้มีเยาวชนอายุ 15 ปี 1 ราย และ 18 ปี อีก 1 ราย ทั้งหมดถูกดำเนินคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มี 3 ราย ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 และ 116 ด้วย คือ จตุภัทร์, อรรถพล, และภาณุพงศ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net