กลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทยจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 'เผา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ' หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพราะไม่พอใจ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ที่ให้ความสำคัญกับกฎระเบียบมากกว่าความต้องการของผู้เรียน พร้อมเรียกร้องให้ทุกส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย
17 มิ.ย. 2564 สำนักข่าว The Reporters และเพจเฟซบุ๊กสำนักข่าวราษฎร - Ratsadon News รายงานว่า วันนี้ (17 มิ.ย. 2564) เวลา 16.30 น. กลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย นำโดยพีรพล ระเวกโสม หรือฟิวส์, กฤตินันท์ เกิดศรีสุข และมีมี่ จากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "เผาระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผม และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ร่างรัฐบาล)" เพื่อตอกย้ำปัญหาของการศึกษาของประเทศไทยว่ายังไม่ไปถึงไหน
พีรพล กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ การศึกษาไทยสนใจแค่ระเบียบ แต่ไม่สนใจคุณภาพของการศึกษาหรือสวัสดิภาพของผู้เรียน ยกตัวอย่างเช่น การบังคับหรือลงโทษด้วยการกล้อนผมนักเรียน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย หรือการคุกคามนักเรียนที่แสดงความคิดเห็นหรือออกไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น

พีรพล กล่าวต่อไปว่า กรณีการคุกคามนักเรียนทั้งจากเจ้าหน้าที่และโรงเรียน ทำให้นักเรียนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ และทำให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับระเบียบกฎเกณฑ์มากกว่ากว่าสิทธิเสรีภาพ โดยพีรพลต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน เพราะที่ผ่านมา กระทรวงฯ บอกเพียงว่ารับทราบและจะนำไปพิจารณาต่อ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ทั้งนี้ พีรพล มองว่า การไว้ทรงผมของนักเรียน คือ ปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก เพราะนับตั้งแต่การประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องของการไว้ทรงผมนักเรียน และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ค. 2563 แต่ยังคงมีโรงเรียนบางแห่งยึดหลักกฎกระทรวงเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ทั้งยังมีกรณีนักเรียนถูกตัดผมเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ได้เคารพกฎกระทรวง ราวกับว่ากฎนี้ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ แม้จะมีรายงานเหตุการณ์นักเรียนถูกลงโทษด้วยการตัดผม แต่กระทรวงฯ ไม่ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง อ้างเพียงว่าแค่ได้รับรายงาน ส่งผลให้นักเรียนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง
ด้าน มีมี่ สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ของรัฐบาลนั้นไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน พร้อมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขอให้ออกกฎหมายการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นหลัก
