Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุการณ์แสนโศกเมื่อเกิดขึ้นครั้งแรกมันอาจเป็นเพียงฉากของโศกนาฏกรรม แต่เมื่อมันเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมนั่นหมายความว่ามันย่อมมีสาเหตุที่แฝงเร้นอยู่ หนึ่งปีผ่านไป การเรียกร้องให้ลดค่าเทอมปรากฏขึ้นอีกครั้ง การปรากฏตัวครั้งที่สองนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่านี่มิใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นเพียงเรื่องความเลือดร้อนอยากหาเรื่องของ ‘กลุ่มบุคคล’ หนึ่งใดเท่านั้น หากแต่บังเกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งอันไม่อาจประนีประนอมได้ระหว่างชนชั้นผู้บริหารกับนักศึกษาผู้ไร้ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยของพวกเรา

ชนชั้นผู้บริหารคือผู้ถือครองอำนาจในการตัดสินใจความเป็นไปของมหาวิทยาลัยอย่างเบ็ดเสร็จเด็จขาด ชนชั้นนี้คือการรวมตัวกันของบรรดานักบริหารผู้ประดับยศด้วยตำแหน่งวิชาการ ชนชั้นผู้บริหารได้จัดหาเครือข่ายความร่วมมืออย่างกว้างขวางทั้งในระดับมหาวิทยาลัย นอกมหาวิทยาลัย และเหนือไปกว่านั้น เครือข่ายนี้ได้ปรากฏกายเป็นสภามหาวิทยาลัยอันเป็นองค์กรสูงสุดในการตัดสินใจ ซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาผู้มีอำนาจทุน อำมาตย์ จารีต และเหล่าเผด็จการอำนาจนิยม พวกเขาเหล่านี้แทบไม่เคยย่างกรายหรือชายตามองลงมาว่านักศึกษาใช้ชีวิตอย่างไรเพราะต้องยุ่งย่ามรับเงินกันระรัวจากการบริหารนับสิบๆ แห่งที่พวกเขามีตำแหน่งแขวนหราอยู่ หน้าที่ของชนชั้นผู้บริหารคือผลิตสร้างและธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์แก่ชนชั้นของพวกเขาโดยรวม ไม่ว่าจะผ่านรูปโฉมของการใช้อำนาจอันดิบเถื่อนที่ตรงไปตรงมาเช่นการยืมกลไกการปราบปรามจากพันธมิตรในเครือข่ายของพวกเขามาใช้ การใช้อำนาจทางเศรษฐกิจกดดันผู้ต่อต้าน (ข่มขู่จะลดเงินเดือน ทุน หรือการให้บริหาร) หรือแม้แต่อำนาจทางจารีตประเพณีก็ตาม ในสายตาของพวกเขา มหาวิทยาลัยมิใช่สิ่งใดอื่นนอกจากการเป็นเครื่องมือที่มอบอำนาจให้พวกเขาและพันธมิตรซึ่งสามารถควบคุมผู้คนให้เป็นไปตามความต้องการของพวกเขาเท่านั้น จะมีสถานที่แห่งใดอีกเล่านอกเสียจากสถานศึกษาที่บังคับให้คนในสังคมต้องเข้ามาอยู่นานนับเป็นปีๆ

แล้วฟากฝั่งนักศึกษาเล่า มหาวิทยาลัยคืออะไร? มหาวิทยาลัยเป็นเพียงแหล่งที่ให้กระดาษใบเดียวกระนั้นหรือ? เรื่องราวมิได้ง่ายดายเพียงเท่านั้น กระดาษดังกล่าวทุกคนที่เข้ามาย่อมอยากได้ แต่สำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยคือชีวิต นี่คือห้วงขณะหนึ่งของการใช้ชีวิตที่พวกเราได้เชื่อมต่อกับผู้อื่น เรียนรู้ และสร้างความหวังในอนาคตขึ้น ณ ที่แห่งนี้ มุมมองดังกล่าวทำให้ความแตกต่างระหว่างชนชั้นผู้บริหารกับนักศึกษากระจ่างแจ้งแทงตาขึ้นมาในทันที ฝ่ายแรกมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นเพียงที่มาของอำนาจนามธรรมแสนเย็นชา แต่อีกฝ่ายกลับมองว่ามันคือพื้นที่แห่งการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ ความฝัน และวิญญาณ ความแตกต่างเช่นนี้นี่เอง คือที่มาของความขัดแย้งที่ไม่อาจประนีประนอมได้

การเรียกร้องให้ลดค่าเทอมเป็นช่วงขณะเวลาอันเข้มข้นที่สุดของความขัดแย้งดังกล่าว มันมิได้เป็นเพียงการคิดคำนวณกำไรขาดทุน หรือความเอาแต่ใจของนักศึกษาแต่อย่างใด เหตุผลที่ซ่อนอยู่ในการต่อสู้เรียกร้องนี้ คือจุดยืนที่มีต่อมหาวิทยาลัยและการศึกษาที่ต่างกัน สำหรับนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องแล้ว การศึกษาคือชีวิตของพวกเรา มันเป็นทั้งจุดหมายและเส้นทางเดินอันคดเคี้ยวที่พวกเรากำลังก่อสร้างเพื่อไปให้ถึงปลายทางที่คาดหวัง เพื่อคนรอบข้าง เพื่อครอบครัว และเพื่อตัวของพวกเราเอง เบื้องหลังเหตุผลทางเศรษฐกิจ คือจุดยืนที่ต้องการมีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเรา หันมามองอีกฝั่ง ท่าทีเฉื่อยชา หน่วงเหนี่ยว และหลายครั้งรุนแรง ล้วนมาจากจุดยืนที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา ความห่วงใยต่อความเป็นไปของการจัดการมหาวิทยาลัยเป็นแต่เพียงน้ำตาลเคลือบอันสดสวยหยาดเยิ้ม เพื่ออำพรางเป้าประสงค์ที่แท้จริงอันป่าเถื่อน จุดตั้งต้นในการกระทำสิ่งใดๆ ของชนชั้นผู้บริหารล้วนไม่เคยยืนอยู่บนฐานที่มองว่ามหาวิทยาลัยคือชีวิตของผู้ที่อาศัย เรียน และทำงานอยู่ในนั้นเลย พวกเขาทำอย่างไรก็ได้ เพียงเพื่อให้อำนาจของพวกตนยังคงอยู่ หากวันนี้บีบเอากับนักศึกษาไม่ได้ก็หันไปหาบุคลากรชั้นรองๆ ลงไปแทน ความเป็นอยู่ของนักศึกษาและประสิทธิภาพในการสอนมักถูกนำขึ้นมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ยอมลงให้กับข้อเรียกร้อง ความดื้อดึงนี้ไม่ได้มาจากความปรารถนาดีที่กลัวว่านักศึกษาจะไม่ได้รับการเรียนการสอนที่ดี (นักศึกษาทั้งหลายลองถามตัวเองดูเถิดว่าชีวิตของพวกคุณมีสักกี่ส่วนเสี้ยวที่ชนชั้นผู้บริหารเป็นผู้หยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้) หากแต่มาจากความประสงค์ที่จะคงไว้ซึ่งอำนาจเหนือชีวิตต่อนักศึกษาต่างหาก

ท่ามกลางความขัดแย้งครั้งนี้ บรรดานักศึกษาจึงไม่อาจคาดหวังให้ชนชั้นผู้บริหารกลายเป็นพระผู้ช่วยได้ เพราะชนชั้นดังกล่าวนั้นมีจุดยืนที่แตกต่างกับนักศึกษาอย่างถึงที่สุด

ในการต่อสู้ครั้งนี้ นักศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก้ามข้ามองค์กรนักศึกษาที่มีอยู่เดิม เนื่องด้วยในการต่อสู้ที่ผ่านมา องค์กรเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของชนชั้นผู้บริหารทั้งในเชิงโครงสร้างและวิถีปฏิบัติจนมิอาจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แม้บางส่วนขององค์กรเหล่านี้จะมีความปรารถนาดีแต่ก็มีข้อจำกัด ดังนั้น พวกเขาจึงมิอาจเป็นตัวแทนของนักศึกษาในการต่อสู้ได้ นักศึกษาจำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นขบวนการอิสระเพื่อต่อสู้ ขบวนการดังกล่าวต้องทำหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อขยาย/ปรับเปลี่ยนให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่สำหรับผลิตสร้างชีวิตเพื่อรับใช้นักศึกษา มิใช่เป็นทรัพย์สมบัติของชนชั้นผู้บริหาร ขบวนการดังกล่าวต้องต่อสู้อย่างต่อเนื่องและขยายประเด็นการต่อสู้ออกไปเพื่อบ่อนทำลายอำนาจที่ชนชั้นผู้บริหารมีอยู่

และในท้ายที่สุด เมื่อความขัดแย้งดำเนินไปเรื่อยๆ ณ ใจกลางความขัดแย้งอันข้นคลั่ก บรรดานักศึกษาและขบวนการจะค้นพบแนวโน้มอันหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นคือความจำต้องผลิกโฉมกระบวนการบริหารมหาวิทยาลัยเสียใหม่ ประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งปวงจะต้องเป็นผู้เลือกคณะกรรมการบริหารและสภามหาวิทยาลัยเอง ไม่เอาอีกแล้วสภานักศึกษาและสโมสรนักศึกษาที่ไม่ได้มีส่วนในการกำหนดชีวิตและความเป็นไปภายใต้มหาวิทยาลัยของเรา พวกเราต้องสร้างองค์กรบริหารใหม่ในรูปแบบสภาของประชาคมมช.ทั้งปวงขึ้นมา ผู้บริหารและสภาต้องถูกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งเหล่านี้มิใช่พื้นที่ของการสืบทอดอำนาจของกลุ่มก๊วนภายในชนชั้นผู้บริหารกันเอง

พวกเราต้องทำให้มหาวิทยาลัยไม่ใช่ทรัพย์สินของชนชั้นผู้บริหาร พวกเราต้องทำให้มหาวิทยาลัยเป็นของประชาคม !!!

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net