Skip to main content
sharethis

ส.ส.ก้าวไกลโพสต์เฟซบุ๊กระบุทางพรรคเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาแต่ถูกคณะกรรมาธิการปัดตก จากกฎหมาย 'สิ่งแวดล้อม' ให้กลายเป็นกฎหมาย 'การเงิน' ต้องรอนายกฯ เห็นชอบก่อนเข้าสภา ขณะที่เมื่อปี 2562 สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ ยกเลิกการต่อในอนุญาตทุก 5 ปี ด้านคณะบดีคณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรฯ เตือนให้ระวังมลพิษปนเปือนในอากาศเหมือนกรณีไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา

5 ก.ค. 2564 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล ระบุว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) แต่ถูกวินิจฉัยในชั้นกรรมาธิการว่าเป็นการเพิ่มภารกิจและหน้าที่ให้กับกรมควบคุมมลพิษ ทำให้กฎหมายฉบับนี้กลายเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาก่อน จึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาตามมาตรา 134 ของรัฐธรรมนูญว่าเป็นร่างการเงิน

ศิริกัญญา ระบุว่า ถ้ามีกฎหมาย PRTR แหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษว่ามีการครอบครองสารมลพิษใดบ้าง และมีการปล่อยมลพิษปริมาณเท่าใด ตามรายชื่อสารมลพิษที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษจะต้องเปิดเผยรายงานให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงและตรวจสอบได้

หากมีกฎหมาย PRTR ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ว่าโรงงาน เหมืองแร่ หรือชุมชนของตนเองมีสารมลพิษอยู่โดยรอบหรือไม่ มีการปล่อยมลพิษอะไรสู่สิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควัน น้ำเสีย หรือขยะพิษ ขยะอุตสาหกรรม เมื่อประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ชุมชนก็สบายใจ อุตสาหกรรมที่ทำถูกต้องในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกลั่นแกล้ง หรือใส่ร้าย อีกทั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดการปัญหาได้อย่างตรงจุด อย่างกรณีที่เกิดเพลิงไหม้และระเบิดของโรงงานสารเคมีที่เกิดขึ้นในวันนี้ (5 ก.ค. 2564) ก็จะทราบปริมาณสารมลพิษที่มีอยู่ทั้งหมดในโรงงานในทันที หน่วยงานที่จะต้องแก้ปัญหาสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา และยับยั้งเหตุได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ประชาชนก็จะเลือกที่อยู่อาศัยโดยรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสารมลพิษรอบตัว ระแวดระวังภัย และเกิดการซักซ้อมความรู้ความเข้าใจหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ต้องใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยงแบบที่คนในชุมชนบริเวณกิ่งแก้วต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่างกฎหมาย PRTR ฉบับนี้ ระบุว่า ทางออกเดียวในการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษให้ชุมชนสามารถตรวจสอบได้ เพราะหากขาดความเชื่อใจระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม ก็จะเกิดการต่อต้าน ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการจะทำให้เกิดความเชื่อใจได้ดีที่สุดก็คือ การเปิดเผยข้อมูลให้เห็นตรงกัน

นี่ก็คือที่มาของกฎหมาย PRTR ภายใต้หลักการสากลง่ายว่า ต้องให้แหล่งกำเนิดมลพิษรายงานการปล่อยหรือเคลื่อนย้ายมลพิษต่อกรมควบคุมมลพิษและเปิดเผยให้ทุกคนเข้าถึงและตรวจสอบได้ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนและกำหนดสารมลพิษที่จะต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ

หากมีข้อมูลชุดนี้ ชุมชนก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่า โรงงาน เหมืองแร่ หรือแม้แต่ชุมชน มีการปล่อยสารมลพิษอะไรสู่สิ่งแวดล้อมบ้าง เกินมาตรฐานหรือไม่ หรือจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบและสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างไร ไม่ว่าฝุ่นควัน น้ำเสีย หรือขยะเศษเหลือใช้ เมื่อข้อมูลชัดเจน ชุมชนก็สบายใจ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งและสำคัญที่สุดคือสามารถทำให้การควบคุมมลพิษเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้โดยมีภาครัฐมีบทบาทร่วมกำกับ

การมีกฎหมาย PRTR บังคับใช้ จะทำให้การรายงานการปล่อยมลพิษและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทำได้ง่ายขึ้น แม้กระทั่งปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในขณะนี้ น้ำคลองเน่าเสีย หรือแม้แต่การลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม

กฎหมาย PRTR มีการใช้กันมากกว่า 36 ประเทศทั่วโลก เป็นกฎหมายที่จะช่วยให้การจัดการสิ่งแวดล้อมของไทยมีความเป็นสากล ซึ่งภาคประชาชนเองได้เคยนำเสนอต่อรัฐบาลมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ยกเลิกระบบต่อใบอนุญาตโรงงานทุก 5 ปีในยุค คสช.

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2562 ไอลอว์ (iLaw) รายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ปรับปรุงหลักเกณฑ์การควบคุมการประกอบกิจการโรงงาน) หรือร่าง พ.ร.บ.โรงงาน แม้ว่าภาคประชาชนจะยื่นคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจาก มีความกังวลว่าการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้จะทำให้มีโรงงานขนาดเล็กที่อันตรายต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมไม่ถูกตรวจสอบตามกฎหมายโรงงาน

ทั้งนี้ ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่ภาคประชาชนเป็นห่วงกังวลต่อคือ การแก้นิยาม "โรงงาน" ใหม่ ทำให้อาคาร สถานที่ พาหนะที่ใช้เครื่องจักรขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้าขึ้นไปหรือกิจการที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คนลงไป ไม่อยู่ในการควบคุมของกฎหมายโรงงาน ทั้งยังมีการแก้ไขนิยาม "การตั้งโรงงาน" โดยกำหนดให้ "การตั้งโรงงาน" หมายถึงการนำเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งเท่านั้น หรือนำคนมาประกอบกิจการโรงงาน ต่างจาก พ.ร.บ.โรงงานฉบับเก่าที่ระบุว่า "การตั้งโรงงาน" คือการก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักร ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะเปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างอาคารโรงงานได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานก่อน และค่อยติดตั้งเครื่องจักรทีหลัง

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ที่ สนช. เห็นชอบ มีการยกเลิกระบบการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่แต่เดิมต้องต่อทุกๆ 5 ปี และในขณะเดียวกันยังให้ผู้ประกอบการเป็นฝ่ายรับรองตนเองแทนเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชน จึงมีข้อกังวลตามมาว่าการยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวอาจทำให้ไม่มีการตรวจสอบสภาพโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของโรงงาน

คณะบดีสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรฯ เตือนระวังมลพิษปนเปื้อนในอากาศ

ผศ.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Surat Bualert ระบุว่า จากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกนั้น ให้ระวังภัยอันตรายที่แฝงตัวมาในลักษณะการปนเปื้อนของอากาศ เพราะเมื่อสารสไตรีน (Styrene) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตโฟม ติดไหม้และเผาไหม้จะเกิดเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์และเป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์

สุรัตน์ กล่าวว่า ก๊าซพิษที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้จะแผ่วงกว้างไปตามทิศทางลมและการลักษณะการเคลื่อนที่ของอากาศ ซึ่งทำให้เขานึกย้อนถึงเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษาเมื่อ พ.ศ.2557 ที่มีการเผาไหม้ของสารหลายอย่าง ซึ่งกลุ่มวิจัยชั้นบรรยากาศ (ASRG) ได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า กลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) มีค่าสูงมาก

นอกจากนี้ สุรัตน์ ยังระบุว่า ช่วงเย็นวันนี้ (5 ก.ค. 2564) จะมีความเร็วลมที่ต่ำส่งผลให้การระบายอากาศไม่ดีเท่าที่ควร จึงแนะนำให้ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะช่วงเย็นจนถึงค่ำ หากยังไม่สามารถดับไฟได้สนิท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net