Skip to main content
sharethis

จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม อย่างข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง  และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น จึงเกิดปรากฏการณ์ระดมทุนสาธารณะ ที่เรียกว่า 'กองทุนราษฎรประสงค์' ขึ้นเพื่อใช้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย และจ่ายค่าปรับต่างๆ ถึง 401 ครั้ง จำนวนเงินกว่า 19 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเกือบ 6 เดือน โดยผู้ต้องหาบางคนต้องวางประกันสูงสูดถึง 400,000 บาท

กองทุนเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กองทุนราษฎรประสงค์เป็นกองทุนประกันตัวที่ระดมเงินจากการบริจาคของประชาชน ผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาศาลยุติธรรม เลขที่บัญชี 086-2-70434-7 ชื่อบัญชี ชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงค์ฯ โดยเปิดตัวขึ้นในเดือน ม.ค. 2564

กองทุนนี้เกิดขึ้นจากกองทุนประกันตัวคดีทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ที่ดูแลโดยอานนท์ นำภา, วีรนันท์ ฮวดศรี และไอดา อรุณวงศ์ รวมเข้ากับบัญชีกองทุนประกันตัวใน ‘คดีคนอยากเลือกตั้ง’ ซึ่งก่อตั้งในเดือน ก.พ. 2561 ที่มีชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์ เป็นผู้ดูแล

กองทุนฯ ชี้แจงเป้าหมายบนเฟซบุ๊กเพจกองทุนราษฎรประสงค์ว่า เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง มิให้ถูกริดรอนจากการใช้คดีความทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือจองจำเยี่ยงผู้ถูกลงทัณฑ์ ในคดีที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และปฏิรูปการเมืองปกครอง ตลอดจนสังคมวัฒนธรรมในทางที่ส่งเสริมความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยทนายความจะเป็นผู้คัดกรองและประสานความช่วยเหลือ เกี่ยวกับเงินประตัวหรือค่าปรับมายังกองทุนฯ

ประกันตัว-จ่ายค่าปรับ 401 ครั้ง 19 ล้านบาท  

สถิติการช่วยเหลือประกันตัวผู้ต้องหาที่กองทุนราษฎรเผยแพร่รายละเอียดบนเพจเฟซบุ๊ก นับตั้งแต่ 14 ม.ค.-7 ก.ค. 2564 รวมแล้วกว่า 401 ครั้ง ภายในระยะเวลาเกือบ 6 เดือน ดังนี้

  • 14-31 ม.ค. ใช้เงินประกันตัว 16 ครั้ง จำนวน 610,000 บาท
  • ก.พ. ใช้เงินประกันตัวและจ่ายค่าปรับ 17 ครั้ง  จำนวน 725,000 บาท
    มีกรณีที่นำหลักทรัพย์ไปวางแต่ไม่ได้รับอนุญาตประกันตัวอีก 17 ครั้ง
    และได้รับเงินคืนหลังจากคดีสิ้นสุด หรืออัยการยังไม่สั่งฟ้อง 7 ครั้ง
  • มี.ค. ใช้เงินประกันตัว 147 ครั้ง  จำนวน 5,325,000 บาท
    มีกรณีที่นำหลักทรัพย์ไปวางแต่ไม่ได้รับอนุญาตประกันตัวอีก 41 ครั้ง
  • เม.ย. ใช้เงินประกันตัวและจ่ายค่าปรับ 67 ครั้ง จำนวน 3,838,000 บาท
    มีกรณีที่นำหลักทรัพย์ไปวางแต่ไม่ได้รับอนุญาตประกันตัวอีก 26 ครั้ง
    ได้รับเงินคืนหลังจากคดีสิ้นสุด หรืออัยการยังไม่สั่งฟ้อง 2 ครั้ง
    และถูกริบเงินประกันเนื่องจากตามตัวจำเลยมาศาลไม่ได้ 1 ครั้ง จำนวน 35,000 บาท
  • พ.ค. ใช้เงินประกันตัวและจ่ายค่าปรับ 47 ครั้ง จำนวน 5,157,000 บาท
    มีกรณีที่นำหลักทรัพย์ไปวางแต่ไม่ได้รับอนุญาตประกันตัวอีก 2 ครั้ง
    และได้รับเงินคืนหลังจากคดีสิ้นสุด หรืออัยการยังไม่สั่งฟ้อง 4 ครั้ง
  • มิ.ย. ใช้เงินประกันตัวและจ่ายค่าปรับ 17 ครั้ง จำนวน 3,258,000 บาท
    ได้รับเงินคืนหลังจากคดีสิ้นสุด หรืออัยการยังไม่สั่งฟ้อง 2 ครั้ง
  • 1-7 ก.ค. ใช้เงินประกันตัวและจ่ายค่าปรับ 4 ครั้ง จำนวน 277,500 บาท
    ได้รับเงินคืนหลังจากคดีสิ้นสุด หรืออัยการยังไม่สั่งฟ้อง 1 ครั้ง
สถิติการใช้เงินประกันตัวและจ่ายค่าปรับของกองทุนราษฎรประสงค์

สถิติการใช้เงินประกันตัวและจ่ายค่าปรับของกองทุนราษฎรประสงค์

กล่าวคือกองทุนฯ ต้องใช้เงินเพื่อเป็นหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราว หรือจ่ายค่าปรับ ตั้งแต่ 14 ม.ค.-7 ก.ค. 2564 ที่ได้ประกันตัวรวมทั้งสิ้น 315 ครั้ง และไม่ได้ประกันตัวอีก 86 ครั้ง โดยได้ประกันตัวมากที่สุดในเดือน มี.ค. ที่มีการกวาดจับผู้ชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กว่า 99 คน ขณะเดียวกัน เดือน มี.ค. ก็เป็นเดือนที่มีสถิติไม่ให้ประกันตัวสูงที่สุดถึง 41 ครั้งด้วยเช่นกัน โดยเป็นช่วงที่ศาลปฏิเสธการประกันตัวกลุ่มราษฎร ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลายต่อหลายครั้ง โดยสถานการณ์การคุมขังเริ่มคลี่คลายในช่วงปลายเดือน เม.ย.

เงินที่กองทุนฯ ใช้เป็นหลักประกันและจ่ายค่าปรับในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 19,190,500 บาท จำนวนเงินสูงสุดที่กองทุนฯ ใช้วางเป็นหลักประกันต่อคน คือ 400,000 บาท ในคดีระเบิดสามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างการชุมนุมเมื่อ 16 ม.ค. 2564 ซึ่งตำรวจ สน.ปทุมวัน แจ้งข้อหาพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนจำนวนเงินน้อยที่สุดที่กองทุนใช้ประกันตัว คือ 0 บาท ในหลายคดีที่ตำรวจหรือศาลใช้ดุลพินิจปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน

เดือนที่ใช้เงินประกันตัวสูงที่สุด คือ เดือน มี.ค. และ พ.ค. ใช้เงินรวมกันสูงถึง 10,428,000 บาท โดยในเดือน มี.ค. มีการจับกุมสมาชิกหมู่บ้านทะลุฟ้า 99 คน ส่วนเดือน พ.ค. เป็นช่วงที่แกนนำกลุ่มราษฎรทยอยได้ประกันตัวในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ต้องวางเงินประกันสูงถึงคนละ 200,000-300,000 บาท ขณะที่คดีสหพันธรัฐไทที่จำเลยถูกตั้งข้อหาเป็นอั้งยี่ ก็ต้องวางเงินประกันจำเลย 3 คน ในเดือนนี้สูงถึงคนละ 300,000 บาท เช่นกัน แม้คดีจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ส่วนจำนวนเงินสูงสุดที่กองทุนฯ เคยยื่นประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาต คือ คนละ 500,000 บาท ในกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข, ปฏิวัตน์ สาหร่ายแย้ม, อานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

มีกรณีที่คดีสิ้นสุด หรืออัยการยังไม่สั่งฟ้องคดีตามกำหนดเวลา ทำให้ได้รับเงินประกันคืนทั้งหมด 15 ครั้ง โดยคดีที่ได้รับเงินคืนสูงสุด 500,000 บาท คือ คดีฐนกร ที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่รู้จักกันในนาม “คดีหมิ่นคุณทองแดง” ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้อง

รายงานการใช้เงินทุกครั้งเพื่อความโปร่งใส

ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน หนึ่งในผู้ดูแลบัญชีกองทุนราษฎรประสงค์ กล่าวว่า กองทุนจัดการเรื่องความโปร่งใสในการเบิกจ่ายบัญชี โดยรายงานรายละเอียดบนหน้าเพจกองทุนฯ ให้เห็นได้ชัดเจน เพื่อให้สาธารณะช่วยกันเป็นพยานและร่วมตรวจสอบได้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาและเสียความรู้สึกไปกับคำครหา 

อย่างไรก็ตาม ไอดาเห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่กองทุนนี้จัดการเรื่องความโปร่งใสง่าย  เพราะรายจ่ายมีเพียงเงินประกันและค่าปรับ ซึ่งมีหลักฐานเป็นใบเสร็จราชการยืนยัน เป็นรายจ่ายตามกระบวนการคดีโดยเปิดเผยตามกฎหมาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องปกปิดข้อมูล เพื่อป้องกันการถูกคุกคามจากฝ่ายรัฐ ซึ่งจะต่างจากกองทุนในลักษณะอื่น ที่มีข้อจำกัดในแง่นี้มากกว่า และเป็นที่ก็เข้าใจได้

ส่วนเงินประกันหลังจากที่คดีสิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นสุดเพราะไม่สั่งฟ้อง ยกฟ้อง หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุด เงินที่เคยนำไปวางเป็นหลักประกันก็จะนำกลับคืนเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้ประกันคดีอื่นต่อไป

ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา

ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา

สำหรับกรณีที่มีการหนีประกัน ผู้ดูแลกองทุนฯ ชี้แจงว่า “ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าเป็นการหนีประกันเสียทีเดียวหรือเปล่า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคึอ ในการชุมนุมที่มีการกวาดจับคนจำนวนมากแบบเหวี่ยงแห ทำให้มีการจับคนเร่ร่อนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาด้วย ซึ่งโดยภาวะข้อจำกัดของเขา ทำให้ติดตามตัวมาตามนัดคดีได้ยาก เช่น ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ย้ายที่พำนัก ความเสี่ยงแบบนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจจับกุมโดยไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผล ไม่สมควรแก่เหตุ และไม่สนใจผลกระทบสืบเนื่องที่ตามมาเมื่อเป็นคดี คำถามจึงควรกลับไปที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่มากกว่า ว่าใช้ดุลพินิจในการจับกุมและฝากขังอย่างไร ส่วนทางกองทุนฯ เองนั้นไม่สามารถปฏิเสธความช่วยเหลือในทางมนุษยธรรมต่อผู้ถูกจับกุมในลักษณะนี้ได้ และต้องเป็นฝ่ายยอมรับผลไปหากว่าศาลริบเงินประกัน”

กองทุนราษฎรประสงค์จะหายไปเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยโดยสมบรูณ์

“เมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์” ไอดาตอบคำถามถึงจุดสิ้นสุดของกองทุนฯ ผ่านวอยซ์ทีวี เมื่อ 1 เม.ย. 2564

ผู้ดูแลกองทุนยังกล่าวอีกว่า จริงๆ ในยุคก่อนมีกองทุนยุติธรรมคอยช่วยเหลือประชาชนที่เข้าไม่ถึงเงินประกันตัว ซึ่งเป็นไอเดียที่ดี แต่เป็นเรื่องยากสำหรับคดีการเมือง เพราะเป็นคดีที่รัฐมองว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยคือศัตรู หากจะร้องขอเงินจากรัฐเพื่อใช้ประกันตัวก็อาจจะมีความยากลำบาก แต่ถ้าวันหนึ่งประเทศยอมรับว่าสิทธิในการประกันตัวคือสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย และปฏิบัติตามนั้น ก็จะเป็นหลักประกันอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนไม่ต้องมาลงขันกันแบบนี้

ไอดายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ควรจะมีหลักการว่าคดีแบบไหนต้องวางเงินประกัน เพราะคดีการเมืองเป็นคดีทางความคิดที่เห็นไม่ตรงกัน ไม่ควรต้องนำเงินมาวาง ไม่ใช่คดีที่เป็นอาชญากรรมในตัวเองอย่างคดีฉ้อโกง แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลายเป็นตีราคาได้หมด จึงใช้เงินจำนวนมาก เป็นภาระแก่ประชาชน เป็นภาระสำหรับคนที่คิดจะแสดงออกทางการเมือง

ผู้ดูแลกองทุนตอบคำถามด้วยว่า หากประเทศเป็นประชาธิปไตย และกองทุนได้รับเงินประกันทั้งหมดคืน เธออาจจะปรับกองทุนเป็นสมาคมหรือมูลนิธิที่มีการเบิกจ่ายเป็นกิจลักษณะและให้ความช่วยเหลือที่ครอบคลุมขึ้นบนฐานของสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

สำหรับ ทิพากร เส้นเกษ ผู้รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษา นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net