Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าจะมีอะไรที่ตรงไปตรงมาที่สุดของการบันทึกจดหมายเหตุสามัญชนผ่านกองทุนราษฎรประสงค์ ก็คงไม่พ้นหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ที่หนาจนดิฉันเลิกอัพเดต เพราะธนาคารเองก็จนปัญญาจะอัพให้ เนื่องจากพลังโอนของราษฎรที่มาเป็นยอดย่อยๆ รายวินาที ทำให้เจ้าหน้าที่บอกว่าเครื่องเกิดอาการแฮงค์ จนดิฉันต้องใช้วิธีขอดูรายงานเคลื่อนไหวเป็นสเตทเมนต์แทน แล้วก็เปลืองเงินซื้อกระดาษมาปรินท์เป็นรีมๆ จนดิฉันเลิกปรินท์ กะว่าถ้าจะปรินท์อีกทีก็คือเอามาจัดนิทรรศการกับพิพิธภัณฑ์สามัญชนไปเลย หวังว่าผนังสี่ชั้นของแกลเลอรี่แห่งนี้จะพอรองรับไหว

แต่วันนี้ดิฉันอยากจะมาพูดถึงอีกรูปธรรมหนึ่ง ซึ่งดิฉันมองว่า สามารถนำมาเป็นตัวอย่างเชื่อมโยง ระหว่างการต่อสู้เรื่องสิทธิในการประกันตัว กับเรื่องวัตถุสะสมที่บันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน ดิฉันจะขอพูดผ่านรูปธรรมของประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งถูกขังคุกเพราะถูกศาลปฏิเสธสิทธิการประกันตัวทั้งในชั้นอุทธรณ์และฎีกามาแล้ว 68 วัน คือถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน พุทธศักราช 2565 ด้วยข้ออ้างว่า ถ้าให้ประกันแล้วเกรงว่าเขาจะหลบหนี ซึ่งดิฉันนึกไม่ออกเลยค่ะ ว่าพฤติการณ์ใดหรือคะ ที่ศาลยังจะนำมาใช้เป็นฐานในการอ้างได้อีกว่าเขาจะหลบหนี โดยเฉพาะในกรณีนี้ ใช่ค่ะ ดิฉันหมายถึงกรณีของคุณเอกชัย หงส์กังวาน

สำหรับวิญญูสามัญชนอย่างเรา คงพอนึกออกว่า คุณเอกชัยคือประชาชนไทยคนหนึ่ง ที่สู้มาสารพัดคดีสารพัดศาล ไม่ว่าข้อหานั้นจะร้ายแรงขนาดไหน เคยถูกพิพากษาจำคุกในคดี 112 ก็อยู่จนครบโทษออกมาแต่โดยดี เมื่อออกมาแล้วก็ยังทนอยู่ที่นี่ อยู่ในแบล็คลิสต์อดีตนักโทษ 112 ของประเทศนี้ ที่จะต้องถูกติดตามสอดส่อง หรือในภาษาอีกแบบหนึ่งคือเรียกว่า ยังคงถูกจองเวร และวันดีคืนดีก็ถูกอุ้ม ถูกทุบตีทำร้าย ถูกเผาทำลายรถยนต์ถึงหน้าบ้าน แต่เขาก็ยังคงไม่หนีไปไหน ยังคงไปสถานีตำรวจ ไปศาล ในทุกนัดหมาย 30 คดีที่ถูกยัดเยียดให้ ยังคงพักอาศัยอยู่ที่บ้านอันเป็นหลักแหล่งตามทะเบียนบ้านแห่งนั้น ทะเบียนบ้านฉบับเดียวกันกับที่ใช้ยื่นมาทุกศาลในฐานะหน่วยงานเดียวในประเทศนี้ ที่บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าสำเนาถ่ายเอกสารในราคาหน้าไม่อายใต้ชายคาศาลยุติธรรม หน้าละสองบาท 

ข้อเท็จจริงนี้ใช่แต่เราวิญญูสามัญชนทั่วไปที่รู้ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ว่าในเครื่องแบบนอกเครื่องแบบก็รู้ ไปหาเขาที่บ้านก็อยู่ จะออกจากบ้านไปไหนก็ประกาศชัดเหมือนกลัวเจ้าหน้าที่จะไม่รู้ ไปในที่ชุมนุมต่างๆ ก็ยังไปในรูปพรรณสัณฐานเดิม ให้สันติบาลทุกหน่วยทำงานง่าย เพราะสะดุดเห็นได้แต่ไกลด้วยเสื้อยืดคอกลมสีขาว หรือบางทีก็เสื้อสีแดงแป๊ดอีกต่างหาก และด้วยใบหน้าที่ไม่เคยซ่อนเร้นอำพรางไม่ว่าด้วยหมวก หรือกระทั่งหน้ากาก คนบ้าอะไรนะคะที่จริงจังกับการเปิดเผยตัวขนาดนี้ จริงจังกับการเผชิญทุกอย่างด้วยความชัดเจนตรงไปตรงมาขนาดนี้ ขนาดที่ทำให้ดิฉันอดไม่ได้จริงๆ ที่จะต้องข้องใจ และขัดใจเหลือเกินแล้วว่า โรงเรียนกฎหมายโรงเรียนไหนเหรอคะที่สอนมา ว่านี่คือพฤติการณ์ที่ควรแก่เหตุที่จะปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของเขา ด้วยข้ออ้างที่ออกจะกระจอกเกินไปสำหรับเขาขนาดนี้ ข้ออ้างประเภทที่ว่า ไม่ให้ประกันเพราะกลัวว่าเขาจะหลบหนี

แต่ยังมีอีกบางด้านของเรื่องนี้ ที่ดิฉันอยากจะชี้ให้ทุกท่านเห็นไว้ เป็นจดหมายเหตุเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว บางท่านอาจพอจำได้ จู่ๆ คุณเอกชัยก็เอาสมบัติข้าวของมาทยอยโพสต์ขายทีละชิ้นทางเฟสบุ๊ค ไล่ตั้งแต่ของใช้จำพวกพัดลม เตารีด กาต้มน้ำ ไปจนถึงของสะสมเล็กๆ น้อยๆ ตอนนั้นเป็นช่วงที่อัยการกำลังจะยื่นฟ้องคดีข้อหาร้ายแรงชนิดที่เวอร์ที่สุดเป็นประวัติการณ์ เวอร์มหันต์ยิ่งกว่าข้อหาตามมาตรา 112 เรื่องหมิ่นพระราชา เพราะแฟนตาซีของนิติรัฐบุพกาลแห่งนี้ ได้ไปไกลจนถึงข้อหาว่าประชาชนจะประทุษร้ายพระราชินี เพราะประชาชนดันไปยืนรับเสด็จผิดที่ หรืออันที่จริงคือดันไปยืนอยู่ในที่ที่ใครจะไปตรัสรู้ว่าเสด็จจะเสด็จ ตอนนั้นคุณเอกชัยดูจะปลงใจไปแล้วว่าแกคงได้ประกันลำบากแน่งานนี้ แกไม่ทราบว่าจะได้ประกันหรือไม่ ต้องใช้เงินเท่าไหร่ จึงทยอยนำสมบัติเหล่านี้มาขาย สำหรับดิฉัน มันให้อารมณ์เหมือนเตรียมย้ายบ้านเข้าเรือนจำ จัดการสะสางชีวิตตัวเองไว้ ทำใจอย่างนิ่งๆ และกล้าหาญไว้แล้ว ว่านี่คือสิ่งที่ต้องเผชิญ แต่นี่ดิฉันก็พูดไปตามเนื้อผ้า ตามที่เห็นคุณเอกชัยโพสต์ในเฟซบุ๊กน่ะนะคะ ไม่ใช่ว่ารู้จักคุ้นเคยอะไรกัน เกิดมาดิฉันน่าจะเคยคุยกับแกไม่เกินสามครั้ง ครั้งละไม่น่าจะเกินสามประโยค

แต่เรื่องมันมายุ่งถึงดิฉันก็เพราะเพื่อนบ้านคนหนึ่งของดิฉันนี่ล่ะค่ะ สมมติว่าชื่อ “แม่รำไพ” ก็แล้วกันนะคะ แม่รำไพแกขี้สงสารหรือยังไงดิฉันก็ไม่เข้าใจ คือเงินทองก็ไม่ค่อยจะมี ที่จะรู้จักมักจี่กับคุณเอกชัยก็ยิ่งไม่ใช่ แต่แกก็ยังอุตส่าห์ไปช่วยซื้อข้าวของที่คุณเอกชัยนำมาขาย ซึ่งก็ซื้อได้แค่พวกชิ้นละร้อยสองร้อยหรอกนะคะ เพราะเห็นตอนซื้อแต่ละที เงินในบัญชีแกเองก็มีไม่ถึงพัน แต่แกก็ยังดันทุรังซื้อ จนถึงวันที่ปรากฏว่าศาลยอมให้ประกันคุณเอกชัยในที่คดีแฟนตาซีประทุษร้ายพระราชินีนั่นล่ะค่ะ แม่รำไพถึงได้หยุดซื้อ โล่งไป เพราะเวลาเงินแม่รำไพแกหมดบัญชีขึ้นมา ก็ไม่แคล้วเดือดร้อนเพื่อนฝูงที่แกมีอยู่ไม่กี่คนนี่ล่ะค่ะ ...อย่าให้ดิฉันพูดเลยนะคะ


ที่มาภาพ banrasdr photo

แต่เรื่องมันยังไม่จบแค่นี้สิคะ ปัญหามีอีกว่า ข้าวของสมบัติบ้าที่แม่รำไพซื้อมานั้น แม่จะเอาไปเก็บไปที่ไหน ก็ไม่พ้นดิฉันอีกนั่นล่ะค่ะ แกหอบหิ้วมาปรึกษาดิฉันในสภาพเป็นกอง เป็นกล่องๆ สอบถามได้ความว่า ของที่แม่รำไพซื้อมาเหล่านี้ บางส่วนเป็นของสะสมส่วนตัวของคุณเอกชัยสมัยที่แกยังเป็นวัยรุ่นเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งคงเพราะเป็นยุคที่หนังการ์ตูนฮอลลีวู้ดและร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดคือโลกทันสมัย ก็เลยมีพวกโมเดลชุด แฮปปี้มีล อะไรต่ออะไรจากแม็คโดนัลด์ มีโมเดลตัวการ์ตูน แก้วน้ำ บัตรโทรศัพท์และบัตรสะสมจากโรงหนัง ที่ล้วนเป็นแอนิเมชั่นวอลท์ดิสนีย์ ไม่ว่าทาร์ซาน, มู่หลัน, สตาร์วอร์ส, แอตแลนติส, อะบั๊กส์ไลฟ์ เยอะแยะไปหมด มีกระทั่งภาพต่อจิ๊กซอว์รูปหมีพูห์ที่ใส่กรอบไว้ดิบดี ของเหล่านี้ดิฉันนึกจะบริจาคให้เด็กยากไร้ผ่านมูลนิธิกระจกเงา แต่ใจหนึ่งก็ยังนึกเสียดายแทนเขา ที่ต้องมาสลัดทิ้งด้านที่เป็นอารมณ์หวนอดีตวัยเยาว์ที่อุตส่าห์สะสมไว้ แต่เอาเถอะ ถ้าคุณเอกชัยแกตัดใจเสียเองได้ แล้วดิฉันจะมาเสียดายแทนให้รุงรังอยู่ทำไม

ส่วนของอีกจำพวก น่าจะเป็นข้าวของในบ้านที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นครอบครัวเชื้อสายจีน แจกันสีทองอร่ามหนึ่งคู่ อันนี้ดิฉันว่าจะเอาไปให้ป้าอุ๊ รสมาลิน ตั้งนพกุล ให้แกไว้ใช้วางบนหิ้งที่แกตั้งรูปไหว้อากงอยู่ทุกวันนี้ ส่วนแจกันประเภทที่มาเดี่ยวลำพังนี่ดิฉันหาที่วางไว้ตามชั้นหนังสือของตัวเองก็ได้ คูลเลอร์น้ำดื่มอลูมิเนียมยี่ห้อไลอ้อนพร้อมที่กรองชา อันนี้ดิฉันไม่กล้าจะให้ใคร เพราะมันติดจะเก่าหมองไปซักนิด เก็บไว้เองก็ได้ เพราะดิฉันก็แอบตื่นเต้นกับมันอยู่ มันดูโบราณๆ ยังมีเชือกถักสีแดงที่เรียกกันว่าปมจีน สำหรับแขวนผนัง ที่ดิฉันยังไม่ทราบว่าตามตำราเขาต้องแขวนยังไง ของจีนๆ อีกอย่างที่งงอยู่นานคือลูกบอลหินอ่อนสำหรับบริหารนิ้วมือ บรรจุกล่องบุผ้าไหมสีเขียวที่ยังมีป้ายราคา 60 เหรียญฮ่องกงติดอยู่ด้วย ดิฉันไปเปิดยูทูบดูว่าเขาใช้กันยังไง แล้วก็เลยเอาไปสอนแม่รำไพให้หัดเล่นไว้ แกจะได้เอาไปใช้ฝึกกล้ามเนื้อมือที่อ่อนแรงและฝึกสมาธิคลายเครียด แทนการพยายามซ้อมดนตรี ที่ทุกวันนี้ออกจะหนวกหูเพื่อนบ้านน่ะค่ะ

ที่เหลือก็มีอะไรอีกล่ะ อ้อ กระเป๋าถือใบนี้ ที่แม่รำไพบอกประวัติ ว่าเป็นของคุณแม่ของคุณเอกชัย ที่คุณแม่เคยใช้งานมาแค่สองสามครั้ง แล้วก็สร้อยข้อมือทำด้วยเงินเส้นนี้ ที่เป็นตัวอักษรจีนซึ่งดิฉันอ่านไม่ออก แต่แม่รำไพบอกว่า แกเคยถามคุณเอกชัยมาแล้ว มันแปลว่า ปลอดภัย นัยว่าเป็นเครื่องราง 

ของอย่างเดียวที่แม่รำไพแกยังอยากเก็บไว้เอง ก็คือปมสายสิญจน์สีแดงแบบจีน แกซึ้งใจว่าคุณเอกชัยเขาแถมมาให้เพราะเห็นว่าแกช่วยซื้อของของเขาซะหลายชิ้น เขาเลยให้เป็นที่ระลึก แกก็เลยจะเก็บไว้ระลึกของแก


ที่มาภาพ banrasdr photo

ข้าวของพวกนี้ ถามว่าควรเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ไหม ตอบยากค่ะ มันขึ้นอยู่กับว่าพิพิธภัณฑ์อะไร ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินี่ต่อให้เป็นกระโถน เขาก็เก็บค่ะถ้ามันเคยได้รองรับสิ่งปฏิกูลอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าของนาย แล้วพิพิธภัณฑ์สามัญชนจะเก็บไหม ต้องถามภัณฑารักษ์ แต่ถ้าถามดิฉันในฐานะกองทุนราษฎรประสงค์ แม้จะสะเทือนใจว่า ข้าวของที่ประชาชนต้องนำมาขายเพื่อเตรียมรับมือกับมาตรฐานการประกันตัวแบบไทยๆ เช่นนี้ คือหลักฐานชั้นดีของความน่าเวทนาของอำนาจตุลาการไทยพุทธศักราชนี้ที่น่าเก็บเป็นประวัติศาสตร์ไว้ แต่ดิฉันว่าแค่เก็บในฐานะเรื่องเล่าคงจะเหมาะกว่า ถ้าเก็บตัววัตถุด้วยคงไม่ไหว เพราะถ้าใช้เกณฑ์นี้ ดิฉันว่าสนามกีฬาแห่งชาติก็อาจกว้างไม่พอที่จะใช้เป็นพื้นที่โกดังพิพิธภัณฑ์สามัญชน 

พอจัดการหาที่หาทางให้สมบัติเหล่านั้นได้แล้ว ดิฉันก็รวบกล่องรวบเศษกระดาษที่ห่อข้าวของเหล่านั้นมา เพื่อเตรียมให้ซาเล้งแถวบ้าน แล้วก็มาสังเกตว่า กล่องกระดาษที่ใส่โมเดลตุ๊กตามานั้น มันคือกล่องใส่กล้องวงจรปิด ดิฉันก็นึกได้ว่าคุณเอกชัยเคยทำโครงการคุ้มครองนักเคลื่อนไหว เป็นโครงการง่ายๆ สำหรับหาทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างกล้องวงจรปิดนี่แหละ เพื่อนำไปติดไว้ตามบ้านนักเคลื่อนไหวที่ถูกทุบตีทำร้าย ถ้าเราจำกันได้ ช่วงหนึ่ง ทั้งคุณเอกชัย คุณฟอร์ด ถูกดักทำร้าย ถูกทำลายทรัพย์สิน จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ก็ถูกทุบตีอย่างทารุณโดยไม่มีใครรับผิดชอบอะไร เห็นกล่องกล้องวงจรปิดแล้วดิฉันก็อดไม่ได้ที่จะสะเทือนใจกับหลักฐานของการต้องปกป้องตัวเองของประชาชน จากการคุกคามของอำนาจมืดภายใต้การรู้เห็นเป็นใจของอำนาจสว่าง

พอมาพิศดูกระดาษที่ห่อกันกระแทกมาในกล่อง ก็ยังพบว่า นอกจากกระดาษที่ฉีกมาจากสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง ซึ่งเป็นของย้อนยุคอีกอย่างแล้ว ยังมีกระดาษที่เป็นเอกสารแนบท้ายจากบริษัทประกันภัย เรื่องค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและเรื่องเงื่อนไขการขนย้ายซากทรัพย์สิน ดิฉันเห็นแล้วก็คิดไปว่า นี่คงเป็นเอกสารจากกรณีที่คุณเอกชัยถูกบุกเผารถถึงหน้าบ้าน บ้านหลังเดียวกับที่มีตำรวจทหารไปเฝ้าไปอุ้มทุกยามได้ แต่ปกป้องความปลอดภัยให้ไม่ได้นั่นล่ะค่ะ 

สร้อยข้อมือเส้นนี้ที่แม่รำไพบอกว่าเป็นตัวอักษรจีนเขียนว่าปลอดภัยน่ะ ก็ใส่มาในซองพลาสติกที่แปะอยู่บนเอกสารของบริษัทประกันภัยเรื่องการขนย้ายซากทรัพย์สินจากการถูกวางเพลิงนี่ล่ะค่ะ

ทีนี้พอดิฉันไล่ไปดูกระดาษที่แปะจ่าหน้ามาบนพัสดุแต่ละกล่อง ก็พบว่า มันเป็นกระดาษรียูสหน้าเดียว คือใช้ด้านที่ว่างอยู่มาพิมพ์ที่อยู่จ่าหน้า ซึ่งเมื่อพลิกกลับไปดูด้านที่ใช้แล้ว ก็พบว่าบางแผ่นเป็นจดหมายตอบขอบคุณจากมูลนิธิกระจกเงาสำหรับการบริจาคสิ่งของจำพวกไม้เท้า รถเข็น ผ้าห่ม อุปกรณ์รักษาพยาบาล ซึ่งดิฉันเดาว่าเป็นของคุณแม่ผู้ล่วงลับของคุณเอกชัย นอกจากนี้ก็มีจดหมายตอบกลับจากหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องที่คุณเอกชัยไปร้องเรียนไว้ เช่นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ สน. ลาดพร้าว ซึ่งเป็น สน.ท้องที่ตามที่อยู่บ้านคุณเอกชัยซึ่งพิมพ์ไว้อย่างเปิดเผยบนกล่องพัสดุที่จ่าหน้ามาถึงแม่รำไพ เดาว่าที่แกร้องเรียนนั้นถ้าไม่ใช่เพราะเรื่องการละเลยหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ก็คงเป็นเรื่องการคุกคามในนามผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นั่นล่ะ


ภาพ เอกชัยแถลงข่าวติดตามเรื่องการถูกทำร้าย 
ที่มาภาพ banrasdr photo

แล้วก็มีกระดาษจ่าหน้าแผ่นหนึ่ง ซึ่งด้านหลังคือจดหมายตอบจาก สน.ดุสิต ต่อข้อร้องเรียนของคุณเอกชัย ที่ให้เร่งรัดการดำเนินคดีต่อบุคคลที่มาทำร้ายร่างกายตนเอง ดิฉันปะติดปะต่อเอาเองจากเอกสารว่า ถ้าดูตามเลขคดี เหตุทำร้ายนั้นน่าจะเป็นปี 2561 แล้วคุณเอกชัยคงเห็นว่าไม่มีความคืบหน้า ในปี 2562 จึงไปยื่นเรื่องต่อสำนักนายกฯ ขอให้เร่งรัดการดำเนินคดี แล้วสำนักนายกฯ ก็มีหนังสือไปถึง สน.ดุสิต แล้วสน.ดุสิตก็ตอบกลับมาในปี 2563 ว่า คดีนี้ศาลพิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว คือพิพากษาในความผิดที่เรียกว่า “ทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้รับอันตราย” ด้วยการปรับ 2500 บาท และปรับข้อหาพกพาอาวุธอีก 250 บาท คดีสิ้นสุดไปอย่างเงียบเชียบง่ายดายแค่นี้เลยค่ะ สองพันเจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน 

พอเจออะไรแบบนี้เข้า ดิฉันเริ่มรู้สึกว่าอะไรแบบนี้ละมังคะ ที่น่าจะได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เพราะมันคือหลักฐานของการพยายามทวงถามความยุติธรรมของสามัญชนคนหนึ่ง ต่อระบบยุติธรรมของประเทศนี้ พร้อมๆ กับที่เป็นหลักฐานประจานความน่าอัปยศของตัวระบบไปด้วย เอกสารแบบนี้ถ้าอยู่ในแฟ้มอย่างที่เรียกกันว่าแฟ้มสำนวนคดี มันก็จะเป็นได้แค่ส่วนหนึ่งของธุรการทางวิชาชีพในระบบยุติธรรมบ้าเอกสารของประเทศนี้ แต่เมื่อมันอยู่ที่นี่ มันคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประชาชนคนหนึ่ง ที่แม้จะทั้งถูกคุกคามและถูกทิ้งขว้างจากระบบที่เป็นอยู่อย่างไร ก็ยังยืนยันจะเผชิญหน้ากับมันภายใต้ระบบนั้นด้วยตัวเอง อย่างไม่ลดละ และอย่างตรงไปตรงมา ด้วยขาของตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยแรงจูงใจของเกียรติยศทางวิชาชีพ ค่าตอบแทน และเหรียญตรา 

มันคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เคยมีสามัญชนไทยคนหนึ่ง ที่ระบบยุติธรรมทั้งระบบไม่อาจช่วยอะไรได้เมื่อเขาถูกทำร้ายร่างกาย 6 ครั้ง ถูกเผารถยนต์ 2 ครั้ง แต่ระบบเดียวกันนี้กลับสามารถเอาคดีความมายัดให้เขาได้เป็นสิบๆ คดี ที่ล้วนเป็นแค่คดีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็น สามารถจับเขาขังคุกแค่เพราะความผิดนามธรรมอันจับต้องไม่ได้ของการ “หมิ่น” ที่ไม่ได้ทำให้ใครตาย ไม่ได้ไปเผาปราสาทราชรถที่ไหน ไม่ได้ทำร้ายใครแม้แต่ปลายเส้นผม เท่านั้นยังไม่พอ ระบบยุติธรรรมเดียวกันนี้ ยังสามารถสั่งจำคุกไม่ให้ประกันอย่างเอาเป็นเอาตาย กับพฤติการณ์ที่เป็นแค่การเขียนข้อความไม่ถึงสิบประโยค เพื่อเล่าชีวิตทางเพศในเรือนจำ ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา ตรงไปตรงมาที่ไม่ได้แปลว่าเท่ากับลามกเสมอไปน่ะค่ะ ดิฉันคิดว่า ถ้าจะให้คุณให้โทษกันได้ขนาดนี้ อย่างน้อยก็ควรมีนิยามศัพท์ที่รัดกุมในทางอาชญวิทยากว่านี้ไหมคะว่าลามกแปลว่าอะไร และต้องรู้จักอัพเดตนิยามศัพท์นั้นบนฐานของศาสตร์ต่างๆ ให้ครอบคลุมด้วยถึงนัยยะและบริบท ว่าสิ่งที่พจนานุกรมนิยามว่าลามกนั้น มันกำลังฟังก์ชั่นในฐานะอะไร เพราะภาษาที่คุณเอกชัยใช้ตามที่ถูกกล่าวหา คือถ้อยคำของความตรงไปตรงมา ที่ไม่ได้แปลว่าจะปลุกเร้าอารมณ์ ตรงไปตรงมาที่แปลว่าภาษาของปุถุชนขณะกำลังมีเพศสัมพันธ์น่ะค่ะ ที่ไม่ใช่กระทั่งว่ากำลังใช้มันในฐานะคำสถบหยาบคาย แต่ใช้มันตามสภาวะ ณ ขณะตามท้องเรื่องนั้น ตามการถ่ายทอดในขนบวรรณกรรม ช่วยไม่ได้จริงๆ ค่ะที่บทอัศจรรย์ที่แกเขียนมันจะไม่แนบเนียนเท่ากับที่อยู่ในราชวรรณคดี พอดีว่ามันเป็นราชทัณฑ์วรรณคดีในเรือนจำชายล้วนน่ะค่ะ ¬ไม่ควรลืมข้อเท็จจริงพื้นฐานว่าด้วยการอ่านข้อนี้ไปนะคะ 

และอีกข้อเท็จจริงที่ควรเป็นรากฐานเลยก็คือว่า เขาไม่ได้เขียนเพื่อจะใช้มันไปก่ออาชญากรรมทางเพศกับใครที่ไหนน่ะค่ะ ถ้าพฤติการณ์แค่นี้มันร้ายแรงถึงขนาดที่จะต้องไม่ให้ประกันขนาดนี้ ถามอีกทีนะคะ โรงเรียนกฎหมายโรงเรียนไหนนะคะที่สอนมา 

และสำหรับดิฉัน ตลกร้ายที่สุดของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ อยู่ตรงที่มันกลายมาเป็นกระดาษจ่าหน้าแปะกล่องพัสดุนี่ล่ะค่ะ กล่องพัสดุใส่สมบัติที่เขาต้องเอามาขายเพื่อเตรียมเผชิญกับชะตากรรมของการไม่ได้ประกันจากคดีบ้าๆ เหล่านี้อย่างอาจหาญ แล้วเขาก็ไม่ได้ประกันจริงๆ ด้วย ด้วยบทอ้างอันแสนอัศจรรย์ว่าคนอย่างเขานั้นจะหลบหนี!

ดิฉันไม่แน่ใจว่าคุณเอกชัยแกเอาเอกสารพวกนี้มาทิ้งเป็นกระดาษใช้ซ้ำแบบนี้ เพราะเห็นว่ามันไร้ความหมาย เหมือนอย่างระบบยุติธรรมของประเทศนี้ที่ไร้ความหมาย หรือว่าแกจงใจจะส่งต่อให้มันไปอยู่ในมือของคนแปลกหน้าซักคน แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา ว่าผู้รับจะบังเอิญเห็นและจะบังเอิญนึกอยากเก็บมันไว้เป็นของสะสมหรือไม่ 

แม่รำไพเคยถามดิฉันว่า ถ้าจะไม่ให้คนเขาหาว่าแกเป็นคนบ้าเที่ยวสะสมของแบบนี้ แกจะแก้ตัวกับเขายังไงดี ว่าความหมายของมันคืออะไร 

ดิฉันมองดูกระดาษหัวครุฑศักดิ์สิทธิ์ชิ้นนี้ ที่กลายมาเป็นกระดาษรียูสขาดวิ่นเพราะคัตเตอร์แกะกล่องของแม่รำไพ แล้วก็ให้นึกปลงเวทนา 

แม่รำไพเอ๊ย ฉันว่าความหมายของมันคงที่อยู่ความไร้ความหมายของสิ่งที่มันเป็นตัวแทนอยู่ในสังคมไทยนี่ล่ะ ไม่ว่าใครจะเรียกมันว่ากฎหมาย ระบบยุติธรรม หรืออะไรก็ตาม ที่ลวงโลกกว่านั้น 

ที่ล้วนรอวันถูกเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ของสามัญชน


 

หมายเหตุ: นำเสนอครั้งแรกใน งานเสวนา “จดหมายเหตุสามัญชน”  injai Contemporary 26 มิ.ย. 65

ภาพปก: เอกชัย หงส์กังวาน โดย ยศธร ไตรยศ กลุ่ม Real Frame

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net