Skip to main content
sharethis

เทเลนอร์ บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณมือถือยักษ์ใหญ่ เตรียมขายหุ้นทั้งหมดในพม่าให้ บ. M1 Group ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกองทัพ หลังถูกทัพพม่าสั่งห้ามผู้บริหารชาวต่างชาติทุกค่ายมือถือออกนอกประเทศจนกว่าจะได้รับอนุญาต พร้อมกดดันติดตั้งระบบสอดแนมผู้ใช้มือถือ

ซิคเว เบรกเก ประธาน และประธานบริหารแห่ง เทเลนอร์ กรุ๊ป (ที่มาเฟซบุ๊ก Sigve Brekke)

9 ก.ค. 64 เว็บไซต์ blognone และสื่อมวลชนหลายสำนัก รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 64 ระบุว่า เทเลนอร์ (Telenor) บริษัทสัญชาตินอร์เวย์ และเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพม่า เตรียมขายหุ้นทั้งหมดในพม่า (Telenor Myanmar) ให้บริษัท M1 Group ซึ่งเป็น บ. สัญชาติเลบานอน สงนราคา 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

เทเลนอร์แจ้งเหตุขายหุ้นธุรกิจมือถือครั้งนี้ว่า เหตุการณ์ในพม่าทำให้เทเลนอร์ ดูแลความปลอดภัยของพนักงานไปพร้อมๆ กับการทำตามระเบียบท้องถิ่นได้ยาก หลังก่อนหน้านี้รัฐบาลพม่าสั่งให้โอเปอร์เรเตอร์ทุกรายต้องติดตั้งระบบดักฟังข้อมูล และห้ามผู้บริหารเดินทางออกนอกประเทศ

เช่นเดียวกับสำนักข่าวท้องถิ่น อิระวดี อ้างรายงานรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา เผด็จการทหารพม่ามีคำสั่งห้ามผู้บริหารค่ายมือถือขาดใหญ่ชาวต่างชาติ ออกนอกประเทศโดยไม่ขออนุญาต กดดันให้ติดตั้งสปายแวร์สอดแนมผู้ใช้งาน

ดีลนี้ตีมูลค่าของเทเลนอร์เมียนมาร์ ที่ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระบวนการจ่ายเงินจะแบ่งจ่ายบางส่วนทันทีและอีก 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จ่ายในอีก 5 ปีข้างหน้า M1 Group จะถือหุ้นทั้งหมดของเทเลนอร์เมียนมาร์ และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจต่อ ที่ผ่านมา เทเลนอร์เข้าไปเปิดเทเลนอร์เมียนมาร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และเริ่มมีกระแสเงินสดเป็นบวกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 รวมจ่ายเงินปันผลออกมาแล้วกว่า 3,200 ล้านโครนนอร์เวย์ หรือคิดเป็นเงินไทย มูลค่า 11,800 ล้านบาท 

ระหว่างนี้ เทเลนอร์จะยังถือเทเลนอร์เมียนมาร์ เป็นสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อการขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก (asset held for sale and discontinued operations) โดยยอดขาดทุน-กำไร จะถูกนับในงบประมาณรวมของบริษัทอยู่

"สถานการณ์ในพม่าหลายเดือนที่ผ่านมากลายเป็นความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับเทเลนอร์ ความปลอดภัยของประชาชน เหตุผลด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติตาม" ซิคเว เบรกเก ประธาน และประธานบริหารแห่งเทเลนอร์กรุ๊ป ระบุในแถลงการณ์ 

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า “เราประเมินสถานการณ์อย่างถี่ถ้วนถึงทางเลือกทั้งหมดที่พอจะเป็นไปได้ และเชื่อว่าการขายบริษัทครั้งนี้คือหนทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้” 

การประกาศขายหุ้นครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจาก เทเลนอร์ เมียนมาร์ ระบุว่า พวกเขากำลังทบทวนอย่างถี่ถ้วนต่อทางเลือกในการทำธุรกิจในประเทศพม่าต่อไป หลังจากนั้น มีรายงานว่า บริษัทเทเลนอร์ ประกาศขายหุ้นในพม่าทั้งหมด และว่าจ้างให้ธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง ธนาคารซิตีแบงค์ ดูแลเรื่องการเลิกกิจการต่อไป 

สำนักข่าว อิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 64 เปิดเผยว่า M1 Group ที่จะมาซื้อหุ้นทั้งหมดของ เทเลนอร์ เมียนมาร์ นี้มีความเชื่อมโยงกับกองทัพพม่า 

อิระวดี อ้างอิงข้อมูลจาก “Burma Campaign UK” ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีพันธกิจสำคัญเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยในแต่ละปี ทางกลุ่มจะมีการจัดทำ ‘Dirty List’ ซึ่งระบุรายชื่อของบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจร่วมกับกองทัพพม่า หรือมีส่วนร่วมกับโครงการธุรกิจที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง M1 Group ก็ถูกระบุอยู่ในรายชื่อนี้

อิระวดี ระบุว่า M1 Group ถูกขึ้นบัญชี Dirty List เนื่องจากเมื่อเดือน ส.ค. 2562 M1 Group มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นบริษัท “Irrawaddy Green Towers” จากพม่า ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเสาส่งสัญญาณโทรศัทพ์เกือบ 4,000 แห่งทั่วประเทศ และดำเนินงานร่วมกับบริษัท Mytel ผู้บริการเครือข่ายมือถือในเมียนมา ซึ่งมีกองทัพพม่าเป็นเจ้าของ   

อนึ่ง เทเลนอร์ เข้ามาลงทุนในพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 หรือ 2 ปีก่อนที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย จะสามารถกุมชัยชนะจากการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลในปี พ.ศ. 2559 

ครั้งนั้น เทเลนอร์ระบุเหตุผลที่เข้าไปลงทุนว่า การที่ประเทศพม่ามีบริการเครือข่ายมือถือในราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้นั้น จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาและความเจริญเติบโตของประเทศพม่าได้ 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 ทางกองทัพคุกคามการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารของชาวพม่าอย่างต่อเนื่อง มีการจำกัดการสร้างระบบสารสนเทศเสรี จำกัดการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แบนสื่อโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวพม่า และแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่นเดียวกับการสั่งห้ามประชาชนพม่าใช้ระบบสัญญาณดาวเทียม เพราะกลัวชาวพม่าเสพข่าวการประท้วงต้านรัฐประหาร

Access Now ติง Telenor ลอยแพลูกน้อง-ลูกค้า หวั่นสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าทรุด

Access Now เครือข่ายภาคประชาชนผู้ผลักดันสิทธิมนุษยชน และสิทธิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ ตั้งข้อกังขาต่อการถอนตัวออกจากพม่าของบริษัท เทเลนอร์ อาจกระทบต่อความปลอดภัยของพนักงานที่ต้องอยู่ในพม่า เป็นตัวอย่างให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้าอื่น และอนาคตของสิทธิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเมียนมา 

"ภายใต้การกดปราบที่พุ่งสูงขึ้นจากเผด็จการทหาร เทเลนอร์มีการลอยแพพนักงานนับล้านคนในเมียนมาโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า" รามาน ชิต สิงห์ ชิมา ผู้อำนวยการนโยบายเอเชียแปซิฟิก ของ Access Now กล่าว พร้อมระบุว่า “เราทราบว่า การทำงานในภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องยางยิ่งของบริษัท แต่คุณต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ใช้บริการเครือข่ายของคุณ”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2564 เทเลนอร์มีลูกค้าใช้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและมือถือในพม่าทั้งสิ้น 16,243 ล้านเลขหมาย และถือเป็นหนึ่งในบรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าไปลงทุนในประเทศพม่า 

"นี่ไม่ใช่การถอนตัว ที่คือการจัดการโดยไร้ซึ่งแผนที่จะปกป้องผู้เปราะบาง ซึ่งต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง" กลุ่ม Access Now ระบุ พร้อมกล่าวต่อว่า เทเลนอร์ เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทข้ามชาติ ซึ่งมีแนวทางต่อต้านเผด็จการ และมีกฎระเบียบนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เทเลนอร์เป็นเหมือนที่พึ่งสุดท้ายของชาวพม่า มันไม่ใช่แค่ออกนอกประเทศ และจบ … มันหมายถึงลูกค้าเดิมที่ตอนนี้ต้องอยู่ในกำมือของบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเผด็จการทหาร และลอยแพพนักงานและหุ้นส่วนทางธุรกิจให้ต้องเผชิญภาวะอันยากลำบาก

 

แปลและเรียบเรียง 

Telenor ถอนตัวจากพม่า เตรียมขายหุ้นธุรกิจมือถือให้ M1 Group ระบุเพื่อความปลอดภัย

Burma Campaign UK

Telenor signals Myanmar exit, as UN calls for urgent action

Norway’s Telenor Sells its Myanmar Telecoms Operation to Regime-Linked Partner


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net