Skip to main content
sharethis

ประชาชนชาวพม่ารวมตัวยื่นเรื่องต่อหน่วยงานรัฐบาลของนอร์เวย์ ขอให้ตรวจสอบเทเลนอร์กรุ๊ป (Telenor Group) บริษัทโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์ผู้ถือหุ้นใหญ่ DTAC ประเทศไทย ที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยข้อมูลการโทรของผู้ใช้งานชาวพม่ากว่า 18 ล้านคนให้แก่กองทัพพม่า แลกเงิน 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านเทเลนอร์ตอบสั้นๆ กฎการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ครอบคลุมชุดข้อมูลของลูกค้าในพม่า

9 ก.พ. 2565 สำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่า ‘เทเลนอร์’ บริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DTAC ประเทศไทย ตกเป็นข่าวใหญ่ในพม่าหลังถูกเปิดโปงว่าบริษัทเคยให้ข้อมูลการโทรและพิกัดการโทรของลูกค้าหลายพันคนแก่กองทัพตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร เพื่อนำไปใช้ไล่ล่า จับกุม และคุกคามผู้เห็นต่าง

เมื่อกลางปีที่แล้ว เทเลนอร์ปิดดีลขายกิจการทั้งหมดให้ M1 Group บริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพพม่า โดยแผนการถ่ายโอนกิจการจะแล้วเสร็จในวันที่ 15 ก.พ. นี้ และส่งผลกระทบต่อความเป็นความตายของผู้ใช้กว่า 18 ล้านคนในพม่า ที่เคยหันมาไว้ใจเทเลนอร์ และคว่ำบาตรบริษัทอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับกองทัพ ล่าสุด ชาวพม่าฟ้องคดีต่อหน่วยงานรัฐบาลนอร์เวย์เพื่อให้ยุติการขายข้อมูล

เบอร์เปื้อนเลือด

ที่ผ่านมา ‘เทเลนอร์’ บริษัทโทรคมนาคม และผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ในพม่า เคยยอมปฏิบัติตามคำขอของกระทรวงการคมนาคมและการสื่อสารของคณะรัฐประหารพม่ากว่า 200 ครั้ง สิ่งที่ขอเป็นข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เช่น ประวัติการใช้โทรศัพท์ สถานที่การใช้โทรศัพท์ และพิกัดล่าสุดของเบอร์โทรศัพท์ นอกจากนี้ เทเลนอร์ยังปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐประหารพม่าในการปิดเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้บางคนด้วย ข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดโปงโดยแหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจโทรคมนาคม จากการตรวจสอบโดยสำนักข่าว Myanmar Now พบว่าบางกรณีเป็นการขอประวัติการโทรของลูกค้าในช่วง 1 เดือน บางกรณีก็ในช่วง 4-6 เดือน

ในหนังสือคำร้องที่ถูกส่งถึงบริษัทเทเลนอร์ พบว่าแต่ละครั้งคณะรัฐประหารจะขอข้อมูลการโทรของผู้ใช้หลายสิบหรือหลายร้อยเบอร์ และเนื่องจากที่ผ่านมามีการขอข้อมูลโทรกว่า 200 ครั้ง หมายความว่าจำนวนลูกค้าที่ถูกบริษัทเทเลนอร์ขโมยข้อมูลไปให้กับคณะรัฐประหารพม่าจึงอาจมียอดสูงถึงหลายพันคน

กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของคณะรัฐประหารพม่าขอข้อมูลเหล่านี้โดยอ้างว่าอาศัยอำนาจตามกฎหมายโทรคมนาคมฉบับ พ.ศ.2556 มาตรา 77 ที่ให้อำนาจในการระงับบริการ ดักฟังการสื่อสาร และควบคุมบริการต่างๆ ชั่วคราวใน "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ซึ่งเทเลนอร์ยอมปฏิบัติตามคำขอเหล่านี้ทั้งที่รายชื่อผู้ใช้ของคณะรัฐประหาร เป็นข้อมูลที่มาจากการทารุณกรรมผู้ต้องขังทางการเมือง แหล่งข่าวระบุว่า “โดยทั่วไปแล้ว เราพูดได้ว่าเบอร์โทรศัพท์ที่อยู่ในหนังสือขอข้อมูลถูกดึงออกมาระหว่างที่สอบปากคำผู้ต้องขังทางการเมือง ดังนั้น เราจึงพูดได้ว่าเบอร์เหล่านี้ที่จริงแล้วเป็นเบอร์เปื้อนเลือด”

Myanmar Now สอบถามไปยังบริษัทเทเลนอร์ ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าบริษัทได้รับคำสั่งต่างๆ เหล่านี้จริง และได้รับคำตอบเป็นนัยว่ายอมปฏิบัติตามคำร้องเหล่านี้ด้วย แคทรีน สแตง ลุนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารของเทเลเนอร์บอกว่า “การละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่ จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงและไม่อาจยอมรับได้ต่อพนักงานของเรา”

เมื่อ Myanmar Now สอบถามเทเลนอร์เพิ่มเติมว่า มีบุคคลใดถูกจับ ทารุณกรรม หรือฆาตกรรม หลังจากบริษัทให้ข้อมูลกับกองทัพคณะรัฐประหารหรือไม่ และบริษัทมีแนวทางในการปกป้องลูกค้าที่ตกเป็นเป้าหมายของคำสั่งคณะรัฐประหารดังกล่าวอย่างไร เทเลนอร์ไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้

"ผมรู้สึกเสียใจ"

ในรายงานสรุปความยั่งยืนครั้งที่ 7 เทเลนอร์เปิดเผยว่าเคยได้รับการร้องขอให้ส่งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ 327 ครั้งระหว่าง ม.ค. 2557 จนถึง ธ.ค. 2563 และยอมปฏิบัติตามคำขอทั้งหมด 217 ครั้ง ซึ่ง “ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความเป็นความตาย เช่น การสอบสวนการฆาตกรรม ยาเสพติด และบุคคลสูญหาย”

ในกรณีส่วนใหญ่ การขอข้อมูลในช่วงก่อนการรัฐประหารจะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของหลายกระทรวงในพม่า แต่ปัจจุบัน แหล่งข่าวระบุว่า “กองทัพไม่อ้างถึงหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ เลย และเมื่ออ้างก็จะอ้างถึงกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น”

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่คณะรัฐประหารของพม่าเป็นผู้เขียนเอง กระทรวงมหาดไทยก็เป็น 1 ใน 3 กระทรวงที่ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่แล้ว ก่อนที่กองทัพจะก่อรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญดังกล่าวและยึดอำนาจที่เคยแบ่งให้กับฝ่ายพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

ในวันที่ 14 ก.พ. 2564 หลังการรัฐประหาร เทเลนอร์แถลงว่าพวกเขาจะไม่เปิดเผยรายละเอียดคำสั่งของเจ้าหน้าที่อีก และเทเลนอร์ก็ไม่ได้เผยแพร่รายงานสรุปความยั่งยืนในปี 2564 ซึ่งกรณีหลังจากนี้ อาจช่วยให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใด เทเลนอร์จึงปรับเปลี่ยนนโยบายที่เคยทำมา

ช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการรัฐประหาร คณะรัฐประหารได้ทำการขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเบอร์โทรศัพท์ของ ‘จอตู’ นักแสดงชื่อดัง ‘เชวซีกัต’ ภรรยาของจอ ตู และ ‘หลินหลิน’ นักร้องเพลงร็อกชื่อดัง ต่อมาทั้ง 3 คนถูกฟ้องในข้อหายุยงปลุกปลั่นและเผยแพร่ข่าวลือหลังจากกองทัพยึดอำนาจเพียงไม่นาน นอกจากนี้ คณะรัฐประหารพม่ายังบุกสำนักงานของ Free Funeral Service Society ในเมืองย่างกุ้งของ ‘จอตู’ เพื่อยึดเอกสารและทรัพย์สินของสำนักงานด้วย ทั้งนี้ ‘จอตู’ เป็นนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัล Myanmar Academy Award สองครั้ง และมีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์พม่าในช่วงทศวรรษ 1980-1990

ในกรณีของ ‘หลินหลิน’ เบอร์ที่เขาโพสต์บนเฟสบุ๊คในวันที่ 8 ก.พ. 2564 ถูกปิดสั่งโดยเทเลนอร์ หลังได้รับคำสั่งจากคณะรัฐประหาร สาเหตุมาจากหลินหลิน ซึ่งมีชื่อจริงว่า 'เทวหลินโก' ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อระดมเงินให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนร่วมในขบวนการ Civil Disobedience Movement (CDM) ที่ต่อต้านการปกครองของทหาร

ปัจจุบัน จอตูและหลินหลินรอดจากการจับกุมของคณะรัฐประหารและลี้ภัยออกไปนอกประเทศพม่าได้แล้ว ในกรณีของหลินหลินและชิตตูวาย ผู้เป็นภรรยา ต้องซ่อนลูกสาว 2 คนเอาไว้ในที่แยกกัน จนกระทั่งพวกเขาเดินทางออกนอกประเทศได้ในที่สุด

หลินหลินและชิตตูวาย เคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา นอกจากนี้ทั้งคู่ยังสนิทสนมกับผู้นำของพรรคอย่างอองซานซูจี ซึ่งปัจจุบันถูกควบคุมตัวโดยคำสั่งของคณะรัฐประหาร

ในปี 2557 หลินหลิน เคยเป็นผู้ตัดสินการประกวดเพลงริงโทนที่เทเลนอร์เป็นผู้จัดก่อนการเปิดตัวเครือข่าย ตั้งแต่หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา หลินหลินใช้บริการของเทเลนอร์เป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับนักกิจกรรมและนักข่าวคนอื่นๆ เนื่องจากเคยหลงคิดว่าไว้ใจได้ ขณะเดียวกันก็คว่ำบาตรผู้ให้บริการอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร

“ผมรู้สึกเสียใจที่องค์กรอย่างเทเลอร์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองที่ให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ [กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์] กำลังแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวกับกองทัพคณะรัฐประหารผู้ก่อการร้าย” หลินหลิน นักร้องเพลงร็อกชื่อดังของพม่ากล่าว

ชีวิตประชาชน 18 ล้านคน ในราคา 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โฆษกกลุ่ม Justice for Myanmar ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลนอร์เวย์สอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าเทเลนอร์สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมที่ก่อโดยคณะรัฐประหารจากการให้ข้อมูลดังกล่าวแก่คณะรัฐประหารหรือไม่ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เทเลนอร์เยียวยาเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการให้ข้อมูลดังกล่าว

“เป็นเรื่องน่ากังวลที่ที่ผ่านมาเทเลนอร์กำลังให้ข้อมูลการโทรและพิกัดแก่กองทัพคณะรัฐประหารผู้ก่อการร้ายของพม่า โดยรู้ทั้งหมดว่าการทำแบบนี้จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชนชาวพม่าอย่างไร” ยาดานาร์มอง โฆษกกลุ่ม Justice for Myanmar กล่าว

“ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารพม่ากำลังจับกุม ทารุณกรรม และฆาตกรรมประชาชนจำนวนมาก ตั้งแต่เกิดความพยายามในการรัฐประหาร และการกระทำเหล่านี้ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการให้ข้อมูล ความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์และกองทัพคณะรัฐประหารในการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมทำให้บริษัทเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดอาญาระหว่างประเทศ” เธอกล่าว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Myanmar Now รายงานว่าการขายกิจการของเทเลนอร์ให้กับบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพจะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 15 ก.พ. 2565 ในดีลการซื้อขายนี้มีการส่งข้อมูลของผู้ใช้กว่า 18 ล้านคนของเทเลนอร์ให้กับบริษัทใหม่รวมอยู่ด้วย

เอกสารภายในที่ Myanmar Now ได้รับระบุข้อมูลของกรมโทรคมนาคมและจดหมาย กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของคณะรัฐประหาร พบว่าผู้ซื้อกิจการต่อจากเทเลนอร์คือ Investcom Myanmar ซึ่งเป็นบริษัทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในพม่า

เอกสารระบุอีกว่า Shwe Byain Phyu กลุ่มบริษัทอัญมณีและน้ำมันที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพ จะเป็นเจ้าของหลักของบริษัท Investcom ทั้งนี้ บริษัท Shwe Byain Phyu Telecom เป็นบริษัทจดทะเบียนในพม่า ต่อมาเปลี่ยนชื่อในวันที่ 3 พ.ย. 2564 เป็น Shwe Byain Phyu Manufacturing จำกัด จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49%

บริษัท Investcom จำกัด ก่อตั้งจดทะเบียนที่สิงคโปร์ โดย M1 Group บริษัทที่ตั้งอยู่ในเลบานอน และเผชิญกับข้อครหาว่าได้กำไรมหาศาลจากระบอบเผด็จการในซีเรีย ซูดาน และเยเมน การจดเบียนบริษัท Investcom เกิดขึ้นหลังจากเทเลนอร์ประกาศว่าจะขายกิจการในพม่าให้ M1 Group ในราคา 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา Norwegian Forum for Development and Environment เป็นตัวแทนขององค์กรประชาสังคม 168 แห่งในพม่า ในการส่งหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการขายกิจการในพม่าให้กับ M1 Group และ Shwe Byain Phyu ด้วยเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยชน

ในจำนวนนี้ หลินหลินก็เรียกร้องให้ยุติการขายดังกล่าวเช่นกัน โดยเขาระบุว่า “ผมหวังว่าผู้บริหารของ Telenor Group จะเห็นใจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวพม่า” อย่างไรก็ตาม เทเลนอร์เคยออกมาอธิบายแล้วว่าการซื้อขายกิจการในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“เทเลนอร์กำลังเผชิญกับความขัดกันของกฎหมายท้องถิ่นและกฎหมายระหว่างประเทศ ความปลอดภัยของพนักงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้การอยู่ในพม่าต่อเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับ Telenor Group” แคทรีน สแตง ลุนด์ กล่าว

ฟ้องรัฐบาลนอร์เวย์

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ประชาชนพม่าได้ยื่นคำร้องต่อกรมคุ้มครองข้อมูลของนอร์เวย์ เพื่อนำไปสู่การยุติการส่งข้อมูลของผู้ใช้ 18 ล้านคนให้กับบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารพม่า ล่าสุด กรมคุ้มครองได้รับเอกสารแล้ว แต่อาจใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่จะเปิดพิจารณาคดี

การยื่นคำร้องครั้งนี้ดำเนินการโดยบริษัททนายความ SANDS ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากลูกค้าคนหนึ่งของเทเลนอร์ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่าการขายกิจการอาจเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ 18 ล้านคนในพม่า และเป็นการละเมิดระเบียบคุ้มครองข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมนอร์เวย์ด้วย

ในแถลงการณ์ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 เคทิล เซลแลก แรมเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัวและกฎหมายความปลอดภัยของข้อมูลของบริษัท SANDS เน้นย้ำว่าการขายกิจการจะนำไปสู่ “ผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างมากหลายประการ”

“เราขอให้กรมคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของนอร์เวย์สอบสวนเรื่องนี้โดยเร็ว และใช้อำนาจที่มีในการรับรองสิทธิของลูกค้าของเทเลนอร์ในพม่าไม่ให้ถูกล่วงละเมิด” เคทิล เซลแลก แรมเบิร์ก กล่าว

คำร้องระบุว่าหาก M1 Group สามารถเข้าถึงข้อมูลหลังการขายกิจการได้ สิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้ในพม่าอาจได้รับผลกระทบ แทนที่จะทำเช่นนั้น ผู้ยื่นคำร้องเสนอว่าเทเลนอร์ควร “ลบฐานข้อมูลลูกค้าก่อนการขาย” แม้จะส่งผลกระทบต่อการประเมินมูลค่าของเทเลนอร์ในพม่าก็ตาม

“แม้ว่าเทเลนอร์กรุ๊ปอาจมีผลประโยชน์อันชอบธรรมในการดำเนินการขาย [กิจการ] ผลประโยชน์ในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเจ้าของข้อมูลมีความสำคัญเหนือว่าผลประโยชน์อันชอบธรรมดังกล่าว” เอกสารคำร้องระบุ

หากตรวจสอบแล้วพบว่าละเมิดกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เทเลนอร์อาจต้องเจอค่าปรับกว่า 4% ของรายได้ทั้งหมดทั่วโลกในปีงบประมาณก่อนหน้า หรือประมาณ 500 ล้านดอลลาร์จาก 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  

ศูนย์เพื่อการวิจัยบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นผู้สนับสนุนคำร้องของประชาชนพม่าระบุว่า นอร์เวย์มีความรับผิดชอบในการยับยั้งไม่ให้บริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารเข้าควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ในพม่า ซึ่งในจำนวนนี้มีนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และบุคคลกลุ่มเสี่ยงรวมอยู่ด้วย

“เทเลนอร์กรุ๊ปและรัฐบาลนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท มีหน้าที่ในการปกป้องบุคคลเหล่านี้จากอันตราย ซึ่งรวมถึงการรังแก ทารุณกรรม หรือกระทั่งการฆาตกรรมที่อยู่นอกเขตอำนาจศาลด้วย” โจเซฟ ไวลด์ แรมซิง ผู้วิจัยอาวุโสของศูนย์เพื่อการวิจัยบรรษัทข้ามชาติ กล่าว

“ทั้งที่มีความเสี่ยงที่เล็งเห็นได้ว่าอาจมีการรัฐประหารเกิดขึ้น เทเลนอร์ยังคงเลือกที่จะเข้าสู่ตลาดของพม่าและขอให้ประชาชนพม่า ไว้ใจฝากข้อมูลส่วนตัวไว้กับบริษัทโดยเป็นส่วนหนึ่งโฆษณาการขาย” แรมซิง กล่าวต่อกรณีที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ ศูนย์เพื่อการวิจัยบรรษัทข้ามชาติเคยยื่นคำร้องต่อองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในนามตัวแทนองค์กรประชาสังคมหลายร้อยแห่งในพม่าเมื่อ ก.ค. 2564 โดยกล่าวหาว่าเทเลนอร์ “ถอนตัว” ออกจากพม่า “อย่างไร้ความรับผิดชอบ” และระบุว่าการขายกิจการในพม่าเป็นการละเมิดมาตรฐานที่กำหนดโดย OECD

เทเลนอร์กรุ๊ปไม่ตอบ Myanmar Now เมื่อขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการยื่นคำร้องดังกล่าว แต่ตอบคำถามกับหนังสือพิมพ์แดเกนส์แนริงส์ลิฟ (DN) ของนอร์เวย์ว่า ข้อมูลลูกค้าในพม่าถูกจัดการโดยเป็นไปตามกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติและกฎระเบียบการขึ้นทะเบียนของพม่า

“ไม่มีข้อมูลของลูกค้าเทเลนอร์ในพม่าคนใดถูกประมวลในนอร์เวย์หรือสหภาพยุโรป และระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไปก็ไม่ครอบคลุมการประมวลผลข้อมูลลูกค้าชุดดังกล่าว” กราย โร้ด นอร์ดัส ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารของเทเลนอร์กกรุ๊ป กล่าวกับสำนักข่าว DN

เธอระบุด้วยว่าเทเลนอร์กรุ๊ปอยู่ในความขัดแย้งระหว่างกฎหมายของพม่ากับกฎหมายระหว่างประเทศ หลักสิทธิมนุษยชน และคุณค่าที่บริษัทยึดถือ “เราถูกบังคับให้ต้องรักษาสมดุลในการพิจารณาที่ยากลำบาก เราได้ข้อสรุปว่าการขายกิจการเป็นทางออกที่เสียประโยชน์น้อยที่สุดสำหรับพนักงานและลูกค้าของเรา รวมประชาคมด้วย”

จากข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว DN ล่าสุดกรมคุ้มครองข้อมูลของนอร์เวย์ได้รับเอกสารคำร้องกล่าวแล้ว โทเบียส จูดิน หัวหน้าฝ่ายระหว่างประเทศขององค์กรกล่าวว่า “เราจะเปิดการพิจารณาโดยใช้เอกสารคำร้องนี้ อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปในการบอกว่าเราจะทำอะไรต่อ สิ่งที่เราพูดได้คือประเด็นกฎหมายเป็นเรื่องซับซ้อน และเราต้องยอมรับว่ามันคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก”

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net