Skip to main content
sharethis

16 ก.ค. 2564 ศบค. แถลงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,692 คน เสียชีวิต 67 คน เตรียมปรับมาตรการเข้มขึ้น แนะใช้ antigen test kit ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร ผู้ป่วยไม่มีการหรืออาการน้อยให้แยกกักตัว เคาะใช้วัคซีนสูตรผสมซิโนแวค+แอสตราเซเนกา

ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงกระจายทั่วประเทศ

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 16 ก.ค. 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,692 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 9,062 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 15 คน และติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 615 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 381,907 คน เสียชีวิตเพิ่ม 67 คน เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 3,009 คน

ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 106,951 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,367 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 847 คน ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 3,398,430 คน คิดเป็นร้อยละ 5.21 ของประชากร

รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 16 ก.ค. 2564

รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 16 ก.ค. 2564

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การระบาดเริ่มแพร่ไปในชุมชนและคนในครอบครัว ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดสูงขึ้น โดย 10 อันดับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่

  1. กรุงเทพมหานคร 2,195 คน
  2. สมุทรสาคร 653 คน
  3. สมุทรปราการ 607 คน
  4. ชลบุรี 530 คน
  5. นนทบุรี 456 คน
  6. ฉะเชิงเทรา 374 คน
  7. ยะลา 264 คน
  8. ปทุมธานี 243 คน
  9. นครปฐม 202 คน
  10. ปัตตานี 191 คน

เตรียมเพิ่มมาตรการหลังผ่านไป 5 วัน พบฝ่าฝืนข้อกำหนดจำนวนมาก

นอกจากนี้ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) รายงานสถิติการบังคับใช้กฎหมาย พบผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งหมด 217 คน แบ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหสถาน 158 คน และฝ่าฝืนมาตรการห้ามรวมกลุ่ม 59 คน โดยใช้วิธีดำเนินคดีทั้งหมด 59 คน และตักเตือน 158 คน

ด้านข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม พบว่า ประชาชนยังคงเดินทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเดินทางข้ามพื้นที่ภายในจังหวัดเดียวกัน และการเดินทางออกจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ประชุม ศบค. มีความเป็นห่วงในกรณีนี้ สอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมโรค ที่พบว่า มีรายงานการออกนอกเคหสถานและพบพฤติกรรมการรวมกลุ่ม เช่น วงไพ่ท้ายรถกระบะ เป็นต้น

กรมควบคุมโรคยังรายงานอีกว่า มีผู้ติดเชื้อที่ให้ประวัติว่า ขณะรวมกลุ่มหรือเดินทางไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องการรักษาระยะห่าง หรือล้างมือ เป็นต้น

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ศบค. ขอเน้นย้ำว่า จากการรายงานของหลายภาคส่วน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดีมาก ต้องขอขอบคุณ แต่ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคได้ ทำให้มีรายงานการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ศปม. ยังรายงานด้วยว่า มีประชาชนเป็นผู้แจ้งเบาะแสนำไปสู่การจับกุม แบ่งเป็นการร้องเรียนสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการมากถึง 102 ข้อร้องเรียน รายงานเหตุการณ์มั่วสุม 92 เหตุการณ์ โดยเป็นการรายงานผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติทางสายด่วน 191 และ 1599 รวมถึงรายงานไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย สายด่วน 1138

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา นำมาสู่ข้อสรุปในที่ประชุมว่าอาจจะต้องมีมาตรการที่เข้มขึ้น อาจจำเป็นต้องปิดกิจการบางอย่าง เนื่องจากในสัปดาห์ที่ผ่านมาอนุญาตให้เปิดกิจการ และทำกิจกรรมจนถึงเวลา 20.00 น. เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเดินทางกลับบ้าน และออกนอกเคหสถานได้ไม่เกิน 21.00 น. จึงอาจพิจารณาปิดมากขึ้นหรือมากที่สุด

"ต้องเน้นย้ำว่าที่ผ่านมามาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นไปตามสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน การล็อกดาวน์เป็นพื้นที่ มีการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเฉพาะใน 10 จังหวัด ไม่ใช่ทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่เมื่อมีการรายงานทบทวนมาตรการ 5 วันที่ผ่านมาแล้ว ยังพบว่า การบังคับใช้มาตรการยังน่าเป็นห่วง ผอ.ศบค. จึงให้คณะแพทย์ที่ปรึกษาทบวนมาตรการสาธารณสุข เพื่อนำเสนออย่างเร่งด่วน" พญ.อภิสมัย กล่าว

แนะใช้ antigen test kit ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร

พญ.อภิสมัยยังแถลงถึงผลการหารือเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรค ได้แก่ การตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และการจัดการดูแลรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ทรัพยากรทางการแพทย์และการการสาธารณสุขที่มีจำกัด

สำหรับการตรวจหาเชื้อ นำเสนอโดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำว่า ปัจจุบันมีการระดมตรวจหาเชื้ออย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ทั้งการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางไปตรวจหาเชื้อด้วยตนเองทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก ด้าน กทม. ก็เปิดจุดตรวจให้ประชาชนหลายจุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะตรวจได้วันละประมาณ 7-8 หมื่นคนก็ยังไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาในการอนุญาตให้ใช้ antigen test kit (ATK) ให้ประชาชนเข้าถึงและให้การตรวจหาเชื้อครอบคุลมประชากรมากที่สุด เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็วที่สุด

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า อธิบดีกรมวิทยศาสตร์การแพทย์ชี้ว่าการตรวจโดยใช้ antigen test kit นอกจากเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และราคาไม่แพง แต่ก็ยังเป็นห่วงในเรื่องของความแม่นยำ เนื่องจากตรวจหาเชื้อในขณะที่เชื้อมีปริมาณน้อย ทำให้การตรวจวิธีนี้ยังไม่รวดเร็วพอที่จะค้นหาผู้ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม การให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจ แม้มาตรฐานอาจจะไม่เท่าวิธีตรวจแบบ RT-PCR ก็ดีกว่าที่ประชาชนจะเข้าไม่ถึงการตรวจเลย แต่ต้องเน้นย้ำว่า เมื่อตรวจแล้วผลออกมาเป็นบวก ขอให้ประชาชนไปติดต่อสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินอาการ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อในชุมชนพบผู้ป่วยจำนวนมาก หากพบผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ มีอการน้อย หรือไม่มีอาการ ให้มีการดูแลที่บ้าน หรือแยกกักภายในชุมชน ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ไวและปลอดภัยที่สุด และลดการแพร่เชื้อในชุมชน การไม่ได้ตรวจ จะทำให้ไม่ทราบว่าตนเองป่วย และไม่ได้แยกกักตัว ดังนั้น การตรวจหาเชื้อและแยกกักตัวจะช่วยลดการแพร่ระบาดในชุมชนได้ ที่สำคัญคือช่วยสงวนเตียงโรงพยาบาลไว้สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของอาการในระดับสีเหลืองหรือสีแดง ให้ประชาชนที่มีอาการรุนแรงมีเตียง และได้รับความปลอดภัยในการดูแลอาการป่วย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ศบค. เห็นว่า ถ้ามีผลตรวจโควิด-19 จาก antigen test kit เป็นบวก ต้องเข้ารับการดูแลรักษา ถ้าผลตรวจเป็นลบ แต่มีประวัติเสี่ยงสูง มีบุคคลใกล้ชิดเป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน หรือมีประวัติเดินทางไปในชุมชนที่เสี่ยงติดเชื้อ ขอให้ตรวจซ้ำในอีก 3-5 วัน เนื่องจากหากปริมาณเชื้อยังน้อย หรือเพิ่งรับเชื้ออาจจะยังตรวจไม่พบ จึงให้สำรวจอาการ กักตนเอง และเน้นย้ำมาตรการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ อยู่ร่วมกันหลายคน แม้ผลตรวจจาก antigen test kit จะเป็นลบ ก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำว่า antigen test kit เป็นอุปกรณ์การแพทย์ จึงควรไปตรวจที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล หรือซื้ออุปกรณ์ที่ร้านขายยา แต่ไม่อนุญาตให้ขายในร้านสะดวกซื้อ หรือช่องทางออนไลน์ เนื่องจากต้องมีการตรวจรับรองมาตรฐาน หากประชาชนซื้อจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่สถานพยาบาลหรือร้านขายยา อาจจะแปลผลผิด และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่า การอนุญาตให้จำหน่าย antigen test kit ในร้านขายยา เพื่อให้มีเภสัชกรที่เป็นผู้ดูแลร้านให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทั้งในแง่การตรวจ การแยกกัก และการเฝ้าสังเกตอาการตนเอง

อีกส่วนที่มีคำถามเกี่ยวกับการตรวจโดย antigen test kit คือ กรณีโรงงานหรือสถานประกอบการที่มีบุคลากรหรือพนักงานจำนวนมาก และมีความสนใจที่จะหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้เพื่อตรวจหาเชื้อให้พนักงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงในที่ประชุมว่า สถานประกอบการโรงงานที่มีบุคลากรเกิน 50 คน ตามกฎหมายจะมีสถานพยาบาลกำกับสถานประกอบการนั้นๆ อยู่แล้ว และรับไปดำเนินการให้โรงงาน สถานประกอบการ สามารถที่จะจัดหาการตรวจหาเชื้อให้บุคลากร

เน้นแยกกักตัวในกลุ่มผู้ป่วยไม่มีการหรือมีอาการเล็กน้อย

ด้านการตรวจเชื้อและพบผู้ติดเชื้อ ต้องนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับ home isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้าน อธิบดีกรมการแพทย์นำเสนอเรื่องนี้ว่า มีการทดลองการแยกกักที่บ้านมาระยะหนึ่งตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีกลุ่มตัวอย่างเกิน 1,000 เคส และมีผลเป็นที่น่าพอ ทำให้มั่นใจว่าระบบนี้สามารถดูแลประชาชนที่บ้านได้อย่างปลอดภัย

อธิบดีกรมการแพทย์ รายงานว่า ผู้ป่วยที่เข้าสู่การแยกกักที่บ้านจะได้รับอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ และระดับออกซิเจนในเลือด รวมถึงมีการโทรศัพท์ หรือ telemedicine เพื่อพูดคุยประเมินอาการ สอบถามอาการโดยบุคลากรทางการแพทย์ และจัดเครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร และยา เช่น ฟ้าทะลายโจร Favipiravir หรือยาอื่นๆ ที่มีความจำเป็น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีมาตรฐานและปลอดภัย ระหว่างนี้จะมีการจัดหาเตียงและประเมินอาการ โดยการแยกกักที่บ้านใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการระดับเขียว คือ ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ประกอบกับการประเมินอาการอย่างต่อเนื่องโดยบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีความแม่นยำในการสังเกตอาการ บนเงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้ป้วยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ oxygen theraphy หรือการรักษาด้วยออกซิเจน 

ในส่วน community isolation หรือการกักตัวในชุมชน ที่ประชุม ศบค. เห็นว่า ทำได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อภายในชุมชน หรือในโรงงาน ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน และมีสถานที่ที่พร้อมจัดเป็นสถานที่แยกกักตัวได้เอง หรือ กรณีที่ กทม. จัดทำศูนย์พักคอยรอการส่งต่อของ กทม. เอง มี 21 ศูนย์ รองรับผู้ป่วย 2,950 เตียง โดยข้อจำกัด คือ เป็นศูนย์พักคอย คล้ายโรงพยาบาลสนามในชุมชน มีขนาดเล็ก รองรับได้ไม่เกิน 200 คน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ศบค. ย้ำว่า ก่อนรับผู้ป่วยเข้าในที่กักตัวชุมชน ต้องตรวจวัดการติดเชื้อโดยวิธี RT-PCR ก่อน การจัดสถานที่ต้องได้รับการยอมรับจากชุมชน มีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ทั้งการระบายน้ำ การจัดการขยะ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชน และประชาชนมีความมั่นใจ

เคาะใช้ยาฟ้าทะลายโจร-วัคซีนสูตรผสม

นอกจากนี้ นายกสภาการแพทย์แผนไทยและอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รายงานถึงประสิทธิภาพของการใช้่ยาฟ้าทะลายโจร พบว่า การศึกษาวิจัยจากการใช้ในโรงพยาบาลสนาม และการแจกจ่ายให้ผู้ป่วยที่แยกกักที่บ้าน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และจะขยายผลนำไปใช้ในสถานที่กักตัวชุมชนด้วย โดยสนับสนุนให้ใช้รักษาตัวในระยะที่อาการยังไม่รุนแรง หรือระดับสีเขียว

ด้านวัคซีน พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. มีข้อสรุปให้ใช้วัคซีนสูตรผสมได้ โดยวัคซีนกระตุ้น หรือ booster dose ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ก่อนหน้านี้ อนุญาตให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือวัคซีนที่เป็นเทคโนโลยี mRNA เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขณะที่ประชาชนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็มแล้ว ให้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 2 ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขอ้างผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานและโรงเรียนแพทย์ ที่รายงานผลการใช้วัคซีนผสมหรือต่างชนิดกัน พบว่า ประสิทธิภาพการควบคุมโรคเป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยให้การยอมรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net