Skip to main content
sharethis

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 เชื่อการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่จะคึกคักมากถึงมากที่สุด เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.5 ไม่มีแผนที่จะเดินทาง จะอยู่บ้านไม่ออกไปไหน กลัวโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 49.5 มีแผนที่จะเดินทาง โดยร้อยละ 23.5 ไปเข้าวัดทำบุญ นั่งสมาธิ สวดมนต์ข้ามปี และร้อยละ 17.8 จะเที่ยว ช้อปปิ้ง ตามห้างสรรพสินค้า ส่วนเรื่องที่กังวลมากที่สุดที่อาจทำให้เกิดการระบาดโควิด-19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ คือ การเฉลิมฉลองปีใหม่ สังสรรค์ ตามผับ บาร์ ต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 86.2 ด้าน ศบค. ยืนยันกิจกรรมปีใหม่จัดได้แต่ต้องมีมาตรการคุมโรคเข้มงวด ขณะที่ สธ. ระบุว่าตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยอยู่ระดับ 3 จาก 5 งวดรวมกลุ่ม-จัดงานในสถานที่ปิด

29 ธ.ค. 2564 กรุงเทพโพลล์โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “คนไทยกับการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,117 คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 เห็นว่าการท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่จะถึงนี้จะคึกคักมากถึงมากที่สุด เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 44.8 เห็นว่าจะคึกคักน้อยถึงน้อยที่สุด

เมื่อถามว่า “มีแผนที่จะเดินทาง ในช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่จะถึงนี้หรือไม่”  ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.5 ไม่มีแผนที่จะเดินทาง จะอยู่บ้านไม่ออกไปไหน กลัวโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 49.5 มีแผนที่จะเดินทาง โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 23.5 จะไปเข้าวัดทำบุญ นั่งสมาธิ สวดมนต์ข้ามปี รองลงมาร้อยละ 17.8 จะเที่ยว ช้อปปิ้ง กินข้าว ตามร้านอาหาร / ห้างสรรพสินค้า และร้อยละ 12.6 จะกลับไปจังหวัดบ้านเกิด / เยี่ยมญาติ

ส่วนเรื่องที่กังวลมากที่สุดที่อาจทำให้เกิดการระบาดโควิด-19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่คือ การเฉลิมฉลองปีใหม่ สังสรรค์ ตามผับ บาร์ ต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 86.2 รองลงมา คือ การประมาท ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ศบค. ของผู้ประกอบการ คิดเป็นร้อยละ 72.1 การจัดงานเคาท์ดาวน์ตามสถานที่ต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 71.1 ภาครัฐไม่ดูแลอย่างเข้มงวดตามมาตรการของ ศบค. คิดเป็นร้อยละ 70.3 และการรวมตัว กินเลี้ยง สังสรรค์ คิดเป็นร้อยละ 66.4

 

ปลัด สธ. ขอความร่วมมืองดจัดเคานต์ดาวน์ในสถานที่ปิด

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะจัดงานปีใหม่ที่บ้านหรือที่ทำงาน ให้จัดสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทไม่แออัด ส่วนอีเวนต์ปีใหม่ เช่น เคานต์ดาวน์ สวดมนต์ข้ามปี ขอให้งดจัดในสถานที่ปิด และยึดมาตรการ COVID Free Setting ผู้เข้าร่วมงานรับวัคซีนครบ ตรวจ ATK ก่อนร่วมงาน เพื่อลดความเสี่ยงแพร่และรับเชื้อโควิด 19 พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามใกล้ชิด หากพบมีความเสี่ยงให้เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสั่งแก้ไขทันที

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการจัดงานฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงว่า แม้ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงที่สถานการณ์จะกลับมาระบาดได้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปท่องเที่ยว รวมถึงรวมตัวจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ซึ่งบางส่วนเลือกจัดงานภายในครอบครัวหรือภายในองค์กรกันเอง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีข้อแนะนำ คือ ขอให้จัดงานขนาดเล็ก มีการรวมกลุ่มกันไม่มาก ผู้ร่วมงานควรได้รับวัคซีนครบถ้วน และอาจมีการตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมงาน เพื่อความมั่นใจ จัดงานในสถานที่เปิดโล่งและอากาศถ่ายเทสะดวก รวมถึงควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด แยกรับประทานอาหารเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน และลดการพูดคุยขณะรับประทานอาหาร

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่าสำหรับการจัดงานอีเวนต์ปีใหม่ เช่น เคานต์ดาวน์ หรือสวดมนต์ข้ามปี ขอให้ยึดมาตรการ COVID Free Setting โดยผู้จัดงาน ผู้ให้บริการ และผู้เข้าร่วมงานทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบโดส ที่สำคัญคืองดจัดงานในสถานที่ปิด ให้จัดกิจกรรมในสถานที่เปิดโล่งเท่านั้น จำกัดจำนวนคนคัดกรองผู้เข้าร่วมงานด้วย ATK และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงแพร่และรับเชื้อโควิด-19 หากพบการจัดงานไม่เป็นไปตามมาตรการหรือมีความเสี่ยงจะเกิดการแพร่กระจายเชื้อ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันทีเพื่อตรวจสอบและเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ให้สั่งการแก้ไขปรับปรุง นอกจากนี้ ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กำกับติดตามกวดขันการใส่หน้ากากอนามัยและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกสถานที่และนอกช่วงเวลาที่กำหนดโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากพบต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้ร่วมมือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

สธ. แจ้งเตือนโควิดระดับ 3 จาก 5 จัดกิจกรรมได้ในที่เปิด แต่ต้องคัดกรองโรคเข้มงวด

สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ฉากทัศน์การแพร่ระบาด และการปฏิบัติตัวของประชาชน โดย นพ.เกียรติภูมิกล่าวรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 27 ธ.ค. 2564 พร้อมระบุว่าขณะนี้ประเทศไทยมียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณ 15.6 ล้านเม็ด คาดว่าจะใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน และองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตเพิ่มเติมได้ถึง 60 ล้านเม็ด สำหรับเตียงรักษามี 1.7 แสนเตียง ปัจจุบันมีการใช้ 13.7% ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่อาการไม่มากจะเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชนเป็นหลัก

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำระดับการเตือนภัยโควิด 5 ระดับ โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของสถานการณ์ ความครอบคลุมการได้รับวัคซีน 2 เข็มในกลุ่ม 607 และการพบการระบาดแบบคลัสเตอร์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 3 นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำฉากทัศน์เพื่อรับมือสถานการณ์โอมิครอน ซึ่งอาจเกิดได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

1. Least favourable ฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เกิด คือ การแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การปฏิบัติตามมาตรการ UP และ VUCA ได้น้อยหรือไม่ปฏิบัติ การติดเชื้อจะสูงถึง 3 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 รายต่อวัน ใช้เวลาควบคุม 3-4 เดือน

2. Possible การแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา แต่มีการปฏิบัติตามมาตรการ UP และ VUCA ดี ผู้ติดเชื้ออาจอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นรายต่อวัน จากนั้นค่อยทรงตัวและลดลง

3. Most favourable ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด คือ ควบคุมการระบาดในประเทศได้ดี เร่งฉีดวัคซีนได้มากกว่าปกติ ร่วมกับมีการปฏิบัติตามมาตรการ UP และ VUCA เต็มที่และลดกิจกรรมรวมกลุ่ม อาจจะมีผู้ติดเชื้อ 1 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิต 60-70 รายต่อวัน และควบคุมโรคได้ภายใน 1-2 เดือน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลทั้งต่างประเทศและในประเทศ ล่าสุดพบว่า สายพันธุ์โอมิครอนมักทำให้เกิดอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คือ ไข้ ไอ เจ็บคอ บางรายอาจมีปอดอักเสบแต่ไม่มากเกือบทุกประเทศรายงานตรงกันว่าไม่รุนแรงไปกว่าเดลตา ส่วนประเทศไทยจากการดูแลรักษาผู้ป่วยโอมิครอน 100 รายแรก พบ 48% ไม่มีอาการ อีก 41% มีอาการไม่มาก ที่สำคัญ ไม่มีรายใดใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต โดยพบปอดอักเสบเล็กน้อย 7 ราย ในจำนวนนี้ 2 รายมีค่าออกซิเจนในเลือดลดลงเล็กน้อย ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และพบว่าผู้ป่วยทุกรายได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดความรุนแรงได้ และการฉีดเข็มกระตุ้นจะช่วยให้ป้องกันได้ดีขึ้น สำหรับเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องใช้ออกซิเจนแบบไฮโฟลว์และเตียงสีแดง ทั้งประเทศมี 11,000 เตียง รองรับผู้ป่วยได้ 785 คนต่อวัน หากรวมเตียงสีเขียวด้วยจะรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ถึง 52,300 คนต่อวัน สำหรับ กทม.และปริมณฑล ประเมินว่ารับได้ไม่เกิน 8 พันคนต่อวัน ซึ่ง กทม. เคยมีผู้ป่วยมากที่สุดประมาณ 5,000 คน/วัน จำนวนเตียงถือว่ายังรองรับได้ และยังสามารถเพิ่มขยายเตียงได้อีก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ จึงเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI/CI) โดยปรับให้ติดต่อกลับผู้ป่วยภายใน 6 ชั่วโมงหลังทราบผลตรวจ ซึ่ง กทม. ได้เตรียมพร้อม CI ไว้ทุกเขตแล้ว กรณีผู้ป่วยเด็กได้เตรียมทั้งยา เวชภัณฑ์สำหรับเด็ก และเตียงในโรงพยาบาลสำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรง ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวเน้นทำ Factory Isolation เพื่อแบ่งเบาการใช้เตียง

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การเตือนภัยโควิดพิจารณาข้อมูลจากหลายปัจจัย ได้แก่ ระดับความเสี่ยงของสถานการณ์จากอัตราผู้ติดเชื้อต่อแสนประชากรรายสัปดาห์ ความสามารถในการรองรับดูแลผู้ป่วย ความครอบคลุมของวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง และการระบาดเป็นกลุ่มก้อน แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ

  1. ใช้ชีวิตตามปกติ (สีเขียว) สามารถเปิดทุกอย่างได้ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting เดินทางเข้าประเทศได้ตามปกติ
  2. เร่งเฝ้าระวังคัดกรอง (สีเหลือง) จำกัดเข้าสถานที่ปิด เริ่มระบบ Test &Go
  3. จำกัดการรวมกลุ่ม (สีส้ม) งดเข้าสถานที่ปิด ทำงานที่บ้าน คัดกรองก่อนเดินทาง เปิดระบบแซนด์บ็อกซ์
  4. ปิดสถานที่เสี่ยง (สีแดง) เปิดเฉพาะสถานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศแบบลดวันกักตัว
  5. จำกัดการเดินทางและกิจกรรม (สีแดงเข้ม) โดยรวมกลุ่มไม่เกิน 5 คน เพิ่มมาตรการเคอร์ฟิว และกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศทุกราย

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าอยู่ในระดับ 3 โดยสามารถไปสถานที่เสี่ยงได้ เช่น ร้านอาหาร แต่ควรเป็นระบบเปิด อากาศถ่ายเทสะดวก คนไม่แออัด ดื่มสุราได้ การรวมตัวหมู่มากไม่ควรเกิน 200 คน ดำเนินกิจการตาม COVID Free Setting เดินทางข้ามจังหวัดได้ หากเกิน 4 ชั่วโมงควรมีการตรวจ ATK ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา สวมหน้ากาก 100% ชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อกลับเข้าประเทศช่วง 7 วันแรก ขอให้สังเกตอาการตนเอง อย่าเพิ่งทำกิจกรรมที่ต้องถอดหน้ากากในคนหมู่มาก หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ทั้งคนในครอบครัวและคนรู้จัก และช่วงกลับมาทำงานหลังเทศกาลปีใหม่อาจมีการระบาดมากขึ้น ขอให้ทำงานที่บ้านอย่างต่อเนื่องและตรวจคัดกรองก่อนเข้าทำงาน

ศบค. ไม่ห้ามจัดงานปีใหม่ แต่จังหวัดต้องคุมเข้มมาตรการโควิด-19

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวหลายแห่ง เช่น ไทยรัฐออนไลน์, ไทยพีบีเอส และประชาชาติธุรกิจ รายงานตรงกันว่า เกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการ กทม. แถลงข่าวยกเลิกการจัดกิจกรรามปีใหม่ในพื้นที่ กทม. หลังจาก ศบค. กำหนดแนวทางการจัดงานปีใหม่ช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ถึง 1 ม.ค. 2565 ให้สอดคล้องกับประกาศขององค์การอนามัยโลกที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกแผนวันหยุดบางส่วนเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขจากโควิด สายพันธุ์โอมิครอน โดยรองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า กทม. ประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมปีใหม่ที่จัดโดยหน่วยงานในสังกัด กทม. และหน่วยงานทั้ง 50 เขต ซึ่งรวมถึงกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี และพิธีทำบุญตักบาตรวันปีใหม่ แต่กิจกรรมปีใหม่ของภาคเอกชนที่ขออนุญาตไว้แล้วยังสามารถจัดได้ ภายใต้มาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ทั้ง Covid Free Setting การคัดกรอง การทำความสะอาดสถานที่ การเว้นระยะห่าง การจัดให้มีสถานที่กักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อ ผู้ร่วมงานต้องมีผลการฉีดวัคซีนหรือผลตรวจ ATK ก่อนร่วมงาน 72 ชม. และลดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ ทาง กทม. ขอความร่วมมือประชาชนให้งดเว้นการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด

อย่างไรก็ตาม ไทยรัฐออนไลน์รายงานเพิ่มเติมในวันเดียวกันว่า พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก กล่าวว่าการยกเลิกจัดกิจกรรมปีใหม่ที่ กทม. เป็นเจ้าภาพนั้น "เป็นเรื่องของความไม่พร้อมในสถานที่ ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายของ ศบค." ส่วนกิจกรรมของภาคเอกชนต้องมีการขออนุญาตจัดล่วงหน้า และทาง กทม. หรือจังหวัดต่างๆ ต้องเป็นผู้กำกับดูแล รวมถึงตรวจสอบเรื่องมาตรการให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

สำหรับมาตรการการจัดงานปีใหม่ของแต่ละจังหวัด ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนยังคงแตกต่างกันไปตามประกาศของแต่ละพื้นที่ เช่น ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่าคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ มีมติในการออกคำสั่งจังหวัดกาฬสินธุ์ ฉบับที่ 39/2564 ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยงดจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่ทุกหน่วยงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ผู้ที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ขอให้ตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี ATK ด้วยตนเองและแสดงผลการตรวจต่อหน่วยงานต้นสังกัด หากผลการตรวจเป็นบวกให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที นอกจากนี้ กรุงเทพธุรกิจยังรายงานว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) หรือวัดพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ประกาศงดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 เพื่อป้องกันต่อการเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงได้ประกาศงดจัดกิจกรรมดังกล่าว ทั้งยังประกาศเลื่อนการจัดงานสมโภชหลวงพ่อพระพุทธชินราช ประจำปี 2565 ที่ปกติจะจัดในช่วงปลายเดือน ม.ค. ของทุกปี ออกไปอย่างไม่มีกำหนดด้วยเช่นกัน

ขณะที่สยามรัฐรายงานว่า สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น ระบุว่า จ.ขอนแก่นงดจัดกิจกรรมเคานต์ดาวน์ทุกพื้นที่ แต่อนุญาตให้จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีและตักบาตรปีใหม่ได้ในจำนวนคนที่จำกัด โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ จะต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องและเข้ารับการตรวจประเมินจากเจ้าหน้าที่ เพื่อลดการรวมกลุ่มคนเกินกว่าที่กำหนด และให้ทุกพื้นที่ที่กำหนดจัดกิจกรรมได้ปฎิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net